บทความสุริยันต์ ทองหนูเอียด : "ปางแดง" ชัยชนะบนความพ่ายแพ้ บาดแผลของความเป็นธรรม

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิมคือ "ปางแดง" ชัยชนะบนความพ่ายแพ้ และบาดแผลของความเป็นธรรมในสังคมไทย

 

 

สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อประชาชนบนพื้นที่สูง

 

 

 

 

(1)

 

เช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 การกลับมาของใครบางคนอาจเป็นที่สนใจของสังคม แต่สำหรับเราชาวบ้านปางแดงจากเชียงดาว ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ทีมทนายจากสภาทนายความ เพื่อนๆ สื่อมวลชนประชาธรรม ประชาไท และนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนบนพื้นที่สูง กลับต้องลุ้นระทึก เพราะศาลเชียงใหม่นัดให้มาฟังคำพิพากษา

 

พลันที่พวกเรา เดินผ่านร้านขายกับข้าว ขายอาหารหลังศาล ผ่านแม่ค้าขายขนมหน้าซุ้มขายน้ำ หนังสือพิมพ์ เสียงกระแทกอย่างตั้งใจของแม่ค้าก็ดังขึ้น

 

"ทีคนไทย (หมายถึงทักษิณ) ก็ขับไล่เขาออกนอกประเทศ ทีต่างด้าวกลับได้อยู่เมืองไทย"

 

ผมคงเดินก้มหน้าต่อไป แม้นอยาจะอธิบายบ้าง ว่าเรื่อง "ทักษิณ" กับ "ชาวบ้านปางแดง" นั้น มันคนละเรื่องกัน แต่ก็ต้องข่มใจพาพี่น้องปางแดงไปเพื่อรับฟังการพิจารณาคดีต่อไป

 

นี่อาจเป็นอคติของแม่ค้าทั่วไปที่ได้รับฟังข้อมูลข่าวสารด้านเดียว โดยเขาเลือกที่จะเสพการพลัดถิ่นของมหาเศรษฐีด้วยความเอ็นดู และเลือกที่จะรังเกียจเดียดฉันท์ดูแคลนชาวเขาผู้ยากไร้

 

 

(2)

 

ราวสามปีที่แล้ว ชาวบ้านปางแดง ถูกปลุกขึ้นมาเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 พวกเขาถูกจับทั้งหมด 48 คน เป็นชาย 34 คน หญิง 14 คน ชาติพันธุ์ 4 เผ่า ประกอบด้วย เผ่าปะหล่อง 19 คน ลาหู่ 25 คน ลีซู 1 คน คนเมือง 3 คน จำนวน 3 หย่อมบ้าน หมู่ 9 (ทุ่งหลุก) และ 11 (แม่เตาะ) การจับกุมครั้งนี้เป็นการจับกุมที่ไม่ต่างอะไรกับการจับกุมครั้งแรก (เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 จำนวนผู้ถูกจับทั้งหมด 27 คน เป็นชายทั้งหมด โดยถูกแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยศาลสั่งตัดสินจำคุก 5 ปี 9 เดือน วิธีการที่จะล่อลวงให้ชาวบ้านเข้าในห้องขัง คือ "จะพาไปประชุม" การถูกจับในครั้งแรกเป็นผลมาจากรัฐบาลภายใต้ชุดของนายชวน หลีกภัย ประกาศนโยบายปิดป่าในปี 2532 )

 

และครั้งที่สอง (ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 26 มีนาคม 2541 ผู้ถูกจับทั้งหมด 56 คน เป็นชายทั้งหมด จำนวนชาติพันธุ์ 4 ชาติพันธุ์ ปะหล่อง 31 คน ลีซู 3 คน พื้นราบ 4 คน ลาหู่ 18 คน ครั้งนี้ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาทั้งหมดถูกพิพากษาลงโทษข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่รัฐที่มาจับกุมประกอบตำรวจ ป่าไม้ อส. จำนวนประมาณ 120 คน พร้อมมีอาวุธครบครัน เพื่อจะมาบุกจับชาวบ้านเสมือนคดีอาชญากรรมร้ายแรง การจับกุมครั้งเซ่นนโยบายยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีของสมัชชาคนจนในสมัยรัฐบาลนายชวน)

 

การจับกุมในครั้งที่สาม จับทั้งผู้หญิง คนใบ้ คนพิการด้วย ข้อหาที่ถูกยัดเยียดให้ก็เหมือนเดิมคือข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว รวม 54 คดี วิธีการที่จะล่อลวงให้ชาวบ้านเข้าในห้องขัง มีหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น "ไปประชุม" "แจกผ้าห่ม" "ฝึกอบรม" "ไปสอบปากคำที่อำเภอ" ทุกเหตุผลล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไกลจากการจับกุมทั้งสิ้น

 

 

 

(3)

 

การจับกุมซ้ำซากในพื้นที่ที่รัฐอ้างว่าเป็นป่าสงวนแต่ไม่มีสภาพดังกล่าว ชุมชนปางแดง มิใช่เป็นชุมชนโดดเดี่ยวในบริเวณนี้ บริเวณรอบๆ ชุมชนยังมีหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้านขนาดเล็กอีก 3-4 แห่ง ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันโดยถนนลำลองขนาดเล็ก ตัดผ่านเนินเขาและลำห้วยต้าน

 

ทิศเหนือของชุมชนปางแดง ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นบ้านลีซอห้วยนำริน ด้านทิศตะวันออก ห่างจากบ้านปางแดงนอกประมาณ 5 กิโลเมตรเป็นบ้านห้วยอีโก๋ ซึ่งมีชาวอาข่าและชาวลีซู อาศัยอยู่ประมาณ 100 หลังคาเรือน ชาวอาข่า บางส่วนอพยพมาจากดอยตุง บ้านหินแตก แม่สรวย และแม่สะลอง จังหวัดเชียงราย เลยไปอีกเล็กน้อยเป็นบ้านผาลาย ซึ่งเป็นบ้านปะกาเกอญอ มีประมาณ 30 หลังคาเรือน

 

ทิศใต้ ห่างจากบ้านปางแดงในประมาณ 2 กิโลเมตร มีบ้านท่าขี้เหล็ก เป็นหมู่บ้านชาวปากะเกอญอ ประมาณ 30 หลังคาเรือน ตั้งบ้านเรือนมานานเกือบ 65 ปี ซึ่งเข้ามาเป็นคนงานสัมปทานป่าไม้ให้บริษัท เมื่อเลิกสัมปทานจึงได้ตั้งบ้านเรือนในที่ราบติดลำห้วยแม่จอน ในบริเวณนี้ ยังมีกลุ่มบ้านลาหู่อีก 7 หลังคาเรือนและถัดไปอีก 2 กิโลเมตรเป็นบ้านห้วยปง ซึ่งมีชาวลาหู่และปะหล่อง ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กัน รวมประมาณ 55 หลังคาเรือน

 

ส่วนทางด้านทิศตะวันตก ห่างจากปางแดงนอก ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็น บ้านทุ่งหลุก แม่ยะ แม่เต๊าะและสบอ้อซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทยพื้นราบ ชาวบ้านจากหมู่บ้านเหล่านี้หลายคนได้เคยเข้ามาบุกเบิกที่ทำกินและทำสวนมะม่วง ส่วนกล้วยในบริเวณรอบๆ ชุมชนบ้านปางแดง โดยเฉพาะบริเวณจากบ้านทุ่งหลุกไปยังห้วยอีกโก๋บริเวณระหว่างบ้านปางแดงในกับบ้านท่าขี้เหล็ก และระหว่างบ้านห้วยปงกับบ้านแม่ยะ แม่เต๊าะและบ้านสบอ้อ

 

ชุมชนปางแดงมีโรงเรียนประถมศึกษา 1 โรง ก่อตั้งมาแต่ปี 2547 โดยมูลนิธิพุทธธรรมหนองฮ่อ ซึ่งต่อมาได้โอนให้เป็นโรงเรียนในสังกัดการประถมศึกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ปัจจุบันรับนักเรียนจากชุมชนปางแดง และหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้น ในช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางราชการ และเงินอุดหนุนจากชุมชนรอบ ๆ รวมทั้งจากช่วยเหลือโดยการทอดผ้าป่า การบริจาคจากคนนอกและมีการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน

 

ในบริเวณนี้ในชุมชนแห่งนี้ ยังมีสำนักสงฆ์ (วัดพระพุทธบาทปางแดง) ตั้งอยู่บริเวณปากถ้ำ อยู่ในบริเวณทางแยกเข้าบ้านปางแดงใน และบ้านมูเซอปากถ้ำ บนหน้าผาเหนือถ้ำ มีการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กสวมทับรอยพระพุทธบาท โดยครูบาเทือง นาภสโล วัดเด่นสลีศรีเมืองแกน ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สำนักสงฆ์แห่งนี้ ตั้งมากว่า 20 ปีแล้วมีพระสงฆ์อยู่ประจำทุกพรรษา

 

ชุมชนปางแดงมีระบบประปาใช้ทั้งหมู่บ้าน โดยการสนับสนุนจากองค์กรทางศาสนาและองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยของรัฐ ยังให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์พาทัวร์นักท่องเที่ยวลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หลายๆ ครั้งที่อำเภอได้ขอให้พวกเขามาช่วยงานวัฒนธรรมรับแขกบ้านแขกเมือง น่าแปลกที่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้การสื่อสารออกมาสู่โลกข้างนอกเท่าที่ควร

 

 

(4)

 

และทุกครั้งที่มีการจับกุมดำเนินคดีก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหา

 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ในคราวการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ครั้งที่ 4/2550 เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2550 ณ ห้องภูมิระพี โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ชาวบ้านได้ขอให้มีการนำเสนอ กรณีปัญหาบ้านปางแดงเพื่อขอให้มีการพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งมติที่ประชุมให้ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ดำเนินการตรวจสอบ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องสัญชาติและพื้นที่ราษฎรอยู่อาศัย โดยให้กรมป่าไม้ตรวจสอบพื้นที่ที่ราษฎรอยู่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือไม่ และร่วมกับจังหวัดพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมทั้งให้สถาบันพัฒนาชุมชนประสานงานกับจังหวัดเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อาศัยให้เหมาะสม และเมื่อดำเนินแล้วเสร็จให้นำมาเสนอกับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน และจังหวัดเพื่อการพิจารณาเพื่อให้เกิดแก้ไขปัญหาต่อไป

 

ต่อมา พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศจพ.ได้ลงไปในพื้นที่บ้านปางแดง เพื่อรับทราบข้อมูลและติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2550 ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงดาว และได้ให้แนวทางและนโยบาย ในการแก้ปัญหาร่วมกัน

 

คณะทำงานสำรวจพัฒนาข้อมูลและแก้ไขปัญหาราษฎรบ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดประชุม ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงดาว คณะทำงานมีมติเห็นชอบกรอบหลักการแก้ไขปัญหา ตามอำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน 4 ประการ และที่ประชุมได้มอบหมายให้แต่คณะทำงานส่วนต่างๆ รับผิดชอบในการตรวจสอบและจัดทำข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่ประชุมมอบหมาย

 

การประชุมคณะทำงานสำรวจพัฒนาข้อมูลและแก้ไขปัญหาราษฎรบ้านปางแดง ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ห้องประชุมอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่า

 

1.ผลการปฏิบัติงานการสำรวจรังวัดข้อมูลการถือครองที่ดินของราษฎรบ้านปางแดง ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2550 ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎรเฉพาะพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีมีจำนวน 57 ราย 95 แปลง เนื้อที่ 289-3-98 ไร่ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสงวนทุกราย ทุกแปลง และอยู่ในที่กำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 3,4,5 ทุกราย,ทุกแปลง

 

2.พื้นที่บ้านปางแดงตามเงื่อนไขการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำนี้ รัฐสามารถนำมาจัดเป็นที่ทำกินที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรในรูปแบบสิทธิทำกิน หรือ สทก.ได้โดยป่าไม้ชี้แจงว่าจะนำเอาพื้นที่ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จ ภายในปีบงประมาณ 2551

 

3.อำเภอเชียงดาว ได้แจ้งผลการตรวจสอบสถานะข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ของราษฎรกลุ่มเป้าหมายจากห้องทะเบียนประวัติประชากรหมู่ที่ 9 .เชียงดาวว่ามีจำนวน 608 ครัวเรือน ประชากร 1,713 คน สัญชาติจีน 4 คน สัญชาติไทย 1,353 คนและสัญชาติอื่นๆ 365 คน และจากการสำรวจพบว่ามีชนเผ่าลาหู่ 201 คนได้รับสัญชาติไทยแล้ว 178 คน ไม่มีสัญชาติไทย 23 คน ในขณะที่ชนเผ่าปะหล่องมีจำนวน 726 คนได้รับสัญชาติไทยแล้ว 215 คน ไม่มีสัญชาติไทย 511 คน

 

4.ข้อมูลประชากรที่โดนคดีมีจำนวน 116 ครอบครัว 533 คน ได้รับสัญชาติไทย 203 ราย ถือสถานะต่างด้าว 38 คนและไม่มีสัญชาติ 311 คน ซึ่งที่ประชุมเสนอว่า ในกรณีบุคคลยังไม่ได้รับสัญชาติไทย กระบวนการแก้ไขปัญหาให้มีหน่วยงานระดับท้องถิ่น หรือองค์กรนิติบุคคล เสนอโครงงานหรือแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

 

5.ที่ประชุมได้พิจารณาสรุปผลการทำงานของคณะทำงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเห็นชอบให้นำผลสรุปในการประชุมครั้งนี้เพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการเชียงใหม่ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ศจพ.พิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งผลความคืบหน้ายังคงต้องติดตามกันต่อไป

 

 

(5)

 

บ่ายวันต่อมา หลังจากศาลเชียงใหม่เลื่อนการอ่านคำพิพากษาคดีออกไปอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2551 การหารือแนวทางการต่อสู้ทั้งทางนโยบายและคดีบ้านปางแดงก็เริ่มต้นขึ้น

 

"อาจารย์...เราจะมีหลักประกันอะไร ถ้ายอมรับแนวทางการต่อสู้ตามข้อเสนอใหม่"

 

"อาจารย์...ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน เราจะถูกจับอีกไหม อีกกี่ปีจะแก้เสร็จ"

 

"แล้วพวกเราที่เป็นปะหล่อง จะแก้ปัญหาแบบไหน เราไม่มีเงิน ไม่มีบัตร ไม่มีที่ดิน จะทำอย่างไร แล้วถ้าพวกเราสู้แบบเดิม สู้ได้ไหม จะเป็นอย่างไร"

 

"อาจารย์...ทนาย อย่าทิ้งพวกเรา นะครับ"

 

ผมและพี่ๆ จากสภาทนายความช่วยกันตอบคำถามชาวบ้านด้วยหัวใจที่เจ็บปวดไม่แพ้กัน

 

ผืนดินในแผ่นดินนี้มีมากมาย แต่สำหรับชนเผ่าที่บ้านปางแดง กลับไม่มีที่ยืนสำหรับพวกเขา ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยเพียงไม่กี่ตารางวา ที่ทำกินเพียงไม่กี่ไร่ พวกถูกจับถูกกระทำมาแล้วกว่า 20 ปี

คงจะมีก็แต่การรวมกลุ่ม เพื่อร่วมกันต่อสู้เคลื่อนไหวเท่านั้นแหละ พี่น้องเอ๋ย..ที่จะเป็นหลักประกันอย่างดีสุดว่าปัญหาจักได้รับการแก้ไข

 

อย่างที่สุด อย่างน้อยที่สุด ณ วันนี้ ชาวบ้านปางแดงก็มีพื้นที่อยู่ในหัวใจของกระบวนการยุติธรรมแล้ว พวกเขามีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมไทย สังคมโลกแล้ว แม้นมันจะเป็นชัยชนะเล็กๆ บนความพ่ายแพ้และบาดแผลที่ความเป็นธรรมในสังคมไทยทอดทิ้งคนชายขอบมาช้านาน

 

นั่นคือภารกิจของพวกเราที่จะต้องหาที่ดินและสันติภาพคืนให้พวกเขาต่อไป

 

 

 

--------------------------

 

หมายเหตุ : ความเรียงชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงความรำลึกถึงเนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีของจากไปของสุวิทย์ วัดหนู 12 มีนาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท