Skip to main content
sharethis

ข้อมูลลำดับที่ 2 จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ญาติพี่น้องของชาวบ้านผู้เสียหายจากการควบคุมตัวโดยรัฐ ซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ถูกซ้อมทรมาน ในพื้นที่หมู่บ้านรือเปาะ หมู่ 3 ต ดูซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

 

 

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

 

 

 

กรณีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่

ซ้อมทรมานและใช้ศาลเตี้ยพิพากษาประหารชีวิต

 

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน และมีความยืดเยื้อไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงได้ในเร็ววัน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งไทยมุสลิมและไทยพุทธ ทำให้เกิดภาวะความหวาดระแวง และความหวาดกลัว จนนำไปสู่การเกิดความแตกแยกในสังคมตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งเป็นองค์กรนักศึกษาในพื้นที่ ที่ก่อตั้งขึ้นมาบนหลักการและเหตุผลเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างองค์กรต่างๆ และเป็นกระบอกเสียงนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เพื่อเป็นสื่อทางเลือกให้กับภาคสังคมได้ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2551 จากการประชุมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดของแกนนำนักศึกษาในสามองค์กรนักศึกษาในพื้นที่ คือ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดปัตตานี (สนป.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) และ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา (สนส.) มติที่ประชุมให้ นาย รอมซี ดอฆอ เป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ได้จัดกิจกรรม ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาข้อเท็จจริง จากเสียงสะท้อนที่มาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายๆกรณี เพื่อเป็นกระบอกเสียงและให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้สังคมได้รับรู้

 

ในกรณีนี้ได้เก็บข้อมูลโดยการลงพื้นที่สัมภาษณ์ที่ญาติพี่น้องผู้เสียหาย ซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ถูกซ้อม ในพื้นที่หมู่บ้านรือเปาะ หมู่ 3 ต ดูซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลพื้นที่ของ หน่วยเฉพาะกิจ 34 มาจาก กองพล9 กาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ การจับกุมหรือควบคุมตัวผู้เสียหายทั้งหมดไม่มีหมายศาลและไม่ได้แจ้งว่าใช้อำนาจอะไรในการจับกุม

 

 

คณะที่ลงพื้นที่ ได้แก่

1. นายรอมซี  ดอฆอ  เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

            2.นายอุสมาน มะสง คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

            3.นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน

            4.นักศึกษาจากราชฎักยะลา, มอ.ปัตตานี, มอ.หาดใหญ่ จำนวน 11คน                 

 

สัมภาษณ์          ภรรยาของ ผู้เสียหายคนที่ 1

มารดาของผู้เสียหายคนที่ 2

มารดาของผู้เสียหายคนที่ 3

            มารดาของผู้เสียหายคนที่ 4,5

 

จากการสำรวจพบว่าในหมู่บ้านมีผู้เสียหายทั้งหมด 15 คน ทั้ง 15 คน ขณะนี้อยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ออกหมายจับเพิ่มอีก 4 คน

 

·         เสียชีวิตในขณะอยู่ในการควบคุมตัว 2 คน คือ ..........  และ ..........

·         ส่วนผู้เสียหายที่โดนซ้อมทรมานมี 9 คน

  

เหตุการณ์ก่อนมีการจับกุม สืบเรื่องจากเช้าวันที่ 14 มกราคม 2551 เวลา 8.00 น. ได้เกิดเหตุระเบิดรถฮัมวี่ 1 คัน และยิงถล่มโดยการซุ่มโจมตีจากด้านข้าง ทำให้ทหารเสียชีวิต 8 นาย โดนอาวุธมีดปาดคอเสียชีวิต 1 นาย ทั้งหมดเป็นทหารจาก ฉก.34 ตั้งอยู่ที่วัด ทางเข้าหมู่บ้านรือเปาะ ประมาณ 2 กิโลเมตร เหตุเกิดห่างจากหมู่บ้านรือเป๊าะประมาณ 2 กิโลเมตร และเกิดในขณะที่กำลังทหารกำลังลาดตระเวน หลังจากนั้น 3 วันเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปปิดล้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยในหมู่บ้านรือเปาะ

 

 

00000

 

 

ผู้เสียหายคนที่ 1 นาย .......... อายุ 47 ปี อาชีพรับจ้างกรีดยาง

เกิดเหตุวันที่ 14 มกราคม 2551 เขากำลังกรีดยางอยู่กับภรรยาในสวนยาง ภรรยาเล่าว่า ในขณะที่กำลังเก็บขี้ยางอยู่ เธอกับสามีได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น รู้สึกกลัวเลยรีบชวนสามีกลับบ้าน

 

วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 15 มกราคม 2551 ในขณะที่เธอและสามีเสร็จจากการรับประทานอาหารเช้าที่ร้านน้ำชาและกำลังจะออกไปกรีดยาง ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาประกาศในหมู่บ้านว่า วันนี้ห้ามทุกคนออกไปกรีดยาง เธอและสามีจึงไม่ได้ไปกรีดยาง

 

วันที่ 16 มกราคม 2551 ในตอนเช้าตรู่ขณะที่สามีออกไปกินข้าวยำที่ร้านน้ำชา เวลาประมาณ 8.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาล้อมที่บ้านของเธอและได้ตะโกนถามว่า "ไหนบ้าน.......... .......... อยู่บ้านหรือเปล่า" หลังจากนั้นก็ให้ลูกไปตามพ่อที่ร้านน้ำชา พอมาถึงบ้านเห็นของบนบ้านถูกรื้อกระจัดกระจายไปหมด แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าขอเชิญตัวไปที่ ฉก.ที่จะแนะเพื่อสอบสวนเพียงแป๊บเดียวแล้วจะส่งตัวกลับมา แต่จนถึงวันนี้สามีก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย ตอนนี้ลำบากมากเพราะไม่มีรายได้ เธอไม่สามารถทำงานได้เพราะเป็นอัมพฦกษ์เพิ่งหาย

           

หลังจากนั้น เธอรับรู้ในภายหลังว่าสามีถูกส่งตัวมาที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานีและพาไปที่ ศปก.ตร. เธอได้เข้าเยี่ยมครั้งแรกที่ ศปก.ตร. จังหวัดยะลา สามีเล่าให้เธอฟังว่า ตอนอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารโดนซ้อม และถูกเจ้าหน้าที่สาดน้ำร้อนที่ใบหน้าและเอาน้ำร้อนกรอกใส่ปาก หลังจากนั้นได้ยัดกระบอกปืนเข้าไปในปากบังคับให้รับสารภาพในขณะที่น้ำร้อนยังเต็มปาก และให้บอกว่าได้ทำอะไรไปบ้างและพาไปอยู่ในห้องเย็น 3 ชั่วโมง แล้วตากแดดตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงตีสอง  ตอนที่เธอไปเยี่ยมก็เห็นว่าสามีปากเป็นแผลแฉะจนทานอาหารไม่ได้ และหน้าเหมือนคนโดนน้ำร้อนลวก ตั้งแต่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เยี่ยมเธอไปเยี่ยมสามีทุกวัน ขณะนี้สามีอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นวันแรกที่สามีขึ้นศาล

 

 

ผู้เสียหายคนที่ 2 นาย .......... อายุ 32 ปี อาชีพรับจ้างกรีดยาง

เกิดเหตุวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เขาเป็นไข้ไม่สามารถไปกรีดยางได้จึงนอนอยู่ที่บ้าน ส่วนแม่ไปกรีดยาง เขาถูกจับในวันพฤหัสบดี หลังจากเกิดเหตุระเบิดรถฮัมวี 4 วัน

 

 

ในขณะที่ .......... น้องชายของเขากำลังขับรถไปเติมน้ำมันปั้มในหมู่บ้าน มีรถกระบะสีขาว รถจีเอ็มซี ขับเข้ามาในหมู่บ้าน และรถดังกล่าวได้จอดตรงน้องชาย เจ้าหน้าที่ขอดูบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากนั้นก็พาตัวขึ้นรถไปชี้ตัวพี่ชายที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านเจ้าหน้าที่ได้ถามหาคนที่ชื่อ .......... ซึ่งหมายถึงอีกชื่อเขา ขณะนั้นเขากำลังนอนหลับอยู่บนบ้านเพราะเป็นไข้ เจ้าหน้าที่ได้ขึ้นมาบนบ้านและขอดูบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมกับค้นบ้าน ปรากฏว่าไม่ได้ของกลางประการใด

 

เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ได้พาเขาไปที่หน่วยเฉพาะกิจที่ตั้งอยู่ตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน สักพักแม่ของเขาก็เห็นรถหกล้อคันที่มารับตัวลูกชายขับผ่านหน้าบ้านอีกครั้งไปทางตีนเขาในหมู่บ้านขณะที่เธอกำลังจะละหมาด พอตกเย็นมีรถมาจอดหน้าบ้าน สักพักหนึ่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ถามว่ามีผ้าไหมหรือเปล่า อยากได้ผ้าเอาไปคลุมศพ.......... เมื่อเธอได้ฟังว่าจะเอาไปคลุมศพลูกชายก็หมดสติทันที

 

ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนเข้าไปรับศพเขาที่เชิงเขา Hulu Gunung ซึ่งเป็นภูเขาที่ห่างจากหมู่บ้านไม่กี่กิโลเมตร ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังว่าได้เข้าไปในเขตภูเขาซึ่งพบว่ามีทหารเต็มไปหมด และแบกศพเขาขึ้นรถเพียงลำพังโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทหารกลุ่มนั้น

 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้มาตามแม่ที่บ้านบอกว่าผู้กองให้ไปที่มัสยิด และให้แม่เดินทางไปที่รถมอเตอร์ไซด์ที่จอดอยู่ข้างถนน ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซด์ที่น้องชายของเขาจอดทิ้งไว้หลังจากที่ถูกนำตัวขึ้นรถให้ไปพบพี่ชายที่บ้าน เพราะทางเจ้าหน้าที่ทหารเชื่อว่ารถคันดังกล่าวมีระเบิดและให้แม่เดินเข้าไปที่รถคนเดียว แต่ปรากฏว่าไม่ได้เกิดเหตุระเบิดใดๆ หลังจากนั้นแม่ก็เดินกลับบ้าน และประมาณ 2 วันหลังจากนั้นแม่ก็ไปเอารถกลับมาไว้ที่บ้านเพราะไม่อยากทิ้งไว้ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาเอารถไปแต่อย่างใด

 

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์ ผู้กองบอกว่าจะให้เงินค่าทำขวัญแก่แม่ แต่หลังจากเกิดเหตุผู้กองก็ยังไม่เคยมาที่บ้าน แต่ได้ให้เงินแก่ลูกชายของเขา 5000 บาทเป็นค่าเล่าเรียน

 

 

ผู้เสียหายคนที่ 3  ..........

เช้าวันที่เกิดเหตุระเบิดรถฮัมวี เขาและแม่ขายข้าวยำอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นก็ไปกรีดยาง เมื่อกลับจากกรีดยางได้ไปซื้อกับข้าวเพื่อเตรียมทำข้าวยำขายในวันรุ่งขึ้น ระหว่างขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้านมาถึงด่านตรวจทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยเฉพาะกิจของทหารในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทหารห้ามเข้าไปในหมู่บ้านโดยบอกว่ามีเหตุการณ์ระเบิดข้างในหมู่บ้าน หลังจากที่เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามเขาว่าบ้านอยู่ที่ไหน พร้อมทั้งขอดูบัตรประชาชน และนำไปในป้อมเล็กๆ ครู่หนึ่งจึงเอาบัตรมาคืน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เดินทางเข้าหมู่บ้านได้ เมื่อถึงบ้านเขากับแม่ช่วยกันเสียบลูกชิ้นที่จะเตรียมไว้ขาย หลังจากนั้นได้ไปเล่นตะกร้อที่สนามที่โรงเรียนและกลับบ้านตอนหัวค่ำตามปกติ

 

วันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 8.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรและเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ตั้งอยู่ที่วัดทางเข้าในหมู่บ้านได้มาล้อมที่บ้านจำนวนหลายร้อยนาย ขณะนั้นแม่ของเขากำลังขายลูกชิ้นหน้าบ้าน แต่ตัวเขาเองออกไปข้างนอก ขณะกำลังเดินทางกลับเพื่อนบ้านบอกกับเขาว่าเจ้าหน้าที่กำลังล้อมบ้าน เขาจึงรีบมา เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวเขาไปโรงพักเพื่อสอบสวน โดยบอกว่าจะสอบสวนแป๊บเดียวแล้วปล่อยตัวกลับบ้าน แต่จนถึงทุกวันนี้เขายังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำประจำจังหวัดนราธิวาส

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารได้มาค้นที่บ้านสามครั้งพร้อมกับเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดแต่ไม่พบหลักฐานใดๆ

 

สถานที่ควบคุมตัวหลังการจับกุมเปลี่ยนแปลงหลายที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้พาไปสอบสวนที่หน่วยเฉพาะกิจที่จะแนะ 2 วัน ควบคุมตัวที่ ศปก.ตร. จังหวัดยะลา 22 วัน หลังจากนั้นพามาที่ศาลจังหวัดนราธิวาสและในวันเดียวกันพาไปที่ สภต.ตันหยง วันแรกที่อยู่ตันหยงไม่ได้รับการอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม และสามารถเข้าเยี่ยมได้อีก 3 วันถัดมา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พามาควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

 

 

 

ผู้เสียหายคนที่ 4  .......... (สามี) มีลูก 5 คน

ผู้เสียหายคนที่ 5  .......... (ภรรยา) มีลูก 5 คน

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดรถฮัมวี ประมาณ 6 วัน เจ้าหน้าที่ทหารได้จับกุมภรรยาก่อน ขณะนี้เธออยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเป็นผู้ช่วยลำเลียงอาวุธปืนส่งให้ผู้ก่อการใช้ในการก่อเหตุ และสาวถึงผู้เป็นสามี เธอบอกว่า 6 วันที่แล้ว สามีได้ออกไปดะวะห์ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่มัสยิดไหน แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็จับกุมเขาที่มัสยิดแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นเขาไม่รู้ว่าภรรยาของตัวเองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว

 

หลังจากนั้น ในตอนเย็น เจ้าหน้าที่ได้มาหาแม่ของ .......... (สามี) เพื่อนำตัวแม่ไปรับศพเขา โดยได้นำแม่ขึ้นเฮลิปคอปเตอร์บินไปเอาศพเขาที่จะแนะ

 

ตอนที่ทำความสะอาดศพของเขา (เพาซี) ชาวบ้านที่ทำความสะอาดศพบอกว่า ตามใบหน้าของศพบวมช้ำเป็นสีน้ำเงิน ส่วนที่ร่างกายมีรูเหมือนโดนของมีคมแทงสามแห่ง 1.บนไหล่ด้านหน้า   2.ด้านหลังบริเวณหน้าอกข้างขวา  3.ด้านหนังบริเวณหน้าอกข้างซ้าย

 

ส่วนภรรยา ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ ศปก.ตร. แม่ที่ได้ไปเยี่ยมเล่าว่าโดนซ้อมหนัก โดนเหยียบและเตะจนลุกขึ้นไม่ได้ เธอขึ้นศาลครั้งแรกวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551ที่ศาลจังหวัดยะลา

 

 

 

หมายเหตุ     เนื่องจากพื้นที่บ้านรือเปาะ เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการควบคุมการเข้าออก อีกทั้งหลังจากที่สัมภาษณ์ผู้เสียหายได้ 2 คน เจ้าหน้าที่ทหารได้มาเฝ้าอยู่หน้าบ้าน พร้อมกับพูดจาข่มขู่ไม่ให้ทางคณะนักศึกษาได้คุยกับชาวบ้าน และขึ้นไปขอชื่อของผู้สัมภาษณ์บนบ้าน จึงทำให้ชาวบ้านกลัวที่จะพูด และไม่สามารถสัมภาษณ์ต่อได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้เชิญคณะทำงานเข้าไปคุยใน ฉก. 34 ที่ตั้งอยู่ที่วัดทางเข้าหมู่บ้านรือเปาะ แต่เป็นการคุยอย่างดีในลักษณะพยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ทางคณะทำงานเข้าใจ แต่เป็นข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง

 

จากการสัมภาษณ์ทางชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทหาร หมู่บ้านรือเปาะได้ถูกประกาศเป็นหมู่บ้านสันติสุข (หมู่บ้านสีเขียว) ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วันที่14 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวในจะแนะ

 

 

 

อ่านย้อนหลัง

กระบอกเสียงจากนักศึกษาใต้ : สะท้อนความจริงจากแดนใต้ที่ถูกปิด ตอนที่ 1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net