เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 51 สมัชชาคนจน และเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาป่าไม้ เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดิน สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ฯลฯ จัด "งาน 100 วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" และเดินธรรมชาติยาตราจากแก่งสะพือสู่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ผู้เดินธรรมชาติยาตรามารวมตัวกันที่แก่งสะพือนับพันคนเพื่อเตรียมการเดินธรรมชาติยาตราตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.โดยมีชาวปากมูนเจ้าของพื้นที่เตรียมการต้อนรับ
สมเกียรติ พ้นภัย แกนนำชาวบ้านปากมูน กล่าวว่า วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ "มด" คือผู้ที่ทำให้เครือข่ายประชาชนต่างๆ ทั่วประเทศมารู้จักกัน แม้วนิดามีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ฐานะของครอบครัวค่อนข้างดี แต่เธอเลือกมาอยู่กับประชาชนเป็นผู้พาประชาชนไปรู้จักสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองในการปกป้องทรัพยากรเพื่อลูกหลานในอนาคต
"ต่อไปคงมีเรื่องต้องคิดอีกมาก เพราะรัฐกับทุนคือตัวเดียวกัน พอมีทุนก็ซื้อเสียงเป็นรัฐ เป็นรัฐก็มีอำนาจ แต่คนจนก็ต้องอยู่ส่วนคนจน ดังนั้น คนจนต้องรวมตัวกันจึงจะมีพลัง" สมเกียรติกล่าว และพูดด้วยว่า ชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่รัฐต้องชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้วย และทุกคนที่มาอยู่ที่นี่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทั้งสิ้น
นอกจากนั้นยังชี้แจงสาเหตุที่จัด "งาน 100 วัน วนิดา" ที่ปากมูน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเพราะวนิดามาทำงานและมีความผูกพันอย่างมาก จึงขอทางครอบครัวให้มาจัดงานบุญ 100 วันที่นี่ ซึ่งทางครอบครัวก็เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่างานนี้ไม่ใช่งานการเมือง เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพูดกันเรื่องปัญหาจากการพัฒนา ผลกระทบ และการแก้ไข ในขณะที่รัฐบาลเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนนี้เสียคนสำคัญในการต่อสู้ไป แต่การแก้ปัญหายังไม่คืบหน้า จึงควรต้องสืบทอดเจตนารมณ์ของวนิดาต่อไป
จากนั้น เรื่องราวการต่อสู้ของวนิดาถูกนำมาพูดถึงบนเวทีต้อนรับที่แก่งสะพือโดยเครือข่ายต่างๆ สลับกันไป ก่อนจะปิดท้ายด้วยหมอลำในเวลา 22.00 น. และแยกย้ายกันไปพักผ่อน
ประมาณ 4.00 น. วันที่ 14 มี.ค. ประชาชนที่มานอนรอเพื่อเดินธรรมชาติยาตราตื่นมาเตรียมจัดขบวน กระทั่ง 5.30 น. ขบวนจัดเสร็จโดยมีพระ 3 รูปนำ ตามมาด้วยแม่ชีและผู้อาวุโสนุ่งห่มผ้าขาว ขบวนถือธงรณรงค์ ต่อด้วยเครือข่ายต่างๆ และปิดท้ายขบวนด้วยเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนฯ หลังจากพระสงฆ์นำสวดมนต์พร้อมสวดชยันโตเอาฤกษ์เอาชัยแล้ว เวลา 6.00 น. ทั้งหมดร้องเพลงสมัชชาคน เมื่อลั่นฆ้องแล้วจึงเริ่มออกเดินธรรมชาติยาตราระยะทางกว่า
ขบวนเดินเท้าไปเรื่อยๆ แกนนำแต่ละเครือข่ายผลัดกันพูดบนรถเครื่องเสียง นอกจากพูดปลุกใจให้มีพลังในการต่อสู้แม้จะสูญเสียแกนนำคนสำคัญอย่างวนิดาแล้ว ยังพูดถึงบทเรียนการต่อสู้ของแต่ละเครือข่าย
จนเวลา 8.30 น. จึงหยุดพักรับประทานอาหารเช้าอย่างรวดเร็ว แล้วออกเดินต่อเพื่อให้ทันถวายเพลทำบุญแก่วนิดาที่วัดท่าเสียว นอกจากนี้ มีพิธีอุปสมบทพระสงฆ์สองรูป ก่อนที่จะเดินเท้าต่อไปยังศูนย์ภูมิปัญญาไทยบ้าน
เวลา 16.00 น.ขบวนธรรมชาติยาตรามาถึงศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ กล่าวเปิด "งาน 100 วัน วนิดา" ว่า ธรรมยาตราเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาเวลา 45 ปี ทรงธรรมยาตราตลอด การใช้เท้าเดินคือสิ่งสำคัญที่สุด เหมือนดังที่มหาตมะ คานธี ปลุกประชาชนชาวอินเดียให้สู้ด้วยการธรรมยาตราไปหยิบเกลือ ซึ่งเวลานั้นจักรวรรดิอังกฤษบอกว่าเป็นของรัฐ การเดินไปหยิบเกลือเป็นการปฏิเสธการมอมเมาของจักรวรรดินิยม ดังนั้น ถ้ามีจุดมุงหมายที่เข้มแข็ง จักรวรรดินิยมจะถูกทำลาย อย่างไรก็ตาม ธรรมยาตรต้องมีจิตใจดี ซึ่งมดก็เป็นผู้ที่เป็นเช่นนั้น รับใช้คนจน ทำในสิ่งที่ถูก ถ้าเราเดินตามมดในงานครบรอบ 100 วัน ต่อไปก็จะมีงาน 100 ปี ให้กับมดเหมือกับที่มีมาแล้วให้กับนาย
นอกจากนี้นายสุลักษณ์ยังกล่าวถึงอนุสาวรีย์คนจนซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านด้วยว่า เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเราจะนับถืออนุสาวรีย์ที่มีคุณธรรมและจะเลิกนับถืออนุสาวรีย์เจ้าหรือนักการเมืองที่โกงอย่างอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ หรืออนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรืออนุสาวรีย์กรมหลวงฯ อย่างในที่อุดรธานีหรืออุบลราชธานีซึ่งเป็นการเผยแพร่จักรวรรดิกรุงเทพฯ ซึ่งอัปรีย์ทั้งนั้น
นายสุลักษณ์กล่าวอีกว่า เราต้องกลับมาหาสมัชชาคนจน เพราะการหาสมัชชาคนจนคือการเข้าหาธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องนุ่งเหลืองห่มเหลืองก็สามารถเป็นสังฆะได้ จึงต้องสู้กับโลภโกรธหลงด้วยสามัคคีธรรม ซึ่งจะทำให้สามารถเอาชนะได้ไม่ว่าเผด็จการระดับชาติหรือทุนนิยมระดับโลก ต้องชนะด้วยคุณธรรม
จากนั้นสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำไทบ้านปากมูน อ่านแถลงการณ์วันหยุดเขื่อนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มี.ค. เช่นกัน มีเนื้อความถึงการต่อสู้ของวนิดาร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน โดยเรียกร้องให้คืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำ และฟื้นฟูชีวิตชุมชนที่ได้รับผลกระทบ (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มท้ายข่าวนี้)
ด้านนายชวนศิริ นันทพร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาเขื่อนปากมูลว่า ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับกำหนดการปิดเปิดเขื่อนในปีนี้ แต่คาดว่าการประชุมครั้งต่อไปในเดือนเม.ย.51 น่าจะได้คำตอบ และแสดงความเห็นว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเปิดเขื่อน เพราะที่ผ่านมา ในฤดูฝนจังหวัดอุบลราชธานีมักประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ การเปิดเขื่อนเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อการระบายน้ำมูนออกไปสู่ลำน้ำโขง ทั้งนี้การจะปิดเปิดเขื่อนในช่วงเวลาใด ก็คงต้องขึ้นอยู่กับฤดูการในปีนั้นๆ ว่าฝนจะมาเร็วหรือไม่
ทั้งนี้ กิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 100 วัน การจากไปของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ยังคงมีต่อเนื่องจนถึงวันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค. นี้ โดยประกอบด้วยกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ พิธีกรรม และการอภิปราย (ดูรายละเอียด)
แถลงการณ์วันหยุดเขื่อนโลก
แม่น้ำ เพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย
สานต่อเจตนารมณ์ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
นับพันนับหมื่นปี ที่แม่น้ำได้ทำหน้าที่เลี้ยงดูผู้คนและสรรพชีวิต แต่เพียงไม่กี่ปีมานี้ที่มนุษย์ได้ทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำจนเข้าสู่ภาวะวิกฤต เขื่อน นวัตกรรมของการพัฒนาที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สูบทรัพยากรจากชนบทมาสนองความต้องการของคนเมือง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขื่อนถูกสร้างภาพให้สัญลักษณ์ของการพัฒนา ทั้งผลิตกระแสไฟฟ้า แก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม มีคุณค่าอย่างล้นเหลือสำหรับทุกคน
การต่อสู้ของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั่วประเทศ ทำให้สังคมไทยได้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่งของเขื่อน คือ การล่มสลายของชุมชนลุ่มน้ำ ที่ต้องถูกอพยพโยกย้าย สูญเสียที่ดินทำกิน และทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานในการดำรงชีวิต และการสูญเสียระบบนิเวศลุ่มน้ำอันมีคุณค่ามหาศาลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่ไม่เคยมีใครพูดมาก่อน
พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และพี่น้องทั้ง 7 เครือข่าย ในนามสมัชชาคนจน ได้รู้ซึ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากเขื่อนขนาดใหญ่ที่ทำลายวิถีชีวิต ป่าไม้ สัตว์ป่า ระบบนิเวศ และวัฒนธรรมชุมชนเป็นอย่างดี รวมทั้งพี่น้องผู้ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเราทั่วโลก วันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก จึงได้กำหนดให้เป็นวันหยุดเขื่อนโลก ซึ่งพวกเราได้ร่วมกันรณรงค์ให้หน่วยงานรัฐ และประชาชนของทุกประเทศ เห็นถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ของการสร้างเขื่อน และร่วมกันเรียกร้องให้คืนธรรมชาติให้กับแม่น้ำที่สร้างเขื่อนไปแล้ว และให้ยกเลิกโครงการเขื่อนที่กำลังจะสร้าง รวมทั้งเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำที่ยั่งยืนกว่าการสร้างเขื่อน
พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน คืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำ ฟื้นฟูชีวิตชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ยกเลิกและยุติการดำเนินการสร้างเขื่อน รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการชลประทานระบบท่อ โครงการผันน้ำจากแม่โขง ฯลฯที่รัฐบาลดำริขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการลงทุน โดยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลโดยอ้างในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่นำบทเรียนความล้มเหลวมาทบทวน
วันนี้ ครบรอบร้อยวันการจากไปของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ พวกเราร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของนักสู้เพื่อคนจน พวกเรายืนยันที่จะสานต่อเจตนารมณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม สืบต่อไป
ด้วยจิตรคารวะ
สมัชชาคนจน
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก , เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนแห่งประเทศไทย
เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาป่าไม้ , เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดิน
สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานแห่งประเทศไทย , เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ภาคใต้
เครือข่ายสลัม 4 ภาค , รวมทั้ง องค์กรพันธมิตร และองค์กรภาคประชาชน
14 มีนาคม 2551
ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน จ.อุบลราชธานี
|