Skip to main content
sharethis

นายโรเบิร์ต ไวส์แมน ผู้อำนวยการองค์การ Essential Action ได้มีบทความตอบโต้การกระทำของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็น "ประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ" (Priority Watch List) ในรายงานพิเศษ 301 ประจำปี 2551


 
ในรายงานได้มีการปรับสถานะประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษอีกครั้ง พร้อมอ้างซ้ำๆ ว่าการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ของประเทศไทยนั้นเป็นมูลเหตุที่ทำให้ประเทศต้องถูกขึ้นบัญชีดังปรากฎในรายงานซึ่งระบุไว้เป็นการเฉพาะดังนี้ว่า

"แม้ว่าประเทศสหรัฐฯ จะตระหนักดีถึงความสำคัญของปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย แต่นโยบายตลอดจนการกระทำของประเทศไทยที่ผ่านมาในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาติดสิทธิบัตร กลับสร้างความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ประเทศสหรัฐฯ รอศึกษาแนวทางของรัฐบาลใหม่ของไทยต่อประเด็นดังกล่าว พร้อมหวังว่าจะได้ร่วมงานกันอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นนี้ รวมถึงด้านทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป"



เมื่อปีที่ผ่านมา สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ปรับสถานะประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ เราจึงประณามการกระทำดังกล่าวว่า "อุกอาจ ชั่วร้าย และน่าละอาย" แต่น่าเศร้าที่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น  

ประเทศไทยก้าวนำการใช้มาตรการยืดหยุ่นตามความตกลงทริปส์ อันประเทศสมาชิกต่างให้การรองรับในปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ซึ่งเป็นปฏิญญาที่ประเทศสหรัฐฯ ร่วมป็นหนึ่งในภาคีสมาชิก ทั้งนี้เพื่อช่วยลดราคายาและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงยารายการสำคัญๆ ได้ แต่แทนที่จะร่วมแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย สหรัฐฯ กลับใช้วิธีกล่าวประณามและขู่ขวัญ

เช่นนี้แล้วประเทศไทย และประเทศต่างๆ จะตีความคำกล่าวที่ระบุว่า "นโยบายตลอดจนการกระทำของประเทศไทยที่ผ่านมาในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาติดสิทธิบัตร กลับสร้างความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพในประเทศไทย" อย่างไรดี ทั้งหมดนี้หมายถึงนโยบายและการกระทำแบบไหนกันหรือ และที่สำคัญที่สุด สร้างความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องให้ใครบ้าง  



เราสามารถตีความคำกล่าวนี้ได้สองนัยยะด้วยกัน หนึ่งนั้นคือเป็นคำกล่าวเพ้อเจ้อเหลวไหล ด้วยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นั้นรู้แน่แก่ใจดีอยู่แล้วว่าไม่อาจยกเหตุผลใดมาติเตียนประเทศไทยได้ แต่ในเมื่อพี่ใหญ่บรรษัทยาต้องการให้ออกหน้า สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จึงต้องทำเช่นนี้ แม้จะเป็นการกล่าวหาที่ขาดความชัดเจนถึงขั้นที่ไม่อาจระบุได้ว่าตนรู้สึกวิตกกังวลในเรื่องใดหรือต้องการอะไรกันแน่ แต่บางทีสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ อาจมีเจตนาให้ออกมาในรูปนี้ก็เป็นได้      

แต่หากจะตีความกันอย่างตรงไปตรงมาตามนัยยะที่สอง คำกล่าวนี้ก็พอจะเข้าใจได้ กล่าวคือ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มักจะออกมาประณามการใช้มาตรกการบังคับใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่เสมอๆ อย่างน้อยหากเป็นการใช้สิทธิโดยประเทศที่มีรายได้ปานกลางและกับยาที่ไม่ใช่ยารักษาโรคเอดส์ แม้ว่าจะมีการดำเนินตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะเพียรเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกับบรรดาผู้ทรงสิทธิ หรือแม้แต่ประโยชน์ด้านสาธารณสุขที่จะเกิดตามมาเห็นๆ แต่สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็ยังคงออกมากล่าวประณามการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอยู่ดี  

ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ต้องยกเลิกการจัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ รวมถึงถอนคำอ้างถึงการประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิฯ ของประเทศไทยในทางลบออกจากรายงานพิเศษ 301 ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความสุจริตใจและกระทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างแท้จริง

ที่น่ายินดีก็คือ นโยบายสหรัฐฯ ในประเด็นการเข้าถึงยานั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะดีเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากบรรดาเอกสารความตกลงทางการค้าฉบับล่าสุดที่คณะกรรมาธิการด้านภาษีและสวัสดิการแห่งรัฐ (House Ways & Means Committee) ได้เจรจาให้มีการปรับปรุงข้อสัญญาในการเข้าถึงยา รวมถึงสัญญาณบวกจากบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนสำคัญๆ แต่ละราย     

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปี 2551 นี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะต้องเห็นประเทศๆ หนึ่งถูกขึ้นบัญชีในรายงานพิเศษ 301 จากการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ


000

หมายเหตุ: ข้อความข้างต้นนี้เป็นบทตอบโต้รายงานพิเศษ 301 ในส่วนที่กล่าวถึงประเทศไทย ในรายงานฉบับนี้ยังมีประเด็นที่น่าวิตกกังวลอีกมาก รวมถึงการยืนกรานให้ประเทศต่างๆ บัญญัติกฎหมายบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลการทดลองยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net