Silence of the Lamp : จดหมายเปิดผนึกถึงคณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สุภัตรา ภูมิประภาส

 

 

 

ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง ต้องขอขอบคุณสำหรับความห่วงใยและกำลังใจของบรรดาคณาจารย์หลายสถาบันต่อการทำงานของสื่อมวลชน

 

จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 13 มีนาคม 2551 ที่กลุ่มคณาจารย์ระบุว่า "จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะแสดงความห่วงใยของคณาจารย์ผู้สอนหนังสือทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งได้ลงชื่อรวมกันไว้ท้ายจดหมายนี้ ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลต่อข้าราชการพนักงานของรัฐ และสื่อมวลชน ซึ่งมีโอกาสที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อรัฐบาลและการปกครองแบบประชาธิปไตยได้"   ["1 เดือนประเด็นร้อน" นักวิชาการจี้ รบ.ทบทวนท่าทีกรณีโยกย้าย ขรก. - กดดันสื่อที่เห็นต่าง]

 

ในฐานะสื่อมวลชนอีกเช่นกันขอตั้งคำถามต่อ "ความห่วงใยและกำลังใจ" ดังกล่าวว่าคณาจารย์กลุ่มนี้เฉพาะเจาะจงให้กับสื่อมวลชนหรือข้าราชการพนักงานของรัฐ "กลุ่มใด"เป็นการเฉพาะหรือไม่

 

เพราะหากพิจารณาจากการขยายความของ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ (หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก) จะเห็นว่าสื่อที่กลุ่มคณาจารย์เห็นว่าถูกคุกคาม คือ สื่อที่ถูกนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ถามว่า "เมื่อคืนคุณไปเสพเมถุนกับใครมา"  หรือ รายการวิทยุ "มุมมองของเจิมศักดิ์" ที่อาจารย์ระบุว่า "ถูกแบน" ทั้งยังให้รายละเอียดด้วยว่า "อาจารย์เจิมศักดิ์ก็ยืนยันว่าคุณเพ็ญนี่แหละ ถึงแม้ว่าตอนหลัง ผู้ที่ยอมรับว่า คุณเพ็ญเป็นคนสั่งก็ต้องหยุดข้อมูลตรงนั้นไป เพื่อความอยู่รอด ไม่งั้นจะถูกยกคลื่นไปทั้งคลื่นเลย ก็ออกมาบอกว่าไม่ได้รับการสั่ง คุณเพ็ญก็ออกมาตอบโต้ว่าไม่ทำหรอก ใครทำก็โง่แล้วที่จะทำให้เจิมศักดิ์เป็นฮีโร่"

 

นอกจากนี้ยังมีการโยงข้ามช็อตกลับไปที่การคุกคามสื่อสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อีกหลายกรณีด้วย

 

แต่ในความห่วงใยของคณาจารย์นั้น เหตุใดจึงเว้นวรรคไม่กล่าวถึงการคุกคามสื่อในสมัยรัฐประหารของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)  หรือบรรดาคณาจารย์กลุ่มนี้ไม่เคยรับทราบปรากฏการณ์ ดังต่อไปนี้

 

-          การส่งกำลังพลพร้อมอาวุธครบมือ และรถถัง ไปยึดสถานีโทรทัศน์

-          การส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมประชุมข่าว และตรวจสอบข่าว

-          การบีบให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการ อสมท. ลาออกจากตำแหน่ง

-          การสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนกว่า 300 สถานี โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่สงสัยว่าเป็นฐานเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร

-          การเรียกบรรณาธิการสื่อทุกแขนงเข้าพบหลายครั้งเพื่อ "ขอความร่วมมือ"ไม่ให้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร  และข่าวความเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร

-          การบล็อกเวบไซด์ข่าวของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร เช่น เวบไซด์ของกลุ่ม 19 กันยายนต้านรัฐประหาร และเวบไซด์ เดอะ รีพอร์ตเตอร์ ฯลฯ

-          การสั่งระงับการออกอากาศรายการสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร

-          การแทรกแซงสถานีโทรทัศน์ไอทีวี  ทีไอทีวี และไทยพีบีเอส อย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ การล้างบางบุคลากรด้านข่าว(ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร) ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่อ้างว่าเป็น "ทีวีสาธารณะ" รวมทั้งการใช้กระบวนการไม่โปร่งใสใน การแต่งตั้งผู้อำนวยการ คณะกรรมการและที่ปรึกษาชุดใหม่ของสถานีทีวี "สาธารณะ"แห่งนี้

 

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคุกคามสื่อในยุค คมช. ที่อยากฝากไว้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับกลุ่มคณาจารย์กลุ่มผู้มีความห่วงใยสื่อ  เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์วิจารณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อสื่อ และสาธารณชนวงกว้างอย่างแท้จริง

 

ท้ายสุด ขอน้อมรับกำลังใจจากคณาจารย์ ที่ส่งมาพร้อมกับจดหมายเปิดผนึก  "ให้สื่อมวลชนได้ยึดมั่นในปณิธานและหลักการแห่งวิชาชีพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติและความเกรงกลัวใดๆ"

 

ขอส่งกำลังใจให้บรรดาคณาจารย์เช่นกัน ให้คณาจารย์ได้ยึดมั่นในหลักวิชาการ และทำหน้าที่ชี้นำทางปัญญาให้กับลูกศิษย์และสังคมโดยปราศจากอคติใดๆ มาครอบงำ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท