"บทบาทขบวนการแรงงานกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ": รายงานจากการประชุมที่สมุทรสาคร

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, อดิศร เกิดมงคล และเสถียร ทันพรม
คณะทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
1

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 22-23 มีนาคม 2551 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "บทบาทขบวนการแรงงานกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ" ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้นำสหภาพแรงงานไทย นักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ และพี่น้องแรงงานข้ามชาติจากจังหวัดเชียงใหม่ รวมประมาณ 40 คน

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาพรวมสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ , ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานและองค์กรที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ และร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันผลักดันและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน โดยคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเกิดแผนงานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ ในเรื่องการรณรงค์นโยบายสิทธิแรงงานข้ามชาติและการส่งเสริมการรวมกลุ่ม

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2551 ภาคเช้าเป็นการนำเสนอภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติ โดยคณะทำงานแรงงานข้ามชาติในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ภาคบ่ายเป็นการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยเรื่อง ความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน  ส่วนวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2551 ภาคเช้าเป็นการนำเสนอเรื่อง การรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยคณะผู้แทนจาก ILO และการอภิปรายทั่วไปเรื่องความเป็นไปได้ในการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย ภาคบ่ายเป็นการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย เรื่องบทบาทสหภาพแรงงานในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

รายงานฉบับนี้จึงเป็นการสรุปเนื้อหาจากการนำเสนอของวิทยากรกับการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมใน 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้

(1)  ภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติ

(2)  ความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน 

(3)  การรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติและความเป็นไปได้ในการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย

(4)  บทบาทสหภาพแรงงานในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

 

ภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติ

            คุณอดิศร เกิดมงคล จาก International Rescue Committee (IRC) เป็นคนแรกที่นำเสนอเรื่องภาพรวมประเด็นแรงงานข้ามชาติใน 7 ประเด็นหลัก คือ

1.       แรงงานข้ามชาติคือใคร

2.       แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับปัญหาใดบ้างในชีวิตประจำวัน  

3.       มีใครเข้ามาเกื้อกูล/สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

4.       มีนโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบใดบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

5.       มีนโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

6.       นโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบที่มีอยู่ เพียงพอต่อการทำงานหรือไม่ อย่างไร

7.       ก้าวต่อไปของการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

พบว่าแรงงานข้ามชาติ คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เช่น งานผู้ช่วยแม่บ้าน ประมงทะเลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล เกษตรกรรม ก่อสร้าง คนที่ทำงานต่างๆเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของ 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา พวกเขาได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญมีคนจำนวนมากที่ได้จ้างแรงงานเหล่านี้มาทำงานทั้งในบ้านและในสถานประกอบการ

ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในส่วนของภาคกรรมกรและคนรับใช้ในบ้านค่อนข้างมาก ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาประเทศไทย ทั้งด้วยปัจจัยทางการเมือง เช่น กรณีประเทศพม่าที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนต้องหลบหนีภัยดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย หรือด้วยสาเหตุของความต้องการแรงงานของประเทศไทยและแรงผลักดันทางเศรษฐกิจจากประเทศต้นทาง ทำให้รัฐบาลไทยในแต่ละยุคจึงมีนโยบายที่อนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้เป็นการชั่วคราวปีต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆมาเป็นระยะๆและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 2 ล้านคน ที่ทำงานประเภทที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และแสนลำบาก แลกกับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ชีวิตของพวกเขาจะต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวที่จะถูกส่งกลับอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องเผชิญกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากสถานภาพที่ผิดกฎหมาย กับสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานและไร้ซึ่งกลไกที่จะคุ้มครองป้องกันตนเอง พบว่าความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆที่แรงงานข้ามชาติจะต้องเผชิญมี 8 เรื่องหลัก คือ (1) การถูกขูดรีดจากนายหน้าในระหว่างการขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ (2) ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย (3) การถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ (4) ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ (5) ความเสี่ยงที่จะถูกขูดรีดจากตำรวจ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการถูกจับ (6) ความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมเนื่องมาจากการเดินทางข้ามเขตจังหวัด (7) ความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการไม่มีบัตรแรงงานต่างด้าว (8) ความรุนแรงเชิงอคติทางชาติพันธุ์

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อสืบสาวไปจะพบว่าเกิดจากความหวาดระแวงต่อแรงงานข้ามชาติ คิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวอันตรายน่ากลัว แรงงานข้ามชาติเองก็ต้องคอยหลบๆซ่อนๆด้วยเกรงว่าจะถูกจับกุมทำร้าย ส่งกลับ สภาพการณ์เหล่านี้ถูกสร้างเป็นภาพมายาที่กดทับให้สังคมไทยหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติอยู่ตลอดเวลา การดำรงอยู่ของสังคมแห่งความกลัวนี้เองที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพต่อแรงงานข้ามชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การกดขี่ขูดรีดคนข้ามชาติเกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งกลายเป็นแนวนโยบายแนวปฏิบัติของรัฐ และกลายเป็นความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

การเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทั้งการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการขูดรีดในกระบวนการค้ามนุษย์ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องพยายามช่วยเหลือตนเองให้ผ่านภาวะดังกล่าวไปให้ได้ ในสภาวะที่แรงงานข้ามชาติเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก พวกเขาและเธอสามารถเอาตัวรอดได้ผ่านกระบวนการรูปแบบต่างๆที่พวกเขาเลือกสรรมาปรับใช้ ทั้งการเรียนรู้ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐเพื่อให้รัฐให้การยอมรับตนเอง ผ่านการนำเสนอตัวตนในฐานะการเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายผ่านการจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และในฐานะการนำเสนอตัวตนผู้อยู่อาศัยในรัฐไทยที่ดี เพื่อต่อรองเรื่องความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะด้วยสถานะที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้มีเครือข่าย ไม่มีสถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจที่ดี  ที่จะเป็นเงื่อนไขที่จะสามารถทำให้ต่อรองกับรัฐไทยได้

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่แรงงานข้ามชาติมักจะเล่าถึงการได้ทำงาน การได้ส่งเงินกลับบ้าน การกระทำตนเป็นแรงงานที่ดีที่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง การนำเสนอความเป็นลูกจ้างที่ดีของนายจ้าง การเป็นลูกที่ดีของครอบครัวที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศพม่า การเป็นตัวจักรหรือกลไกขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ การนำเสนอเหล่านี้เองที่นำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางกายภาพและทางจิตใจให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างเป็นสุข

            นอกจากนั้นการที่แรงงานข้ามชาติได้นำเสนอวัฒนธรรมประเพณีของตนที่มีรากเหง้า มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงหรือเหมือนกับชุมชนไทย เช่น ชุมชนมอญในแถบจังหวัดภาคกลาง กลุ่มกะเหรี่ยงหรือกลุ่มไทยใหญ่ในแถบจังหวัดภาคเหนือ จะสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นพวกเดียวกันหรือเหมือนกันได้ เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับในการมีตัวตนและดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ

ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเองก็มีการรวมตัวกันโดยตรง โดยเฉพาะการรวมตัวของประชาชนที่มาจากพม่า เพื่อเป็นองค์กรในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เช่น Yaung Chi Oo Workers Association (YCOWA) Migrant Karen Labour Union (MKLU) หรือ Federation of Trade Unions - Burma (FTUB) เป็นต้น

นอกจากการพยายามช่วยเหลือตนเองแล้ว แรงงานข้ามชาติยังมีภาคประชาสังคมเข้ามาเกื้อกูล/สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ทั้งผ่านองค์กรทางวิชาการที่ได้จัดทำงานวิจัย เช่น ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ผ่านองค์กรอิสระภาครัฐ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และ ผ่านการทำงานรณรงค์และการผลักดันเชิงนโยบายขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยและต่างประเทศ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants- ANM) เพื่อร่วมกันเปิดพื้นที่ทางสังคมในมุมมองใหม่ๆให้กับแรงงานข้ามชาติ และทำการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติได้อย่างสะดวกขึ้น

สำหรับการสนับสนุนทางด้านการเมืองในระบบนั้น กลับพบว่านักการเมืองมองเรื่องแรงงานข้ามชาติเพียง 2 ประเด็น คือ ประเด็นทางเศรษฐกิจและประเด็นความมั่นคงเพียงเท่านั้น ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นแรงงานข้ามชาติผ่านภาครัฐเป็นไปได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามจากการที่รัฐบาลไทยมักจะถูกประชาคมโลกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติในเวทีระดับโลกบ่อยครั้ง ทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้ความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบันพบว่ายังมีนโยบาย/กฎหมาย/กฎระเบียบหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ ทั้งสถานการณ์ด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ , สถานการณ์ด้านกฎเกณฑ์ มาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติ, สถานการณ์ด้านแนวนโยบาย และสถานการณ์อื่นๆ

สถานการณ์ด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ เช่น  พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 88 ที่กำหนดคุณสมบัติลูกจ้างผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น , กฎกระทรวงฉบับที่ 9 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มิให้บังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานเกษตรกรรม, กฎกระทรวงฉบับที่ 10 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่คุ้มครองงานประมงทะเลที่มีจำนวนลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน และเรือประมงที่ไปดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันแต่หนึ่งปีขึ้นไป , ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเรื่องประเภทขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบ พ.ศ. 2537 ที่ยกเว้นกิจการบางกิจการที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนเงินทดแทน เช่น เพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ การค้าเร่ แผงลอย ทำงานบ้าน ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนได้ , หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคม ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่อง การให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าวต้องมีหนังสือเดินทาง ต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเท่านั้น

สถานการณ์ด้านกฎเกณฑ์ มาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ ประกาศจังหวัด ระนอง ระยอง พังงา ภูเก็ต ที่กำหนดมาตรการเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยมีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของแรงงานข้ามชาติ เช่น ให้นายจ้างควบคุมดูแลมิให้แรงงานและผู้ติดตามออกนอกสถานที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 20.00-06.00 น. การห้ามมิให้แรงงานใช้โทรศัทพ์มือถือ การห้ามมิให้แรงงานชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

สถานการณ์ด้านแนวนโยบาย ได้แก่ นโยบายผลักดันแรงงานข้ามชาติซึ่งตั้งครรภ์กลับประเทศต้นทาง , จดหมายเวียนของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่กำชับให้แรงงานจังหวัดและสถานประกอบการทุกแห่งควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด และไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของคนต่างด้าว, แนวนโยบายห้ามไม่ให้แรงงานทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์

สถานการณ์อื่นๆ ได้แก่ อคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมักถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ , สื่อมวลชนมักรายงานข่าวซึ่งสร้างมายาคติให้แรงงานข้ามชาติ, เหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อแรงงานบ่อยครั้ง, การละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสันติของแรงงาน และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปรากฎหลายเหตุการณ์ที่แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมแต่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายหรือแนวนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อแรงงานข้ามชาติ ก็ยังมีนโยบาย กฎระเบียบบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปฏิญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานและปฏิญญาต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดรับรองสิทธิ และเสรีภาพแรงงาน ดังต่อไปนี้ เสรีภาพในการสมาคมและการรับรองที่มีผลจริงจังสำหรับสิทธิในการเจรจาต่อรอง, การขจัดการเกณฑ์แรงงานและการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ, การขจัดการเลือกปฏิบัติในด้านการมีงานทำและการประกอบอาชีพ, การยกเลิกอย่างได้ผลต่อการใช้แรงงานเด็ก

รวมทั้งยังมีสนธิสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการเกณฑ์แรงงาน (ฉบับที่ 29) ค.ศ. 1930 , อนุสัญญาว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่ากัน (ฉบับที่ 100) ค.ศ. 1951, อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุ (ฉบับที่ 19) ค.ศ.1925, อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้ง (ฉบับที่ 87) ค.ศ. 1948, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วม (ฉบับที่ 98) ค.ศ. 1949 และอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ (ฉบับที่ 105) ค.ศ. 1957

นโยบายดังที่กล่าวมาได้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายบางเรื่องก็ยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติได้อย่างจริงจัง ยังมีกฎหมายนโยบายอีกหลายตัวที่ขัดขวางต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เช่น ข้อจำกัดในเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงาน ระเบียบที่ปิดกั้นไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ประกาศจังหวัดต่างๆ ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง

 นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าแม้กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานข้ามชาติเอง ดังเช่น พรบ.คุ้มครองแรงงานก็ยังไม่มีกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมากนัก เพราะไม่ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดทางด้านภาษา สถานะทางกฎหมายที่แรงงานข้ามชาติมักจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายคนเข้าเมืองก่อนที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายยังไม่คุ้มครองอย่างเต็มที่ในกิจการบางประเภทเช่น งานรับใช้ในบ้าน ภาคประมงทะเล หรือภาคเกษตร ที่สำคัญตัวกฎหมายเองก็ยังไม่มีกลไกที่จะเอื้อให้เกิดการคุ้มครองในประเด็นที่อ่อนไหวกับแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีนายจ้างยึดบัตรของแรงงานข้ามชาติ ก็พบว่ากฎหมายมีบทลงโทษต่อแรงงานที่ไม่พกพาบัตรประจำตัว แต่ไม่มีบทลงโทษต่อนายจ้างที่ยึดบัตรไว้ ยกเว้นจะแจ้งความดำเนินการในคดีอาญา

ฉะนั้นก้าวต่อไปของการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย สังคมไทยต้องมีมุมมองใหม่ในการมองปัญหาแรงงานข้ามชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาคนข้ามชาติ เพราะแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา มีแรงผลักดันของปัญหาที่มากกว่าแง่มุมทางเศรษฐกิจ ประการต่อมา คือ แนวคิดในการจัดทำนโยบายการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติควรวางอยู่บนฐานของแนวคิดสามประการคือ แนวคิดเรื่องความมั่นคงของสังคมและของประชาชน แนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน และแนวคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน และสิ่งสุดท้าย คือ การนำแรงงานข้ามชาติที่หลบซ่อนอยู่ในสังคมไทยขึ้นมาปรากฎตัวให้เห็นโดยกระบวนการที่ทำให้ถูกกฎหมาย

            เมื่อคุณอดิศร เกิดมงคล นำเสนอจบลง ต่อมาคุณจายแลง ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแรงงานสามัคคี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของแรงงานข้ามชาติไทยใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า นำเสนอถึงถึงสถานการณ์ในพื้นที่

            กลุ่มแรงงานสามัคคีเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ความคิดในการก่อตั้งกลุ่มแรงงานสามัคคีนั้นมีมานานแล้ว เพราะพบว่าแรงงานไทยใหญ่ที่มาทำงานในประเทศไทยไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือ ขาดความรู้เรื่องกฎหมาย ทำให้โอกาสที่จะเผชิญกับการละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐและนายจ้างจะมีสูงมาก กลุ่มจะช่วยในการทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆให้เข้ามาช่วยเหลือหรือสนับสนุนเรื่องต่างๆต่อไป เริ่มแรกมีสมาชิกในกลุ่มเพียง 18 คน ตอนนี้มีสมาชิกรวม 57 คน การทำงานของกลุ่มจะทำงานร่วมกับ MAP Foundation ผ่านการฝึกอบรม การจัดรายการวิทยุ การให้ความรู้เรื่องต่างๆ สมาชิกในกลุ่มจะมาพบปะกันเดือนละ 1 ครั้ง จะมีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกปีละ 200 บาท

            ปัญหาสำคัญของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เชียงใหม่ คือ การที่แรงงานไม่สามารถขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบแรงงานขณะที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์ ซึ่งบางครั้งตำรวจก็ไม่มีการตั้งด่านตรวจ แต่ใช้วิธีการเรียกตรวจโดยตรง ตำรวจจะสังเกตว่าเป็นแรงงานผ่านการดูร่างกายของแรงงานที่จะมีการสักบนร่างกาย หรือบางคนจะมีกระติ๊บข้าววางไว้ด้านหน้ารถ แรงงานจะถูกจับกุมและเสียค่าปรับครั้งละ 2,000 บาท โดยนายจ้างจะต้องจ่ายร่วมด้วย 1,000 บาท และแรงงานจ่ายอีก 1,000 บาท แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างก็จะมาหักเงิน 1,000 บาทที่เสียไปจากแรงงานอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์ล่าสุดที่แรงงานเกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง คือ ตำรวจได้เข้าไปยึดมอเตอร์ไซด์ของแรงงานจำนวน 10 คัน ที่ศูนย์แรงงานแห่งหนึ่ง ขณะนี้มอเตอร์ไซด์เหล่านั้นอยู่ที่โรงพัก แต่ก็ไม่มีแรงงานคนใดกล้าเข้าไปพูดคุยกับตำรวจเพื่อนำกลับมา เพราะพวกเขาไม่มีบัตรประจำตัวแรงงานข้ามชาติ

            แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักจะซื้อมอเตอร์ไซด์ด้วยเงินสด ฉะนั้นเมื่อพวกเขาถูกจับแต่ละครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งๆจะมีโอกาสถูกจับประมาณ 3 ครั้ง ทำให้ต้องเสียเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 บาท สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้แรงงานบางคนต้องตัดสินใจขายมอเตอร์ไซด์แทนการถูกจับ ข้อเรียกร้องที่สำคัญของแรงงาน คือ อยากให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ได้ มีใบขับขี่ที่ถูกกฎหมาย เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยเคยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่มีใบอนุญาตขับขี่ได้ในอำเภอมาแล้วครั้งหนึ่ง

            การเดินทางจากรัฐฉานมาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่นั้น พวกเขาต้องเสียเงินให้นายหน้าเป็นค่านำพามาอย่างน้อยคนละ 12,000 บาท ถ้าเดินทางไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ที่ไกลกว่านี้ เช่น กรุงเทพ ค่านำพาก็จะสูงยิ่งขึ้น เงินที่พวกเขาจ่ายให้นายหน้านั้นส่วนใหญ่แล้วเขาจะต้องหยิบยืมเงินจากคนอื่นในหมู่บ้านก่อนแล้วค่อยจ่ายคืนภายหลัง โดยจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวของเงินที่ยืมมา เช่น ยืมเงินมา 10,000 บาท จะต้องจ่ายคืนรวม 20,000 บาท ในรัฐฉานปัจจุบันนี้ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้ เมื่อก่อนจะมีเพียงคนในชนบทอพยพย้ายถิ่นไปยังเชียงใหม่เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้กลับพบว่ามีประชาชนในเมืองด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำธุรกิจได้อีกต่อไป เพราะไม่มีลูกค้ามาซื้อของ มีคนจำนวนมากจากรัฐฉานที่เดินทางไปเมืองไทยแล้ว แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่าการทำงานในเมืองไทยจะมีโอกาสถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ เช่น ค่าแรงได้ไม่ครบตามค่าแรงขั้นต่ำ การถูกขูดรีดจากตำรวจ จากนายจ้าง แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ในรัฐฉานต่อไปที่ไม่สามารถทำมาหากินได้แม้แต่น้อย

            จากตัวเลขการจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงานในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนลดลง เขาตั้งข้อสังเกตว่าเนื่องมาจากสาเหตุ 4 ประการที่สำคัญคือ (1) มีนายจ้างจำนวนมากที่รับเงินแรงงานเพื่อไปจัดทำใบอนุญาตทำงาน แต่จริงๆแล้วไม่ได้ทำจริง รวมทั้งเวลาที่แรงงานไม่ขอเงินคืนนายจ้างเหล่านั้นก็ไม่คืนให้ (2) แรงงานบางคนที่เดินทางกลับบ้านที่รัฐฉาน จะถูกเจ้าหน้าที่ยึดบัตรหรือเก็บบัตรคืน ทำให้แรงงานไม่มีบัตรไปต่อใบอนุญาตทำงานครั้งต่อไป (3) แรงงานพบว่าถึงแม้พวกเขาจะมีบัตรแรงงาน แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิต่างๆจริงดังที่บัตรได้ระบุไว้ (4) มีแรงงานบางคนได้เลือกที่จะเข้าไปจดทะเบียนตามยุทธศาสตร์สถานะสิทธิบุคคลแทนที่จะมาจดทะเบียนของแรงงานข้ามชาติโดยตรง

 

ความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน

            จากการระดมความคิดเห็นเพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนใน 3 ประเด็นหลัก คือ เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ, การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย, ยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันและการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรพัฒนาเอกชน และแรงงานข้ามชาติ พบว่า

 











เรื่อง


ข้อเสนอ/ข้อควรปฏิบัติ


ปัญหาแรงงานข้ามชาติ


1.   การเข้าเมืองผิดกฎหมาย

2.   การไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและนโยบาย

3.   การที่รัฐบาลของประเทศพม่าและประเทศไทยขาดความรับผิดชอบ

4.   การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่

5.   นโยบายของรัฐไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ


เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาแรง งานข้ามชาติ


1.   เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามหลักสิทธิมนุษยชน และอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกับแรงงานไทยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

2.   เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเกิดความมั่นคงในการทำงาน ในคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงาน

3.   เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐาน/ปฏิญญาสากล สามารถบังคับใช้ได้จริง และแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงได้

4.   เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การบริการของรัฐโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

5.   เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐ รวมถึงประชาชนต่อเรื่องแรงงานข้ามชาติ


การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


1.  การเข้าเมืองผิดกฎหมาย

·         มีการสำรวจตัวเลขแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจน

·         เปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถมาขึ้นทะเบียนได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีความผิดและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ไม่เกิน 1,500 บาท/คน

·         ลดขั้นตอนการจดทะเบียนให้เกิดความยุ่งยากน้อยลง

·         กรมการจัดหางานมีการจัดทำใบอนุญาตทำงานชั่วคราว

2.  แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและนโยบาย / ความไม่มั่นคงในการทำงาน (มีกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง)

·         องค์กรแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรม

·         แรงงานข้ามชาติมีการจัดตั้งกลุ่มให้การศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิต่างๆอย่างถ่องแท้(สวัสดิการ , ค่าจ้ง , ความปลอดภัย , สุขอนามัย , กฎหมายไทย , ภาษา , การบริการของรัฐ)

·         มีการติดตามตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นจริง รวมทั้งให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

·         หน่วยงานรัฐมีการจัดหาล่ามในการสื่อสารให้แรงงานข้ามชาติเวลาแรงงานมาติดต่อ

3.  การที่รัฐบาลของประเทศพม่าและประเทศไทยขาดความรับผิดชอบ

·         Ngos /สหภาพแรงงาน ร่วมกันขอร้องสื่อมวลชนให้เผยแพร่ปัญหาและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านประชาคมโลก

·         เรียกร้ององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปแก้ไขปัญหา

4.  การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่

·         มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เช่น 2 เดือน/ครั้ง อาจเริ่มต้นแลกเปลี่ยนในระดับผู้นำสหภาพก่อน แล้วค่อยขยายไปยังระดับสมาชิก

·         มีการจัดทำข้อมูล สารคดี เพื่อเผยแพร่เรื่องแรงงานข้ามชาติ

·         รัฐและสื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวแรงงานข้ามชาติที่เป็นจริง

·         มีการรณรงค์และส่งเสริมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติในทุกภาคส่วน

 

5.  นโยบายของรัฐไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ / สิทธิไม่เท่าเทียม (ไม่มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง)

·         มีการรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นยื่นต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์การระหว่างประเทศ

·         มีการรณรงค์ทางสังคม เพื่อเผยแพร่ปัญหาให้เกิดการรับรู้ เช่น การยื่นหนังสือ การเดินขบวน

·         การผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติทุกประเภท โดยผ่านการล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อขอแก้กฎหมายเรื่องนั้น

·         ผลักดันให้รัฐบาลไทยรับอนุสัญญาฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ  เช่น อนุสัญญาฉบับที่ 87 , 98


ยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันและการแบ่งบทบาทหน้าที่


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสหภาพแรงงาน

·         เป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมในการประสานความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆเข้าด้วยกัน

·         มีนโยบายเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอ ผลักดันต่อรัฐบาลไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ILO

·         กำหนดการเคลื่อนไหว เจรจา ต่อรอง เช่น ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแรงงานข้ามชาติระดับชาติ ที่ประกอบด้วยรัฐ ลูกจ้างคนไทย นายจ้าง ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

·         ให้การศึกษาและทำความเข้าใจแลกเปลี่ยนเรื่องแรงงานข้ามชาติแก่สมาชิกสหภาพ

·         ผลักดันเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมผ่านระบบรัฐสภา

·         รณรงค์ให้ประเด็นแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นสากล/สาธารณะ

·         จัดการศึกษาให้แรงงานข้ามชาติในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ภาษาของแรงงานข้ามชาติ

องค์กรพัฒนาเอกชน

·         เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติ เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนกับเครือข่าย

·         จัดทำสื่อและสารคดีเผยแพร่

·         มีหน่วยปฎิบัติการภาคสนาม เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ

·         จัดหาล่ามเพื่อการติดต่อสื่อสารและการแปลเอกสารต่างๆ

·         สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และผลักดันให้แรงงานข้ามชาติได้เข้ามามีส่วนร่วมกับขบวนการแรงงานไทย

 

แรงงานข้ามชาติ

·         มีการรวบรวมข้อมูลให้เครือข่ายได้รับรู้ มีการแลกเปลี่ยนร่วมกัน เช่น มีคนสำหรับช่วยการบอกกล่าวข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมต่อสาธารณะ

·         ขยายและจัดตั้งผู้นำในกลุ่มเพื่อขยายผลสู่แรงงานคนอื่นๆในพื้นที่

·         จัดตั้งสมาคมของแรงงานข้ามชาติโดยตรง (มีโครงสร้างการบริหาร/มีแผนงาน/มีเครือข่าย)

           

การรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติและความเป็นไปได้ในการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย

            สำหรับในหัวข้อนี้คุณระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ จาก ILO: International Labor Organization ประจำประเทศไทย ได้นำเสนอในประเด็นเรื่อง สหภาพแรงงานกับแรงงานข้ามชาติ: ตัวอย่างในระดับสากล ว่าเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้นมีความสลับซับซ้อนในหลายประเด็น แต่สำหรับเรื่องการจัดตั้งการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ สามารถนำตัวอย่างที่ดีของประเทศอื่นๆที่ประสบความสำเร็จแล้วมาปรับใช้ได้ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ประสบการณ์การจัดตั้งแรงงานข้ามชาติดูได้จากการทำงานในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี เช่น ประเทศฟิลิปปินส์เป็นแม่แบบในการจัดตั้งแรงงานของประเทศตนเองที่ไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ โดยให้สหภาพแรงงานในประเทศต่างๆที่แรงงานไปอยู่ รับแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพ

สำหรับในประเทศไทยนั้นการเริ่มต้นในเรื่องนี้จะมีกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสหภาพแรงงานกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) โดยคุณระกาวินตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ในประเทศไทย NGOs จะเป็นผู้เริ่มต้นให้ความสนใจในการจัดตั้งก่อน หลังจากนั้นค่อยชักชวนกลุ่มสหภาพแรงงานเข้ามาสนับสนุนหรือทำงานร่วมมือกันต่อไป คำถามสำคัญคือ ทำไม NGOs จึงเป็นผู้เริ่มต้น/เห็นความสำคัญของการจัดตั้งมากกว่ากลุ่มสหภาพแรงงาน

            ในปัจจุบันพบว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 5 % ของแรงงานทั้งหมด 36 ล้านคน (1.8 ล้านคน) ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในบางพื้นที่ บางกิจการ บางอาชีพ พบส่วนใหญ่ใน 5 ประเภทกิจการ คือ เกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง การผลิต คนรับใช้ในบ้าน ทั้งในกรุงเทพ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแรงงานข้ามชาติเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ 1.5-6 % ฉะนั้นการมองเรื่องแรงงานข้ามชาติต้องมองในฐานะกระบวนการอพยพแรงงานที่ต้องจัดการไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้ไข จากการศึกษาพบว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของแรงงานข้ามชาติจะสูงกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่รัฐและทุนต้องสูญเสียไป การคุ้มครองแรงงานข้ามชาตินั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นเท่าๆกับการปกป้องแรงงานไทย

            การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมีหลายมิติ ทั้งมิติเชิงนโยบาย เรื่องของสิทธิ เรื่องของความมั่นคง เรื่องสวัสดิการสังคม ที่จะต้องผสมผสานให้เกิดความสมดุล จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้ในทัศนะของ ILO คือให้แรงงานข้ามชาติทุกคนถูกกฎหมายให้ได้ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิ ได้รับการดูแล ไม่ถูกริดรอนสิทธิที่ได้รับ

เมื่อแรงงานเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ประเด็นต่อมา คือ เขาควรจะต้องมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองที่ถูกกฎหมายจากประเทศต้นทาง แรงงานควรจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแรงงานที่เขาสามารถจ่ายได้ นอกจากนั้นแล้วเขาควรจะต้องได้รับความปลอดภัย/มีอาชีว
อนามัยที่ดีในการทำงาน มีความเท่าเทียม มีการยอมรับทักษะฝีมือที่ก้าวหน้า มีการปรับระดับฝีมือแรงงาน เช่น ในประเทศเกาหลีที่เมื่อก่อนรัฐบาลได้รับคนงานข้ามชาติที่ไม่มีทักษะ แต่พอสหภาพแรงงานเข้าไปต่อรอง เจรจา เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการยอมรับ พบว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติมีประสบการณ์ในการทำงานเพิ่มขึ้น นายจ้างจะมีการปรับค่าจ้างและปรับระดับฝีมือในการทำงาน

            ILO ยังพูดถึงการส่งเงินกลับบ้านที่ปลอดภัย การเข้าถึงประกันสังคม การเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน การบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้จริงจังเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ

ILO ยังเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฉบับต่างๆประมาณ 12 ฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการอพยพเพื่อการทำงาน, ข้อแนะว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานอพยพ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีการที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะให้การรับรองอนุสัญญาแต่ละฉบับนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะแต่ละประเทศจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวด้วย ทั้งการจัดทำรายงาน การตอบคำถาม การตอบข้อเรียกร้อง การถูกสอบสวน ซึ่งจะกลายเป็นภาระของรัฐบาลไป

            องค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ประกอบด้วย รัฐ(กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ รัฐสภา) นายจ้าง , สำนักงานจัดหางาน, ลูกจ้างและแรงงาน, องค์กรปกครองท้องถิ่น, ประชาชนทั่วไป ซึ่งองค์กรต่างๆเหล่านี้ต่างทำงานกระจัดกระจาย มีนโยบายในเรื่องแรงงานข้ามชาติของแต่ละองค์กรที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่สามารถไปด้วยกันได้

            ฉะนั้นบทบาทของสหภาพแรงงานที่จะช่วยในการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้น จะสามารถทำได้หลายรูปแบบ การรวมกลุ่มเป็นองค์กรจะช่วยสร้างกลไกในการเข้าถึงเรื่องสิทธิแรงงาน การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การให้บริการ การทำข้อมูล สายด่วน ล่าม อบรม เป็นต้น

            ตัวอย่างที่ดีของสหภาพแรงงานกับแรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ มีดังต่อไปนี้

            ประเทศในเอเชีย

(1)        ประเทศมาเลเซีย องค์กร MTUC มีการจัดทำแผนด้านแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบปัญหาแรงงานข้ามชาติในมาเลเซีย , จัดให้มีศูนย์กลางช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ , จัดทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงานในประเทศผู้ส่งแรงงาน เช่น อินโดนีเซีย

(2)        ประเทศฟิลิปปินส์ มีการตั้งคณะทำงานนโยบายในด้านแรงงานที่เดินทางไปต่างประเทศ โดยประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ สภาแรงงาน ตัวแทนนายจ้าง และบริษัทจัดหางาน  , สภาแรงงานฟิลิปปินส์ มีศูนย์กลางสำหรับแรงงานไปต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดินทางไปและกลับมา , มีการจัดตั้งศูนย์กลางประสานงานแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศที่ในฮ่องกง อเมริกา ซึ่งมีการตั้งมากว่า 20 ปี โดยเป็นการทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานในต่างประเทศ

(3)        สภาแรงงานเนปาล มีการตั้งหน่วยงานรับผิดชอบแรงงานเนปาลในต่างประเทศ ปี 1994 มีการติดต่อกับประเทศต่างๆที่คนงานเนปาลไปทำงาน และสามารถหาตัวแทนคนงานในแต่ละประเทศเพื่อจัดตั้งกลุ่มให้สำเร็จ มีการติดต่อประสานงานกับสหภาพแรงงานและกลุ่มประชาคมในประเทศรับ เพื่อขอความร่วมมือและสนับสนุน สภาแรงงานทุกสภาในเนปาลได้ร่วมกันทำงานกับแรงงานในต่างประเทศ

(4)        สหพันธ์แรงงานพม่า ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของแรงงานพม่าและประชาธิปไตยในพม่า มีองค์กรสมาชิก 9 องค์กรได้แก่ สหภาพแรงงานอาหาร เกษตร การทอผ้า พนักงานด้านสาธารณสุข เหมืองแร่ สวนยาง พนักงานในเรือทะเล ขนส่ง และเรือประมง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานพื้นเมืองต่างๆเป็นสมาชิก เช่น กอทูเล คะเรนนี และกะเหรี่ยง เป็นองค์กรตัวแทนแรงงานพม่าในระดับท้องถิ่นและสากล

            ประเทศในยุโรป

(5)        สหภาพแรงงานของโปร์ตุเกส มีข้อตกลงกับสภาแรงงานอังกฤษ สเปน และสวิส ในการส่งเสริมสมาชิกชาวโปรตุเกส และรณรงค์วิธีลดข้อพิพาทกับนายจ้าง

(6)        ประเทศฝรั่งเศส สภาแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ในท้องถิ่นร่วมกับนายจ้างและรัฐ เพื่อช่วยเหลือแรงงานเกษตรตามฤดูกาล ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงาน จัดหาที่พักระหว่างการเปลี่ยนงาน 

(7)        ประเทศเยอรมัน มีการตั้งสำนักงานช่วยเหลือแรงงานอพยพจากโปแลนด์และร่วมมือกับสภาแรงงานโปแลนด์ในการแจกเอกสารข้อมูลการทำงานในภาคเกษตร

(8)        สภาอเมริกา มีการยื่นฟ้องสหพันธ์รัฐบาลร่วมกับสหพันธ์แรงงานเม็กซิโก กรณีให้คนงานต่างชาติที่ไม่จดทะเบียนออกจากงานโดยไม่ได้ค่าชดเชยเนื่องจากเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

(9)        UNI (สหพันธ์แรงงานบริการ) ออกบัตรสมาชิกให้แรงงานต่างชาติเพื่อคงสมาชิกภาพได้ทุกประเภทที่ทำงาน รวมทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน กฎหมาย และอื่นๆ

(10)    UPU (สหพันธ์แรงงานไปรษณีย์) ช่วยจัดระบบการส่งเงินกลับบ้านในราคาถูก

(11)    ICFTU มีแผนงานในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติและผิวพรรณ ในปี 2004

            ความสำเร็จของแต่ละประเทศนั้นจะขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานของภาครัฐและสหภาพแรงงานในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น กรณีของฟิลิปปินส์ พบว่าฑูตแรงงานของประเทศฟิลิปปินส์ จะเสมือนเป็นกระทรวงแรงงานในต่างประเทศ ฉะนั้นเวลาศึกษาเรื่องนี้ต้องดูบทบาทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ในประเทศที่ได้รับความสำเร็จในการทำงานนั้นพบว่า ต้องมีความพยายามในการทำงานอย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน เรียกร้องในประเด็นต่างๆร่วมกัน ใช้ทุกมาตรการทุกช่องทางในการเรียกร้อง

            สำหรับรูปแบบการจัดการของสหภาพแรงงานต่อเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้นอาจมีหลายรูปแบบ  เช่น การเป็นศูนย์กลางประสานงานเครือข่าย , การจัดตั้งเครือข่ายแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติร่วมกัน, ความร่วมมือในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรม, การช่วยเหลือในระดับสากล

ส่วนงบประมาณในการทำงานนั้น อาจดูตัวอย่างได้จากกรณีสภาแรงงานมาเลเซีย ที่ในตอนเริ่มต้นได้รับงบประมาณจาก ILO เพื่อดำเนินการเรื่องแรงงานรับใช้ในบ้านเพียงปีเดียว หลังจากนั้นก็ได้รับงบประมาณต่อจาก UNI การทำงานของสภาแรงงานมาเลเซียเป็นข้อเด่นที่สะท้อนถึงการทำงานของสหภาพแรงงานที่มีความต่อเนื่อง มีความยั่งยืนของงานมากกว่าการทำงานของ NGOs เช่น เรื่องของค่าสมาชิกที่จะมาช่วยสนับสนุนงบประมาณขององค์กรในระยะยาว จนในที่สุดสามารถตั้งเป็นสหภาพแรงงานคนรับใช้ในบ้านได้

ปัญหา อุปสรรค การท้าทายที่สหภาพแรงงานจะต้องเผชิญยามทำงาน ได้แก่ เรื่องกฎหมายแรงงาน ทัศนคติแรงงานไทย ธรรมนูญสหภาพแรงงาน ภาษาและวัฒนธรรม ทรัพยาการ(เงิน เวลา คน) รัฐและนายจ้าง ฉะนั้นนักสหภาพควรให้ความสำคัญต่อการจัดลำดับประเด็นเหล่านี้ เพื่อเป็นการทำงานระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น

สำหรับความเป็นไปได้ในการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทยนั้นพบว่ายังมีอุปสรรคอยู่หลายประการ เช่น กรณี ITF เมืองไทยยังติดขัดในเรื่องความเป็นสมาชิกของแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากสมาชิกของ ITF ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงควรจะเข้ามาเป็นตัวประสานงานในเรื่องสมาชิกขององค์กรแรงงานสากลในประเทศในประเด็นดังกล่าวด้วย

นอกจากนั้นแล้วปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีจำนวนมาก ฉะนั้นน่าจะมีตัวแทนสำหรับประเทศไทยที่จะช่วยดูแลเรื่องแรงงานข้ามชาติ โดยอาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับมูลนิธิฟรีดริด เอแบร์ท(FES) และสหภาพแรงงาน เป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ เพื่อดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน สาเหตุที่ไม่เลือกใช้สภาแรงงานเป็นฝ่ายประสานงานนั้นเพราะว่าในปัจจุบันสภาแรงงานมีความขัดแย้งในองค์กรสูงมาก

            ILO ได้มีการจัดทำคู่มือการอบรมแบบมีส่วนร่วมเรื่องสหภาพแรงงานกับการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ โดยมี 3 หลักสูตรใหญ่ๆ คือ แรงงานข้ามชาติกับการอพยพเพื่อการจ้างงาน, แรงงานข้ามชาติกับเศรษฐกิจและสังคมไทย และการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ การเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนั้นยังมีคู่มือเรื่องสิทธิของแรงงานต่างชาติ, คู่มือการส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานข้ามชาติ และต่อไป ILO ก็จะมีการฝึกอบรมกับสหภาพแรงงาน ILO ยังเป็นศูนย์ข้อมูลที่ดีเรื่องแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกัน มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ

 

บทบาทสหภาพแรงงานในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

จากการระดมความคิดเห็นเรื่องบทบาทสหภาพแรงงานในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติใน 3 ประเด็น คือ (1) ปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ (2) การกำจัดปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ (3) การกำหนดยุทธศาสตร์การจัดตั้งแรงงานข้ามชาติของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พบว่า

 










เรื่อง


ข้อเสนอ/ข้อควรปฏิบัติ


ปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ


1.          ลูกจ้าง/ตัวแรงงานข้ามชาติ

·         แรงงานไม่รู้สิทธิในการรวมตัว ไม่รู้กฎหมาย ขาดการศึกษา ความรู้ เรื่องสิทธิ มีความกลัวความหวาดระแวงในเรื่องต่างๆ

·         มีการจัดเก็บค่าบำรุงที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารจ่ายได้

·         การสื่อสารที่ไม่เข้าใจตรงกัน ทั้งในเรื่องภาษาและ/ข้อมูลข่าวสารต่างๆ

·         การมีสำนึกบุญคุณต่อนายจ้าง กลัวนายจ้าง

·         การแบ่งแยกแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี

·         การอยู่แบบกระจัดกระจาย ไม่เป็นกลุ่ม

·         การทำงานของแรงงานที่ระยะสั้น ตามฤดูกาล ทำงานต่อเนื่องไม่มีวันหยุด

·         แรงงานข้ามชาติไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย

·         ข้อจำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่

 

2.       นายจ้าง

·         ไม่ต้องการให้ลูกจ้างมีการวมกลุ่ม

·         ทัศนคติที่ไม่ดีของนายจ้าง

·         กลัวเสียผลประโยชน์

 

3.      ภาครัฐ

·          การเข้าถึงกฎหมาย การบังคับใช้ไม่เด็ดขาด กฎระเบียบของภาครัฐ ฝ่ายปกครอง มีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ

·          การไม่ให้ความสำคัญเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน

·          ทัศนคติที่ไม่ดี มีการเลือกปฏิบัติ ภาครัฐมองเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องความมั่นคง

·          การขาดบุคลากร งบประมาณ

 

4.      อื่นๆ

·         การเข้าถึงแรงงานข้ามชาติขององค์กรต่างๆ

·         การเมืองของแต่ละประเทศ

·         ปัญหาอิทธิพลในพื้นที่


การกำจัดปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ


1.       การให้ความรู้จัดเวทีแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติประสบอยู่ มีการให้การศึกษา ให้ความรู้เรื่องสิทธิ และการรวมตัว การพัฒนาผู้นำ (ศูนย์การเรียนรู้) มีคณะทำงานลงพื้นที่ในการให้ความรู้ และปลุกจิตสำนึกให้แรงงานลุกขึ้นต่อสู้

2.       ส่งเสริมสนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม โดยใช้กลไกการเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม กีฬา

3.       จัดให้มีล่ามในการสื่อสาร

4.       การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของนายจ้าง ภาครัฐ ลูกจ้างคนไทย

5.       การผลักดันแก้ไขกฎหมายให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงาน แก้ไขข้อบังคับสหภาพให้เปิดรับสมาชิกที่เป็นแรงงานข้ามชาติ มีการสร้างค่านิยมทางบวกในการรับแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพ

6.       การผลักดันแก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียน/นโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้มีการยกเลิกกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิของแรงงานในการออกนอกพื้นที่(กรณีที่มีบัตร) , การลดขั้นตอนการจดทะเบียนให้ง่ายขึ้น สะดวก ครอบคลุม ผลักดันให้รัฐบาลขยายเวลาในการจดทะเบียน เช่น ขึ้นทะเบียนได้ตลอดทั้งปี ขั้นตอนต่างๆต้องสะดวกมากขึ้น และลูกจ้างสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ รวมทั้งมีบทลงโทษที่รุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

7.       ระบบการจัดเก็บค่าบำรุงต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของแรงงานข้ามชาติ

8.       คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับ NGOs องค์กรแรงงานระหว่างประเทศในกิจการนั้นๆในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดตั้ง ข้อมูลข่าวสาร และหากลุ่มเป้าหมาย

9.       การยื่นข้อเสนอต่อรัฐและมีคณะทำงานติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกระแสทางสังคม เพื่อเป็นข่าว

10.   มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีการทำงานร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ ชุมชน


การกำหนดยุทธ ศาสตร์ การจัดตั้งแรงงานข้ามชาติของคณะกรรมการสมาน ฉันท์แรงงานไทย


1.       ให้องค์กรสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยรับแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิก มีการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติให้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต้องลงพื้นที่ให้การศึกษาต่อแรงงานข้ามชาติ ให้ตระหนักถึงสิทธิของตนและนำไปสู่การปฏิบัติ และมีการประสานความร่วมมือระหว่างสหภาพแรงงาน FES ILO NGOs และกระทรวงแรงงาน

2.       มีการจัดทำแผนการให้การศึกษาเพื่อรณรงค์สร้างทัศนคติเชิงบวกในการเปิดรับสมาชิกแรงงานข้ามชาติ และสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรแรงงานข้ามชาติ

3.       กลุ่มย่านแรงงานในพื้นที่ต้องรับองค์กรแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิก

4.       สร้างเครือข่ายกับองค์กรอื่น รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ เช่น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , UNI , GUF , ITF , ANM ในระดับนานาชาติ

5.       การจัดตั้งศูนย์ประสานงานในระดับชาติ ทั้งแรงงานที่มาประเทศไทยและแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ และมีโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนปัญหาของแรงานข้ามชาติโดยการสนับสนุนของ ILO

6.       ขยายเครือข่ายการจัดตั้งและการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น(ในพื้นที่) มีการสร้างเครือข่ายผู้นำและพัฒนาผู้นำให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง

7.       เคลื่อนไหวรณรงค์ ผลักดันยื่นข้อเสนอต่อรัฐ ให้มีการยกเลิกแก้ไขกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิแรงงาน รวมทั้งมีคณะทำงานติดตาม เกาะติดกับประเด็นที่ไปยื่นข้อเสนอ

 

1หมายเหตุ: สรุปการประชุมโดยบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation), อดิศร เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC), เสถียร ทันพรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR) ซึ่งเป็นคณะทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ต้องการรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมกรุณาติดต่อมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท หรือคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยโดยตรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท