Skip to main content
sharethis


กลุ่มสนับสนุนทิเบต ในการประท้วงคบเพลิงที่ออสเตรเลีย (จาก Reuters)


 


ก่อนการประท้วงในแคนเบอร์ร่า เสียงจากนักร้องและนักกีฬา


ในวันที่ 23 เม.ย.กลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตได้พากันฉายป้ายไฟไปบนสะพานซิดนี่ย์ฮาร์เบอร์ว่า "อย่าจุดคบเพลิงเผาทิเบต" (Don"t Torch Tibet) และ "ขอให้จีนเจรจากับดาไล ลามะ" (China, talk to the Dalai Lama) ในขณะที่คบเพลิงโอลิมปิกกำลังเดินทางมาถึงออสเตรเลียภายใต้การรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา


 


กลุ่มชาวทิเบตที่กำลังทำการอดอาหารประท้วงได้พากันเดินขบวนเป็นระยะทาง 70 กิโลเมตรมาจนถึงเมืองแคนเบอร์ร่า เพื่อทำการประท้วงคบเพลิง โดยทางกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการประท้วงอย่างสงบขณะที่มีการวิ่งคบเพลิงในวันที่ 24 ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนักศึกษาชาวจีนกว่าหนึ่งพันคนจะชุมนุมแสดงการสนับสนุนจีนด้วย


 


เคลวิน กอสเปอร์ โฆษกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้ความเห็นว่า "พวกเราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย ถ้าหากประชาชนอยากจะประท้วง ก็มีสิทธิที่จะทำได้ ตราบใดที่มันดำเนินไปด้วยความสงบสุข"


 


นักวิ่งคบเพลิงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย (อะบอริจิน) ชื่อ บันจา สมิท ให้ความเห็นว่า ชาวอะบิริจินเองก็เคยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านการถูกกดขี่เขาจึงเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการประท้วง แต่อย่างไรก็ตาม บันจา สมิทธิ์ก็ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงโดยใช้ความรุนแรง "ผมเชื่อในสิทธิมนุษยชน ... (แต่) คุณไม่สามารถมอบสิทธิมนุษยชนให้ใครได้โดยการที่ไปฉกชิงสิทธิมนุษยชนจากผู้อื่นมาหรอก"


 


"พวกเราเป็นคนที่ถูกกดขี่ แต่พวกเราก็ร้องขอให้ผู้ชุมนุมดำเนินการประท้วงอย่างสันติและไม่กลายเป็นความรุนแรง" บันจาให้ความเห็นต่อด้วยว่า "ยังไงมันก็เป็นสิทธิของประชาชนชาวจีนในการที่พวกเขาจะมีโอลิมปิก นี่เป็นวิธีการมองแบบของเรา มองว่าเป็นเรื่องจิตวิญญาณของการกีฬา"


 


ก่อนการวิ่งคบเพลิงเริ่มต้นขึ้นได้มีผู้ประท้วงสนับสนุนทิเบตจำนวนหนึ่งพยายามจะบล็อกนักวิ่งเอาไว้จนทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตและกลุ่มผู้สนับสนุนจีนโดยกลุ่มหลังได้รวมถึงชาวจีนออสเตรเลียกับนักศึกษาจีนในออสเตรเลียด้วย


 


หญิงผู้สนับสนุนทิเบตสองคนเข้าไปพุ่งเข้าหารถขนคบเพลิงซึ่งกำลังแล่นอยู่ใกล้ๆ กับรัฐสภา ก่อนจะถูกตำรวจดึงตัวออกมา มีคนหนึ่งตะโกนว่า "พวกเขากำลังทรมานประเทศเรา" มีชายอีกคนนั่งขวางถนนกันรถขนคบเพลิงไว้ เขาตะโกนว่า "หยุดการเข่นฆ่าในทิเบตได้แล้ว" จากนั้นจึงถูกตำรวจดึงตัวออกไปอย่างรวดเร็ว


 


ในเวลาเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับคำสั่งให้คุ้มกันผู้ประท้วงชาวทิเบตฝ่าออกไปจากคลื่นฝูงชนชาวจีนซึ่งกำลังตะโกนด่าว่า "โกหก โกหก โกหก" ชาวทิเบตที่ชื่อ เทนซิน ดาร์จี (Tenzin Dhargy) เผยว่า "พวกเราหวาดกลัวเล็กน้อย แต่เราก็ยังหวังว่าเสียงของเราจะสามารถดังไปถึงปักกิ่งได้"


 


ในขบวนผู้ประท้วงสนับสนุนทิเบตนี้มีนักร้องชาวแคนาดา เค.ดี. แลง ร่วมอยู่ด้วย เธอเป็นชาวพุทธที่ยอมผละจากการทัวร์คอนเสิร์ตที่ออสเตรเลียและเดินทางมายังเมืองแคนเบอร์ร่าเพื่อประท้วงคบเพลิง โดยเธอได้บอกว่า "ทิเบตเป็นเหมือนมรดกของโลก เป็นสิ่งที่พวกเราอยากจะปกป้อง เป็นสื่งที่เสริมแต่งให้ทั่วทั้งจักรวาลงดงาม"


 



กลุ่มนักศึกษาชาวจีนในออสเตรเลีย ออกมาชุมนุมสนับสนุนจีน (จาก Reuters)


 


ชาวจีนปะทะผู้หนุนทิเบตในแคนเบอร์ร่า


วันที่ 24 เม.ย.ในกรุงแคนเบอร์ร่าประเทศออสเตรเลียได้มีชาวจีนในออสเตรเลียเกือบหนึ่งหมื่นคนออกมาประท้วง เพื่อตอบโต้การประท้วงคบเพลิงโอลิมปิกโดยกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบต ทำให้ท้องถนนเนืองไปด้วยธงชาติจีนสีแดงและกลืนกลุ่มผู้ประท้วงโปรทิเบตไปจนหมด


 


จากการที่มีผู้ประท้วงต่อต้านจีนออกมาชุมนุมในสถานที่จัดวิ่งคบเพลิงครั้งหลังสุดนั้น ได้จุดชนวนให้เกิดกระแสรักชาติกับประชาชนจีนทั้งในและนอกประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 24 เม.ย.ชาวจีนเกือบหมื่นคนในออสเตรเลียได้ออกมาชุมนุมและพากันเปล่งเสียงออกมาว่า "จีนเป็นหนึ่งเดียว" ทั้งตอนเริ่มและตอนจบพีธีการวิ่งคบเพลิงในแคนเบอร์ร่าเมืองหลวงของออสเตรเลีย


 


ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุมไว้เจ็ดคน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการประท้วงเป็นไปด้วยความสงบสุข เวลลิงตัน ลี จากสมาคมชาวจีนแห่งรัฐวิกตอเรีย เผยว่า "นี่เป็นวันที่วิเศษมากสำหรับพวกเราในการที่จะแสดงให้เห็นว่าการประท้วงในออสเตรเลียเป็นไปอย่างสงบ จากที่ได้เห็นการประท้วงในประเทศอื่นแล้ว ผมรู้สึกละอายเมื่อพบว่าพวกเขาปฏิบัติตัวอย่างนั้น"


 


ชาวจีนที่มาชุมนุมพากันยืนเรียงแถวยาว 16 กิโลเมตรไปตลอดเส้นทางการวิ่งคบเพลิง รถกว่าร้อยคันติดธงชาติจีนออกวิ่งไปรอยบกรุงแคนเบอร์ร่า บ็อบ บราวน์ ผู้สนับสนุนการอิสรภาพในทิเบตและวุฒิสมาชิกจากพรรคสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียออกมาบอกว่า "ส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ชาวออสเตรเลียรู้สึกไม่สะดวกใจเล็กน้อยกับการได้พบว่า ชาวจีนคอมมิวนิสต์มาที่เมืองนี้ และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ได้"


 


จีน-ฝรั่งเศส เข้าพบปะเพื่อคลายความสัมพันธ์ตึงเครียด


วันที่ 24 เม.ย. ประธานาธิบดีหูจินเทา ของจีน ได้เข้าพบกับวุฒิสมาชิกฝรั่งเศสคริสเตียน ปอนเซเลส พูดถึงการประท้วงคบเพลิงของกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตในกรุงปารีสที่บานปลายจนเกิดความวุ่นวายเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา


 


หูจินเทา กล่าวกับปอนเซเลสว่า "ช่วงที่ผ่านมามีอะไรหลายอย่างซึ่งไม่เป็นมิตรกับประชาชนชาวจีนเกิดขึ้นในปารีส โดยเฉพาะตอนที่คบเพลิงโอลิมปิกไปถึงปารีส การวิ่งคบเพลิงถูกก่อกวนและโจมตี สิ่งนี้ได้ทำร้ายความรู้สึกของประชาชนชาวจีน และเป็นสิ่งที่พวกเราไม่อยากเห็นมันเกิดขึ้นเลย พวกเราหวังว่าทางฝ่ายฝรั่งเศสจะทำงานร่วมกับจีนในการที่จะกอบกู้ผลกระทบจากการก่อกวนเหล่านั้น"


 


ในช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้จีนเกิดความรู้สึกไม่พอใจฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอคติของสื่อตะวันตกในการรายงานข่าวเหตุรุนแรงที่ลาซา เรื่องที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลา ซาร์โกซี่ ขู่ว่าจะไม่เข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก การที่สภาเมืองปารีสตัดสินใจยกย่องให้ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตเป็นพลเมืองเกียร์ติยศ รวมถึงเรื่องที่มีการประท้วงคบเพลิงในกรุงปารีสด้วย


 


ทางการปักกิ่งได้เน้นย้ำถึงความไม่พอใจของประชาชนชาวจีนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตึงเครียด โดยยกเอาเหตุการณ์ประท้วงหน้าคาร์ฟูร์ห้างค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศสที่มีสาขาในประเทศจีนมาเป็นตัวชี้วัด


 


ในช่วงที่มีการพบปะเจรจากันในกรุงปักกิ่ง ปอนเซเลสได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ประท้วงการวิ่งคบเพลิงจนเกิดความวุ่นวายในปารีส โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 21 เม.ย.ปอนเซเลส ได้นำข้อความจากประธานนาธิบดีซาร์โคซี่มามอบให้กับนักกีฬาจีนบนรถเข็นที่ถูกจู่โจมโดยผู้ประท้วงสนับสนุนทิเบตในการประท้วงคบเพลิงที่กรุงปารีส โดยข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงความเสียใจในเหตุประท้วงที่เกิดขึ้น


 


ขณะเดียวกันประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังได้อาศัย ฌอง-ปิแอร์ รัฟฟาริน อดีตนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฝรั่งเศส ซึ่งเวินเจียเปา นายกรัฐมนตรีจีนก็ได้ให้การต้อนรับและแสดงไมตรีตอบเป็นอย่างดี


 


ก่อนหน้านี้ จากการสัมภาษณ์ของสื่อจีน รัฟฟาริน ได้เคยวิจารณ์การที่สภากรุงปารีสยกย่องดาไล ลามะ ว่า "เป็นความผิดพลาดทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง" ขณะเดียวกันก็ออกมาเผยว่าฝรั่งเศสไม่ได้มีเจตนาเผชิญหน้ากับจีน 


 


 


ที่มา


Chinese rally in Australia for troubled torch , By James Grubel and Rob Taylor , Reuters , 24/4/2551


Tibet protest as torch lands in Australia , Rob Taylor , Reuters , 22/4/2551


China, France seek to ease tensions at high-level talks , Joelle Garrus , AFP , 24/5/2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net