Skip to main content
sharethis

จากตัวเลขล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2550 มีชาวบ้านในรัฐคะเรนนีอย่างน้อย 81,000 คน จากประชากรทั้งหมดในรัฐ 300,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กมากถึง 56,700-64,800 คน หรือประมาณ 70-80 % ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน หรือเทียบได้กับ 27 % ของประชากรในรัฐทั้งหมด

จากรายงานเรื่อง Living Ghosts ของ Burma Issues ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2551 ให้ข้อมูลว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐคะเรนนี ภาคตะวันออกของประเทศพม่าได้ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าบังคับให้โยกย้ายออกจากบ้านของตนเอง

 

ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา มีกองกำลังทหารพม่าเพิ่มขึ้นในรัฐนี้อย่างต่อเนื่อง มีประชาชนคะเรนนีอย่างน้อย 27 % ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally displaced persons-IDPs) ซึ่งมีจำนวนมากกว่าในประเทศซูดาน ยูกันดา อิรัก โคลัมเบีย และคองโก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ

 

จากตัวเลขล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2550 มีชาวบ้านในรัฐคะเรนนีอย่างน้อย 81,000 คน จากประชากรทั้งหมดในรัฐ 300,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กมากถึง 56,700-64,800 คน หรือประมาณ 70-80 % ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน หรือเทียบได้กับ 27 % ของประชากรในรัฐทั้งหมด

 

ผู้พลัดถิ่นภายในรัฐคะเรนนี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

(1) ผู้พลัดถิ่นที่ยังหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า 10,000 คน

(2) ผู้พลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในเขตเจรจาหยุดยิงและอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) 66,200 คน

(3) ผู้พลัดถิ่นที่ถูกทหารพม่าบังคับให้โยกย้ายไปอยู่ในแปลงอพยพ (relocation sites) 4,800 คน

 

Khu Thaw Reh ผู้ประสานงานของ

Burma Issues จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า "มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องหาทางช่วยเหลือคนเหล่านี้ สถานการณ์ในพื้นที่มีความเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง โอกาสที่ผู้พลัดถิ่นจะข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยเป็นไปได้สูงมาก

 

นอกจากนั้นรัฐบาลอื่นๆ ในอาเซียน ในจีน ในอินเดีย จะต้องสนับสนุนให้สหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวด้วย เนื่องจากผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร ที่พักอาศัย สุขภาพที่เลวร้าย และการขาดการศึกษาของเด็กๆ นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านอีกหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีและการใช้ความรุนแรงของทหารพม่าด้วยเช่นกัน"

 

นอกจากนั้นเขายังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ที่จะหาทางเจรจากับชนกลุ่มน้อยต่างๆในการที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและสังคม

 

เขากล่าวต่อว่า "ชาวบ้านที่ปราศจากอาวุธได้ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีออกจากบ้านของตนเองตลอดมา ทหารพม่าได้เข้าโจมตีและทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่สามารถหนีออกจากบ้านได้ทัน พวกเขาจะถูกทหารพม่าบังคับให้ต้องทำงานตามโครงการที่ทหารพม่ามีอยู่ รายได้ที่เกิดขึ้นจะต้องตกเป็นของทหารพม่าเท่านั้น ชาวบ้านไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาสใดๆทั้งสิ้น"

 

ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา จำนวนตัวเลขของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐคะเรนนีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2545 มีผู้พลัดถิ่นภายใน 57,000 คน และขึ้นสูงสุดในปี 2547 คือ 88,000 คน และลดลงมาในปี 2550 เหลือเพียง 81,000 คน

 

จากการสำรวจพบว่าตัวเลขที่หายไปอย่างแน่นอนนั้น ส่วนหนึ่งมีผู้พลัดถิ่นภายในอย่างน้อย 100 คน ได้หลบหนีมายังค่ายผู้ลี้ภัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน บางคนก็หลบหนีมาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยแล้ว อีกส่วนหนึ่งได้เสียชีวิตลง แต่ไม่ทราบจำนวนตัวเลขที่แน่นอน มีการคาดการณ์ว่าเมื่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ตัวเลขผู้พลัดถิ่นจะต้องเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอนและไม่มีที่สิ้นสุด

 

อดิศร เกิดมงคล จาก Migrant Working Group เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามสถานการณ์เรื่องแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ให้ความเห็นว่า "สถานการณ์ที่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย เพราะปรากฎการณ์์การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กันของผู้คนทั้งสามกลุ่มอย่างใกล้ชิด หากจำนวนตัวเลขผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลกระทบให้จำนวนผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

 

ที่ผ่านมาก็พบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเคยเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง คะเรนนี หรือไทใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยมีผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลทหารพม่าต่อประชาชน ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจจากประเทศต้นทางดังที่เข้าใจกัน

 

การไม่ตระหนักถึงสภาพดังกล่าวย่อมทำให้นโยบายการจัดการของรัฐบาลไทยไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวได้ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในพม่า ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง และปรับเปลี่ยนแนวนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"

 

จากตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายใน 5 อันดับแรกของโลกที่สำรวจพบ (เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดของประเทศ) ของปี 2550 เรียงตามลำดับ คือ

 

อันดับที่

ประชากรรวมทั้งประเทศ (คน)

จำนวนผู้พลัดถิ่นภายใน (คน)

เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด

1. ซูดาน

39,470,000   

5,000,000

13 %

2. โคลอมเบีย

44,380,000

3,800,000

8.5 %

3. อิรัก

27,500,000

1,700,000

6%

4. ยูกันดา

25,827,000

1,700,000

6.5 %

5. คองโก

63,655,000

1,100,000

2 %

 

แต่จากข้อมูลการทำงานภาคสนามของ Burma Issues ในปี 2550 ที่ผ่านมา กลับพบว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐคะเรนนีได้แซงหน้าประเทศซูดาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้พลัดถิ่นภายในมากที่สุดของโลก ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งแทนแล้ว แต่กลับพบว่าการช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นเหล่านี้กลับมีน้อยมากจนน่าตกใจ

 

อย่างไรก็ตามถ้าดูเฉพาะจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ปี 2550 รวมทั้งหมด 503,000 คน (หรือคิดเป็น 0.97 % เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ 52 ล้านคน) โดยไม่ได้เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของแต่ละรัฐ จะพบว่า ผู้พลัดถิ่นในรัฐคะเรนนีจะอยู่ในอันดับสาม เมื่อเทียบกับผู้พลัดถิ่นในรัฐฉานตอนใต้มี 163,000 คน (หรือ 8 % เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดประมาณ 1,978,234 คน) ในรัฐกะเหรี่ยง 116,900 คน (หรือ 2 % เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดประมาณ 6 ล้านคน)

 

ชาวบ้านผู้พลัดถิ่นภายในรัฐคะเรนนีเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนในหลายๆด้าน แต่อย่างไรก็ตามทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ พวกเราจำเป็นต้องหาแสวงหาหนทางในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนในประเทศพม่าทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

 

ข้อมูลดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกนำเสนอในรายงานฉบับล่าสุดปี 2551 ของ Burma Issues เรื่อง Living Ghosts ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้านในรัฐคะเรนนีที่ต้องเผชิญกับการกดขี่ทารุณอย่างโหดร้าย ของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามากกว่า 6 ปี ทั้งในเรื่องของสุขภาพที่ย่ำแย่ การขาดโอกาสทางการศึกษา ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของไร่ฝิ่น ยาเสพติด การกดขี่ทั้งกำลังทางทหารและพลเรือนกลุ่มอื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้เป็นผลมาจากการคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มายาวนานของเจ้าหน้าที่สนามของ Burma Issues ในรัฐคะเรนนี ระหว่างปี 2543-2550

          

สำหรับผู้สนใจอ่านรายงานฉบับเต็ม (ขณะนี้มีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น) สามารถ download ได้ที่ http://www.burmaissues.org/En/reports/livingghosts.html

หรือติดต่อขอรับหนังสือได้โดยตรงที่มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway foundation)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net