Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม "May Day วันกรรมกรสากล" ตีพิมพ์ครั้งแรกในจุลสารเสมอภาค ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - มิถุนายน 2551


 


ภัควดี  วีระภาสพงษ์


 


นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา   การผลิตในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีสภาพเปรียบเสมือน "โรงสีปิศาจ"   ชนชั้นแรงงานถูกขูดรีดอย่างหนักเพื่อการสั่งสมทุนในระบบทุนนิยม   คนงานต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยหรือสวัสดิการใด ๆ ทั้งสิ้น


 


ความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเพื่อปลดแอกตัวเองเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับครั้งไม่ถ้วน   การต่อสู้เรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานปะทุขึ้นทั้งในยุโรป  ละตินอเมริกา  สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์   ใน ค.ศ. 1840  ที่อาณานิคมเวลลิงตันในนิวซีแลนด์   ช่างไม้ชื่อ  ซามูเอล พาร์เนลล์ ยืนกรานไม่ยอมทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง พาร์เนลล์เรียกร้องให้ช่างฝีมือคนอื่น ๆ สนับสนุนเวลาทำงานแปดชั่วโมงนี้  และในเดือนตุลาคมของปีนั้น  การประชุมของแรงงานในอาณานิคมเวลลิงตันก็ลงมติสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว


 


ใน ค.ศ. 1872  ที่ประเทศแคนาดา   ช่างพิมพ์คนหนึ่งในเมืองโตรอนโตลุกขึ้นเรียกร้องเวลาทำงาน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์   ในสมัยนั้น  ความเคลื่อนไหวของแรงงานเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย   กระนั้นก็ไม่ทำให้กรรมกรกว่า 10,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วง  จนกดดันให้เซอร์จอห์น แมคโดนัลด์  นายกรัฐมนตรีของแคนาดาในสมัยนั้น  ต้องยอมยกเลิกกฎหมายต่อต้านสหภาพแรงงานในที่สุด


 


ช่วง ค.ศ. 1882  มีการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟในกรุงโตเกียว  คนงานไร่ในประเทศรัสเซีย และคนงานเหมืองแร่ในประเทศฝรั่งเศส   ตลอดช่วง ค.ศ. 1884-1886  มีการนัดหยุดงานในสหรัฐอเมริกาหลายพันครั้ง  และมีคนงานเข้าร่วมชุมนุมเดินขบวนนับแสนคน   ถึงแม้จะต้องเผชิญการปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐและฝ่ายนายทุน   แต่ขบวนการกรรมกรก็มิได้ย่อท้อ


 


จุดกำเนิดวันกรรมกรสากล


 


เหตุการณ์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและต้นกำเนิดของวันกรรมกรสากลก็คือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า  "การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต"   เหตุครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดากำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 เป็นวันนัดหยุดงานครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง


 


การเดินขบวนของแรงงานเกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา   ประมาณกันว่ามีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงราว 10,000 คน ในนิวยอร์ก   11,000 คนในดีทรอยต์   อีก 10,000 คนในเมืองมิลวอกี  รัฐวิสคอนซิน   แต่ศูนย์กลางการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโก  ซึ่งมีกรรมกรออกมาประท้วงถึง 40,000 คน  และมีกรรมกรโรงงานแปรรูปไม้อีก 10,000 คนที่จัดเดินขบวนต่างหาก   การชุมนุมประท้วงครั้งนี้น่าจะมีแรงงานชาวอเมริกันเข้าร่วมรวมทั้งหมด 300,000 - 500,000 คน


 


การประท้วงยืดเยื้อมาอีกสองสามวัน  วันที่ 3 พฤษภาคม  มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจชิคาโกกับขบวนการแรงงาน   ทำให้กรรมกรเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีกหลายราย  


 


กลุ่มผู้นำแรงงานแนวอนาธิปไตยนัดชุมนุมในวันถัดมาที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต  ซึ่งในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของชิคาโก   การชุมนุมที่เริ่มขึ้นท่ามกลางสายฝนปรอย ๆ ในวันที่ 4 พฤษภาคมดำเนินไปอย่างสงบ  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังไว้เป็นจำนวนมาก   ขณะที่ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายกำลังกล่าวปิดการชุมนุมในเวลาราวสี่ทุ่มครึ่ง   ตำรวจก็สั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว   แต่ทันใดนั้นเอง  โดยไม่มีใครคาดคิด  มีคนโยนระเบิดลูกหนึ่งใส่แถวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ทำให้ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตทันที   ตำรวจจึงเปิดฉากยิง  มีคนงานยิงตอบโต้บ้าง  เหตุจลาจลครั้งนี้กินเวลาน้อยกว่าห้านาทีด้วยซ้ำ


 


ถึงแม้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บจากระเบิด   แต่ตำรวจอีกหลายคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นเพราะการยิงกันเองในหมู่ตำรวจด้วยความผิดพลาดเนื่องจากความมืด   การจลาจลครั้งนี้ทำให้ตำรวจ 7 นายและกรรมกร 4 รายเสียชีวิต   กรรมกรที่บาดเจ็บมีเป็นจำนวนมาก  แต่ไม่มีตัวเลขแน่นอน  จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงของฝ่ายกรรมกรอาจสูงกว่านี้ก็เป็นได้


 


ล่วงมาถึง ค.ศ. 1889  ในการประชุมสมัชชาสังคมนิยมของสภาสากลที่สอง  ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมถึง 20 ประเทศ  มีมติให้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องเพื่อให้มีการลดชั่วโมงทำงานลงอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต   การเดินขบวนครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง  จนทำให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกพร้อมใจกันกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันกรรมกรสากล" 


 


การแทรกแซงของภาครัฐ


 


วันกรรมกรสากลจึงกลายเป็นวันแสดงพลังของชนชั้นแรงงานทั่วโลก   เป็นวันนัดพบของทั้งนักสังคมนิยม  คอมมิวนิสต์และอนาธิปไตย   การเดินขบวนของกรรมกรมีการปะทะกับฝ่ายรัฐหลายครั้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก   อาทิเช่น  ในกรุงเบอร์ลิน  ประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1929  ขบวนของกรรมกรถูกตำรวจบุกเข้าปราบปราม  จนมีผู้ร่วมชุมนุมและคนนอกถูกลูกหลงเสียชีวิตถึง 32 ราย  และมีอีกอย่างน้อย 80 รายที่บาดเจ็บสาหัส   ตำรวจเมืองเบอร์ลินยิงกระสุนออกไปถึง 11,000 นัด  โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีชื่อเรียกขานว่า  Blutmai  หรือ "พฤษภาเลือด"


 


การสำแดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทำให้ภาครัฐหวาดหวั่น   ด้วยเหตุนี้  รัฐในหลาย ๆ ประเทศจึงพยายามเข้ามาแทรกแซงความหมายของวันกรรมกรสากล  อาทิเช่น  ในสหรัฐอเมริกา  ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้เป็นต้นกำเนิดของวันกรรมกรสากล   แต่ "วันกรรมกร" อย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ กลับกำหนดไว้ที่วันจันทร์แรกของเดือนกันยายน   การกำหนด "วันกรรมกร" เช่นนี้เป็นการร่วมมือกันของสหภาพแรงงานที่เข้าข้างรัฐกับประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์   ถึงแม้จะถูกสหภาพแรงงานและกรรมกรอเมริกันจำนวนมากคัดค้านก็ตาม   อย่างไรก็ดี   ใน ค.ศ. 2006  แรงงานอพยพจากละตินอเมริกาเลือกวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่  เพื่อสำแดงให้รัฐบาลสหรัฐฯ รับรู้ถึงความสำคัญของแรงงานอพยพ


 


วันกรรมกรสากลในประเทศไทย


ในประเทศไทย  มีการจัดงานวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์   มีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน


ปีต่อมา การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ "กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน"  ถือเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพไทยครั้งใหญ่ที่สุด   เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกใน ประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย"  วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน


แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลเผด็จการได้ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก


กระทั่งในปี พ.ศ.  2499  กรรมกรในประเทศไทยรวมตัวกันเป็น "กรรมกร 16 หน่วย"  มีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ   รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลถือเอาวันกรรมการสากลเป็นวันกรรมกรแห่งประเทศไทย ให้กรรมกรเฉลิมฉลองในวันนี้ได้ รวมทั้งให้กรรมกรทั่วประเทศหยุดงานโดยไม่ถูกตัดค่าแรง  แต่ผลการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ทำให้กรรมกรจำต้องยอมรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อจาก "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"


จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น  ทำให้วันกรรมกรสากลของไทยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน   เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักถูกควบคุมโดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน ไม่มีการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน  การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1 พฤษภาคม ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวติดตามอย่างจริงจัง ทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานกลายเป็นเพียงพิธีการประกอบเท่านั้น   อีกทั้งในบางปียังให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานเพื่อให้โอวาทอบรมด้วย


ก้าวให้พ้นประเด็นค่าแรงและชั่วโมงการทำงาน


ผู้ได้รับอานิสงส์จากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ  ส่วนใหญ่กลับเป็นมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางทั้งหลาย   ไม่ว่าชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง  สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งที่ได้จากภาครัฐและเอกชน  รวมทั้งศักดิ์ศรีของการเป็น "คนทำงาน"  ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้อย่างอดทนของแรงงานทั้งสิ้น   ทว่าชนชั้นแรงงานเองกลับไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย   ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยแรงงานเหมาช่วงและแรงงานนอกระบบ   ชนชั้นแรงงานก็ยิ่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นทุกที


กระนั้นก็ตาม  ชนชั้นแรงงานในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง  รวมทั้งสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ที่จะข้ามพ้นการเป็นเพียงผู้ร้องขอเศษเดนจากระบบทุนนิยม   โดยเฉพาะในละตินอเมริกา  ในอาร์เจนตินา  มีสถานประกอบการหลายแห่งที่แรงงานเข้ากอบกู้  ด้วยการผลิต  บริหารและขายเอง  โดยไม่ต้องมีชนชั้นผู้จัดการ  ทั้งยังประสบความสำเร็จอย่างดีด้วย


ในอีกหลาย ๆ ประเทศ  โดยเฉพาะในเวเนซุเอลา  เรามักได้เห็นขบวนพาเหรดของชนชั้นแรงงานในวันกรรมกรสากลถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า  "หากปราศจากการร่วมบริหารงาน  ก็ไม่มีการปฏิวัติ"  หรือ  "การร่วมบริหารงานคือการปฏิวัติ" 


การร่วมบริหารงาน หรือในภาษาสเปนเรียกว่า  autogestion  หมายถึงการที่แรงงานมีสิทธิ์ตัดสินใจในการบริหารสถานประกอบการ  มิใช่ปล่อยให้เจ้าของทุนหรือชนชั้นผู้จัดการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว   หากแรงงานสามารถเข้ามาร่วมบริหารงานในสถานประกอบการได้  เป้าหมายของการผลิตก็จะเปลี่ยนไปจากการผลิตเพื่อทำกำไรสูงสุด  มาเป็นเป้าหมายของการผลิตเพื่อรับใช้ชุมชนและสังคม   เป้าหมายที่กำกับการผลิตควรกำหนดขึ้นมาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย  ทั้งในชุมชนและสถานประกอบการ  เพื่อให้การผลิตนั้นตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง   เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ก็ด้วยการเปิดโอกาสให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิ์ในการร่วมบริหารงานเท่านั้น


ด้วยสมองและสองมือ  ชนชั้นแรงงานไม่จำเป็นต้องพิชิตโลก   แค่สร้างโลกใบใหม่ที่มีเป้าหมายให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสพัฒนาเป็นมนุษย์เต็มคน  เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว


 


 


…………………………………….


อ่านจุลสารเสมอภาค ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - มิถุนายน 2551 ได้ที่นี่



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net