Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายปริญญา เทวานฤมิตร รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย แถลงถึงผลการวิจัยเรื่อง "ปัญหาการเลือกตั้งของประเทศไทย และระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 " ว่า จากการทำวิจัยโดยให้นักศึกษาอาสาสมัคร จำนวน 1,320 คน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากประชาชนกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 26,929 คน ใน 65 จังหวัด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ต้องการมุ่งหาความจริงให้มากที่สุด ไม่เหมือนกับผลโพล์ทั่วๆไป โดยในคำถามจะเกี่ยวกับความเข้าใจ และความสับสนในการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขต และการเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือไม่ พบว่าประชาชนเข้าใจระบบการเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ ร้อยละ 75.58 ส่วนประชาชนเข้าใจเฉพาะแบบแบ่งเขต แต่ไม่เข้าใจแบบสัดส่วน คิดเป็นร้อยละ 10.63 และส่วนที่เข้าใจเฉพาะแบบสัดส่วน แต่ไม่เข้าใจแบบแบ่งเขตคิดเป็นร้อยละ 4.30



 


อย่างไรก็ตามในส่วนที่ประชาชนบอกว่าไม่สับสน และมั่นใจว่ากากบาทถูกหมด ทั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ 70.44 ส่วนประชาชนที่ไม่เข้าใจระบบเลือกตั้ง ทั้งแบบเขตและแบบสัดส่วนมีจำนวนร้อยละ 29.56



 


นายปริญญา กล่าวว่า เมื่อสอบถามในเรื่องของแรงจูงใจ และพฤติกรรมการเลือกตั้ง พบว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ประชาชนตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลที่ใกล้เคียงกัน โดยพบว่าชอบผู้สมัครร้อยละ 30.90 ชอบนโยบายพรรคร้อยละ 29.59 และชอบพรรคร้อยละ 26.14 ส่วนการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ตัดสินใจเลือกเพราะชอบนโยบายพรรคร้อยละ 34.03 ชอบพรรคร้อยละ 32.06 ส่วนชอบผู้สมัครเพียงร้อยละ 16.42 นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 2 แบบ ที่มาจากพรรคเดียวกันถึงร้อยละ 64 ซึ่งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จะใช้สิทธิ์เลือกครบตามจำนวน และเลือกยกทีมร้อยละ 65 โดยมีเหตุผลเพราะชอบพรรค และชอบนโยบายพรรค ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขจากการตัดสินใจของประชาชนที่เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ยังพบว่าร้อยละ 55.63 ชอบนโยบายพรรคมากกว่าผู้สมัคร ซึ่งไม่แตกต่างกับการเลือก ส.ส.แบบสัดส่วน



 


นายปริญญา กล่าวต่อว่า เมื่อได้ตั้งคำถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีผลต่อการลงคะแนนหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 62.52 ตอบว่าเลือกใคร หรือไม่เลือกใครวันนี้ไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ และพบว่าร้อยละ 19.64 ตอบว่ากากบาทเลือกแบบนี้ เพราะชอบพ.ต.ท.ทักษิณ และร้อยละ 17.85 ตอบว่าเลือกแบบนี้เพราะไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ



 


"เมื่อได้ถามเจาะลึกว่า ภาคไหนที่เลือกแบบนี้เพราะชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่าภาคอีสานกากบาทเลือกเพราะชอบ พ.ต.ท.ทักษิณมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.01 และพบว่าภาคใต้ร้อยละ 29.01 เลือกแบบนี้เพราะไม่ชอบพ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้ยังพบว่าภาคเหนือ เป็นภาคที่เลือกหรือไม่เลือกใครในวันนี้ ไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณร้อยละ 65.17 ภาคใต้ร้อยละ 64.12 ภาคกลางร้อยละ 61.81 และภาคอีสานร้อยละ 58.43 ดังนั้นตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกใคร หรือไม่เลือกใคร ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ และจริงๆแล้วความขัดแย้งการทะเลาะกันเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ "นายปริญญาระบุ



 


นายปริญญา กล่าวต่อว่า เมื่อได้สอบถามในเรื่องของการซื้อเสียง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ยินว่า มีการซื้อเสียง ร้อยละ 38.62 ไม่แน่ใจร้อยละ 35.74 ซึ่งเมื่อถามผู้เลือกตั้งต่อว่า ถ้าได้รับเงินหรือสิ่งตอบแทน ยังจะเลือกเหมือนเช่นเดิมหรือไม่ ปรากฎว่าร้อยละ 52.39 ตอบว่าแม้ไม่ได้รับเงิน ก็จะเลือกคนนี้ และยังพบว่าร้อยละ 63.15 ทราบว่าการซื้อเสียงเป็นความผิด และมีบทลงโทษ และพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 71.81 เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ก็ต้องมาเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังพบเรื่องปัญหาเรื่องลูกโดด และหลักความเสมอภาค โดยผู้ที่เลือกแบบลูกโดด โดยตั้งใจให้ผู้ที่ตนเองเลือกมีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากขึ้น ร้อยละ 47.75 ซึ่งจากการสำรวจมีประชนยอมรับว่า มีการรับเงินให้เลือกคนเดียว จึงชี้ให้เห็นว่า การซื้อเสียงแบบลูกโดดมีอยู่จริง



 


นายปริญญา กล่าวต่อว่า สรุปได้ว่า ควรมีการยกเลิกระบบ ส.ส.แบบแบ่งเขต เนื่องจากประชาชนเกิดความสับสน เห็นว่าควรมีการแก้ไขปัญหาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเอาระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ หรือกำหนดแบบใหม่ขึ้นมาก็ได้ แล้วแต่รัฐบาล นอกจากนี้ยังพบว่ามีการซื้อเสียง เพื่อให้กาเบอร์เดียวยังมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ มีผู้ออกมายอมรับว่า มีการให้เงินเพื่อให้เลือกผู้สมัครคนเดียว ซึ่งคณะวิจัยเห็นว่า กรณีดังกล่าวขัดต่อความเสมอภาค ดังนั้นระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์เขตละไม่เกิน 3 คน สมควรยกเลิกอย่างยิ่ง นอกจากนี้ไม่ควรกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน และเท่าที่สำรวจพบว่า ประชาชนพอใจที่จะมาเลือกตั้งด้วยตัวเอง ควรจะเปลี่ยนใช้มาตรการในการจูงใจหรือให้รางวัลน่าจะดีกว่า



 


นายปริญญา กล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวยืนยันว่าเชื่อถือได้ แม้ว่าจะดูเหมือนขัดกับความเห็นอย่างเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณที่บอกว่าไม่ได้เป็นปัจจัยในการเลือกตั้งนั้น ข้อเท็จจริงคือ ผลการวิจัยไม่ได้บอกว่า ไม่ได้ไม่มีการทะเลาะกัน แต่เรื่องการทะเลาะกันเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเมื่อวาน (25 เม.ย.) ที่มีการเอาหินขว้างกันก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นเรื่องของคนส่วนน้อยเท่านั้น ดังนั้นผลวิจัยที่ออกมาจึงต่างจากที่เราคิดไว้ แต่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมไทยไม่ได้เลวร้าย ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันมากมาย



 


นายนิยม รัฐอมฤต อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลการวิจัยว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยังมีการแสดงออกถึงการแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรง แต่ข้อมูลในการวิจัยที่บอกว่าเลือก พ.ต.ท.ทักษิณไม่กี่เปอร์เซ็นต์จริงๆ แล้วควรจะวิจัยแยกระหว่างเรื่องพรรค และตัวบุคคล เพราะบางโอกาสก็แยกไม่ออกระหว่างพรรคกับคน ซึ่งสังเกตได้ว่า ก่อนหน้าที่พรรคไทยรักไทยจะมาใช้ชื่อพรรคพลังประชาชน ก็ไม่มีใครเลือก ส.ส.พรรคพลังประชาชนเข้ามา ซึ่งตรงนี้มีความชัดเจนว่า เป็นเรื่องของตัวบุคคล



 


นายปริญญาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากรัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้งในการแก้ไขนั้น ตนมองว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาให้แนบเนียนขึ้น โดยไม่ได้บอกว่าจะแก้ไขเฉพาะมาตรา 237 และมาตรา 309 แต่อย่างไรก็ตามตนมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีข้อบกพร่อง แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่หลายฝ่ายบอกว่า ไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะมาจากการลงมติประชาชน ซึ่งสามารถแก้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เปิดช่องให้ประชาชนเข้าชื่อแก้ไขได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลต้องระมัดระวัง หากแก้ไขเพื่อยุบพรรค หรือเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณรอด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจส่งผลต่อความรุนแรง และมีปัญหาเกิดขึ้น แต่หากแก้เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไปได้ โดยเรื่องต่างๆที่เป็นคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมคิดว่าจะไม่ส่งปัญหาอะไร


 



............................
ที่มา:
http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net