"คำประกาศเบิร์น" ตอกหน้ารัฐบาลสวิส โจมตีซีแอลของไทย เท่ากับกลับคำ ผิดสัญญา

กรุงโลซานน์ 25 เมษายน 2551 - องค์กรคำประกาศเบิร์น (BD) และองค์กรเอกชนด้านสุขภาพไทย-สวิส 20 แห่ง ร่วมกันประณามรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ที่กดดันรัฐบาลไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจำกัดนโยบายการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาของบริษัท โรช และ โนวาร์ติส

 

ทั้งนี้มาตรการบังคับใช้สิทธิอนุญาตให้ประเทศต่างๆ สามารถผลิตหรือนำเข้ายาติดสิทธิบัตรในชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกลงได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศสวิสเซอร์แลนด์เองยังได้บรรจุมาตรการดังกล่าวลงในกฎหมายสิทธิบัตรของตนเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุนี้องค์กรภาคประชาสังคมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ยุติการโจมตีการเข้าถึงยาในประเทศไทย และปฏิบัติตามพันธกรณีของตนที่ให้ไว้อย่างจริงจัง       

 

อย่างไรก็ดี ในอดีต รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์มักเน้นย้ำอยู่เสมอว่าตนเคารพสิทธิของประเทศกำลังพัฒนาในการใช้มาตรการยืดหยุ่นๆ ที่มีบรรจุไว้ในความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (หลังจากนี้จะเรียกว่าความตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลกเพื่อปกป้องการสาธารณสุขของประเทศ หลักการนี้ยังถือเป็นบทบัญญัติหนึ่งในปฏิญญาโดฮา ปี 2544 ว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ร่วมลงนามรับรอง ทว่าเมื่อถึงคราที่ประเทศกำลังพัฒนาจะนำมาตรการยืดหยุ่นเหล่านี้มาใช้เพื่อบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับยารายการต่างๆ ที่บริษัทสัญชาติสวิสเป็นเจ้าของ รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์กลับไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของตนในข้อนี้ ในทางตรงข้าม รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ทั้งประท้วงและผลักดันให้มีการจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธินี้

 

เมื่อรัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาของบริษัทโรชและโนวาร์ติสในเดือนมกราคม 2551 รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ได้ยื่นบันทึกช่วยจำหรือ Aide Mémoire (25 ก.พ.) ต่อรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ใหม่อีกครั้ง (กล่าวคือ ให้มีการจำกัดการใช้มาตรการดังกล่าวเฉพาะในบางสถานการณ์ โดยให้ใช้มาตรการนี้กับปัญหาด้านสาธารณสุขเฉพาะบางกรณี และเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วเท่านั้น)   

 

ทั้งคำประกาศเบิร์น พร้อมกับองค์กรเอกชนไทย-สวิสทั้ง 20 แห่งได้ร่วมกันส่งสารเตือนให้รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ตระหนักถึงหน้าที่ของตนที่จะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิของประเทศไทยในการใช้เครื่องมือกลไกต่างๆ ดังบัญญัติไว้ในความตกลงทริปส์ ตลอดจนการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพื่อการสาธารณสุขของประเทศ

 

 

 

จดหมายจากองค์กรเอกชนไทย - สวิสถึงรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์

(คลิกเพื่อดูต้นฉบับภาษาอังกฤษ)

 

 

องค์กรด้านสุขภาพไทย - สวิส ได้ร่วมลงนามในหนังสือฉบับนี้เพื่อแสดงถึงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำของรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์เพื่อตอบโต้การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ โดยรัฐบาลไทยกับยาที่ผลิตโดยบริษัทโรชและโนวาร์ติสในเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำของรัฐบาลสวิสเวอร์แลนด์ที่พยายามโน้มน้าวให้ประเทศไทยยุติการปฏิบัติตามสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายเพื่อดำเนินมาตรการที่จะช่วยปกป้องการสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศทุกๆ ประการ 

 

ในปี 2544 ประเทศไทยได้จัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยปณิธานที่จะให้บริการการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และหนึ่งในบริการภายใต้ระบบดังกล่าวนี้ คือการให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงยาจำเป็นโดยถ้วนหน้า เช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งโครงการรักษาและป้องกันโรคดังกล่าวในประเทศไทยถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ความสำเร็จสมดังปณิธานที่ตั้งไว้นี้ทำให้ประเทศที่มีการระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างหนัก กล่าวคือ มีผู้ติดเชื้อฯ ในประเทศกว่า 600,000 ราย สามารถควบคุมอัตราการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ ตลอดจนให้การรักษาแก่ผู้ติดเชื้อฯ ที่มีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นได้ตามความจำเป็น

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหายาราคาแพง และปัญหายาติดสิทธิบัตรที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยการตรวจสอบและพิจารณาราคายาติดสิทธิบัตร เจรจาต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิต และเมื่อถึงคราจำเป็น จึงประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพื่ออนุญาตให้มีผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน ในเดือนพฤศจิกายน 2549 และมกราคม 2550 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์สองรายการ (ยาเอฟาวิเรนซ์ของบริษัท เมิร์ค ชาร์ป แอนด์ โดห์ม และยาโลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ของบริษัทแอ๊บบอต) และยารักษาโรคหัวใจ (ยาโคลพิโดเกรลของบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส) จากการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ข้างต้น ส่งผลให้ยาเหล่านี้มีราคาถูกลงอย่างมาก ช่วยให้ประเทศมีทรัพยากรพอสำหรับจัดการดูแลระบบสาธารณสุขของตน อีกทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยาเหล่านี้ ต่างจากในอดีตที่ยามีราคาสูงเกินเอื้อมสำหรับผู้ป่วย     

 

จากสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึงปีละกว่า 30,000 คน โรคมะเร็งจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศไทย ในเดือนมกราคม 2551 ประเทศไทยจึงได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพิ่มกับยาต้านมะเร็งอีกสี่รายการ (ยาเลโทรโซล และยาอิมาตินิบ มีไซเลทของบริษัทโนวาร์ติส ยาโดซีแท็กเซลของบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส และยาเออร์โลทินิบของบริษัทโรช) แต่เนื่องจากสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทโนวาร์ติสได้ จึงไม่มีการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาอิมาตินิบ มีไซเลท

 

เราได้ทราบมาว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ได้มอบบันทึกช่วยจำหรือ Aide Mémoire1 ให้กับรัฐบาลไทย โดยมีเนื้อหาแสดงถึงความวิตกกังวลต่อการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ของประเทศไทย โดยเฉพาะกับยาติดสิทธิบัตรของบริษัทโนวาร์ติสและโรช พร้อมกับเสนอแนะให้ประเทศไทยทบทวนนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง

 

น่าวิตกอย่างยิ่งที่เห็นรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์พยายามโน้มน้าวให้ประเทศไทยยุติการดำเนินการตามมาตรการบังคับใช้สิทธิ ตลอดจนจำกัดขอบเขตและเงื่อนไขในการใช้มาตรการดังกล่าว เรารู้สึกตกใจที่เห็นรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์เห็นชอบกับการจำกัดสิทธิการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเฉพาะในสถานการณ์ "ฉุกเฉินหรือกรณีพิเศษ" และกับ "ยาบางประเภท" เท่านั้น

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในบันทึกยังส่งเสริมระบบสิทธิบัตรอย่างขาดดุลยพินิจ โดยเห็นว่าเป็นระบบที่เปี่ยมประสิทธิภาพที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ อันเท่ากับเป็นการไม่นำพาต่อข้อสรุปในรายงานของคณะกรรมาธิการด้านทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม และการสาธารณสุข หรือ CIPIH ขององค์การอนามัยโลกที่ระบุชัดถึงปัญหาร้ายแรงอันเกิดจากระบบสิทธิบัตร2 

 

มาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นมาตรการยืดหยุ่นที่มีบัญญัติไว้ในความตกลงทริปส์ ดังที่ปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขได้ให้การรับรอง3  ทั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติใดในความตกลงทริปส์ที่จำกัดเงื่อนไขการใช้ ความชอบธรรม สถานการณ์ หรือกระทั่งลักษณะปัญหาด้านสาธารณสุขสำหรับการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ในปฏิญญาโดฮายังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ [ขององค์การการค้าโลก] มีสิทธิที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และสามารถกำหนดเงื่อนไขหรือสภาวะการณ์ที่จะใช้มาตรการดังกล่าวได้อย่างเสรี" ในรายงานของคณะกรรมาธิการ CIPIH ขององค์การอนามัยโลกยังได้แนะนำให้ "ประเทศกำลังพัฒนาบัญญัติมาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรไว้ในกฎหมายของตนอย่างสอดคล้องกับความตกลงทริปส์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเข้าถึงยาราคาถูก ไม่ว่าจะโดยการนำเข้าหรือผลิตเองภายในประเทศ" (ข้อแนะนำ 4.13) 4

 

ในบันทึกดังกล่าว รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ยืนกรานที่จะให้ประเทศไทยดำเนินการเจรจากับผู้ทรงสิทธิก่อน ซึ่งใช่ว่าประเทศไทยจะไม่ทำเช่นนั้น ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณียาอิมาตินิบ มีไซเลท ที่รัฐบาลไทยสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทโนวาร์ติสได้ กระนั้น สมควรทราบว่าตามมาตรา 31(b) ของความตกลงทริปส์ อนุญาตให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้โดยไม่จำเป็นต้องเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตรก่อน ด้วยเป็นการใช้สิทธิเพื่อการสาธารณประโยชน์โดยไม่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ 

 

เราจึงมีหนังสือฉบับนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์เคารพต่อพันธกิจดังได้ร่วมลงนามรับรองเมื่อมีการจัดตั้งปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขในเดือนพฤศจิกายน 2544 เราเรียกร้องให้รัฐบาลยึดมั่นต่อปฏิญญาของตนต่อรัฐสภา 5 เราเรียกร้องให้รัฐบาลประพฤติปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมาธิการด้านทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม และการสาธารณสุข ทั้งนี้ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องให้การสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฎิบัติตามมาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความเคารพต่อสิทธิของประเทศไทยในการใช้เครื่องมือกลไกต่างๆ ดังบัญญัติไว้ในความตกลงทริปส์ รวมถึงการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพื่อประโยชน์ด้านการสาธารณสุขของประเทศ โดยสรุปแล้ว รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ต้องยุติการกดดันประเทศไทยโดยมีเจตนาให้ประเทศไทยยุติการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ดังกล่าว

 

เรารอฟังความเห็นจากท่าน โดยความเคารพอย่างสูง

 

องค์การต่างๆ ดังปรากฏในรายชื่อข้างล่างนี้ได้ร่วมลงนามในหนังสือฉบับนี้

 

Switzerland

- aidsfocus.ch, the Swiss platform "HIV/AIDS and international cooperation"

- Berne Declaration

- Campaign for Access to Essential Medicines - Médecins Sans Frontières International (MSF) in Geneva

- Centrale Sanitaire Suisse Romande (CSSR)

- MIVA Schweiz

- Pharmaciens Sans Frontières Suisse

- SolidarMed

- Swiss League against Cancer

 

Thailand

- AIDS ACCESS Foundation

- Alternative Agriculture Network

- Foundation for AIDS Rights (FAR)

- Friends of Cancer Patients

- Friends of Renal Failure Patients

- Rural Pharmacist Foundation

- Thai network of people living with HIV/AIDS (TNP+)

- Thai NGOs Coalition on AIDS

- Thai Rural Doctors society

- Foundation for Consumers

- FTA Watch

- Oxfam Great Britain in Thailand

 

 

อ้างอิง :

1 การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ของประเทศไทยกับยาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง, บันทึกช่วยจำ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551

2 คณะกรรมาธิการด้านทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม และการสาธารณสุข หรือ CIPIH ขององค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา เมษายน 2549 หน้า 22 & 85   

3 "ปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข" 14 พฤศจิกายน 2544

4  คณะกรรมาธิการด้านทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม และการสาธารณสุข หรือ CIPIH ขององค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา เมษายน 2549 หน้า 120

5 "เช่นที่ได้แสดงเจตนารมณ์ในหลายๆ วาระที่ผ่านมา รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ (สภามนตรีแห่งสมาพันธรัฐ - Conseil féderal) ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีความยินดีที่ได้เห็นการจัดตั้งปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้ปฎิบัติตามมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ดังบัญญัติไว้ในความตกลงทริปส์เพื่ออำนวยให้เกิดการเข้าถึงยาภายในประเทศตน" รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ตอบคำถามของ Anne-Catherine Menétrey-Savary สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2545  

 

 

(ดูเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องได้ที่ http://www.evb.ch/en/p25014170.html)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท