รัฐบาลไทยดันเขื่อนบ้านกุ่ม ภาคประชาชนหวั่นเริ่มต้นหายนะสองฝั่งโขง!

26

มีนาคม 2551 - นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเยือน สปป.ลาวเมื่อวานนี้ (25 มีนาคม) ในช่วงบ่ายเพื่อภารกิจอันเป็นการเฉพาะ คือการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว 

ก่อนหน้านี้นายนพดลได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงจุดยืนของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนการพัฒนาสู่การเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชียของลาว และเพื่อเป็นการสนองความต้องการพลังงานของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไทยเปิดฉากไว้ตั้งแต่การไปเยือนลาวเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ -1 มีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ภาคเอกชนโดย บริษัท อิตาเลียนไทยและเอเชียคอร์ป ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้าง "โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม" ที่บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตรงกับแขวงจำปาสักของลาว หลังจากที่ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ ทำการศึกษา "รายงานก่อนรายงานความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น" ของโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ควบคู่ไปกับเขื่อนปากชม (หรือเขื่อนผามอง)บริเวณชายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอปากชม จังหวัดเลย ตรงข้ามกับแขวงเวียงจันทน์ อย่างรวบรัด โดยปราศจากการรับรู้ของสาธารณชนไทยและลาวที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งโขง

โครงการ เขื่อนบ้านกุ่ม ที่รัฐบาลใช้ชื่อว่าเป็นเพียง "ฝายกั้นน้ำ" แท้จริงแล้ว คือโครงการสร้างเขื่อนขนาดกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 9 หมื่นล้านบาท ถูกเสนอคู่กับ เขื่อนปากชม (หรือเขื่อนผามองในอดีต) มีกำลังผลิต 1,100 เมกะวัตต์ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท เขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสองตัวนี้จะกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก รวมกำลังผลิตของสองเขื่อน 2,900 เมกะวัตต์ มีมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท รัฐบาลไทยใช้โครงการเขื่อนเป็นเงื่อนไขผูกพันความสัมพันธ์กับประเทศลาว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงกังวลว่า ในขณะที่ไทยเล่นบท "ผู้กระหายไฟฟ้า" และส่งเสริมให้ลาวรับบทเป็น "แบตเตอรี่" ของภูมิภาค ได้ละเลยการพิจารณาประเด็นสำคัญ ๆ หลายประการ รวมทั้งคำถามใหญ่ที่ว่า เขื่อนขนาดมหึมาทั้งสองนี้ จะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา และชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศเพียงใด ราคาลงทุนมหาศาลที่ต้องจ่าย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญสิ้นไป จะคุ้มค่าสมราคาคุยจริงหรือ? 

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ที่ผ่านมาการพยากรณ์ด้านความต้องการไฟฟ้าของไทยมีความคลาดเคลื่อนและสูงเกินจริง และยังเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลปัจจุบันยังตั้งหน้าผลักดันโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้า รับบทบาทเป็นผู้รับเหมาซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่การลงทุนมหาศาลร่วมกับภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ก็จะสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง โดยที่ประชาชนผู้ซึ่งต้องแบกรับภาระในอนาคตไม่มีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงอีกหลายประการ เพราะในที่สุดการลงทุนมากเท่าไร ถือเป็นต้นทุนทั้งหมดที่จะมาบวกรวมในค่าไฟฟ้าของประชาชน 

 

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ประชาชนมากกว่า 60 ล้านคนใน 6 ประเทศได้พึ่งพาอาศัยมาช้านาน กำลังคุกคามการไหลและระดับของลำน้ำโขง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา ปริมาณปลาที่จับได้ และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนสองฟากฝั่ง สภาพเช่นนี้ เกิดขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายหลักในประเทศจีนเป็นต้นมา

 

"รัฐบาลอ้างว่าเขื่อนพวกนี้เป็นเขื่อนแบบ run of river คือไม่มีอ่างเก็บน้ำใหญ่ แต่จากข้อมูลจากการศึกษาของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เอง เขื่อนบ้านกุ่มมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาด 84,000 ไร่  ยาวขึ้นไปนับ 100 กิโลเมตรตามลำน้ำโขง จากอำเภอโขงเจียม จนถึงอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรริมฝั่ง จะส่งผลกระทบด้านประมงทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน เขื่อนจะปิดกั้นการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง และอาจเป็นสาเหตุของการระบาดของเชื้อโรคในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ น้ำจะท่วมรุกล้ำเขตแดนของทั้งประเทศไทยและลาว อาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวพรมแดนในแม่น้ำโขงของไทยและลาว ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านความมั่นคง และเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของประเทศ  ในขณะที่เขื่อนบ้านกุ่มก็จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งได้เพียง 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,872 เมกกะวัตต์ หรือประมาณ 375 เมกกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้นโครงการนี้จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ กับการที่ต้องลงทุนมากกว่าแปดหมื่นล้านบาทแต่ต้องแลกกับความเสียหายมหาศาล

 

ดูเหมือนว่า เรากำลังมาถึงยุคสมัยที่รัฐบาลไทยมีบทบาทสนับสนุนการสร้างเขื่อนอย่างแข็งขัน และยอมปิดตาข้างหนึ่งเพื่อที่จะไม่ต้องใส่ใจกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน แต่ไม่สนใจที่จะชี้แจงใด ๆ ต่อสาธารณชนคนไทย" นายมนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA), มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าว

 

อนึ่ง เขื่อนบ้านกุ่ม และเขื่อนปากชมของไทย เป็นชุดโครงการเขื่อนที่ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 2503 โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง ซึ่งในปัจจุบันถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่พร้อมกับอีกหลายเขื่อน รวมทั้งเขื่อนดอนสะโฮง ภาคใต้ลาว และเขื่อนซำบอในกัมพูชา ทั้งหมดภายใต้ชุดโครงการเขื่อนขั้นบันไดในลำน้ำโขงสายหลักตอนล่าง

 

นับตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีการรวมตัวเพื่อตั้งคำถามกับทั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) รัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำ และบริษัทผู้สร้างเขื่อน และเสนอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนซึ่งล้วนดำเนินไปโดยปราศจากความรับรู้ และความเห็นชอบของประชาชนในลุ่มน้ำ และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 นักวิชาการด้านประมงได้รวมตัวกันส่งจดหมายเรียกร้องให้มีการพิจารณาผลเสียหายที่รุนแรงของเขื่อนดอนสะโฮงต่อเส้นทางการอพยพที่สำคัญที่สุดของปลาในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงทะเลสาบเขมร แหล่งประมงน้ำจืดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์กรภาคประชาชนในประเทศกัมพูชา กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลของตนและรัฐบาลลาวทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้

 

เดือนพฤศจิกายน 2550 องค์กร 175 องค์กรจากทั่วโลก ซึ่งมี 125 องค์กรจาก 6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง และปัจเจกบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันลงนามในจดหมาย เรียกร้องให้ประเทศผู้ให้ทุนของเอ็มอาร์ซี  ยุติการให้ทุนกับกลไกที่ทำงานรับใช้ฝ่ายรัฐบาลและแนวคิดสร้างเขื่อน โดยไม่คำนึงถึงประชาชน ทำให้ผู้ให้ทุนทั้งหลายต่างออกมาเสนอให้เอ็มอาร์ซีเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้าง และให้ความสนใจกับประเด็นคำถามและการมีส่วนรวมของภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานนี้ในการแก้ไขปัญหาความบกพร่องในหน้าที่ของตนแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท