เสวนา - อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ (1): กรณีคนงานนิคมลำพูนและปัญหาที่ยังค้างคา

วันที่ 27 เม.ย. 2551 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเสวนาหัวข้อ "อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานในยุคโลกาภิวัตน์" โดยเริ่มต้นจากกรณีศึกษาจากผู้ใช้แรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน จากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนและระดมข้อเรียกร้องของแรงงานภาคเหนือเนื่องในโอกาส "วันแรงงานสากล" นำโดย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนแรงงานนอกระบบ ตัวแทนสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ และตัวแทนสหภาพโฮย่า

 

โดย สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ย่านนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน นำการเสวนาด้วยการพูดถึงอำนาจต่อรองของคนงานในปัจจุบัน โดยเท้าความถึงกรณีการต่อสู้ของคนงานนิคมอุตสาหกรรมลำพูนว่า "ในช่วงแรกๆ นิคมอุตสาหกรรมลำพูนจะเป็นอุตสาหกรรมจำพวกแปรรูปสินค้าการเกษตร แต่นักลงทุนไม่สนใจ ต่อมาจึงเน้นการส่งออก โดยปรับให้เป็นนิคมอิเล็กโทรนิคเสีย 80% นอกนั้นเป็นโรงงานอัญมณี ชิ้นส่วนรถยนต์ และแปรรูปการเกษตร ปัจจุบันนิคมฯ มีคนงานถึง 6 หมื่นคน"

 

ต่อมาจึงพูดถึงประสบการณ์และแจกเอกสารระบุถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูน ซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการละเมิดสิทธิ์และการกดขี่แรงงานรวมถึงยังมีปัญหาในด้านต่างๆ ดังนี้

 

ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ์แรงงาน

-          มีการตั้งเป้าในการทำงาน ถ้าลูกจ้างทำไม่ได้ก็จะถูกตำหนิ หรือถูกด่า หรือถูกใบเตือน หรือถูกนำไปพิจารณาการขึ้นเงินเดือน หรือการตัดเกรดโบนัสประจำปี

-          มีการบังคับให้ทำงานล่วงเวลาถ้าไม่ทำจะโดนใบเตือน หรือถูกว่า ว่าไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาเงินขึ้นหรือโบนัสประจำปี บางบริษัทให้มีนโยบายให้คนงานเซ็นชื่อยินยอมจะมาทำงานล่วงเวลา ล่วงหน้า 1 อาทิตย์

-          การลาป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง แม้ลาป่วยวันเดียวก็ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ลาป่วย 3 วันก็ต้องมีใบรับรองแพทย์วันต่อวันเลย ในทางปฏิบัติ การที่คนงานป่วยไม่ได้หมายความว่าต้องไปพบแพทย์เพียงอย่างเดียว คนงานบางคนที่ป่วย แค่ทานยาแล้วพักผ่อน อาการก็ดีขึ้นแล้ว แต่นี่ต้องไปหาแพทย์เพื่อให้มีใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง

-          มีกรณีคนงานหญิงตั้งครรภ์ และถูกเลิกจ้าง บางบริษัทจะมีเงื่อนไขเลยว่าในช่วงทดลองงานห้ามไม่ให้ท้อง ถ้าคนงานตั้งครรภ์ก็จะถูกให้ออกจากงานเลย บอกว่าไม่ผ่านทดลองงาน

 

 

ปัญหาด้านสุขภาพ

-          ปัญหาสารอันตรายสะสมในร่างกายถึงขนาดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยพนักงานบางบริษัท ที่ไปตรวจร่างกายที่ จ. เชียงใหม่ ตรวจพบสารตะกั่วในร่างกายอยู่ในระดับอันตราย ทั้งที่ตรวจในบริษัทพบว่ามีระดับสารสะสมในร่างกายระดับต่ำ

-          สายตาสั้น เนื่องมาจากทำงานในแผนกที่ต้องส่องกล้องอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการทำงานที่ยาวนาน (ต้องทำงานล่วงเวลา)

-          ปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคไต เนื่องจากต้องกลั้นปัสสาวะ เพราะต้องพยายามทำงานในไลน์ให้ได้เป้าตามที่บริษัทตั้งไว้ จำเป้นต้องกลั้นปัสสาวะ ถ้าจะลุกไปเข้าห้องน้ำต้องมีคนแทน ไม่อย่างนั้นไม่อนุญาตให้ไป

-          มีการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ เนื่องมาจากสภาพการทำงาน ท่าทางการทำงานและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน เช่น เก้าอี้สูงต่ำไม่เท่ากัน จึงมีการเกร็งช่วงคอ

 

สุชาติ พูดเสริมในเรื่องสารพิษที่ได้รับจากการทำงานว่า "บางทีมีการตรวจพบสารบางอย่างที่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก เช่น เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วตรวจพบสารที่ชื่อ Alumina ในคนงาน การตรวจสุขภาพคนงานประจำปีก็เป็นการตรวจแบบให้ผ่านๆ ไป โดยไม่มีการตรวจละเอียดไปถึงสารพิษจำพวกโลหะหนัก คนงานบางคนสายตาสั้นลง แต่พอไปตรวจสายตาก็ยังได้ผ่าน"

 

ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

            คนงานที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่ต้องทำงานต่อเนื่องยาวนาน (12 ชม.) ต่อวัน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เพราะคนงานที่จังหวัดลำพูนก็ไม่ได้มีค่าครองชีพต่ำกว่าจังหวัดอื่น ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือหาดใหญ่ ทุกๆ จังหวัดมีค่าครองชีพที่สูงเหมือนกัน เคยมีคนงานยกตัวอย่างเล่นๆ แต่ก็ทำให้ผู้ฟังสะอึกได้ คือ ถามว่า "มาม่าที่กรุงเทพฯ ซองละเท่าไหร่ แล้วมาม่าที่ลำพูนซองละเท่าไหร่" "น้ำมันที่กรุงเทพฯ ลิตรละเท่าไหร่ แล้วน้ำมันที่ลำพูนลิตรละเท่าไหร่" "แล้วของอื่นๆ อีก ราคาที่ลำพูนกับที่กรุงเทพแตกต่างกันไหม แต่ทำไมค่าจ้างที่ลำพูนน้อยกว่าที่กรุงเทพฯ ตั้งหลายบาท"

            ดังนั้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย คนงานจึงต้องทุ่มเทให้กับการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด

 

มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วค่าครองชีพของคนงานที่ลำพูนก็ไม่ได้น้อยไปกว่าคนงานในกรุงเทพฯ เผลอๆ จะมากกว่าด้วยซ้ำในเรื่องค่าน้ำมันที่ใช้เดินทางไปทำงาน" สุชาติให้ข้อมูลเสริม "พอจะเรียกร้องเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็มักถูกตอบกลับมาว่าจะทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน"

 

 

ปัญหาด้านการรวมกลุ่ม การจัดตั้งองค์กรของคนงาน

            คนงานไม่ค่อยได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการรวมกลุ่ม และมีความกลัวเนื่องจากได้รับข้อมูลว่าการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานเป็นเรื่องไม่ดี ทำให้บริษัทย้ายออกจากประเทศไทย แล้วจะทำให้ตกงาน อีกทั้งในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบแรงงานสัมพันธ์ การรวมกลุ่ม การยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ความรู้ กลายเป็นเรื่องที่ปกปิด เหมือนกับว่าไม่สำคัญต่อคนงาน ทั้งๆ ที่การรวมกลุ่มเพื่อเป็นองค์กร สร้างอำนาจต่อรองของคนงาน เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการเป็นคนงาน และเป็นทางออกเดียวของคนงานที่จะสามารถสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคง

            ในปัจจุบันมีคนงานที่เข้ามามีส่วนในคณะกรรมการชุดต่างๆ ในบริษัท ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสวัสดิการ หรือคณะกรรมการความปลอดภัย ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนงานอย่างแท้จริง มาจากการเลือกของบริษัท เวลาคนงานเดือดร้อน หรือต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนในโรงงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ หรือแก้ไขปัญหาอื่นๆ ก็เขียนลงในตู้รับฟังความคิดเห็น แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไขปัญหากับคนงาน

            นอกจากไม่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ยังได้รับการขัดขวาง จากนายจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดสหภาพแรงงาน ทั้งการปล่อยข่าวสร้างความแตกแยก ปล่อยข่าวว่าจะย้ายฐานการผลิต เพื่อให้คนงานกลัวจะได้ไม่ตั้งสหภาพแรงงาน และเมื่อตั้งสหภาพแรงงานได้ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก ดังนั้นแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่มีองค์กรของตนเอง ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างในการรักษาสิทธิ์ หรือเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

"เวลาคนงานจะรวมกลุ่มก็ถูกไล่ให้กลับไปทำงาน พอรวบรวมตัวแทนเจรจาไปต่อรองกับฝ่ายบริหาร ก็ถูกด่า ถูกไล่" สุชาติกล่าวในวงเสวนา จากนั้นก็เสริมว่า "ตามกฎหมายคนงานมีสิทธิคัดเลือกคณะกรรมการลูกจ้างได้ด้วยการเลือกตั้ง ตามที่กล่าวไว้ใน พ.ร.บ. แต่สิ่งที่เกิดคือเจ้าหน้าที่โรงงานเป็นคนคัดเลือกฝ่ายหัวหน้างานมาให้หมด จึงไม่มีตัวแทนจากฝ่ายลูกจ้างเลย ทำให้เวลาเสนออะไรไปก็ไม่มีการตอบรับข้อเรียกร้องเลย"

 

ปัญหาในการดำเนินงานของสหภาพฯ

-          หลังตั้ง "สหภาพ" เหมือนได้แก้ไขปัญหาบางส่วนแล้ว คนงาน รวมถึงกรรมการบางส่วน "อิ่ม" ตัว คนงานเริ่มถอนออก/อยู่เฉย กรรมการจึงต้องทำงานหนักขึ้น

-          บริษัท โยกย้าย (กรรมการ) ไปรวมกันจุดเดียว/แผนกเดียว/ให้อยู่ข้างนอกไม่ให้เข้าทำงานโรงงาน (โดยยังจ่ายค่าจ้างให้)

-          กรรมการต้องแก้ไขปัญหาเป็นรายวัน ทำให้ไม่มีเวลาพัฒนาความรู้/องค์กร

-          บริษัทจับผิดอยู่ตลอดเวลา

-          การกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับสมาชิกไม่ทั่วถึง และต่อเนื่อง

-          มีการใช้มาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 เรื่องการหยุดงานบางส่วนมาใช้กับพนักงานเพื่อให้คนงานกลัว

-          การเลิกจ้างแกนนำ กรรมการสหภาพแรงงาน

-          การปลอมเอกสาร และเผยแพร่เอกสาร เพื่อเป็นการดิสเครดิตสหภาพ เป็นต้น

 

การสร้างอำนาจต่อรอง ทางออกของการแก้ไขปัญหาแรงงาน

            ทางออกในการแก้ไขปัญหาของคนงานคือต้องมีอำนาจต่อรองกับทางบริษัท แต่คำถามสำคัญคือ แล้วคนงานจะสามารถที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับทางบริษัทได้อย่างไร คำตอบที่ได้คงไม่พ้นว่า หากคนงานต้องการที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับทางบริษัทได้ ก็ต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับบริษัท

            แต่ในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของคนงานก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้โดยง่าย โดยดูจากสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งที่ตั้งขึ้นมา คือสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์และ สหภาพแรงงานอิเลคโทรนิคและเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ ที่กว่าจะตั้งเป็นสหภาพแรงงานได้ก็ต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน และต้องเผชิญกับอุปสรรค์ต่างๆ มากมาย คือ

 

-          ขาดความรู้ความเข้าใจการรวมกลุ่ม/การตั้งองค์กร/ข้อมูล/การสื่อสาร

-          สถานที่พูดคุย ในการรวมตัว/ศึกษาหาความรู้ เพื่อไม่ให้บริษัทรู้

-          แรงเสียดทางจากคนงาน/บริษัท ที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มคนงานที่ไม่เข้าใจ

-          เจ้าหน้าที่รัฐที่มีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเป็นสหภาพแรงงาน ไม่ยอมรับ อ้างว่าทำลายบรรยากาศการลงทุน

-          ใครจะเป็นแกนนำ

-          การระดมคนมาร่วม / สมาชิก

-          ไม่มีเวลาที่จะมาศึกษาหาความรู้

-          มีการปล่อยข่าวลือ/ข้อมูลเชิงลบ/ทำแล้วจะไม่ดี การโยกย้ายฐานการผลิต

-          ประกาศใช้มาตรา 75 * ให้พนักงานกลัว

-          บางบริษัท คนงานยังต้องหาอุปกรณ์ป้องกันในการทำงานมาเอง ทั้งผ้ามาร์ค ถุงนิ้ว อื่นๆ เพราะมีนโยบายให้ประหยัด โดยจะแข่งขันลดต้นทุนกันระหว่างแผนก แต่ละโรง โดยจะมีเป้าให้ การแข่งขันประหยัดต้นทุน ส่งผลให้การจ่ายอุปกรณ์ป้องกันน้อยลง ทำให้คนงานต้องไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันเอง

 

 

สหภาพแรงงานต้องสร้างความเข้มแข็ง

-          การทำให้เป็นสหภาพอุตสาหกรรม

-          การนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับสมาชิกอย่างทั่วถึง และต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นเอกสาร และ การประชุมกลุ่มย่อยกับสมาชิก

-          ต้องมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เช่น กองทุนนัดหยุดงาน

-          ทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่รอบนิคมฯ

-          ต้องมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ คือ

- สหภาพแรงงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ

- นายจ้างระหว่างประเทศ

- ปัญญาชน / สื่อมวลชน

 

 

"มีการทำลายสหภาพในแบบอื่นคือ ที่โฮย่า มีการการแจกแผ่นปลิวโจมตีประธานสหภาพฯ มูลนิธิ และชมรมฯ ว่าเปนพวกโรคจิต ถือเป็นการพยายามดิสเครดิตสหภาพฯ บางครั้งก็มีการปลอมเอกสารของสหภาพกระจายไปยังบริษัทอื่นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกลบกับสหภาพ" สุชาติเสริม "เราควรแก้ด้วยการตั้งสหภาพแบบเป็นโครงข่าย ไม่ใช่เป็นแค่เพียงหนึ่งสหภาพหนึ่งโรงงาน"

 

 

สำหรับการแสดงความเห็นในการเสวนาของท่านอื่นๆ ทางประชาไท จะนำเสนอในตอนที่สองต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท