Skip to main content
sharethis

 


CSR ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้*


 


 


ดร.โสภณ พรโชคชัย**


 


 


เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เรื่อง "การระวังและป้องกันปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมของไทย" ณ ศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี พญาไท และได้ทำหนังสือเสนอความเห็นไปยังทางคณะผู้จัดการ แล้ว และขอสรุปมาเผื่อเป็นประโยชน์สาธารณะในด้านการอภิปรายเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กรธุรกิจ (Corporate Social Responsibility - CSR)


 


 


สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไม่ได้เลวร้าย


จากการรายงานสถานการณ์มลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เสนอโดยนักวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า ปัญหาดังกล่าว ยังไม่รุนแรงนัก กล่าวคือ กรณีน้ำเสียที่พบในแม่น้ำสายสำคัญ ปรากฏว่าสถานการณ์ในปี 2550 กลับดีกว่าปีก่อน กรณีที่ว่าอาจมีการใช้ถ่านหินมากขึ้นกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาตินั้น ก็ยังพบตัวเลขที่ชัดเจนและยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการใช้ถ่านหินทำให้เกิดมลพิษมากกว่าการใช้ก๊าซแต่อย่างใด ส่วนปัญหาเรื่องเสียงก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด


 


สำหรับกรณีกากของเสีย เพิ่มขึ้นเพียง 1.7% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่วนกากขอเสียอันตรายก็เกิดขึ้นใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และส่วนใหญ่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งกากหรือขยะทั้งหลายได้รับการกำจัดสำเร็จทั้งหมด จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนสารเคมีก็มีการใช้เพิ่มเพียง 1.5% ซึ่งต่ำมาก และปี 2550 มีผู้ป่วยด้วยสารเคมีเพียง 1,298 รายเท่านั้น


 


 


ใครคือผู้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม


ในที่ประชุมสถาบันไทยพัฒน์ นำเสนอว่า เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) สามารถจัดการขยะได้เพียง 20% ของที่เกิดขึ้น แสดงว่าจุดหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือ องค์กรของรัฐไม่สามารถดำเนินการหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรธุรกิจแทบไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงควรพุ่งเป้าไปที่ผู้บริหารหรือผู้คุมกฎหมาย


 


ปัญหาหลักของสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมส่วนน้อยที่ปล่อยมลพิษ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยแจ้งชัด ในข้อหาละเมิดต่อผู้บริโภคหรือประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ข้อหาการกระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต (ถ้ามี) หรือพยายามฆ่าในกรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เตือนไว้แล้วแต่ยังไม่หยุดการปล่อยมลพิษร้ายแรง เป็นต้น ดังนั้นประเด็นหลักของการแก้ไข จึงควรอยู่ที่การจัดการกับวิสาหกิจที่ละเมิดกฎหมายเป็นรายๆ ไปมากกว่าการรณรงค์แบบเหวี่ยงแห ซึ่งคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่ทางราชการจะดำเนินการได้ เพราะคงมีจำนวนไม่มากในแต่ละท้องที่


 


 


ภาคเอกชนจะเกี่ยวข้องไหม


สำหรับการป้อมปรามนั้น วิสาหกิจที่มีศักยภาพในการทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐบาล ภาคประชาสังคม หรือเครือข่ายธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ควรจับตาดูเป็นพิเศษ และให้การศึกษาวิสาหกิจเหล่านี้เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาในอนาคต แต่น่าแปลกใจ NGO ประเภทนี้มีน้อย มีแต่ NGO ประเภทที่เน้นการทำดีซึ่งเป็นรูปโฉมของการบำเพ็ญประโยชน์แบบคุณหญิงคุณนายในยุคสมัยใหม่


 


สิ่งที่ควรรณรงค์เพิ่มเติมในแวดวงธุรกิจและผู้บริโภคก็คือ การร่วมกันสร้างแรงบีบคั้นทางการตลาดต่อวิสาหกิจที่มีศักยภาพที่จะก่อมลภาวะ เช่น การรณรงค์ให้วิสาหกิจเหล่านี้มี ISO 14001 และ/หรือ ISO 18000 เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น หาไม่จะรณรงค์งดซื้อสินค้า เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตามมาตรฐาน ISO เหล่านี้ก็มักเป็นไปบนพื้นฐานของความสมัครใจ ทำให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ประสบความสำเร็จ การที่เรายิ่งรณรงค์ให้เป็นไปตามความสมัครใจเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเป็นการปล่อยปละละเลย ส่วนผู้ที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เพียงแต่ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ไปตามความพอใจ แต่ไม่เกิดประสิทธิผลหากเจ้าหน้าที่เพิกเฉยโดยถือหลักให้เป็นไปตามสมัครใจ


 


 


ข้อสังเกต


อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดขึ้นหากรัฐบาลไม่เอาหูไปนาตาไปไร่ และบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ปัญหาความวิบัติของสิ่งแวดล้อมเกิดจากผู้กระทำผิดรายสำคัญจำนวนน้อย การรณรงค์ต้องเน้นการป้องปรามผู้กระทำผิด โดยอาศัยกฎหมายและแรงบีบคั้นทางสังคมและจริยธรรม


 


การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่การรณรงค์ส่งเสริมให้คนทำดี เพราะยิ่งส่งเสริมมากก็จะดูเหมือนจะเบี่ยงเบนความสนใจให้พ้นไปจากคนทำผิด การส่งเสริมให้วิสาหกิจต่างๆ ทำความดี หรือประกอบกิจการโดยไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อมโดยมากเป็นการกระทำด้วยใจอาสา จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เป็นเพียงกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อให้ตนดูดีเป็นสำคัญ


 


 


 


.................


 


* บทความนี้ดัดแปลงมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือเสนอความคิดเห็น เมื่อ 17 มี.ค. 51 ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ต่อศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม หอการค้าไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ร่วมจัดงานเสวนาโต๊ะกลมว่าด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ


 


** ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าไทย สาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ และเคยเป็นกรรมการเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม Email: sopon@thaiappraisal.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net