Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 51 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน ออกแถลงการณ์ ประณามรัฐบาลสมัครมุ่งการพัฒนาแบบล้างผลาญ ทั้งทรัพยากรและชีวิตคนน้ำโขง ระบุประชุมจีเอ็มเอส 6 ประเทศน้ำโขงที่ขีดเส้นโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ต้นอาทิตย์หน้า เป็นแค่จำอวดรัฐบาลหลอกลวงประเทศเพื่อนบ้าน สาระที่แท้คือหวังฮุบทรัพยากรมิตรประเทศ แล้วตีหน้าโฆษณาชวนเชื่อว่าจะนำการพัฒนามาให้อีสาน ที่แท้เอื้อนายทุนให้นักการเมืองได้ส่วนแบ่งเข้ากระเป๋า


 


กลุ่มภาคประชาชน 36 กลุ่ม ออกแถลงการณ์เร่งด่วนในโอกาสที่นายสมัคร สุนทรเวช นายรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงหรือ GMS Summit ครั้งที่ 3 ที่กรุงเวียงจันทน์ในระหว่างวันที่ 30-31 ที่จะถึง ซึ่งนายสมัครและคณะจะใช้วิธีเดินทางผ่านทางจังหวัดอุดรธานี เพื่อแวะดูการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-ลาว ผ่านทางสะพานมิตรภาพ ก่อนเดินทางเข้าเมืองหลวงเวียงจันทน์


 


โดยในครั้งนี้ นายสมัครจะร่วมลงนามความตกลงไทย-ลาว 1 ฉบับ หารือทวิภาคีระหว่างไทย-จีน ลงนามในแถลงการณ์ร่วม 4 ฉบับ ร่วมฉลองความสำเร็จของการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อในภูมิภาค และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จะลงนามใน MOU เรื่องการค้าขายไฟฟ้าข้ามประเทศ (Road Map for Implementing the GMS Cross Border Power Trading) ในขณะที่รัฐมนตรีอื่น ๆ ก็จะลงนามใน MOU กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของกลุ่มประเทศทั้ง 6 เป็นต้น โดยใช้เวลาการประชุมจริงๆ น้อยมาก


 


"แผนการภายใต้กรอบ GMS หรืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ถูกสถาปนาและผลักดันมาตั้งแต่ปี 2535 โดยเอดีบี เป็นที่รู้กันว่า กรอบ GMS เน้นที่การสนับสนุนการลงทุนของกลุ่มทุนเอกชน และการเปิดชายแดนของประเทศทั้ง 6 เพื่อการค้าและการลงทุน โดยอ้างความเติบโตร่วมกันของทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งเอดีบีถูกตั้งคำถามเรื่อง "ใครจะได้ ใครจะเสีย" โดยกลุ่มต่างๆ มาตลอด และคราวนี้จะกระทบกับคนอีสานโดยตรง ทั้งเรื่องน้ำ ไฟฟ้า และเขื่อน คนอีสานคงอยู่เฉยๆ ไม่ได้" นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษาอุดรธานีกล่าว


 



 


ทั้งนี้ วานนี้ (28) เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 80 คนเดินทางเข้ายื่นหนังสือเรื่อง ปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ต่อนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เดินทางมายังจ.อุดรธานีเพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารหลังใหม่ของสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด และจะพักค้างคืนที่จ.อุดรธานีเพื่อรอเดินทางต่อไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Summit) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค. 51 ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องซึ่งจะเดินทางมาถึงอุดรในวันที่ 30 มีนาคม นี้


 


นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ทางกลุ่มทราบมาว่า รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาอุดรธานีจะนอกพักค้างคืนเพื่อนัดหมายเจรจาพูดคุยกับบริษัทอิตาเลียนไทย เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่มีกรณีปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านต่อเนืองยาวนานมากว่า 6 -7 ปีมาแล้ว กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมามีปัญหามากจนต้องเป็นเหตุฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้าน 5 คน ซึ่งเมือวันที่ 20 ธ.ค.50 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯ ดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายแร่ และกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายไทยและประชาชนชาวไทย


 


นางมณีได้กล่าวกับ รมว.อุตสาหกรรม ว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นโครงการทำเหมืองใต้ดินที่จะสร้างอยู่ใต้ถุนบ้านเรือนชุมชน ชาวบ้านออกมาต่อสู้คัดค้านเพราะมันเป็นโครงการที่ละเมิดสิทธิ แม้บริษัทฯ จะร่วมมือกับฝ่ายการเมือง ใช้มาตรการรุนแรงอย่างไร ก็ต่อสู้มา 6-7 ปี แล้ว เพราะหวั่นกลัวผลกระทบมากว่าโครงการนี้มีแต่สร้างความแตกแยกในชุมชนและจะนำปัญหาตามมา ทางแก้ปัญหาคือต้องหยุดฟังเสียงประชาชนเพราะไม่ใช่เพียงเฉพาะที่อุดรฯ ปัจจุบันมีโครงการจะพัฒนาเหมืองแร่โปแตชใต้ดินอีสานอีก 6 จังหวัดเกือบ 1 ล้านไร่ ปัญหาแบบที่อุดรธานีจึงมีแนวโน้มจะเกิดทั่วอีสาน


 


เนื้อความในหนังสือกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ยื่นถึง รมว.อุตสาหกรรมระบุว่า ด้วยเหตุความขัดแย้งจากโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นเพราะบริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด มหาชน ไม่มีความโปร่งใส ทำผิดขั้นตอนของกฎหมายแร่ปี 2510 และ พ.ร.บ.แร่ 2545 อีกทั้งละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราอาณาจักรไทย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ พยายามผลักดันเร่งรัดกระบวนการโดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ


 


ข้อเสนอของกลุ่มอนุรักษ์ฯ คือ 1. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สร้างกลไกลรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 57, 66, 67


 


2. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษานโยบายแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี 3. ให้ดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบเหมืองแร่โปแตช อีสาน เชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2549 โดยให้ยึดถือแนวทางการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี 2550


 


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม ได้เดินมาทักทายกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่มาชุมชนยื่นหนังสืออย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ตนเพิ่งมารับตำแหน่งแต่รับรู้ข้อมูลมาบ้าง ไม่ต้องเป็นห่วงตนจะศึกษาในรายละเอียดและดูปัญหาต่างๆ ให้ชาวบ้านอย่างดี แต่ทราบมาว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต่อสู้อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่สู้แบบหัวชนฝา" นายสุวิทย์กล่าว


 


ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นต้นไป ต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะทราบมาว่าจะมีการเคลื่อนทัพของเหล่านักการเมืองผ่านมาที่อุดรธานี


 


โดยวันนี้ (28) นายสุวิทย์ คุณกิติ รมว.อุตสาหกรรม มาพักค้างคืนที่อุดร และทราบจากแหล่งข่าวว่าบริษัทอิตาเลียนไทยฯ จะเข้าพูดคุยเจรจานอกรอบในคืนวันเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีกำหนดการว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีจะเดินทางมาที่อุดรในวันที่ 30 มี.ค.เพื่อเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ GMS Summit ครั้งที่ 3 ที่กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อีกทั้งยังพบว่ามีคำสั่งทางสายปกครองกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งรัดให้เกิดการลงพื้นที่รังวัดปักหมุดเหมืองแร่โปแตช ซึ่งชะงักมานานแล้ว


 


"จากสถานการณ์นี้คาดได้ว่า มีการเจรจาตกลงกันระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย และรัฐบาลชุดนี้ ที่ออกมาทำท่าจะรุมกินโต๊ะเพื่อสร้างแรงกดดันให้เกิดเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อุดรธานีให้ได้ โดยไม่มีทางจะฟังข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด"


 


"ขณะที่ชาวบ้านก็พร้อมจะสู้ ก็ต้องจับตาให้ดี พื้นที่อุดรธานีเป็นทางผ่านของโครงการผันน้ำโขงเข้าสู่ห้วยหลวง มายังหนองหานกุมภวาปี เพื่อใช้ในโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่อิตาเลียนไทยเคยแถลงไว้ และขณะนี้ บริษัทอิตาเลียนไทย ก็แถลงว่า ศึกษาโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำ คือ เขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี รวมจนรายละเอียดการประชุมผู้นำจีเอ็มเอสที่ลาว จะมีการตกลงเรื่องการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายพลังงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การเหมืองแร่ และนิคมอุตสาหกรรม ในฐานะที่อุดรฯ เป็นพื้นที่ในอีสานตอนบนที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยถนนสายเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง การประชุมสุดยอดผู้นำจีเอ็มเอส จึงมีผลแน่กับสถานการณ์ทางทรัพยากรในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดอุดรธานี พื้นที่เหมืองแร่โปแตช" ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน กล่าว


 


 


 


 


 


แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน


28 มีนาคม 2551


 


ประชุมผู้สุดยอดผู้นำ 6 ประเทศ : เมื่อปีศาจร้ายร่ายมนต์ดำทำลายแม่น้ำโขง


 


ในการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Summit) ครั้งที่ 3 ที่กำลังจะมาถึง ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2551 ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว รัฐบาลไทยโดยการนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี วางแผนจะไปทำความตกลงความร่วมมือในโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ทั้งโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายไฟฟ้า เครือข่ายเศรษฐกิจ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเชื่อมโยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เตรียมไว้รอท่าในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการเขื่อนปากชม (เขื่อนผามองเดิม) และโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งนายนภดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเพิ่งไปเซ็นสัญญาในเย็นย่ำของวันอังคารที่ 25 ที่ผ่านมากับรัฐบาลลาวมาอย่างเงียบเชียบ


 


รัฐบาลไทยกำลังคิดที่จะผันทั้งไฟฟ้า และน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาป้อนระบบโครงข่ายในภาคอีสาน โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อเร่งการพัฒนาให้อีสานกลายเป็นดินแดนอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการเกษตร อีกทั้งกำลังเร่งออกกฎหมายน้ำ เพื่อจะยึดกุมอำนาจในการจัดการน้ำที่จะผันมาจากเพื่อนบ้าน แล้วขุดลอกทำลายระบบนิเวศเดิมในลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำโขงในภาคอีสานทิ้งไป อย่างที่กำลังโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการสร้างอุโมงค์ผันน้ำทั่วภาคอีสาน เป็นการเตรียมการเพื่อจะลักขโมยเอาน้ำแม่น้ำโขงมาจากสายน้ำนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ของมวลประชาชนในลุ่มน้ำ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบอุทกวิทยา ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การประมง และวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยและประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง


 


โดยเนื้อหาสาระแล้ว การประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Summit) หาใช่การประชุมแต่อย่างใดไม่ เพราะเวลาเกือบทั้งหมดที่ผู้นำของทั้ง 6 ประเทศจะใช้ ภายใต้กรอบ GMS ที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) วางไว้ให้ คือการไปพบเพื่อเซ็นสัญญาและข้อตกลงในโครงการสารพัด การประชุมสุดยอด จึงเป็นเพียงเวทีที่สร้างเพื่อให้นักลงทุน นักการเมือง และสถาบันการเงินรวมมือกันมากล่าวเท็จต่อประชาคมโลก เป็นโรงละครที่สร้างให้คณะจำอวดมาตีบทแสดงความจริงใจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหลอกลวงให้ตายใจแล้วปล้นเอาทรัพยากรธรรมชาติของเขามาเพื่อความอิ่มหนำของประเทศที่ร่ำรวยเงินทองกว่า


 


รัฐบาลและนักการเมืองของรัฐประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย กำลังบินข้ามหัวประชาชนไปลงนามความร่วมมือข้อตกลงกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ให้ความสนใจกับประชาชน และไม่คำนึงว่าประชาชนในลุ่มน้ำโขงทุกคน มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีปลาที่เป็นอาหารโปรตีนชั้นยอดบริโภค มีวัฒนธรรมที่งดงามหลากหลาย ซึ่งล้วนดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศ สืบเนื่องมาเนิ่นนานจากบรรพบุรุษแห่งสายน้ำโขง


 


โครงการพัฒนาทั้งหลายในนามความร่วมมือตามกรอบ GMS จึงเป็นดังมนต์ดำที่กำลังร่ายเพื่อทำลายล้างความงดงามและยิ่งใหญ่ตามธรรมชาติของผู้คนแห่งสายน้ำโขง โดยอ้างอย่างมักง่ายว่า ประชาชนและประเทศในลุ่มน้ำโขงจะหลุดพ้นจากความยากจน แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่ะเป็น การผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ 8 เขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่าง และอีกเป็นร้อยเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง คือการตัดหั่นและเข่นฆ่าแม่น้ำโขงและประชาชนลุ่มน้ำโขงโดยแท้ การส่งเสริมการผลิตพลังงานอย่างล้างผลาญของเหล่าประเทศเพื่อนบ้าน จะนำความวิบัติฉิบหายมาสู่ภูมิภาคแห่งความร่ำรวยและสมบูรณ์แห่งนี้ ประกอบกับด้วยภัยของภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลก หากนิเวศแม่น้ำโขงเสียสมดุล เมื่อนั้นชีวิตที่เรียบง่ายและงดงามของคนลุ่มน้ำโขงก็ถึงกาลวิบัติ


 


ด้วยมนต์ดำที่ปีศาจกำลังร่วมกันร่าย จากกรอบความร่วมมือ GMS ที่จริงแล้วคือคำสาปที่หลอกว่าเป็น "ลาภ" ทั้งที่มันเป็น "ทุกข์" เป็นมนต์ดำจากปากของคนปากพล่อยที่ถนัดการบิดเบือนความจริง โดยละเว้นรายละเอียดของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ และสุดท้าย ผลประโยชน์ที่แท้จริง ย่อมตกอยู่ในกระเป๋าของนักการเมืองและนายทุน ที่ล้วนเป็นเผ่าพงศ์วงศาเดียวกัน


 


ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน พวกเราขอประกาศในแถลงการณ์นี้ เพื่อประณามการทำความตกลงและการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นเวทีของ "ปีศาจเศรษฐกิจทุนนิยม"


เรา - ประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสานจะไม่ยอมรับข้อตกลงใด ๆ ที่รัฐบาลไทยไร้ธรรมาภิบาลชุดนี้ไปตกลงไว้ และเรา จะยืนหยัดคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆที่เกิดจากข้อตกลงในครั้งนี้จนถึงที่สุด


 


ประชาชนลุ่มน้ำโขงเป็นหนึ่งเดียว


เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน


28 มีนาคม 2551


 


รายนามองค์กรที่ร่วมแถลงการณ์ :


คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าน้ำพอง2-อุดรธานี 3 อุดรธานี / กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน อุดรธานี / เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน อุดรธานี / กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา อุดรธานี / กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี / คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) ขอนแก่น / โครงการพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำน้ำพอง ขอนแก่น / เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำห้วยสายหนัง จ.ขอนแก่น / โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นขอนแก่น / องค์กรชาวบ้านป่าดงลาน จ.ขอนแก่น / เครือข่ายลุ่มน้ำชี-มูนขอนแก่น / สมาคมเพื่อนภู ขอนแก่น / เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน มหาสารคาม / เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มหาสารคาม / เครือข่ายป่าไม้-ที่ดินภาคอีสาน มหาสารคาม / สภาหมอพื้นบ้านภาคอีสาน มหาสารคาม / สถาบันชุมชนชาวนา มหาสารคาม / โครงการความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ลำปะทาว ชัยภูมิ / โครงการจัดการทรัพยากรต้นน้ำเซิน ชัยภูมิ / โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำพรม ชัยภูมิ / เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ชัยภูมิ / ศูนย์นิเวศชุมชนศึกษา ชัยภูมิ / โครงการพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นต้นน้ำพอง-ป่าสัก เลย / มูลนิธิเลยเพื่อการ อนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน เลย / มูลนิธิพัฒนาอีสาน สุรินทร์ / สถาบันชุมชนอีสาน สุรินทร์ / สมาคมป่าชุมชนอีสาน สุรินทร์ / ศูนย์ข้อมูลอีสาน สุรินทร์ / โครงการทามมูล สุรินทร์ / ศูนย์ตะบัลไพร สุรินทร์ / โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำห้วยเสนง สุรินทร์ / สมาคมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนลุ่มน้ำสงคราม นครพนม / ชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม สกลนคร / เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูน อุบลราชธานี / กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง หนองบัวลำภู / โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เขวาโคก ร้อยเอ็ด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net