Skip to main content
sharethis


ตามที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอดส์ สมัยที่ 22 (22nd Meeting of UNAIDS Programme Coordinating Board :PCB) ในระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2551 ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ตัวแทนผู้ติดเชื้อ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ และนักวิชาการจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 400 คน เข้าร่วมประชุม นั้น


ล่าสุด เมื่อเวลา 12.30 น. (23 เม.ย.) ตัวแทนกลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มรณรงค์ด้านสุขภาพจาก เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีภาคเหนือตอนบน ร่วมกับกลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ และ Health Gap global access project ราว 200 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าโรงแรม เพื่อยื่นข้อเสนอต่อยูเอ็นเอดส์ ให้เพิ่มความสำคัญต่อนโยบายรองรับการดูแลสุขภาพประเด็นเอชไอวี/เอดส์ ให้กับกลุ่มคนเข้าถึงยาก เช่น กลุ่มชาติพันธ์ แรงงานข้ามชาติ ชายรักชาย พนักงานบริการ ผู้ต้องขัง และคนงานพลัดถิ่น เพื่อให้เข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ และคัดค้านการประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลไทย


 


โดยในการชุมนุม ได้มีการนำเครื่องขยายเสียง ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวโจมตีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทยว่า การประกาศสงครามยาเสพติดของรัฐบาลไทยเป็นสิ่งที่ผิดพลาด และได้บั่นทอนการแก้ปัญหาระดับชาติด้านเอดส์และละเมิดสิทธิ


 


ซึ่งความพยายามกำจัดยาเสพติดเมื่อปี 2546 ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้ส่งผลให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าตัดตอน การขึ้นบัญชีดำผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เสพและผู้ค้า การบังคับบำบัดตามค่ายทหาร และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 ราย ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า 1,400 รายของผู้เสียชีวิตดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และรัฐบาลไม่สามารถระบุตัวหรือลงโทษผู้กระทำผิดต่ออาชญากรรมเหล่านี้เลย ทั้ง ๆ ที่การปราบปรามครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของบุคคลและครอบครัว ความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต


 


นายเกรียงไกร เอี่ยมประเสริฐ เจ้าหน้าที่ภาคสนามบ้านมิตรสัมพันธ์ ศูนย์ลดอันตรายกรุงเทพฯ กล่าวว่า สงครามปราบปรามยาเสพติดได้ส่งผลลบอย่างมาก ต่อความพยายามแก้ปัญหาเอดส์ในไทย และไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้ยาในสังคมไทยได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไทยควรยุติสงครามปราบปรามยาเสพติดและส่งเสริมการแก้ปัญหาการใช้ยาโดยใช้หลักฐานและเหตุผล และการเคารพสิทธิมนุษยชน


 


ด้านนางแครีน คาแพลน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและการพัฒนา กลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ กล่าวว่า สงครามปราบปรามยาเสพติดในปี 2546 เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติของรัฐบาลไทย และเป็นเรื่องอื้อฉาวอย่างมาก


 


"และเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลไทยจะนำนโยบายซึ่งสร้างความเสียหายเช่นนั้นกลับมาใช้อีก เพราะจะเห็นว่า นอกจากทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางแล้ว สงครามปราบปรามยาเสพติดในปี 2546 ยังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงบริการที่จำเป็นของผู้ใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเชื้อเอชไอวี ข้อมูลเพื่อการป้องกัน การรับคำปรึกษา และการเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้ใช้ยาถูกกดดันให้หลบซ่อนตัว"


 


นายอนันต์ มูลเมืองไชย ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า เรามาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า รัฐบาลไทยได้มีการประกาศนโยบายการปราบปรามยาเสพติด โดยมีการอ้างเรื่องยาเสพติด เรื่องความมั่นคง แต่ไม่ได้มีการคำนึงผลกระทบต่อประชาชนอีกหลายกลุ่มว่าถูกละเมิดสิทธิและได้รับผลกระทบต่อนโยบายดังกล่าว


 


"ดังนั้น รัฐบาลไทยควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ เพราะนโยบายเช่นนี้จะกระทบต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อและกลุ่มผู้ใช้ยาที่จำเป็นต้องใช้ยาในการบำบัด รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ พนักงานบริการที่ต้องตกกลายเป็นเหยื่อ หรือถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลจะต้องปรับนโยบายและหาทางแก้ไขให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่เหมารวมเช่นนี้"


 


มีรายงานว่า นอกจากจะมีการชุมนุมคัดค้านสงครามปราบปรามยาเสพติดในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการบริหารของยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS PCB Meeting) ที่เชียงใหม่ในครั้งนี้แล้ว ยังมีนักกิจกรรมด้านเอดส์ ยังได้รวมตัวกันชุมนุมที่หน้าสถานทูตไทยที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเวลาเดียวกันด้วย


และในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก็จะมีการจัดการรณรงค์อีกครั้งในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการเน้นถึงบทบาทของยูเอ็นเอดส์ที่สามารถส่งเสริมให้มีบริการป้องกันและรักษาโดยเฉพาะเพื่อช่วยชีวิตคนงานพลัดถิ่นและผู้พลัดถิ่นซึ่งไม่มีบัตร รวมทั้งผู้ใช้ยาได้ หากไม่มีบริการเฉพาะเช่นนี้ เป้าหมายการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้





ทั้งนี้ ผู้ชุมชุมได้ยื่นข้อเรียกร้องแก่ นายปีเตอร์ พีออด ผู้อำนวยการโรคเอดส์แห่งประชาชาติ ดังนี้


 


1.ให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของนโยบายและโครงการด้านเอชไอวีและยาเสพติด


 


 


2.ยุติสงครามปราบปรามยาเสพติด เพราะการใช้วิธีปราบปรามและบังคับเพื่อควบคุมและป้องกันการใช้ยาไม่ได้ผล และที่ผ่านมาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้


 


3.ให้ความสำคัญกับนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือและใช้วิธีการทางสาธารณสุข เพือแก้ปัญหายาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีบทบาทนำโดยทันที


 


4.หน่วยงานนานาชาติควรให้ความสนับสนุนและแสดงจุดยืนร่วมต่อการส่งเสริมการลดอันตราย องค์การสหประชาชาติต้องส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนงบประมาณแก่รัฐบาลไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมนโยบายลดอันตราย และให้การสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาการระบาดของเอชไอวีในบรรดากลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้โดยใช้วิธีการที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมีข้อมูลสนับสนุน


 


5.เคารพสิทธิมนุษชนและสิทธิพลเรือน นายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ต้องยุติการก่ออาชญากรรมในนามการปราบปรามยาเสพติด รัฐบาลต้องปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาแผนการที่ตอบสนองทั้งเป้าหมายด้านความปลอดภัยของสาธารณะกับด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องได้รับการอบรมเพื่อให้สามารถช่วยลดตราบาป และมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับนโยบายและแนวคิดด้านสาธารณสุขและการลดอันตราย


 


6.ส่งเสริมให้บุคคลทุกคนในไทยเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม เป้าหมายการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมไม่อาจเป็นจริงได้ หากปราศจากการดำเนินงานตามนโยบายลดอันตรายที่มีข้อมูลสนับสนุน นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีบริการเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มักถูกปิดกั้นโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยา ชนกลุ่มน้อย ผู้ขายบริการทางเพศ ผู้ต้องขัง และคนงานพลัดถิ่น


 


 







 


ข้อเสนอต่อ PCBจากการประชุมหารือในกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วม               ในการประชุมบอร์ดบริหารโครงการของยูเอ็นเอดส์


 


นโยบาย


1. ผลักดันให้มีนโยบายลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction) ในระดับประเทศในทุกระดับประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา


2. ผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมาย ที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา รวมให้ความรู้และความเข้าใจประเด็น HIV/AIDS ต่อผู้กำหนดนโยบาย


3. ผลักดันให้รัฐบาลทุกประเทศระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเด็นต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยงานไม่ทับซ้อนและมีนโยบายในการทำงานที่เชื่อมประสานกัน


การเข้าถึงการรักษา


1. ผลักดันรัฐบาลให้กำหนดมาตรการในการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมและจัดให้มีการบริการที่เป็นมิตรโดยเน้นถึงการเข้าถึงการรักษา การบริการ การป้องกัน การดูแล สำหรับกลุ่มคนที่ถูกละเลย (เช่น กลุ่มผู้ใช้ยา กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มพนักงานบริการ)


2. UNADIS จะต้องผลักดันให้มีแผนงานที่จะแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางต่อ เอชไอวี/เอดส์ ยาเสพติด ที่เป็นรูปธรรม เช่น การสันบสนุนการดำเนินงานลดอันตราย (Harm Reduction) การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) และ การสนับสนุนทางด้านวิชาการที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา


การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม


1.ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในทุกมิติและทุกระดับ


· การกำหนดนโยบายและกฎหมาย


· การกำหนดมาตรการเรื่องการรักษาพยาบาล


· การกำหนดวิธีการใช้เงินจากแหล่งทุน และงบประมาณภาครัฐ อย่างพอเพียงและต่อเนื่อง


· การพัฒนาศักยภาพชุมชน


2. ผลักดันให้มีคณะทำงานในเรื่องการลดอันตราย และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในกลุ่มที่ถูกละเลย เช่น


· กลุ่มเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี


·  กลุ่มผู้ใช้ยา


·  กลุ่มผู้ต้องขัง


·  กลุ่มชาติพันธุ์


·  กลุ่มความหลากหลายทางเพศ


·  กลุ่มพนักงานบริการ  


สิทธิมนุษยชน


1.นโยบายของภาครัฐต้องคำนึกถึงสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (เช่น สิทธิทางเพศ สิทธิการเข้าถึงการรักษา สิทธิในการมีที่อยู่อาศัย)


2.ผลักดันให้มีมาตรการในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน เพื่อลดการเลือกปฏิบัติและการตีตราในกลุ่มคนที่มีความแตกต่าง เช่น การรับสมัครงานไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net