Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี วีระภาสพงษ์


แปลจาก Carmela Cruz, "Interview with Joseph Stiglitz" (Washington, DC: Foreign Policy In Focus, March 27, 2008)


Web location:
http://fpif.org/fpiftxt/5106


 


 


ภาพจาก http://www.ed.ac.uk


 


โจเซฟ สติกลิตซ์ เกิดที่มลรัฐอินเดียนาเมื่อ ค.ศ. 1943 ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการมันสมองโลก (Committee on Global Thought) ของมหาวิทยาลัย ในยุครัฐบาลบิล คลินตัน เขาเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และต่อมาเป็นประธานของสภานี้ในช่วง ค.ศ. 1993-97 จากนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าเศรษฐกรและรองประธานอาวุโสของธนาคารโลกในช่วง ค.ศ. 1997-2000


 


สติกลิตซ์ช่วยก่อตั้งเศรษฐศาสตร์สาขาใหม่ นั่นคือ "เศรษฐศาสตร์ของข้อมูลข่าวสาร" โดยศึกษาถึงผลกระทบที่ตามมาจากความไม่เท่าเทียมของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ใน ค.ศ. 2001 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานการวิเคราะห์ตลาดด้วยข้อมูลที่ไม่สมมาตร


 


หนังสือสองเล่มของเขาคือ Globalization and Its Discontents และ Making Globalization Work ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง หนังสือเล่มล่าสุด The Three Trillion Dollar War  เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในเดือนมีนาคมศกนี้ เขาวิเคราะห์วิจารณ์ต้นทุนของสงครามอิรัก ซึ่งมิได้เป็นภาระเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นภาระของโลกด้วย รวมทั้งเสนอยุทธศาสตร์การถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก


 


ในการให้สัมภาษณ์แก่ คาร์เมลา ครูซ ครั้งนี้ สติกลิตซ์ให้ทัศนะเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโลก วงจรเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูสลับซบเซาในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดจน "ข้อจำกัดของกลไกตลาด" ความจำเป็นต้องแสวงหาหนทางที่ดีกว่า GDP ในการวัดมาตรฐานการครองชีพของประชาชน รวมทั้งพูดถึงหนังสือเล่มล่าสุดของตนด้วย


 


คาร์เมลา ครูซ: ตอนนี้สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือยัง? ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะลากทั้งโลกซบเซาตามไปด้วยหรือจะมีบางประเทศรอด? และไม่แน่ว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่บ้างหรือเปล่า?


โจเซฟ สติกลิตซ์: เมื่อพิจารณาจากทุกด้าน สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในภาวะชะลอตัวครั้งใหญ่ จนเกือบจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอนแล้ว มันน่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งเลวร้ายที่สุดในช่วง 25 ปีหลัง ไม่ใช่แค่การปรับตัวตามปรกติ มันส่งผลสะเทือนต่อระบบการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ


 


ถึงแม้ความเติบโตของจีนและอินเดีย หมายความว่า โลกอาจไม่ต้องพึ่งพิงความเติบโตของสหรัฐฯ แต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก การชะลอตัวในสหรัฐฯ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อทุกๆ ประเทศแน่นอน บางประเทศย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น อาทิเช่น ประเทศเม็กซิโกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะสินค้าส่งออกของเม็กซิโกพึ่งพิงตลาดในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด


 


ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้จะกลายเป็นเครื่องชี้วัดอีกประการหนึ่งในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลก ตอนนี้ โลกเริ่มถอยห่างจากการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ในฐานะเงินตราที่เป็นทุนสำรองของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเห็นชัดแล้วว่า ดอลลาร์เป็นแหล่งมูลค่าที่ไม่แน่นอน การที่เมอร์ริลลินช์และซิตีแบงก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เป็นหน้าเป็นตาของสหรัฐฯ ต้องไปขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนของรัฐเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤต เรื่องนี้เป็นยิ่งกว่าสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ


 


ครูซ: สภาคองเกรสของสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 152 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผ่อนบรรเทาผลกระทบของภาวะถดถอย มันจะได้ผลไหม? ต้องใช้จ่ายอีกเท่าไร? ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ยลงอีกแค่ไหน?


สติกลิตซ์: เงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนนี้ยังน้อยไป ช้าไป และออกแบบมาไม่ดีนัก จริงอยู่ มันคงกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ไม่พอที่จะป้องกันการชะลอตัวครั้งใหญ่ มันไม่ได้ออกแบบมาให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะได้มาเมื่อวัดดอลลาร์ต่อดอลลาร์จากการใช้จ่ายเกินดุล ยกตัวอย่างเช่น จะดีกว่านี้มากถ้าเพิ่มเงินประกันการว่างงาน เป็นต้น นอกจากนี้ มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของอเมริกา ไม่ว่าอย่างไร การบริโภคของครัวเรือนที่ไม่มากพอไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งครัวเรือนที่เป็นหนี้สินจำนวนมากจะใช้เงินนั้นจ่ายหนี้ที่ถูกเร่งรัดมากกว่า


 


ปัญหาประการหนึ่งคือ หนี้สินและการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ทำให้มันยากที่จะออกแบบเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในขนาดที่พอเหมาะ


 


ครูซ: ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจโลกเสียหายจากวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างน้อย 100 ครั้ง โดยแต่ละครั้งนำหน้ามาด้วยวงจรของความเฟื่องฟูและซบเซา ทำไมบรรดาธนาคาร ธนาคารกลางและสถาบันทางการเงิน กลับไม่มีเครื่องมือที่จะดักทางไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ทำนายวิกฤตการณ์ได้ล่วงหน้า บางทีทำนายได้ตั้งหลายปีก่อนเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง? เราสามารถยุติวงจรนี้โดยไม่ต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อข้อจำกัดของระบบทุนนิยมได้หรือไม่?


สติกลิตซ์: ภาวะตกต่ำครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ล่วงหน้ามาแล้วหลายปี กระนั้น ระบบบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารและสถาบันเงินกู้ทั้งหลายใช้อยู่ กลับล้มเหลวที่จะตระหนักถึงปัญหาที่ฝังลึกอยู่ภายใน นี่ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้เทคนิควิทยาของการบริหารความเสี่ยงจะก้าวหน้าไปมาก แต่กลไกตลาดต่างหากที่มีข้อจำกัด ซึ่งเป็นตัวการก่อให้เกิดวงจรเฟื่องฟูและซบเซามาตลอดประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม


 


ครูซ: ในหนังสือ Making Globalization Work คุณนำเสนอทางออกต่อปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความยากจน ความไม่สมดุลของการค้า และความไร้เสถียรภาพทางการเงิน โดยคุณเรียกร้องให้ประเทศต่าง จับมือกันร่วมแก้ปัญหาอย่างกล้าหาญ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็มีทั้งการเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยสารพิษ การรื้อซ่อมและยกเครื่องสถาบันระหว่างประเทศที่มีอยู่ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไม่ก็สร้างสถาบันใหม่ขึ้นมาเลย เช่น ระบบทุนสำรองเงินตราของโลก มีนักวิจารณ์กล่าวว่า โลกที่คุณวาดภาพนั้นเป็นแค่สังคมอุดมคติและไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้เพราะความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน แน่นอน การจะเปลี่ยนรัฐบาลและสถาบันระหว่างประเทศให้พร้อมต่อโลกโลกาภิวัตน์ที่มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ ทั้งรัฐบาลและสถาบันต้องก่อตั้งขึ้นบนเสรีภาพและความรับผิดชอบของบุคคลที่สมมาตรและมั่นคงกว่านี้ นี่จะเป็นเหตุผลให้เราควรล่าถอยจากโลกาภิวัตน์แทนที่จะสร้างมันขึ้นมาใหม่อย่างที่คุณเสนอหรือเปล่า?


สติกลิตซ์: ในหนังสือ Making Globalization Work ผมนำเสนอวาระที่ครอบคลุม ไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ว่าเราควรเดินไปทางไหน แต่เสนอขั้นตอนเชิงปฏิบัติที่ควรนำมาใช้ในระยะเฉพาะหน้า ซึ่งจะช่วยให้โลกาภิวัตน์ทำงานได้ดีขึ้นเป็นอย่างน้อยที่สุด ในการวางกรอบวาระนี้ ผมตระหนักเป็นอย่างดีถึงกลุ่มพลังต่าง ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และผมตั้งใจเป็นพิเศษที่จะชี้นำการปฏิรูปที่จะทำให้คนทุกคน หรืออย่างน้อยที่สุดก็คนส่วนใหญ่ เป็นผู้ชนะร่วมกัน


 


ครูซ: จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตอนนี้ หากสหรัฐฯ หันมาใช้แนวทางปกป้องการผลิตในประเทศ (protectionism) มากขึ้น มันจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมโลกาภิวัตน์อย่างไร?


สติกลิตซ์: ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีลักษณะปากว่าตาขยิบอยู่ในโวหารและนโยบายการค้าของอเมริกาเสมอ ข้อตกลงการค้าเสรีสมควรเรียกใหม่ว่า "ข้อตกลงการค้าอย่างมีการจัดการ" มากกว่า ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ มักเพิกเฉยต่อผลกระทบด้านลบที่เกิดจากข้อตกลงการค้าเสรีในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ มาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลงในตอนนี้ไม่ได้เกิดกับคนชั้นล่างเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางด้วย ในขณะที่รัฐบาลบุชไม่อินังขังขอบกับปัญหานี้เลย ดังนั้น การปฏิรูประบบการค้าโลกาภิวัตน์ดังที่ผมเรียกร้องไว้ในหนังสือ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง


 


ครูซ: คุณสรรเสริญความสำเร็จทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีสถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ในฐานะหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก คุณเคยกล่าวว่า การต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนา และในปาฐกถารับรางวัลโนเบล คุณอ้างถึงทัศนะอันลึกซึ้งของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เกี่ยวกับอิทธิพลของวิชาเศรษฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองที่มีต่อโฉมหน้าของโลก คุณยังไม่พร้อมจะยอมรับหรือว่า พันธะทางศีลธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงในการยกระดับเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในการยกระดับชีวิตประชาชนด้วย?


สติกลิตซ์: ผมกล่าวเสมอว่า ความสำเร็จต้องมีมากกว่าการเพิ่มขึ้นของจีดีพี และการพยายามเพิ่มแต่จีดีพีอย่างหน้ามืดตามัว ลงท้ายแล้วอาจนำไปสู่มาตรฐานชีวิตที่ตกต่ำลงในระยะยาว ขณะนี้ผมเป็นประธานของคณะกรรมการการชี้วัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม คณะกรรมการชุดนี้ก่อตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีของฝรั่งเศส และมีสมาชิกจากทั่วโลก สิ่งที่เราชี้วัดส่งผลกระทบต่อสิ่งที่เราทำ พันธะทางศีลธรรมไม่ใช่แค่การเพิ่มจีดีพีเท่านั้น แต่ต้องยกระดับชีวิตของประชาชน เราจึงจำเป็นต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้ในการชี้วัดความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว


 


ครูซ: อยากให้คุณพูดถึง หนังสือเล่มล่าสุดของคุณ


สติกลิตซ์: หนังสือเล่มล่าสุดของผมคือ The Three Trillion Dollar War: The True Costs of the Iraq Conflict  ผมเขียนร่วมกับ Linda Bilmes จากสำนักเคนเนดีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า สงครามที่ผิดพลาดครั้งนี้มีต้นทุนแค่ไหน สงครามครั้งนี้กลายเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดและมีต้นทุนสูงที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา มันเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นี่คำนวณโดยปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้วนะครับ! เราคำนวณต้นทุนที่มีผลกระทบต่องบประมาณและเศรษฐกิจของอเมริกา แต่เราชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนยังมีมากกว่านั้นอีก ยังมีต้นทุนที่เป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจโลก โดยต้นทุนส่วนที่หนักที่สุดตกอยู่กับประเทศอิรักเอง นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ขณะที่เรามัวจดจ่ออยู่กับอาวุธทำลายล้างที่ไม่มีอยู่จริงในอิรัก ประเทศอีกประเทศหนึ่งก็เข้าร่วมสโมสรอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่เรามัวจดจ่ออยู่กับประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับวินาศกรรม 9/11 เลย ปัญหาในอัฟกานิสถานก็ยิ่งเลวร้ายลง ทั้ง ที่ประเทศนี้แหละที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 9/11 อยู่บ้าง เดี๋ยวนี้อเมริกาปลอดภัยน้อยลง และกองทัพของเรา ซึ่งอ่อนล้าจากการรบถึงห้าปี ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่หากต้องเผชิญภัยคุกคามใด ที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศ


 


ส่วนท้ายของหนังสือให้ข้อแนะนำเชิงนโยบายชุดหนึ่ง รวมทั้งวิธีการป้องกัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีประเทศไหนควรพึ่งแต่การจัดสรรงบประมาณฉุกเฉิน ในขณะที่สงครามก็ผ่านมาถึงห้าปีแล้ว อเมริกาเอาเปรียบกองทัพและทหารผ่านศึกของตัวเอง นี่เป็นนโยบายแบบสายตาสั้น ไม่เพียงแค่ผิดศีลธรรม แต่ยังมีต้นทุนสูงด้วย เราเสนอแนวทางปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะยุติการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราวางกรอบสำหรับการพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ในการถอนทหาร นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลบุชคิดน้อยไป เมื่อพวกเขาเริ่มดำเนินการที่มีแต่ความเสี่ยงและบุ่มบ่ามเมื่อตัดสินใจบุกอิรัก


 


 


Carmela Cruz เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระในกรุงมะนิลาและเขียนบทความให้แก่ Foreign Policy In Focus (www.fpif.org)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net