Skip to main content
sharethis

วันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดสัมมนา " เจาะลึกร่าง กม. คุ้มครองแพทย์ ประชาชนได้อะไร? "


 


ที่มาที่ไปของการสัมมนาครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อจะวิเคราะห์เปรียบเทียบร่างกฎหมาย 2 ฉบับว่าด้วยการชดเชยแก่ผู้เสียหายจากความผิดพลาดในการรักษาโรคภัย เพราะทุกวันนี้คดีความข้อพิพาทระหว่างคนไข้กับแพทย์เริ่มมีแนวโน้มมากขึ้นทั้งปริมาณและความรุนแรง ขณะเดียวกันที่ผ่านมาคนไข้ผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีมากมาย


 


ร่างกฎหมายนี้เป็นการจัดทำกฎหมายตาม มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับหนึ่งนำเสนอโดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายผู้ป่วย ชื่อว่า " ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..."  อีกฉบับหนึ่งนำเสนอโดยองค์กรวิชาชีพอย่าง แพทยสภา ชื่อว่า " ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. ...."


 


ร่างแรกมุ่งคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายให้ได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม และถูกวิจารณ์ว่าจะทำให้แพทย์ทำงานได้ยาก ขาดความมั่นใจในการรักษา อีกร่างหนึ่งมุ่งคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ และถูกวิจารณ์ว่าทำให้แพทย์มีสิทธิพิเศษ ผู้ป่วยจะยิ่งเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยากขึ้นเมื่อสูญเสีย


 


สำหรับร่างของผู้บริโภคและเครือข่ายนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ ส่วนของแพทยสภานั้นไม่แน่ใจว่าอยู่ในขั้นตอนใด เพราะ สป.แจ้งว่าได้เชิญร่วมสัมมนา แต่ไม่ได้เข้าร่วม ขณะที่ของกระทรวงสาธารณสุขก็มีเวอร์ชั่นของตัวเองอีกฉบับ ผ่าน ครม.ไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ต้องรอดูท่าทีรัฐบาลปัจจุบันอีกทีว่าจะเอาอย่างไร


 


แน่นอน ... กฎหมายนี้มีความสำคัญมาก เพราะเราทุกคนต่างก็ต้องเคยเป็น "คนไข้" และไม่มีใครรับประกันว่าตัวเราเองหรือญาติสนิทมิตรสหายของเราจะไม่เผชิญกับความผิดพลาดในการรักษาเข้าสักวัน ท่ามกลางมาตรฐานและความพร้อมของระบบบริการสุขภาพแบบที่เป็นอยู่นี้


 


ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมยกร่างกฎหมายฉบับองค์กรผู้บริโภค ได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้


 


 


 




















 


ร่างฉบับคุ้มครองผู้ป่วย


ร่างฉบับคุ้มครอง(บุคลากรการ)แพทย์


วัตถุประสงค์


1. ชดเชยความเสียหายของ ผู้ป่วย ทั้งเหตุสุดวิสัยและที่เกิดจากความผิดพลาด แต่ไม่ได้มุ่งจับคนผิด ค่าชดเชยครอบคลุมตามกฎหมายแพ่ง แต่มีเพดานวงเงิน


 


2. ลดการฟ้องร้องแพทย์ จากการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมทันที หากใช้สิทธิตามกฎหมายนี้ แต่ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิในการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา


 


3. พัฒนาระบบความปลอดภัยคนไข้ โดยนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์แก้ไข ในต่างประเทศมีระบบให้รายงานความผิดพลาดแต่ไม่นำไปสู่การลงโทษ เป็นเรื่องท้าทายมากว่าประเทศไทยจะพัฒนาระบบนี้อย่างไร


 


ไม่ใช่การปกป้องแพทย์ไม่ให้ได้รับโทษตามกฎหมาย แต่ต้องการให้แพทย์ที่ดีสามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ด้วยความมั่นใจ


(ที่มา : แพทยสภา)


 


พื้นฐานแนวคิดกฎหมาย


- ดูแลทั้ง 2 ฝ่ายให้เกิดความชอบธรรม


- ไม่มุ่งที่การจับตัวหรือลงโทษผู้กระทำผิด


ดูแลแพทย์ให้กลายเป็นกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษเหนือพลเมืองไทยทั่วไปโดย


1. กำหนดขอบเขต ประเภทความผิดที่แพทย์จะรับผิดให้แคบที่สุด และให้องค์กรวิชาชีพอย่างแพทยสภาเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือ "ความเสียหาย"


 


2. กำหนดวิธีการพิเศษที่จะกระทำต่อแพทย์ที่ตกเป็นผู้ต้องหา โดยก้าวหล่วงความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม เพราะให้อำนาจองค์กรวิชาชีพมากเกินไป กำหนดให้ศาลต้องรับฟังความเห็นแพทยสภาในการไต่สวน


ความชอบธรรมของกฎหมาย


-ไม่ขัดหลักนิติธรรม


- เน้นสร้างสังคมสมานฉันท์


- ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ต้องมีการคุ้มครองเฉพาะวิชาชีพด้านสุขภาพ  เพราะกำหนดว่าต้องประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้นจึงจะได้รับโทษ ขณะที่กฎหมายอาญา เพียงการกระทำโดยประมาท ก็ต้องได้รับโทษแล้ว


- ความล้มเหลวของกฎหมายวิชาชีพในการสร้างความสมดุลย์ของดูแลผู้ประกอบวิชาชีพและความเป็นธรรมของผู้ถูกละเมิดจากผู้ประกอบวิชาชีพ


 


ผศ.ดร.ยุพดี กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย โดยเน้นว่า เมื่อจะมีการร้องเรียน จะมีคณะกรรมการกลางในการพิสูจน์ความเสียหายดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ เพียงไหน ก่อนจ่ายค่าชดเชย โดยค่าชดเชยก็จะให้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ศาลพิพากษา เพื่อลดการฟ้องร้อง แล้วนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไปแก้ไขในระบบต่อไป ส่วนกลไกการบริหารงานจะมีคณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่ายในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม หลังจากที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่ามักปกป้องวิชาชีพตนเองเป็นหลัก ขาดการตรวจสอบ


 


ส่วนเงินทุนนั้นสามารถได้มาจาก 3 แหล่งคือ เงินสมทบจากทั้งโรงพยาบาลเอกชน, กองทุนประกันสังคม และงบประมาณรัฐ


 


ด้านนายชาญณรงค์ ปรานีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เข้าร่วมสัมมนาด้วย กล่าวว่า ร่างขององค์กรผู้บริโภค โดยหลักการแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนร่างของแพทยสภานั้น มีปัญหา 2 ประเด็น คือ เรื่องการจำกัดความรับผิด และวิธีพิจารณาคดี


 


เขาระบุว่า การกำหนดให้รับผิดเฉพาะการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนั้น  เข้าใจว่าเป็นความกังวลใจของฝ่ายแพทย์ แต่ในระบบกฎหมายของไทยในกฎหมายอาญาไม่มีการกำหนดว่าประมาทร้ายแรงคืออะไร แต่มีมาตรฐานเดียวคือ กระทำผิดโดยประมาท ซึ่งโดยทั่วไปศาลก็ต้องพิจารณาตามวิสัยและพฤติการณ์ของจำเลยที่แตกต่างกันไปอยู่แล้ว หากกำหนดเพิ่มเติมว่าประมาทร้ายแรง จะมีปัญหาแปลกแยกกับกฎหมายที่มีอยู่และมีปัญหาในการตีความ


 


ชาญณรงค์เสนอว่า ควรใช้กฎหมายอาญาแบบเดิมและให้ศาลเป็นผู้ตีความ พิจารณา โดยอาจจะเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมแนวทางในการใช้ดุลยพินิจ นอกจากนี้ควรเพิ่มเติมกระบวนการประนอมข้อพิพาทไปในร่างกฎหมาย


 


ในส่วนของวิธีพิจารณา โดยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่จะต้องเปิดรับฟังจากทุกฝ่าย และเปิดให้มากที่สุด ไม่ควรกำหนดว่าต้องให้น้ำหนักใคร ฟังใคร ควรให้เป็นความอิสระของศาล


 


อย่างไรก็ตาม นายชาญณรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า เข้าใจว่ากฎหมายฉบับของแพทยสภาต้องการลดความกังวลใจของแพทย์ แต่มันก็ยังไม่ตอบคำถามเรื่องมาตรฐานวิชาชีพว่าจะดีขึ้นอย่างไร การเยียวยายังไม่ชัดเจน และไม่ควรปิดกั้นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะการปิดกั้นจะทำให้การเผชิญหน้าหนักหน่วงขึ้น ไม่มีทางออก


 


สารี อ๋องสมหวัง จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงบทบาทของแพทยสภาว่าอยากเห็นองค์กรวิชาชีพแห่งนี้โปร่งใสมากขึ้น และมีตัวแทนจากภายนอกเข้าไปร่วมเป็นกรรมการด้วย ดังเช่นที่ประเทศอื่นๆ ทำกันทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net