จากมุม "คนทำ" : EIA เครื่องมือช่วยพัฒนา ไม่ใช่ยามหัศจรรย์

 

โดย  wobbegong

 

นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมในบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง

 

--------------------------

ชื่อบทความเดิม :  EIA เครื่องมือช่วยพัฒนา ไม่ใช่ยามหัศจรรย์

 

 

 

 

ขออ้างอิงบทความในคอลัมน์ "หัวไม้" เรื่อง " EIA ตัวการช่วยพัฒนา (ต่างหาก) " ในประชาไท บล็อกกาซีน  วันที่ 29 มีนาคม 2551 ที่กล่าวถึงประเด็นของ "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม" หรือ EIA ที่ได้พูดถึงสิ่งที่นายกฯ สมัคร ออกโรงกล่าวถึงกระบวนการเกี่ยวกับอีไอเอว่า "คล้ายๆ จะขัดขวางความเจริญ" นั้น...

 

สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจากบทความที่อ้างถึงข้างต้น เป็นสิ่งที่ได้เห็นแทบจะทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงเรื่องของอีไอเอ คือ นำเสนอประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการ EIA จากฝั่งของหน่วยงานราชการ และฝั่งของชาวบ้านในพื้นที่ หรือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) แต่อย่าลืมว่า ในกระบวนการ EIA นี้ ยังมีอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเช่นกัน นั่นคือ ฝั่งของ "เจ้าของโครงการ" และ "บริษัทที่ปรึกษา"

 

ก่อนอื่นคงต้องเกริ่นไว้ก่อนว่า สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ที่ทำงานในกระบวนการ EIA นี้มาประมาณ 6-7 ปี ซึ่งแน่นอนว่า น้อยกว่าผู้รู้อีกจำนวนมาก ที่ทำงานอยู่ในกระบวนการ EIA นี้ บางท่านทำงานมากันเกิน 10 ปีด้วยซ้ำ

 

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มี "ผู้ชำนาญการ" ท่านหนึ่ง (หมายเหตุ - คำว่า "ผู้ชำนาญการ" นี้ เป็นคำย่อจาก "ผู้ชำนาญการการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับการจัดทำรายงาน EIA แต่ละฉบับ โดยจะอยู่ในฝ่ายบริษัทที่ปรึกษา) ได้กล่าวไว้ในวงสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่จัดโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า "ทำงานเป็นผู้ชำนาญการมาก 15 ปี ยิ่งทำ น่าจะยิ่งชำนาญ... แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งทำ ยิ่งไม่ชำนาญ" ซึ่งคำพูดนี้ ได้รับเสียงปรบมือจากบรรดาตัวแทนของบริษัทที่ปรึกษาที่อยู่ในที่ประชุมวันนั้นอย่างท่วมท้น

 

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ขอให้ย้อนดูประเด็นหนึ่งในกระบวนการของรายงาน EIA ในส่วนที่ หลังจากบริษัทที่ปรึกษา หรือเจ้าของโครงการ ได้ส่งรายงาน EIA ให้กับ สผ. แล้วนั้น จะต้องมีการพิจารณาของ "คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "คชก." ตรงจุดนี้เอง ที่ทำให้กระบวนการของ EIA นั้นติดขัด ล่าช้า ด้วยเหตุที่ว่า คชก. มีสิทธิที่จะให้เจ้าของโครงการ หรือบริษัทที่ปรึกษา เสนอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาได้ โดยหลักการแล้ว ก็ดูว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดี

 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ในกระบวนการการพิจารณารายงานนั้น เป็นการประชุมปิด มีเพียงเจ้าหน้าที่ของ สผ. และสมาชิกของ คชก. เท่านั้น ที่เข้าประชุม โดยเจ้าของโครงการ และบริษัทที่ปรึกษา จะต้องนั่งรออยู่นอกห้อง หาก คชก. มีคำถาม จึงจะเรียกให้เข้าไปชี้แจง สิ่งที่เกิดขึ้นในการพิจารณาหลายๆ ครั้ง คือ แม้ว่าคชก. จะมีคำถาม แต่กลับไม่มีการเรียกให้เจ้าของโครงการ หรือบริษัทที่ปรึกษา เข้าไปชี้แจง จากนั้น จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ของ สผ. ออกมาบอกว่า "โครงการยังไม่ผ่าน" และฝ่ายของโครงการ ก็ต้องรอให้ได้รับหนังสือแสดงความเห็นอย่างเป็นทางการ จาก สผ. ก่อนที่จะสามารถจัดทำรายงานชี้แจงเพื่อนำเสนอได้

 

และนั่นนำมาซึ่งปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้กระบวนการ EIA ต้องล่าช้า เนื่องจากตามระบบราชการแล้ว การจะออกหนังสือแสดงความเห็นได้นั้น จะต้องมีการรับรองบันทึกการประชุมครั้งก่อน (ซึ่งก็คือบันทึกข้อคิดเห็น หรือคำถามที่ คชก. มีต่อรายงานฉบับนั้น) เสียก่อน จึงจะออกหนังสืออย่างเป็นทางการได้ และหากมีการแก้ไขเรื่องใดๆ ในบันทึกการประชุม ก็จะต้องรอการรับรองในการประชุมครั้งต่อไปอีกรอบหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้ว สผ. จะจัดการประชุม คชก. สำหรับโครงการแต่ละประเภท อย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง นั่นหมายความว่า นับจากวันที่ประชุม คชก. เพื่อพิจารณาโครงการใดๆ ครั้งแรกแล้ว อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 1 เดือน ก่อนที่เจ้าของโครงการ หรือบริษัทที่ปรึกษา จะสามารถจัดส่งรายงานชี้แจงข้อคิดเห็นได้

 

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ ที่มีงบประมาณมากๆ มีระยะเวลาที่จัดทำ EIA ล่วงหน้าก่อนวันที่จำเป็นจะต้องดำเนินการโครงการจริง คงไม่ใช่ปัญหาเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อยก็ 1 เดือน

 

กระบวนการชี้แจงนี้ หากดูเผินๆ ตามระเบียบ และข้อกฎหมายแล้ว ก็ดูว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะจากการยื่นรายงานครั้งแรก ฝั่ง สผ. ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน (หรือ 1 เดือนครึ่ง) จะต้องพิจารณา และเมื่อยื่นชี้แจงข้อคิดเห็น ให้ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน (หรืออีก 1 เดือน) เพื่อพิจารณา ดังนั้น เมื่อรวมกับเวลาในการรับรองรายงานการประชุมนั้น กระบวนการนับตั้งแต่ ยื่น EIA ครั้งแรก ให้พิจารณา จนถึงพิจารณาการชี้แจงข้อคิดเห็น ก็ไม่ควรใช้เวลาเกิน 3 เดือนครึ่ง การพิจารณาก็ "ดูเหมือนว่า" จะสิ้นสุด แต่ในความเป็นจริงนั้น บางโครงการต้องยื่นรายงานชี้แจงข้อคิดเห็นถึง 4 - 5 ครั้ง นั่นหมายความว่า กระบวนการต้องออกไปอีก 6 - 8 เดือน ซึ่งเมื่อมองจากมุมมองของนักลงทุน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการแล้ว นั่นหมายถึงเวลาที่เสียไปเปล่าๆ เกือบครึ่งปี และต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยยังไม่มีรายรับ เป็นเวลาเท่าๆ กันอีกด้วย

 

เท่าที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงระยะเวลาที่ใช้ "ตามกระบวนการ" เท่านั้น แต่ยังไม่ได้นับรวมถึงระยะเวลาที่ฝ่ายเจ้าของโครงการ และบริษัทที่ปรึกษา จะต้องใช้ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อตอบประเด็นคำถามของ คชก. ตามที่ถามมา ซึ่งประเด็นคำถามเหล่านี้ มีความหลากหลายอย่างสูง ทั้งในส่วนของประเด็นคำถามเอง ที่เกิดขึ้นได้ทั้งประเด็นด้านวิศวกรรม รายละเอียดโครงการ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นด้านสังคม หรือประเด็นด้านการจัดการโครงการ และยังมีความซับซ้อนในด้านระดับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการให้นำเสนอ ซึ่งบางครั้งการรวบรวมข้อมูลไม่สามารถทำได้ในทันที เนื่องจากไม่ใช่ข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ แต่เป็นข้อมูลที่ต้องออกสำรวจซ้ำ หรือประสานกับหน่วยราชการในพื้นที่ในระดับลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการชี้แจงต่อสิ่งที่ คชก. ถาม

 

แน่นอน ว่าสิ่งที่ คชก. ออกความเห็นมานั้น เป็นการออกความเห็นด้วยความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความรู้สึกที่ต้องการจะอนุรักษ์สิ่งต่างๆ และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และผลกระทบทางสังคม แต่ในทางกลับกันนั้น หลายครั้งที่ฝ่ายบริษัทที่ปรึกษา หรือเจ้าของโครงการ มีความรู้สึกว่า คำถามหรือข้อคิดเห็นเหล่านั้น "เกี่ยวอะไรกับโครงการ", "โครงการส่งผลกระทบต่อด้านนั้นด้วยหรือ" หรือ "ประเด็นนั้นมีความสำคัญแค่ไหน" แต่แม้ว่าจะเกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้น ก็ไม่สามารถแย้งได้ เพราะเมื่อจดหมายแจ้งความเห็นออกมาแล้ว เจ้าของโครงการ และที่ปรึกษา มีหน้าที่เพียง ตอบไปตามนั้น ไม่สามารถแก้ไขหรือทักท้วงใดๆ ได้

 

นอกจากนั้น แม้ว่าในบางครั้ง เจ้าของโครงการ หรือบริษัทที่ปรึกษา ได้เข้าไปชี้แจงข้อสงสัยบางอย่างในที่ประชุมคชก. ที่กำลังพิจารณาโครงการอยู่นั้น จนเป็นที่เข้าใจไปในที่ประชุมแล้ว ประเด็นข้อสงสัยนั้นเองยังติดกลับออกมาให้ต้องชี้แจงซ้ำอีก

 

อีกปัญหาหนึ่งที่เคยพบ นั่นคือ สมาชิกของ คชก. นั้น ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนหน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับทะเล ก็จะมีตัวแทนจากกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการขนส่งทางน้ำและพานิชย์นาวี กองทัพเรือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งตัวแทนจากบางหน่วยงานไม่ได้เข้าร่วมประชุม คำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ในการประชุมครั้งถัดๆ มา เมื่อตัวแทนมาเข้าร่วมประชุม ก็เกิดคำถามใหม่ขึ้นมาอีก หรือบางครั้ง ตัวแทนที่มาเข้าร่วมประชุมไม่ใช่คนเดิม ไม่ได้ทราบประเด็นที่ถุกถามไว้ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษา ก็ต้องนำเสนอรายงานชี้แจงอีกครั้ง (กระบวนการพิจารณาล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน)

 

ที่ได้กล่าวมานั้น เป็นประเด็นที่ปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อ 1 โครงการ แต่ในการประชุมพิจารณาแต่ละครั้ง ไม่ได้มีเพียง 1 โครงการเท่านั้น ยิ่งมีจำนวนโครงการมากขึ้นเท่าไร โครงการที่จะถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปเนื่องจากเวลาในการพิจารณาไม่พอก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น

 

เมื่อพิจารณาถึงบทความในคอลัมน์ "หัวไม้" ที่ได้อ้างถึงข้างต้นนั้น มีบางประเด็นที่ผู้ที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษา อยากจะชี้แจง ดังนี้

 

คอลัมน์หัวไม้ระบุว่า "การกำหนดประเด็นว่า จะศึกษาอะไร หรือไม่ศึกษาอะไร บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้กำหนดเอง โดยเลือกเอาจากรายการที่ สผ.กำหนดไว้เป็นร้อยๆ รายการ การเลือกเองนี้ทำให้ข้อห่วงกังวลจริงๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ถูกศึกษาประเมิน ท้ายที่สุดโครงการจึงตอบคำถามของชาวบ้านได้ไม่ชัดเจน หรือไม่ถูกจุด เช่น บางโครงการที่ทำในเมืองประเมินแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบเรื่องสัตว์ป่าสงวน"

 

สผ. ได้กำหนดแนวทางในการจัดทำรายงานไว้ในลักษณะกว้างๆ แบ่งแยกตามประเภทของโครงการ โดยรายละเอียดสามารถดูได้ที่ http://www.onep.go.th/eia/guideline_eia/indexguideline_eia.htm ซึ่งหากรายงานที่จัดทำ ไม่ครอบคลุมประเด็นที่ได้กำหนดไว้ในรายงาน ประเด็นนั้นๆ ก็มักจะถูกตั้งคำถามให้ชี้แจงกลับมาอีก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวทางที่ สผ. กำหนดไว้นี้ จะต้องเป็นแนวทางที่นำไปใช้ได้กับทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ในบางครั้งประเด็นที่กำหนดไว้ในแนวทางเอง จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ ดังเช่นโครงการที่จัดสร้างในพื้นที่เมือง หรือพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสภาพให้สัตว์ป่าอยู่อาศัยอยู่แล้ว ดังนั้น ผลกระทบต่อสัตว์ป่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

"บริษัทที่ปรึกษาจะ เป็นผู้ศึกษาอีไอเอ โดยรับจ้างกับเจ้าของโครงการโดยตรง บริษัทที่ว่าต้องได้รับใบอนุญาตจาก สผ. ซึ่งก็มีกันอยู่ไม่กี่บริษัท และการจ่ายค่าตอบแทนนั้น โดยส่วนใหญ่ เงินก้อนใหญ่ที่สุดจะจ่ายเมื่ออีไอเอผ่านแล้ว"

 

ปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดทำอีไอเอเป็นจำนวนมาก เมื่อดูจากฐานข้อมูลของ สผ. เอง ที่ http://www.onep.go.th/eia/T_consult/t_consult.html จะพบว่า มีผู้มีสิทธิจัดทำที่ใบอนุญาตอายุมากกว่า 3 ปี 47 ราย ใบอนุญาต 2 ปี 5 ราย แต่หากพิจารณาเฉพาะเจาะจงลงไปในโครงการแต่ละกลุ่ม จะมีบริษัทที่มีความชำนาญในโครงการแต่ละกลุ่มน้อยราย การจ่ายค่าตอบแทนนั้น ขึ้นอยู่กับสัญญาที่เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่ปรึกษาแต่ละราย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ค่าจ้างส่วนใหญ่จะได้รับตามงวดงาน โดยงวดงานเมื่อรายงานได้รับการเห็นชอบ มักเป็นงวดที่มีสัดส่วนน้อยที่สุด เหตุเพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการ และไม่สามารถรอให้โครงการเห็นชอบได้

 

 

"ผ่านแล้วก็แล้วกัน เพราะระบบตรวจสอบยังมีช่องโหว่ ในอีไอเอเองจะมีการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งจะต้องนำส่วนนี้ไปแนบกับการยื่นขอใบอนุญาต แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นที่เปิดเผย นอกจากนี้หน่วยงานตรวจสอบ เช่น กรมโรงงาน ก็มักจะอ้างถึงปัญหาไม่มีมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบที่ครอบคลุมถึงมาตรการ ทั้งหมด ซึ่งมีหลากหลายด้านในหลากหลายโครงการ"

 

ในปัจจุบัน เมื่อ EIA ผ่านแล้ว เจ้าของโครงการจะต้องนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ให้กับ สผ. และหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลโครงการนั้นๆ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับโครงการด้านอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำหรับโครงการด้านเหมืองแร่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำหรับโครงการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น รายงานเหล่านี้ครอบคลุมถึงการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ใน EIA ด้วย และการตรวจสอบเหล่านี้ มีข้อกฎหมาย และมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ควบคุมอยู่

 

 

"การเปิดเผยข้อมูลและ การมีส่วนร่วม ควรทำตั้งแต่ยังไม่ทำการศึกษา เพื่อจะได้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดูร่วมกันว่าควรจะประเมินเรื่องอะไรบ้าง เรื่องความลับทางการค้าเป็นข้ออ้างที่สามารถจัดการนำส่วนนั้นแยกออกไปได้ แต่ไม่ใช่ปิดข้อมูลทั้งหมด ขณะที่ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นควรเปิดเผยข้อมูลระยะเวลาหนึ่งที่ให้เวลา ส่วนต่างๆ ได้ศึกษาข้อมูลนานพอ และการสรุปเวทีก็ควรนำความเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงของชาวบ้านไปพิจารณาจริงๆ"

 

หากให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ยังไม่ทำการศึกษา แล้วจะนำข้อมูลอะไรมาเปิดเผย เพราะปัจจุบันนี้ โครงการขนาดใหญ่ต่างๆ มักวางแผนการจัดทำ EIA ล่วงหน้าเป็นเวลาเกือบปี ทำให้หลายครั้งที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนในการจัดทำรายงาน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งในการพิจารณาของ คชก. และการจัดทำรายงานของบริษัทที่ปรึกษาเองด้วย นอกจากนั้น หากนำข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนไปเปิดเผย ยิ่งอาจทำให้เกิดความสับสนกับประชาชน

 

ระยะเวลาศึกษาข้อมูลนานพอ ควรจะเป็นเท่าไร อย่าลืมว่า ฝ่ายเจ้าของโครงการนั้นมีต้นทุน "ดอกเบี้ย" ที่นับกันเป็นวัน แต่ละวันนั้นสำหรับบางโครงการ หมายถึงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนับแสนบาท หรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนับล้าน เช่น โครงการด้านการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลนั้น แท่นขุดเจาะจะคิดค่า standby หรือค่ารอเวลาทำงาน วันละนับล้านบาททีเดียว

 

ยิ่งไปกว่านั้น หลายโครงการที่เกิดขึ้นบนบก มักมีปัญหาเรื่องการซื้อขายที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง หากมีกระแสข่าวออกไปว่าจะมีโครงการใดเกิดขึ้นในบริเวณใด มักจะทำให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินขึ้นแทบจะทันทีเช่นกัน

 

 

ในแง่ของ "องค์กรอิสระทางสิ่งแวดล้อม" ที่ฝ่ายราชการนั้นได้มีการพิจารณาว่าจะให้เข้ามาเป็นองค์กรกลางในการจัดจ้างการทำ EIA นั้น มีความกังวลจากทั้งฝ่ายเจ้าของโครงการ และฝ่ายบริษัทที่ปรึกษาถึงความเป็นกลางในการกระจายงาน และความเหมาะสมในการพิจารณากระจายงาน ว่าจะทำอย่างไรจึงจะมอบหมายงานให้ได้อย่างเหมาะสมกับบริษัทที่ปรึกษาแต่ละราย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญต่างกัน และมีระดับความสามารถต่างกัน รวมทั้งหากพิจารณาในแง่ธุรกิจแล้ว ที่ปรึกษาแต่ละรายมีภาระไม่เท่ากัน และหลายๆ อย่างไม่ใช่สิ่งที่ควรเปิดเผยต่อองค์กรภายนอก

 

ประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางด้านการประเมินผลกระทบทางสังคม หรือผลกระทบทางสุขภาพนั้น แม้ว่าจะมีการกำหนดแนวทางออกมาแล้วก็ตาม หากดูในรายละเอียดแล้ว บริษัทที่ปรึกษาต่างๆ กำลังอยู่ในภาวะ "กุมขมับ" กันแทบทั้งนั้น ด้วยเหตุที่ ความชัดเจนที่จะนำไปสู่การศึกษาผลกระทบได้นั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในแนวทางดังกล่าว รวมทั้งระบบฐานข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการพิจารณา ก็ยังไม่พร้อม

 

แน่นอนว่า กระบวนการ EIA นั้นยังคงต้องมีอยู่ เพราะหลายครั้งในระหว่างการจัดทำ EIA นั้น ได้พบปัญหาบางเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดไว้ในตอนต้น ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการจะร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขไปให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเสนอ EIA ต่อ สผ. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้  EIA กำลังถูกนำมาใช้ในลักษณะที่เหมือนกับ "ยาสารพัดนึก" กล่าวคือ ไม่ว่าโครงการมีแนวโน้มจะมีปัญหาอะไร ก็ถูกโยนให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการ EIA เสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขออนุญาตต่างๆ เรื่องปัญหาการถือครองที่ดิน เรื่องปัญหาความเห็นของชุมชน ปัญหาทางน้ำ และอีกมากมาย แต่โครงสร้างและกระบวนการ ของ EIA เองนั้นสามารถตอบโจทย์ได้เพียงบางส่วน การพิจารณาบางอย่าง ควรนำแยกออกไปจากกระบวนการ EIA ซึ่งสามารถดำเนินการในภายหลังได้ อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนบทบาทของ EIA หรือสร้างกระบวนการใหม่เพื่อพิจารณาประเด็นอื่นๆ ตามความเหมาะสมแยกออกไป

 

EIA นั้น เป็นเครื่องมือ ในการ "ควบคุม" การพัฒนา ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง แต่อาจต้องมีการทบทวนกันบ้าง ว่าระดับการควบคุมนั้น เท่าไรถึงจะเหมาะสม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท