สำรวจสถานการณ์ 3 ปี หลังเอฟทีเอ ไทย - จีน คนปลูกกระเทียม (และอื่นๆ) จะไปทางไหน ?

ช่วงก่อนสงกรานต์ มีข่าวเกษตรกรจากหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 800 คน ปักหลักชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัด และมีการขู่จะปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำกระเทียมในราคา 25 บาทต่อก.ก. แก้ปัญหาราคากระเทียมตกต่ำอย่างหนัก หลังจากกระเทียมแห้งอยู่ที่ ก.ก.ละ 9-10 บาท ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรปาเข้าไป ก.ก.ละ 24 บาท เพราะกระเทียมนำเข้าจากจีนเข้ามาตีตลาดด้วยราคาต่ำมาก

นี่เป็นผลลัพธ์รูปธรรมที่เริ่มปะทุขึ้น หลังจากเมื่อปลายปี 2546 ได้มีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอฟทีเออาเซียน-จีน กำหนดให้ลดภาษีเป็น 0% ในส่วนของผัก ผลไม้ ก่อน ตอนนั้นก็มีความกังวลกันมากถึงประเด็นนี้ แต่รัฐบาลในขณะนั้น (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ยืนยันว่า จีนจะเป็นตลาดใหญ่ เป็นโอกาสทองของไทย

 

นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกร ข้อกังวลดังกล่าวได้รับการยืนยันในทางวิชาการ โดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับคณะได้จัดทำงานวิจัยเพื่อศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และเพิ่งนำเสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้

 

งานวิจัยจัดทำรายงานออกเป็น 2 เล่ม เล่มที่ 1 เป็นบทสังเคราะห์ถึงผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน (ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน) และการปรับตัวในระบบธุรกิจผักผลไม้ และเล่มที่ 2 เป็นการศึกษาในรายสินค้าและการศึกษาผู้บริโภค โดยศึกษาเจาะพื้นที่จังหวัด และชุมชน จ. เชียงใหม่ จ.ศรีสะเกษ และกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551

 

หลังการลงนาม พบว่า การส่งออกผักขยายตัว 79% สาเหตุหลักเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างมากของการส่งออก "มันสำปะหลัง" ส่วนการส่งออกผลไม้ขยายตัว 41% เพิ่มขึ้นในผลไม้เมืองร้อนจำพวก ลำไยสด ทุเรียนสด มังคุด

 

ขณะเดียวกัน การนำเข้าผักจากจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น 147% และการนำเข้าผลไม้ขยายตัว 142% โดยสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง ได้แก่ กระเทียม เห็ดแห้ง แครอท และผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และควินซ์ เป็นต้น (ปี 2547)

 

 

 

 

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะในส่วนของกระเทียมซึ่งกำลังเป็นประเด็นขัดแย้ง และเป็นตัวสะท้อนถึงผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด งานวิจัยอ้างข้อมูล ปี 2547 ว่า ประเทศต่างๆ ในโลกสามารถผลิตกระเทียมได้กว่า 14 ล้านตัน โดยประเทศที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ จีน อินเดีย และ เกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนการผลิตอยู่ อันดับที่ 9 ของโลก

 

เมื่อพิจารณาที่ศักยภาพการผลิตในแง่ผลผลิตต่อไร่แล้ว พบว่า จีนมีผลผลิตต่อไร่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก อียิปต์ และอเมริกา โดยจีนมีผลผลิตต่อไร่ในปี 2547 เท่ากับ 2,656 กก./ไร่ ในขณะที่ไทยมีผลผลิตอยู่ที่ 989 กก./ไร่ จะเห็นว่าจีนศักยภาพการผลิตมากกว่าไทยถึง 2.7 เท่า

 

หากพิจารณาตัวเลขต้นทุนการผลิตกระเทียมสดของไทยจะพบว่าต้นทุนกระเทียมไทยอยู่ที่ 5.54 บาท/กก. ขณะที่ของจีนอยู่ที่ 2.05 บาท/กก. หรืออาจต่ำกว่า 2 บาท/กก.

 

สถานการณ์กระเทียมในประเทศไทย

ในอดีตประเทศไทยมีครัวเรือนที่ทำอาชีพปลูกกระเทียมถึงประมาณ 80,000 ครัวเรือน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรถึงปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ในปี 2549 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกระเทียมทั่วประเทศประมาณ 84,178 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกกระเทียมส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

 

นับจากปี 2540-2544 เนื้อที่เพาะปลูกในแต่ละปีไม่แน่นอน แต่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐในการลดพื้นที่ปลูกกระเทียม เพราะมีปริมาณการผลิตล้นตลาด ทำให้เกิดความผันผวนของราคา แต่ตั้งแต่ปี 2545-2549 พื้นที่เพาะปลูกกระเทียมได้ลดลงมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยระบุว่าสอดคล้องกับช่วงเวลาที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปลายปี 2544 และเข้าทำข้อตกลงการค้าไทย-จีน เมื่อ ต.ค. 2546 จะเห็นว่าปี 2547 เป็นปีที่พื้นที่เพาะปลูกลดลงอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรส่วนมาก

ปรับตัวให้แข่งขันด้านราคากับกระเทียมจีนไม่ทัน

 

ดูจากราคาจะพบว่า ราคากระเทียมไทยสดและแห้งคละที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ปรับลดลงในปีแรกที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จากนั้นราคาก็ปรับตัวขึ้นได้ และมีการปรับลดลงอีกครั้งในปี 2547 และ 2548 หลังจากทำ FTA ไทย-จีน ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นอีก อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นลงของราคานี้ทำให้ดูเหมือนว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบในรูปราคาที่ขายไม่มากนัก แต่หากพิจารณาที่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทุกปีก็จะทบทวีผลกระทบที่เกษตรกรได้รับ

 

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ราคากระเทียมไทยเมื่อได้รับผลกระทบแต่ยังคงปรับตัวด้านราคากลับที่เดิมได้ ก็เป็นเพราะกระเทียมไทยยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่เป็นตลาดหลักของกระเทียมไทย แต่สวนทางกับการผลิตในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ก่อให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกินตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาและมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2548 มีอุปสงค์ส่วนเกินถึง 45,589 ตัน ซึ่งอุปสงค์ส่วนเกินนี้ได้รับการตอบสนองจากการนำเข้ากระเทียมจากจีนและการลักลอบนำเข้า จึงส่งผลให้ราคากระเทียมไทยไม่สูงขึ้นเอาเสียเลย

 

งานวิจัยสรุปว่า การนำเข้ากระเทียมในปริมาณที่มาก และราคานำเข้าที่ถูกกว่ากระเทียมของไทย (แม้ว่าจะมีรสชาติและกลิ่นที่ต่างกัน) ย่อมส่งผลกระทบระยะยาวอย่างน้อย 4 ประการ คือ

 

1)                 ทำให้ตลาดหลักของกระเทียมไทยมีขนาดเล็กลง (ตลาดในประเทศ)

เพราะกระเทียมจีนมีรูปลักษณ์ที่น่ารับประทาน มีขนาดหัวและกลีบใหญ่ ดูน่าใช้กว่ากระเทียมไทยมาก ปลอกง่าย ซึ่งส่งผลต่อจิตวิทยาในการซื้อ นอกจากนี้กระเทียมจีนยังตอบสนองกับผู้บริโภคที่ต้องการกระเทียมเพื่อการตกแต่งสวยงาม หรือมีสีสันตอบสนองการใช้ได้ โดยไม่ต้องการลักษณะเฉพาะของกลิ่นและรสจากกระเทียมไทย เช่น โรงงานอาหารแปรรูปบางประเภท

 

2)                 พฤติกรรมการบริโภคกระเทียมเปลี่ยนไป

ผู้บริโภคที่ต้องการลดรายจ่าย เช่น แม่ค้าอาหารตามสั่ง และร้านอาหาร ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย รวมถึงผู้บริโภคที่ทำอาหารกินเองแต่ไม่สนใจกลิ่นและรสของกระเทียมมากนัก ก็จะเลือกใช้กระเทียมจีนซึ่งทดแทนกันได้ นอกจากนี้โรงงานอาหารแปรรูปบางประเภทก็จะลดต้นทุนด้วยการปนกระเทียมจีนกับกระเทียมไทยในสัดส่วนที่ไม่เสียลูกค้า ซึ่งในที่สุดแล้ว จะส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคกระเทียมของผู้บริโภคไทยในอนาคต

 

3)                 ราคากระเทียมจีนจำกัดเพดานราคากระเทียมไทย

ราคากระเทียมนำเข้าที่ถูกและมีปริมาณมาก จะเป็นคู่แข่งด้านราคาของกระเทียมไทย ทำให้เพดานราคาขายกระเทียมที่ระดับต่างๆ มีความจำกัด และราคาไม่มีการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล ในขณะที่ต้นทุนการผลิตกระเทียมของเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ราคาที่ขายได้มีเพดานจำกัด อีกทั้งปริมาณความต้องการบริโภคที่ถูกเบียดแย่งจากกระเทียมจีน ย่อมส่งผลต่อความอยู่รอดของเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมไทย และเกิดการลดการปลูกกระเทียมไทยลงในที่สุด

 

4)                 ความอยู่รอดของเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมไทย

การนำเข้ากระเทียมในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นการนำเข้านอกโควตา ซึ่งต้องเสียภาษีถึงประมาณร้อยละ 57 แต่ปริมาณนำเข้าก็ยังมีมากถึงกว่า 40,000 ตัน แสดงให้เห็นว่าต้นทุนกระเทียมของจีนนั้นถูกกว่าของไทยมาก ซึ่งไทยเองไม่มีมาตรการอื่นใด นอกจากการลดพื้นที่ปลูกกระเทียมลง และในอนาคตเมื่อมีการลดภาษีลงเรื่อยๆ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในทางนิยมบริโภคกระเทียมจีนมากขึ้น อนาคตของกระเทียมไทยค่อนข้างริบหรี่ สุดท้ายเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมไทยคือผู้แบกรับชะตากรรมในเวทีการแข่งขันนี้

 

นโยบายรัฐกับการแก้ปัญหากระเทียม

งานวิจัยระบุว่า ในอดีต มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลมาตรการแทรกแซงราคา หรือ การประกันราคาขั้นต่ำ โดยอนุมัติผ่านมติคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จากกองทุนช่วยเหลือเกษตร ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ต่อมารัฐเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงเป็นเหตุให้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 29 กค.2540 เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรภาคเหนือ ทำให้เกิด "โครงการลดพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่และกระเทียม ปี 2541/2542 - 2543/2544" ขึ้น โดยจังหวัดเชียงใหม่ถูกเลือกเป็นพื้นที่หลักในการดำเนินโครงการ แล้วให้ปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานแทน

 

นอกจากนี้ รัฐประเมินว่ากระเทียมเป็นสินค้าที่ไม่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบและควบคุมปริมาณการนำเข้ากระเทียมภายใต้เงื่อนไขการเปิดเสรีทางการค้าได้ รัฐจึงหันมาควบคุมปริมาณการผลิตกระเทียมในประเทศแทน ภายใต้ "โครงการลดพื้นที่ปลูกกระเทียมปี 2546/2547" โดยครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ อีสาน และกลาง รวม 15 จังหวัด โดยมีเป้าหมายการลดพื้นที่ปลูกจาก 132,000 ไร่ เหลือ 80,000 ไร่ โดยมีผลผลิตเป้าหมายอยู่ที่ 76,000 ตัน ซึ่งประเมินมาจากความต้องการใช้กระเทียมไทยในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป 50,000 ตัน โรงงานกระเทียมดอง 16,000 ตัน และความนิยมในการบริโภค 10,000 ตัน

 

โครงการลดพื้นที่ปลูกกระเทียมปี 2546/47 กำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรเพื่อให้เข้าร่วมโครงการลดพื้นที่ปลูกกระเทียมแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน ตามเงื่อนไขสัญญา แล้วจึงจ่ายค่าชดเชยเกษตรกรตามอัตรา ดังนี้

            -กรณีเปลี่ยนไปปลูกพืชล้มลุก เช่น มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ยาสูบ พืชผักต่างๆ ชดเชยไร่ละ 1,500 บาท

            -กรณีเปลี่ยนไปปลูกพืชถาวร อาทิ ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือไร่นาสวนผสม จะชดเชยไร่ละ 2,000 บาท และเกษตรกรต้องเป็นเจ้าของที่ดิน

 

ปี 2548 เนื่องจากราคากระเทียมตกต่ำอย่างมาก เกษตรกรบางส่วนออกมาชุมชุมเรียกร้องความช่วยเหลือ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จึงมีมติ เมื่อ 27 เม.ย.48 และ 7 มิ.ย.48 รับซื้อกระเทียมที่กิโลกรัมละ 18 บาท โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่จะรับการช่วยเหลือต้องเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชอื่นแทน (ยกเว้นพืช 5 ชนิด คือ หอมแดง หอมหัวใหญ่ ลิ้นจี่ ลำไย และส้ม) เมื่อเกษตรกรทำตามเงื่อนไขสัญญา (ทำบันทึกกับทางจังหวัด) จึงจะจ่ายส่วนต่างอีกกิโลกรัมละ 12 บาท หรือไร่ละ 12,000 บาท ในปีถัดไป

 

นอกจากนี้รัฐยังได้จัดตั้ง "กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ปี 2548" ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หน่วยงานรัฐ รวมทั้งภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี และคาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคตอีกด้วย

 

ในปี 2549 รัฐได้จัดทำ "โครงการปรับโครงสร้างสินค้ากระเทียม" เพื่อรักษาระดับราคาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระเทียมในประเทศ โดยวางเป้าหมายไว้ 2 แนวทางคือ 1) รักษาระดับการผลิตกระเทียมในพื้นที่ที่มีศักยภาพให้อยู่ที่ 85,000 ไร่และเน้นเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ดังกล่าว 2) สร้างทางเลือกใหม่ในพื้นที่ที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ โดยปลูกพืชที่มีศักยภาพทดแทน และให้ ธกส.เป็นผู้ให้สินเชื่อและให้กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ย กระทรวงเกษตรฯ หาปัจจัยการผลิตและรับซื้อผลผลิตในราคาตลาด แต่ไม่ต่ำกว่าราคาประกันขั้นต่ำ ร่วมกับเอกชนที่จะเข้ามาทำสัญญากับเกษตรกร (contract farming) โดยใช้งบประมาณในการปรับโครงสร้างสินค้ากระเทียมทั้งสิ้น 81,793,250 บาท

 

งานวิจัยยังสำรวจข้อมูลจากเกษตรกร พบว่า การชดเชยจากภาครัฐโดยให้ลดพื้นที่ปลูกกระเทียม เพียงไร่ละ 1,500-2,000 บาทนั้นไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังมีการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐแม้กระทั่งค่าชดเชยดังกล่าว กล่าวคือ เกษตรกรบางรายลดพื้นที่ปลูกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย และบางส่วนก็ได้รับไม่ครบจำนวน

 

นอกจากนี้ เกษตรกรยังให้ความเห็นอีกว่า วิธีการแก้ปัญหาของรัฐโดยการใช้เงิน เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดอีกด้วย โดยมติ ครม. เมื่อ 20 ก.ค. 47 ที่อนุมัติงบประมาณวงเงิน 10,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2558 เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรี กองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างเกษตร พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมเห็นว่า ปัญหาของผู้ปลูกกระเทียมไม่ได้อยู่ที่ไม่ได้พัฒนาคุณภาพการผลิต คุณภาพกระเทียมไทยนั้นถือว่าดีกว่าของจีนอยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคไม่ได้มองเรื่องคุณภาพ มองที่ราคาถูกเป็นหลัก ยิ่งไปกว่านั้นการนำเงินมาให้ชาวบ้านยิ่งซ้ำเติมให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากขึ้น การแก้ปัญหาที่ถูกทางคือทำอย่างไรไม่ให้จีนทุ่มตลาดกระเทียมต่างหาก

 

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

สุดท้าย คณะผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายประการด้วยกัน โดยหลักๆ มีดังนี้

 

1.                   ก่อนการทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือการเจรจาอื่นๆ กับต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับต้องปรับความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า ผักผลไม้ไทย รสชาติดี คุณภาพดี แต่ยังด้อยเรื่องต้นทุนและลอจิสติกส์ การจะทำข้อตกลงใดๆ จึงต้องเข้าใจผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบให้ดีก่อนการเจรจา โดยจะต้องทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจผักและผลไม้แบบจำแนกเป็นรายตัวสินค้า มิใช่เพียงการใช้สมการแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค และต้องให้เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆ รับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาในทุกขั้นตอน

 

2.                   การปรับปรุงระบบการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะระบบเยียวยาที่เป็นอยู่ยังมีความจำกัดในหลายประการ โดยเฉพาะเป็นระบบที่ยังไม่สามารถช่วยจัดการหรือลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรได้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีความยืดหยุ่นที่เพียงพอสำหรับเกษตรกรที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น การปรับปรุงระบบและมาตรการเยียวยาเกษตรกรจึงจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างเกษตรกรแต่ละกลุ่ม ต้องไม่จำกัดทางเลือกของเกษตรกร ด้วยการบีบให้อยู่ในวงจรของธุรกิจการเกษตรรายใหญ่โดย

 

3.                   การปรับปรุงระบบมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าอาหารให้มีความเข้มงวด มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้บริโภค

 

4.                   การพัฒนาระบบและศูนย์ข้อมูลการตลาดสำหรับเกษตรกร โดยเน้นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางการตลาดล่วงหน้า ทั้งข้อมูลการผลิต ข้อมูลต้นทุนการผลิต และข้อมูลการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจำเป็นต้องปรับรูปแบบฐานข้อมูลของราชการให้ทันสมัย ทันเวลา และสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ทันที

 

5.                   การพัฒนาช่องทางทางธุรกิจสำหรับเกษตรกร เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสำหรับเกษตรกร ทั้งโดยการรวมกลุ่มกันดำเนินธุรกิจในรูปแบบของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อลดต้นทุนทางการตลาด และเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง การพัฒนารูปแบบของสินค้า

 

6.                   การลดอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆ

เช่น พัฒนามาตรฐานคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารสำหรับการส่งออก, ระบบลอจิสติกส์ไทยต้องมีประสิทธิภาพดีขึ้น, การแก้ปัญหาการนำเข้าและการจำหน่ายสินค้าในประเทศจีน โดยเฉพาะปัญหาใบอนุญาตการนำเข้า และระบบการฝากขายสินค้าผักและผลไม้ในจีน, การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดและช่องทางการตลาดในมณฑลต่างๆ ของประเทศจีน เพื่อให้สอดคล้องกับริบททางวัฒนธรรม และข้อกำหนดทางกฎหมายที่แตกต่างกันในประเทศจีน เพื่อขยายตลาดให้ทั่วถึงมากขึ้น และลดปัญหาการขาดอำนาจต่อรองทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยไปด้วยในตัว

 

7.                   การรณรงค์เรื่องคุณค่าและคุณประโยชน์ของผักและผลไม้ไทย และการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อรักษาและขยายตลาดภายในประเทศ (Home market)

 

 

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบหน้าแรก จาก http://www.sciencenews.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท