Skip to main content
sharethis



เหตุการณ์หลากหลายมากมายเกิดขึ้นในแต่ละวัน ทั้งเหตุการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้อง สาธารณชน และสื่อมวลชนเห็นว่าควรเป็นข่าวและเหตุการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้อง สาธารณชน และสื่อมวลชนเห็นว่าไม่ควรเป็นข่าวด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป


 


เหตุการณ์ล่าสุดที่น่าถกเถียงในเรื่อง "ควร" หรือ "ไม่ควร" เป็นข่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา คือ กรณีที่เจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจปทุมวันเรียกนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และนางสาวชุติมา เพ็ญภาค ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามที่ถูกนายนวมินทร์ วิทยกุล ฟ้องดำเนินคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ เนื่องจากทั้งสองไม่ลุกขึ้นยืนในโรงภาพยนต์ขณะที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี  คดีนี้เป็นคดีที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิด* (อ่านรายละเอียด)


 


แต่สื่อไทยจำนวนมากกลับไม่นำเสนอข่าวนี้  มีเพียงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post)  หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์  และเว็บไซต์ข่าวประชาไทที่รายงานข่าวดังกล่าว


 


ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation) ไปทำข่าวและเขียนรายงานข่าวนี้ส่งให้กองบรรณาธิการ แต่รายงานชิ้นดังกล่าวไม่ได้ถูกนำเสนอทั้งในหนังสือพิมพ์และบนเว็บไซต์ของ The Nation เมื่อสอบถามผู้บริหารข่าวถึงเหตุผลที่ไม่ตีพิมพ์รายงานข่าวชิ้นนี้* (อ่านรายงานข่าว)  เขาได้รับคำตอบว่า "มีปัญหาสุ่มเสี่ยงนิดหนึ่ง"


 


ขณะที่คำนูณ สิทธิสมาน ผู้ร่วมดำเนินรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ของเครือผู้จัดการให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่ากรณีนี้ "เป็นประเด็นที่ล่อแหลม คิดอยู่นานพอสมควรว่าจะต้องมาเล่าให้ผู้ฟังดีหรือไม่"


 


"เรื่องนี้ไม่ปรากฎเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และในวิทยุ โทรทัศน์มากนัก เพราะว่า ผมเชื่อว่าคงจะระมัดระวังกันพอสมควร..."


 


ประเด็นที่เป็นข้อกังวลของผู้บริหารข่าว The Nation และผู้ดำเนินรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" รวมถึงกองบรรณาธิการสื่อต่างๆที่เลือกให้เหตุการณ์นี้ "ไม่เป็นข่าว" อาจจะไม่เกิดขึ้น หากมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา  และสื่อมวลชนไทยตระหนักถึงบทบาทและพันธกรณีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 47 ประเทศแรกที่ร่วมลงนามรับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491


 


มาตรา 112 เขียนไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"


 


จากบทบัญญัติดังกล่าว ไม่มีข้อความตรงไหนเลยที่ทำให้เข้าใจไปได้ว่า การทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยการรายงานข่าวกรณีบุคคลถูกฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นประเด็นที่ "สุ่มเสี่ยง" หรือ "ล่อแหลม"


 


ในทางตรงข้าม การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนโดยเลือกที่จะไม่รายงานข่าวนี้ไม่ได้เป็นแค่การปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน  แต่ยังเป็นการละเมิดพันธกรณีสากลตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนี้


 


"บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับ ตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน"


 


บทบัญญัติข้อ 19 นี้ถูกอ้างถึงทุกครั้งที่มีการรณรงค์เสรีภาพสื่อในระดับสากล


 


สื่อมวลชนไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันวิชาชีพสื่อมวลชนไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อน ผลักดัน ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพร้อมๆ ไปกับเพื่อนสื่อมวลชนในภูมิภาคและในประชาคมโลก


 


ในประเทศไทย คำขวัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อมีการรณรงค์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ คือ


 


เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน


 


แต่เมื่อสื่อลุกขึ้นมาปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของตัวเองเหมือนครั้งนี้ จึงหมายความว่าเสรีภาพของประชาชนได้ถูกปิดกั้นไปด้วย


 


เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชนทุกชนชั้น


ทั้งไพร่ และเจ้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net