ยื่นถวายฏีกา ค้าน พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นองคมนตรี

18 เม.ย. 2551 เมื่อเวลา 11.00 น. นายภูมิวัฒน์ นุกิจ และคณะรวม 5 คน ยื่นถวายฏีกาที่สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ถึง ฯพณฯ อาสา สารสิน ราชเลขาธิการ เรื่องขอให้ทรงรับฟังและพิจารณาถึงความเหมาะสมของการแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นองคมนตรี สืบเนื่องจากได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มเติมอีก 3 คน ดังนี้


1.  ให้ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์  เป็นองคมนตรี
(พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุ ๖๕ ปี ข้าราชการบำเหน็จบำนาญ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เคยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อปี
2546 และพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี หลังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 อันมาจากการสรรหาและนำเสนอ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) )


2. ให้ นายศุภชัย  ภู่งาม  เป็นองคมนตรี
(นายศุภชัย ภู่งาม อายุ 63 ปี ข้าราชการบำเหน็จบำนาญ อดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 ประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสศาลแรงงานกลาง)

3.  ให้นายชาญชัย   ลิขิตจิตถะ เป็นองคมนตรี

(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ อายุ 62 ปี ข้าราชการบำเหน็จบำนาญ อดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ประธานศาลฎีกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์)

 

ทั้งนี้ ประกาศมีผลนับตั้งแต่ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551  มีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ข้าราชการบำเหน็จบำนาญ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มเติม

 

ด้านนายภูมิวัฒน์ นุกิจ กล่าวแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ทางกฏหมายการแต่งตั้งหรือให้ปลดองคมนตรี เป็นเรื่องของพระราชอัธยาศัยขององค์พระมหากษัตริย์ ที่จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นผ่านตัวบทกฎหมายที่กำหนดพระราชอำนาจเอาไว้ให้ แต่ที่ต้องยื่นถวายฏีกานั้นเพราะเห็นว่าไม่สมควรที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะมาดำรงตำแหน่งองคมนตรี

 

เหตุผลประการแรก พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร ของ คปค.หรือ คมช. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายพัฒนาการและระบอบประชาธิปไตยลงไป และได้ขัดต่อหลักมติมหาชน เพราะไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน

 

ประการที่สอง พล.อ.สุรยุทธ์  มีคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฏีกาหรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์  ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งให้แก่คณะองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งเห็นว่า พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ประเด็นสำคัญคือ พระราชกฤษฎีกานี้ขัดแย้งกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่พล.อ.สุรยุทธ์เคยประกาศให้เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ

 

ประการที่สาม เรื่องการถือครองที่ดินเขายายเที่ยงซึ่งอยู่ติดขอบเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และนอกจากนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ ยังถูกตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีการถือครองบ้านพักเขายายเที่ยงด้วย จึงยังอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง

 

"ประเด็นสำคัญคือ ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือรัฐบุรุษ ได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งจากภาษีของประชาชน ในฐานะเป็นประชาชนชาวไทย ตามกฏหมายซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วยนั้น จึงขอใช้สิทธิดังกล่าวยื่นฎีกาให้พระองค์ท่านได้รับฟังพิจารณาข้อความจริงที่เบิกความตามเอกสาร และขอเรียกร้องไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยให้ช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้" นายภูมิวัฒน์ กล่าว

 

ด้านนางสิยากร พูนพนิช หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย สำนักราชเลขาธิการ ได้ออกมาพบและกล่าวว่า  ในส่วนเอกสารดูแล้วนั้นอาจไม่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ อย่างไรก็ตาม จะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาให้ได้รับทราบในรายละเอียดดังกล่าว

 

หลังจากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ เป็นหนังสือรับเรื่อง ลงวันที่ 18 เมษายน 2551 ถึง ราชเลขาธิการ เวลา 11.50  น. ผู้รับเรื่อง นส.กัญฐิกาพร ก๊กเหลี่ยม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท