บทความ : เนปาลเลือก สสร. บนความทันสมัยและความล้าหลัง

สมศรี หาญอนันทสุข

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL)

 

 

ในสภาวะที่เนปาลเกิดวิกฤตพลังงาน หลังจากที่ไม่มีเงินจ่ายให้ประเทศอินเดียได้ทัน และอินเดียไม่สนใจจะส่งน้ำมันและแก๊ซให้เนปาล ทำให้ถนนหาทางที่เมืองหลวงและในชนบทแย่กว่าเดิมอย่างมาก ประชาชนต้องคอยคิวยาวเป็นหลายชั่วโมงเพื่อเติมน้ำมัน

 

ขณะนี้จะมีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ซึ่งจะมีการใช้พลังงานอย่างมาก เมื่อการเลือกตั้งจะต้องดำเนินต่อไปในวันที่ 10 เมษายนนี้ ท่ามกลางความรุนแรงที่ประทุมากขึ้นเรื่อยๆ และทุกฝ่ายไม่ต้องการเลื่อนวันเลือกตั้งอีกแล้ว ทำให้รัฐบาลและประชาชนที่เผชิญกับปัญหาหลายด้าน ต้องเดินหน้าต่อไป

 

พรรคหลักๆ ที่มีการแข่งขันสูงได้แก่ Nepali Congress, CPN-Maoist, CPN-UML และพรรคของ Madesi ที่อยู่ภาคใต้ของประเทศ การใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่จะมาจากหลายฝ่ายซึ่งแน่นอนว่าจะมาจากพรรคเหมาอิสต์ เป็นส่วนใหญ่

 

สำหรับองค์กรทางสังคมซึ่งไม่เห็นความสำคัญของระบบกษัตริย์ และไม่ชอบความรุนแรง จะเอียงมาทางพรรคเก่าแก่อย่าง CPN-UML มากกว่าพรรค Nepali Congress (NC) ซึ่งมี Girija Prasad Koirala เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลชั่วคราวอยู่ในขณะนี้

 

การแข่งขันเลือกตั้งในครั้งนี้ ทุกพรรคดูจะละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ผู้สังเกตการณ์คนไทยของอันเฟลก็ถูกกลุ่มเหมาอิสต์ขู่ต่อหน้าต่อตามาแล้ว

 

กกต.ที่นี่ โชว์การใช้เครื่อง Electronic Machine ในการลงคะแนนด้วย ซึ่งเนปาลจะทดลองใช้ในเขต 1 ของเมืองหลวง เป็นเครื่องที่นำเข้าจากอินเดีย โดยกกต.ได้เชิญอันเฟรลไปดูและให้ทดลองใช้มาแล้ว และไปดูโรงงานพิมพ์บัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบด้วย

 

กกต.ที่นี่มีความเข้าใจในความสำคัญของการถ่วงดุลจากบทบาทผู้สังเกตการณ์มาก กกต.เนปาลทั้ง 5 คนไม่ถูกข้อครหาเรื่องความไม่เป็นกลาง แต่ก็มีปัญหากฎหมายที่ให้อำนาจในการลงโทษผู้ละเมิดกฎได้ไม่เต็มที่

 

 

ระบบการเลือกตั้ง Constituent Assembly หรือ คนเนปาลเรียกว่า CA

เมื่อการเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. จำนวน 601 คน ไม่ใช่การเลือกตั้ง สส. ไม่เหมือนบ้านเราตรงที่ สสร.มาจากการสรรหา คนจำนวนนี้จะทำหน้าที่อยู่ 2 ปี ร่าง รธน.ใหม่ เพื่อไปแทน รธน.ชั่วคราวที่มีอยู่ และทำหน้าที่เป็น สส. ด้วยไปในตัวเหมือนติมอร์ตะวันออก แล้วหลังจากนั้นจึงให้มีการเลือก สส.ตามมา

 

คน 601 คนมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน 335 คน แบบแบ่งเขต 240 คน โดยอีก 26 คนจะมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐบาล ดังนั้นจะมีบัตร 2 ใบ คนละสี สีชมพูเลือกสัดส่วน (Proportional Representative หรือ PR) ส่วนสำหรับแบ่งเขตเป็นสีฟ้า (First pass the post หรือ FPTP)

 

การเลือกจะใช้ ประทับตรา เป็นสัญลักษณ์ สวัสดิกะ แต่ไม่ได้หมายถึงสัญลักษณ์นาซี และจะมีการระบายสีที่นิ้วหัวแม่มือ (indelible ink) ด้วย โดยทุกคนจะรับบัตรทีละใบ หย่อนเสร็จแล้วค่อยไปรับอีกใบหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สับสน แต่ถ้าทำบัตรเสียจะรับใหม่ไม่ได้ การเลือกตั้งเริ่มตัวแต่ 7 โมงเช้า - 5 โมงเย็น ใช้เวลา 10 ชั่วโมง

 

วันที่ 9 เมษา (cooling day) ทุกพรรคต้องหยุดการรณรงค์ถึงวันเลือกตั้งที่ 10 เมษายน ชายแดนเนปาล อินเดียจะถูกปิดหมดห้ามการเข้าออก และห้ามการใช้ยานพาหนะนอกจากมีใบผ่านทาง ส่วนผู้สังเกตการณ์ของเราผ่านได้ คนพิการคนท้องจะได้รับการช่วยเหลือ แต่ห้ามขนคน สำหรับการนับคะแนน จะนับที่เขตที่ตำบลต่างๆ จะไม่นับที่หน่วยเพราะอันตราย ผลการนับคะแนนคงจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือกว่านั้น เจ้าหน้าที่หน่วยจะใช้ครูเป็นหลัก ข้อที่ควรทราบเป็นพื้นฐานมีดังนี้

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 17,609,408 คน เป็นหญิง 7,829,262 คน เป็นชาย 8,880,146 คน มี 240 เขต








ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบนเขา 1,326,999 คน


มีทั้งหมด 22 เขต



  • บนที่สูง 7,885,091 คน


มีทั้งหมด 102 เขต                                                                       22 เขต



  • เขตภาคใต้ Tarai 8,397,318 คน


มีทั้งหมด 116 เขต                                                                       22 เขต


 รวม 17,609,408 คน


รวม 240 เขต

 

 

โครงสร้างทางการเมืองการบริหารพื้นที่ คือเริ่มจาก 5 Regions รองลงมาเป็น 75 Districts แล้วจึงจะเป็น Wards แล้วถึงแยกย่อยเป็น VDC หรือ Village Development Committee วิธีแบ่งเขตจะต่างจากแบบที่เราคุ้นเคย เขาไม่ใช้คำว่าจังหวัด

 

กฏหมายเลือกตั้งเนปาลกำหนดให้ผู้หญิงมีโควต้าที่นั่งในสภา ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งแบบสัดส่วน ส่วนที่นั่งแบบแบ่งเขตจะเป็นสิทธิของผู้เลือกว่าจะลงคะแนนให้ผู้หญิงหรือไม่ แต่กำหนดว่าทุกพรรคต้องส่งรายชื่อผู้สมัครที่มีผู้หญิง 33 เปอร์เซ็นต์ของรายชื่อแบบแบ่งเขตทั้งหมด

 

ส่วนการรณรงค์ของพรรคมักจะไม่พูดถึงนโยบายการเมือง ศก. สังคม เท่าไหร่แต่จะบอกว่าจะเขียนรธน.ไปในแนวไหน เพื่อใคร ดังนั้นคำถามเราจึงมักไม่ได้รับคำตอบอย่างที่เราต้องการ ส่วนสื่อมวลชนมีเสรีภาพมากพอควร

 

 

สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง

การรณรงค์ของเนปาลไม่ได้คึกคักเหมือนประเทศอื่นเท่าไหร่ และ กกต.เนปาลก็ไม่ให้ติดโปสเตอร์หาเสียงพร่ำเพรื่อด้วย ที่ผ่านมา การกระทำของกลุ่ม Tarai ภาคใต้ทั้งแถบซึ่งเป็นพวกที่ต้องการปกครองตนเองและใกล้ชิดกับอินเดียจะไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะพวกนี้รู้ว่าตนจะได้เข้าสภาเพียงไม่กี่ที่นั่ง หรือยังต่อรองข้อเรียกร้องได้ไม่ทั้งหมด ประชาชนในพื้นที่ Tarai จะเรียกตนเองว่า Madhesi ซึ่งรัฐบาลจะประมาทไม่ได้เลย เพราะเขามีประชากรเกือบครึ่งประเทศ แม้ว่าคนทุกกลุ่มและพรรค 7 พรรคจะทำสัญญาหยุดยิงกันระดับหนึ่งแต่ก็ยังมีการละเมิดสัญญาที่ United Nation Mission in Nepal หรือUNMINเป็นคนกลางให้ ส่วนผู้แทนสหประชาชาติ UNMIN นั้นคือ Ian Martin อดีตเลขาธิการ Amnesty International เป็นคนอังกฤษ

 

 

พรรคเหมาอิสต์และเยาวชนฝ่ายซ้าย

หากพูดถึงความรุนแรง คงไม่พ้นที่คนส่วนใหญ่จะรู้ดีว่ามาจากกลุ่มฝ่ายซ้ายเองด้วยซึ่งเป็นพรรคถูกต้องตามกฏหมายหรือ กลุ่มเหมาอิสต์นั่นเอง คนพวกนี้ยังใช้วิธีรุนแรง และใช้การข่มขู่ตลอด ประกอบกับมีเยาวชนที่เรียกคนเองว่า Young Communist League (YCL) ที่เป็นกองกำลังคอยป่วนด้วย เหมาอิสต์คุยว่าจะส่งคนไปคุมหน่วยเลือกตั้ง 200 คน ต่อหน่วยในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งจะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ทำให้ชาวบ้านกลัวพอควร

 

กลุ่มเหมาอิสต์จะเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มหัวรุนแรง Madesis บางกลุ่ม แต่ละฝ่ายก็มีคนสนับสนุนเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนยากจนไม่น้อยที่คิดจะเลือกพรรคเหมาอิสต์อยู่ดี เพราะมองว่าพรรคอื่นไม่เคยพูดถึงคนระดับล่างเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน พรรคนี้ก็พูดถึงสิทธิความเสมอภาคของสตรี และยังต่อสู้เพื่อลดทอนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ลงได้ จนทำให้มีการเจรจาที่จะให้ประเทศเนปาลเป็น Republic หลังการเลือกตั้งประสบความสำเร็จอีกด้วย สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะเห็นทั่วไปคือการพ่นสีกำแพงรณรงค์เป็นภาษาท้องถิ่นมีรูปค้อนกับเคียว การกระทำดังกล่าวสร้างความปวดหัวให้กับ กกต. อย่างยิ่ง และต้องส่งคนไปใช้สีระบายกลบ ซึ่งก็น่าแปลกที่ กกต.ไม่ยอมลงมือทำโทษอย่างจริงจัง

 

 

ระบบกษัตริย์ในเนปาล

คนเนปาลมองว่ากษัตริย์ Gyanendra Bir Bikram Shah Dev เป็นคนที่ไม่ซื่อ และเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่กษัตริย์ผู้พี่องค์ก่อนด้วย ส่วนเจ้าฟ้าชายโอรสของกษัตริย์องค์ปัจจุบันนี้ก็ปฏิบัติตัวแย่มาก อย่างไรก็ตาม คนเนปาลอยู่กับระบบกษัตริย์มานานจนยังรู้สึกว่า แม้ว่าคนเกือบทั้งประเทศจะไม่ชอบกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ก็รู้สึกว่าน่าจะยังมีสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ หลายคนจดจ่อว่า รธน. ฉบับใหม่จะเขียนว่าอย่างไร

 

แน่นอน ตอนนี้ กษัตริย์ Gyanendra ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะกลัวว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจจะกำจัดสถาบันกษัตริย์แบบเบ็ดเสร็จโดยลบออกจาก รธน. ทั้งหมดเลยก็ได้ ความจริงตอนนี้ราชวงศานุวงศ์ยังหวังอยู่ว่า ถ้าการเลือกตั้งดำเนินไปได้สำเร็จ พรรค Nepali Congress (NC) ซึ่งเป็นพรรคหัวอนุรักษ์และชอบกษัตริย์จะได้เสียงข้างมากพอที่จะเขียน รธน.ให้มีสถาบันหลงเหลืออยู่ หรือแม้จะไม่เอากษัตริย์ Gyanendra แล้ว แต่อาจจะเชิญเลือดเนื้อของกษัตริย์สายอื่นเขามาดำรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศต่อไปก็ได้ แต่อยู่ภายใต้ รธน.หรือที่เรียกว่า Constitutional Monarchy

 

ส่วนคำบอกเล่าที่เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวต่างประเทศที่ได้ยิน คือ กษัตริย์ Gyanendra ได้พยายามเจรจาให้ผลประโยชน์กลุ่มเหมาอิสต์เสียเองบางคนเพื่อสร้างความวุ่นวายไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทั้งที่กลุ่มเหมาอิสต์ส่วนใหญ่เป็นผู้เรียกร้องไม่ให้มีระบบสถาบันนี้อีกต่อไป ก็เรียกร้องกันจนล้มตายกันไปมาก แต่ลงท้ายก็จูบปากกันเฉยเลย มันเหมือนการเมืองทักษิณ บรรหาร สนั่น สมัคร เสนาะ ยังไงชอบกล

 

ก็คงต้องดูกันไปว่ารัฐบาล สสร. 601 คนนั้นจะร่าง รธน.ไปในรูปแบบใด เพื่อใครแต่ที่รู้ๆ คือเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน และที่ทุกคนกลัวก็คือสถานการณ์หลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ว่าจะมีการไม่ยอมรับการเลือกตั้งกันแค่ไหน หรือ จะหลั่งเลือดกันต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท