Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants: ANM) และ เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network: MMN) ตระหนักถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวมีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าเสียชีวิต 54 ราย เป็นหญิง 37 ราย และชาย 17 ราย ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กหญิงและเด็กชายรวมอยู่ด้วย สาเหตุที่ทำให้แรงงานเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทางของแรงงานโดยรถบรรทุกไปทำงานยังจังหวัดภูเก็ต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้รอดชีวิต 67 คน


 


โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อต่างประเทศและในประเทศ อาทิ South China Morning Post ซึ่งพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งประจำฉบับวันที่ 11 เมษายน 2551 เนื้อหาข่าวนำเสนอว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติกว่าล้านคนอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะได้เข้ามาทดแทนในงานที่แรงงานไทยปฏิเสธที่จะไม่ทำ เพราะค่าจ้างต่ำและภาวะการทำงานที่ย่ำแย่รวมถึงกฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง


 


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อถกเถียงต่างๆ สิ่งที่เป็นโศกนาฏกรรมยิ่งกว่า คือ ประเด็นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติกลับถูกนำเสนอผ่านมุมมองของ "ความมั่นคง" โดยละเลยที่จะกล่าวถึงคุณูปการของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อประเทศ และสาเหตุที่แท้จริงการของเสียชีวิตของแรงงาน


 


ตามที่สำนักข่าว South China Morning Post ได้นำเสนอต่อไปว่าโศกนาฏกรรมดังกล่าวถูกเบี่ยงเบนเป็นประเด็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่การพุ่งเป้าไปยังนายหน้าและกระบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการหลบหนี้ชะตากรรมที่โหดร้ายภายในพม่ามายังประเทศไทย อย่างไรก็ตามแรงงาน ผู้พลัดถิ่น โดยเฉพาะจากพม่าจำเป็นต้องอพยพมายังประเทศไทยเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศและการที่รัฐบาลเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


ในปัจจุบัน ถึงแม้ประเทศไทยจะพยายามจัดให้มีช่องทางการย้ายถิ่นที่ถูกกฎหมาย แต่กระบวนการดังกล่าวข้อจำกัดที่มิอาจปฏิบัติได้จริง ดังจะพบได้จากการลงนามในข้อตกลงระหว่างไทยและพม่าในการส่งแรงงานจากพม่าเพื่อทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายกลับไม่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติเพราะรัฐบาลทหารพม่าบ่ายเบี่ยงในการพิสูจน์สัญชาติประชาชนของตน  ทั้งนี้ความพยายามของประเทศไทยในการปฏิบัติตามขั้นตอนบันทึกข้อตกลงจะไม่ประสบความสำเร็จหากประเทศคู่สัญญาอย่างพม่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงการด้านปกครองและสิทธิมนุษยชน


 


เช่นเดียวกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมที่ไทยลงนามกับลาวและกัมพูชา ซึ่งแรงงานที่ดำเนินการผ่านกระบวนการดังกล่าวต้องพบกับความล่าช้าของระบบราชการและปัญหาที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในทุกขั้นตอน ในขณะที่ช่องทางการเปิดให้ผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยนั้นสามารถจดทะเบียนแรงงานในประเทศไทยได้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นนโยบายที่ก้าวหน้า แต่กลับขาดความยืดหยุ่นเนื่องจากแรงงานไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่จดทะเบียนได้ หรือการเปลี่ยนนายจ้างที่มีขั้นตอนยุ่งยาก การจำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนย้าย ไม่มีการออกเอกสารให้แรงงานเดินทางได้ชั่วคราวในเวลาที่จำเป็น รวมถึงประกาศจังหวัดที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ข้อจำกัดดังกล่าวนั้นมีผลต่ออิสระในการเดินทางและโยกย้ายถิ่น ซึ่งกลายเป็นช่องทางให้มีผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการช่วยเหลือแรงงานให้สามารถเดินทาง ยิ่งทำให้แรงงานต้องพึ่งพาช่องทางนอกระบบมากขึ้น


 


ดังนั้น เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) และ เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขง เสนอให้รัฐบาลประเทศไทยแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวบนฐานของการแก้ปัญหาจากสาเหตุที่แท้จริงคำนึงถึง สิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน มิใช่มุ่งพิจารณาแต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงของรัฐที่ดูดีในการประกาศแต่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้ใครได้เลย ในงานศึกษาของเครือข่ายผู้ย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขงได้พบว่าข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับส่งเสริมขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นำไปสู่ชะตากรรมที่โหดร้ายดังปรากฏตามภาพข่าวในกรณีที่แรงงานข้ามชาติต้องเสียชีวิตที่จังหวัดระนองระหว่างการเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต


 


เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ และ เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีที่รัฐไทยจะรับฟังข้อเสนอที่นำไปสู่การกำหนดมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการตระหนักในสิทธิการเคลื่อนย้ายของแรงงาน การเข้าถึงการจดทะเบียนแรงงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานมีศักยภาพในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองมากขึ้น


 


ท้ายนี้ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ และ เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับต่อข้อเสนอดังต่อไปนี้


 


1. แรงงานข้ามชาติรวมถึงครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมจังหวัดภูเก็ตควรได้รับการรักษาพยาบาลทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม และได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่นตามพระราชบัญญัติค่าชดเชยความเสียหายจากคดีอาญา


 


2. รัฐบาลควรปรับปรุงระบบการจดทะเบียนแรงงานที่เปิดให้มีการจดทะเบียนตลอดปี รวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่จดทะเบียนโดยเฉพาะพื้นที่แถบชายแดน นอกจากนั้นแรงงานควรได้รับใบอนุญาตทำงานทันทีที่จดทะเบียน และควรมีการออกเอกสารการเดินทางชั่วคราวที่แรงงานสามารถเดินทางเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งนายหน้าหรือผู้นำพา ควรมีกลไกในการคุ้มครองแรงงานและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม


 


3. รัฐบาลควรหยุดการทำให้แรงงานเป็นเสมือนหนึ่งอาชญากร และยุติการอ้างถึงความมั่นคงของชาติและละเลยการแก้ปัญหาที่แท้จริงของการย้ายถิ่น รวมถึงรับฟังและร่วมทำงานกับแรงานข้ามชาติและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคนในราชอาณาจักรไทย


 


 


แถลงการณ์ฉบับนี้ลงนามโดย:


 


1. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants: ANM)


 


2. เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network: MMN)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net