Skip to main content
sharethis

วันที่ 26 มี.ค.51  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดการประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปลายภาค ในหัวข้อ "ยุคพัฒนา ทุกวัยกล้า เรียนรู้เรื่องเพศ" ตั้งแต่วันที่ 26-28 มีนาคม 2551 ณ ห้องรางทอง โรงแรมบางกอก พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีคณะครูและกลุ่มเยาวชนทั้ง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหมากเล็บแมวอาชีวศึกษา จ.อุดรธานี, กลุ่มสมิหลาอาชีวศึกษา จ. สงขลา, กลุ่มบาลีฮายอาชีวศึกษา จ.ชลบุรี, กลุ่มมหาสดัมอาชีวศึกษา จ.นครศรีธรรมราช, กลุ่ม7ส.เมืองละโว้อาชีวศึกษา จ.ลพบุรี, กลุ่มขันโตกอาชีวศึกษา จ.แพร่ เข้าร่วม


 


นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษเรื่อง "เยาวชนอาชีวศึกษายุคโลกาภิวัตน์กับการเรียนรู้เรื่องเพศ" กล่าวว่า ในยุคภาวะปัจจุบันเยาวชนต้องมีความรู้เท่าทันต่อการดำเนินชีวิต จึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางด้านวิชาชีพและทางด้านทักษะชีวิต เช่นเรื่องเพศศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตของนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นได้รู้เท่าทันโลก ทั้งโลกภายในของตนเองและโลกภายนอกที่จะรับรู้ ตัดสินใจและมีความรับผิดชอบ เรื่องเพศศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องที่จะถกเถียงต่อไปว่าจะสอนหรือไม่ หากประเด็นที่ควรจะถกเถียงคือ กระบวนการการจัดการเรียนการสอนควรเป็นอย่างไร


 


ทั้งนี้ กระบวนการเรียนการสอนจะช่วยให้เยาวชนมีความคิดทางปัญญา เกิดการเรียนรู้และเกิดทักษะใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และนำเอาความรู้มาประยุกต์ออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้อย่างแท้จริง


 


ดร.ชัยยศ อิมสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เพศศึกษากับการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ว่า เรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องพ่อแม่ที่จะสอนหรือครู ต้องคิดต่อไปว่าบทบาทของพ่อแม่ บทบาทของครอบครัว บทบาทของเพื่อน บทบาทของหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาคืออะไร


 


การทำให้คนทั้งหลายเหล่านี้มีบทบาทได้ 1.ทุกคนต้องเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเรา 2.ต้องทำแหล่งเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา ในประเทศไทยเรามีแหล่งเรียนรู้เยอะมาก แต่แหล่งเรียนรู้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถูกต้องหรือเปล่า ให้ความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่ สุดท้ายต้องคิดว่าใครจะให้การเรียนรู้ ซึ่งทุกคนต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องพูดคุยถกเถียงกันว่าจะนำเสนอในรูปแบบใด


 


ดร.ชัยยศ  กล่าวอีกว่า เรื่องเพศศึกษาเป็นประเด็นกระบวนการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือเรามีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร พี่น้องของเรา ชุมชนของเรา นักเรียนของเรามีกระบวนการเรียนรู้นั้นแล้วหรือไม่ ถ้าเรามีกระบวนการเรียนรู้ก็นับว่าเราก้าวไปสู่ความสำเร็จ เพราะเราไม่ได้สอนเนื้อหา แต่เราสอนกระบวนการเรียนรู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net