ส.ส.เดโมแครต เรียกร้องผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ใส่ใจประเด็นการเข้าถึงยา

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2551 นายเฮนรี่ แวกซ์แมน ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลการปฏิรูปรัฐบาล ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ อีก 26 คน ได้ทำหนังสือถึง นางซูซาน ชว็อบ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ คำนึงถึงพันธกรณีของสหรัฐฯ ที่จะต้องให้ความเคารพต่อมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยปรับปรุงการเข้าถึงยารักษาชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา ประกอบการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ประจำปีในด้านการให้ความคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

 

ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงรายงานของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เรื่องอุปสรรคการค้าและการลงทุนของประเทศคู่ค้าสำคัญฯ ของสหรัฐฯ (National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers: NTE) ประจำปี 2551 ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่ารายงานดังกล่าวบรรยายลักษณะการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐของประเทศไทยอย่าง "ผิดพลาดคลาดเคลื่อน" และมีการปรับลดสถานะประเทศไทยให้อยู่ในบัญชี "ประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ" หรือ Priority Watch List หลังจากที่ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยา 3 รายการ

 

นายเฮนรี่ แวกซ์แมน และ ส.ส.ที่ลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าวชี้แจงว่า ในรายงานของสำนักผู้แทนการค้่าสหรัฐฯ ได้ระบุถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ และมีการกล่าวถึงการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ซึ่งดูเหมือนจะแสดงความวิตกกังวลว่า ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ อย่าง "ขาดความโปร่งใสและชอบธรรม" ซึ่งการใช้ภาษาที่คลุมเครือเช่นนี้ อาจนำไปสู่การตีความว่า สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประณามการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ของประเทศไทยว่าเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความย่อหย่อนและไม่เคารพในสิทธิบัตร

 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าวจึงได้เรียกร้องให้สำนักผู้แทนการค้าจัดทำรายงานฉบับต่อไป โดยจะต้องปฎิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมตกลงในปฏิญญาโดฮาอย่างเคร่งครัด ที่จะต้องเรื่องการให้ความเคารพต่อมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยปรับปรุงการเข้าถึงยารักษาชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจสุดท้ายในการจัดทำรายงาน 301 ก็ตาม

 

นอกจากนี้ เนื้อหาในหนังสือได้ระบุชัดเจนว่า ประเทศต่างๆ ไม่สมควรถูกกล่าวหาจากการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิและมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ

 

ที่มา http://www.waxman.house.gov/pdfs/letter_special_301_%2004-09-08.pdf

 

 





 

สภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ
กรุงวอชิงตัน ดีซี 20515

9 เมษายน 2551

นางซูซาน ซี ชว็อบ
ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ
600 ถนนสายที่ 17 ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ

กรุงวอชิงตัน ดีซี 20508


เรียนท่านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ชว็อบ

ตามที่ท่านได้ดำเนินการตาม "มาตรา 301 พิเศษ" เป็นประจำทุกปีเพื่อทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในด้านการให้ความคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญานั้น เราขอเรียกร้องให้ท่านหันมาใส่ใจประเด็นด้านการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการพิจารณาว่ามาตรการด้านสาธารณสุขหนึ่งๆ ได้สร้างความวิตกกังวลในแง่ของการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่าง "เหมาะสมเพียงพอและมีประสิทธิภาพ" หรือไม่นั้น ท่านไม่สมควรใช้แต่ขอบเขตหรือระดับความเข้มงวดของสิทธิและการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยเห็นว่าจะช่วยส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมมากยิ่งขึ้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่สมควรคำนึงถึงพันธกรณีของสหรัฐฯ ที่จะต้องให้ความเคารพต่อมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยปรับปรุงการเข้าถึงยารักษาชีวิตในประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน     

ประเด็นที่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลนั้นเกี่ยวพันกับการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐกับยาที่ติดสิทธิบัตร ซึ่งในรายงานการละเมิดทรัพยสินทางปญญาหรือ Special 301 Report ปี 2550 ท่านได้ปรับลดสถานะประเทศไทยให้อยู่ในบัญชี "ประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ" หรือ Priority Watch List เพียงหลังจากที่ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยา 3 รายการได้ไม่นานนัก ในรายงานได้ระบุถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ พร้อมระบุถึงประเด็นการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวดูเหมือนจะแสดงความวิตกกังวลในทำนองมีความเห็นว่า ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ อย่าง "ขาดความโปร่งใสและชอบธรรม" แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การใช้ภาษาที่คลุมเครือเช่นนี้ ทำให้เกิดการตีความว่า รายงานฉบับดังกล่าวประณามการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ นี้ว่าเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความย่อหย่อนและไม่เคารพในสิทธิบัตรอย่างชัดเจน       

 

ท่านย่อมทราบดีว่า การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ โดยระบุค่า "ตอบแทนการใช้สิทธิอย่างเหมาะสมเพียงพอ" แก่เจ้าของสิทธิบัตรนั้น มีบัญญัติไว้ในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ความตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลก ในปฏิญญาโดฮาปี 2544 ทั้งสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกอีก 142 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะยึดมั่นตามพันธกรณีที่ให้ความเคารพต่อ "สิทธิของประเทศสมาชิกที่จะใช้มาตรการในความตกลงทริปส์ได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์" ซึ่งความตกลงดังกล่าวได้ให้ "ความยืดหยุ่น" แก่ประเทศสมาชิกในการนำมาตรการไปปฏิบัติเพื่อ "ปกป้องการสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนโดยถ้วนหน้า" ทั้งนี้หนึ่งในมาตรการยืดหยุ่นที่สำคัญยิ่งคือการที่ประเทศสมาชิก "มีสิทธิที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และสามารถกำหนดเงื่อนไขหรือสภาวะการณ์ที่จะใช้มาตรการดังกล่าวได้อย่างเสรี"


เราจึงมีความวิตกกังวลที่เห็นรายงานของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เรื่องอุปสรรคการค้าและการลงทุนของประเทศคู่ค้าสำคัญฯ ของสหรัฐฯ (National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers: NTE) ประจำปี 2551 ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้บรรยายลักษณะการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ ของประเทศไทยอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งในรายงานฉบับนี้ระบุว่า "สหรัฐฯ ยอมรับว่าประเทศไทยมีสิทธิในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านสาธารณสุข อันเป็นการปฎิบัติตามพันธกรณีดังระบุในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก" แต่ในความเป็นจริง ความตกลงทริปส์มิได้จำกัดการใช้มาตรการดังกล่าวเฉพาะในกรณีที่เป็น "ปัญหาเร่งด่วน" ในทางตรงข้าม ความตกลงนี้อนุญาตให้ประเทศต่างๆ สามารถกำหนดเงื่อนไขและตัดสินใจใช้มาตรการดังกล่าวได้ตามความจำเป็น เช่นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 

สำหรับรายงาน Special 301 ฉบับต่อไป เราเรียกร้องให้ท่านให้การรับรอง และปฎิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมตกลงในปฏิญญาโดฮา แม้ว่าอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจสุดท้ายในการจัดทำรายงาน 301 ซึ่งเราเรียกร้องให้ท่านพิจารณาความคืบหน้าใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากปัจจัยเหล่านั้นตามความเหมาะสม แต่กระนั้นประเทศต่างๆ ก็ไม่สมควรถูกกล่าวหาจากการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ อันสอดคล้องกับข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ        

สมาชิกสภาคองเกรส

โดยความนับถือ

HENRY A. WAXMAN
สมาชิกสภาคองเกรส

 

THOMAS H. ALLEN
สมาชิกสภาคองเกรส

JOHN LEWIS
สมาชิกสภาคองเกรส

EARL BLUMENAUER
สมาชิกสภาคองเกรส


JIM McDERMOTT
สมาชิกสภาคองเกรส


LLOYD DOGGETT
สมาชิกสภาคองเกรส


JOHN W. OLVER
สมาชิกสภาคองเกรส


MAURICE D. HINCHEY
สมาชิกสภาคองเกรส

JANICE D. SCHAKOWSKY
สมาชิกสภาคองเกรส


CAROLYN B. MALONEY
สมาชิกสภาคองเกรส


TAMMY BALDWIN

สมาชิกสภาคองเกรส


MICHAEL H. MICHAUD
สมาชิกสภาคองเกรส

RAUL M. GRIJALVA
สมาชิกสภาคองเกรส

LOIS CAPPS
สมาชิกสภาคองเกรส

LINDA T. SANCHEZ
สมาชิกสภาคองเกรส

DENNIS J. KUCINICH
สมาชิกสภาคองเกรส

SHEILA JACKSON LEE
สมาชิกสภาคองเกรส

NIKI TSONGAS
สมาชิกสภาคองเกรส

HILDA L. SOLIS
สมาชิกสภาคองเกรส

FORTNEY PETE STARK
สมาชิกสภาคองเกรส

WM. LACY CLAY
สมาชิกสภาคองเกรส

LOUIS SLAUGHTER
สมาชิกสภาคองเกรส

JAMES P. MCGOVERN
สมาชิกสภาคองเกรส

JAMES P. MORAN
สมาชิกสภาคองเกรส

PETER A. DEFAZIO
สมาชิกสภาคองเกรส

BARBARA LEE
สมาชิกสภาคองเกรส

MAXINE WATERS
สมาชิกสภาคองเกรส

 

 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท