Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มเพื่อนไร้พรมแดนและมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี ได้จัดกิจกรรม "อยากเป็นเหมือนนก ที่บินข้ามลวดหนาม" ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินทร์


โดยมีองค์กรร่วมจัดได้แก่ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับศูนย์ชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม, หลักสูตรสังคมศาสตร์สุขภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


 


"หมอชาญวิทย์" ชี้ต้องดูแลสุขภาพคนข้ามแดนอย่างเป็นองค์รวมทั้งกาย-ใจ-สังคม


ภาคเช้าของงาน มีการอภิปราย เรื่อง "คนข้ามแดน: แรงงาน นโยบายของรัฐไทย VS ความเจ็บป่วย สิทธิ และการเยียวยา" นั้น นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในเรื่องของการบริการด้านสุขภาพกับคนข้ามชาติ ไม่ได้จำกัดเฉพาะโรค และอาชีวอนามัย แต่ต้องรวมชีวิต ความเป็นอยู่ ครอบครัว จิตวิญญาณ สุขภาพจิต แต่หากมีปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารก็จะลำบาก เป็นส่วนที่พยายามแก้ไขอยู่ นอกจากนี้การดูแลเรื่องสุขภาพให้เป็นองค์รวม แม้แต่คนไทยจะให้ครบองค์รวมก็เป็นเรื่องอยาก ไม่เฉพาะแต่คนข้ามแดนเท่านั้น


 


 


เสนอนโยบายมั่นคงไม่ใช่เรื่องสาธารณะ ให้หน่วยงานเฉพาะจัดการ


นอกจากนี้ ในมุมมองของคนที่วินิจฉัยหรือเป็นผู้กำหนดนโยบาย ต้องแยกว่าอะไรคือนโยบายสาธารณะหรือไม่ โดยเรื่องบางอย่างเป็นนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องสุขภาพ แต่เรื่องของแรงงาน อาจจะใช่หรือไม่ใช่นโยบายสาธารณะก็ได้


 


แต่ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่นโยบายสาธารณะ เช่น มีมุสลิมแฝงจากพม่าและกัมพูชาลักลอบไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนเกาหลีเหนือเดินเท้าผ่านเข้ามาไทยเพื่อลี้ภัยไปเกาหลีใต้ มันมีประเด็นที่อ่อนไหว และเป็นเรื่องความมั่นคง จึงไม่ใช่นโยบายสาธารณะ เราจึงควรนำปัญหาในส่วนที่เป็นสุขภาพแยกออกมาเป็นนโยบายสาธารณะ


 


แม้แต่นโยบายทางเศรษฐกิจจะเป็นนโยบายสาธารณะหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าอุตสาหกรรมของประเทศวางแผนแข่งขันจีนแข่งกับจีน อินเดีย เวียดนาม อยู่ต่อไปหรือไม่ หรือจะยกระดับไปแข่งกับเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์


 


ดังนั้นในเชิงของผู้กำหนดนโยบาย บางอย่างเป็นเรื่องสาธารณะ บางอย่างไม่ใช่เรื่องสาธารณะ เราจำเป็นต้องแยกกส่วนของนโยบายสาธารณะออกมา รวบรวมความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทิ้งในส่วนที่ไม่ใช่นโยบายสาธารณสุขเสีย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล แต่ถ้าอะไรที่มีผลกระทบเราก็สะท้อนออกมาเป็นระยะๆ


 


 


การติดภาพคนข้ามแดน "ผิดกฎหมาย" ทำนโยบายรัฐไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง


ขณะที่ นายอดิศร เกิดมงคล จากองค์กร International Rescue Committee กล่าวในช่วงหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในทุกเรื่อง ต้องเริ่มแก้ไขที่นโยบายทางโครงสร้าง การที่เราทำไม่รู้ไม่เห็นถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น พอกำหนดเป็นนโยบายก็ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไปมองเห็นแรงงานข้ามแดนว่าเป็นสิ่งผิดปกติของกฎหมายไทย ตรงนี้ส่งผลระยะยาวในเชิงปฏิบัติก็คือว่า คนเหล่านั้นก็จะติดภาพคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ปัญหาตรงนี้ทำให้เราไม่สามารถจินตนาการนโยบายที่ดีหรือที่มีความเหมาะกับการจัดการแรงงานข้ามแดนในประเทศไทยได้  ปัญหาก็คือเรามองไม่เห็นความหลากหลายของกลุ่มคนที่มีอยู่ บางครั้งกลุ่มคนที่เราเรียกว่าแรงงานต่างด้าวอาจจะอยู่ในประเทศไทยมานานมากแล้ว เพียงแต่เขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าสู่กลไกต่างๆ ที่ผ่านมาได้ เมื่อไม่มีบัตรก็ไม่ได้ถูกถือว่าควรได้รับการบริการ การไม่ถูกนับรวม จึงถูกกำหนดว่าเป็นคนผิดปกติ


 


"การมองแรงงานข้ามแดน ควรมองให้ไกลกว่าที่ว่าเขาเข้ามาทำงานในเมืองไทย ควรมีกลไกสักอย่างที่ดูแลคนข้ามแดนทั้งหมดนายอดิศร กล่าวทิ้งท้าย


 


 


โต้ นพ.ชาญวิทย์ "ความมั่นคง" เป็นนโยบายสาธารณะต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมจัดการ


นายอดิศรยังกล่าวว่า เรื่องแรงงานข้ามชาติถือเป็นประเด็นทางการเมือง ขณะที่ชาวบ้านไทยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เขายังมีโอกาสร่วมกำหนดนโยบายสูง เพราะถูกยอมรับอำนาจรัฐ แต่แรงงานข้ามชาติ เขาถูกกักขังเขาด้วยคำว่า "หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย" หรือเรื่องความมั่นคง


นายอธิศร ยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องแยกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นนโยบายสาธารณะของ นพ.ชาญวิทย์ โดยเขาเห็นว่ามันจะแยกเรื่องความมั่นคงออกจากนโยบายสาธารณะได้จริงหรือ เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าแรงงานข้ามชาติถูกแช่แข็งกับคำว่า "คนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย" จะทำอย่างไรให้สุขภาพเขาได้รับการคุ้มครองดีขึ้นได้ เพราะติดกรอบนี้แล้ว


 


และเขาไม่คิดว่านโยบายมั่นคงเป็นเรื่องเฉพาะ เพราะสมัยนี้นิยามเรื่อง "ความมั่นคง" ต่างจากสมัยสงครามเย็นมาเยอะมาก และนโยบ่ายความมั่นคงหลายเรื่องกระทบผู้คนเชิงสาธารณะสูงมาก เรื่องความมั่นคงจึงต้องมาทบทวนทบทวนว่าจะเก็บไว้ให้คนบางคนโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญพูดกันเอง หรือจะกระจายให้ภาคประชาสังคมมาคิดร่วมกันด้วย


 


 


"สุริชัย" ชวนทุกฝ่ายทำประชาสังคมนโยบาย ให้ "เจ้าทุกข์" มีส่วนร่วม


ด้าน รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวช่วงหนึ่งว่า อยากเชิญชวนทุกคนตั้งหลักเรื่องช่องว่างของแรงงานข้ามชาติ ดูแลให้คนไทยเข้าใจช่องว่างนี้ให้มากขึ้น ปัญหาแรงงานข้ามชาติมีพลวัต แต่ก่อนไม่เคยยอมรับเขา แต่ตอนนี้ก็ต้องยอมรับความจริงครึ่งหนึ่งคือยอมจดทะเบียนให้เขาทำงานได้ เพราะหากไม่ยอมรับก็ดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติไม่ได้


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.สุริชัย ยังกล่าวว่า รัฐชาติไม่ได้มีความหมายแค่คนไทย ความเป็นไทย แต่รัฐชาติต้องมีกิตติภูมิ คือมีนโยบายยอมรับความหลากหลาย มองเห็นความหลากหลายในสังคมด้วย


 


รศ.ดร.สุริชัย ยังฝากประเด็นทิ้งไว้ได้แก่ หนึ่ง เราอยากเห็นการหันหน้าหากันว่าจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง ทำได้มากขึ้นอย่างไร ไม่ว่าการเมืองเชิงอำนาจ การเมืองเชิงผลประโยชน์จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่การเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจระหว่างมนุษย์เป็นหัวใจ จะทำให้เราไปด้วยกันได้บ้าง


 


สอง ทำอย่างไรจะเกิดการตระหนักร่วมกันว่าจะสร้างความเข้าใจร่วมกันในสาธารณะ เพราะหลายคนยังอยู่ในภาษานโยบาย "ควบคุม" บางคนยังให้ความสำคัญกับเรื่องควบคุมเพราะกลัวการขนแรงงานข้ามชาติเข้ามา แต่เราจะยอมให้การ "ควบคุม" มันใหญ่จนบดบังเรื่องมนุษยธรรมหรือสุขภาพได้อย่างไร สาม จึงขอชวนให้เราร่วมกันคิดว่าจะสร้างนโยบายสาธารณะที่เราเห็นตรงกันได้อย่างไร เราจะสร้างประชาคมนโยบาย ประชาคมที่ผู้ที่เป็นเจ้าทุกข์เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร


 


สี่ เราจะช่วยการทำงานเชิงรุกทางนโยบายอย่างไร เช่น ชวนให้มหาวิทยาลัย คนรุ่นใหม่ เห็นว่านี่เป็นปัญหาความมั่นคง ซึ่งไม่ใช่ความมั่นคงทางการทหาร แต่เป็นความมั่นคงของการอยู่ร่วมกัน มีชีวิตสร้างสรรค์ร่วมกัน และอยากเห็นการมีส่วนร่วมในการขยายพื้นที่ทางนโยบาย หลุดการติดยึดเรื่องการเป็นไทย ที่เน้นความคับแคบ  แต่ไปยึดประวัติศาสตร์ไทยฉบับความหลากหลายอุดมสมบูรณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมแทน รศ.ดร.สุริชัยสรุป


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


รายงาน : ฟังเสียง "บินข้ามลวดหนาม" เสียงเพื่อเสรีภาพและสันติภาพ, ประชาไท, 24 มี.ค. 51


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net