Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านอ.หนองแซงและอ.ภาชีไล่บริษัทเจาะเก็บตัวอย่างดินของโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีออกจากพื้นที่ พร้อมระบุโรงไฟฟ้าจะเข้ามาแย่งน้ำจากนาชาวบ้าน หนึ่งปีเสียหาย 6,200 ไร่


 


วานนี้ (28 เม.ย.) เวลา 8.30 น. ที่วัดหนองหลัว หมู่6 ต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี ชาวบ้านจากหลายตำบลใน อ.หนองแซง สระบุรี และอ.ภาชี จ.อยุธยา ได้รวมตัวกันประมาณ 200 คน เปิดการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีของบ.เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายจำกัด ที่จะก่อสร้างในพื้นที่คาบเกี่ยว ทั้ง 2 อำเภอในสระบุรีและอยุธยา โดยชาวบ้านใช้เครื่องขยายเสียงติดรถอีแต๋นเคลื่อนขบวนออกจากวัดหนองหลัว เวลา 9.00 น. โดยประกาศว่าจะไปชุมนุมขับไล่บริษัทเอกชนที่รับจ้างมาขุดเจาะเอาตัวอย่างดินในที่นาที่ บ.เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายได้วางมัดจำไว้ครี่งหนึ่งเพื่อซื้อไว้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานก๊าซ กำลังการผลิต 1700 เมกกะวัตต์ 


 


โดยนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านได้มาปรึกษากับตนและชวนตนไปชุมนุมประท้วง ว่ามีบริษัทเอกชนส่งคนงานเอาเครื่องเจาะดินมาลงในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วและชาวบ้านหลายคนไม่พอใจมากว่าได้ยื่นจดหมายคัดค้านที่กรุงเทพ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแล้ว แต่ทำไมไม่สั่งห้าม บริษัทเอกชนยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำไมส่งคนงานมาเจาะสำรวจดิน ชาวบ้านหลายคนได้เดินไปดูแต่คนงานก็บอกว่าแค่เอาดินไปส่งตรวจดูความหนาแน่นของดินเท่านั้น บริษัทของตนอยู่ที่ จ.ระยองถูกสั่งให้มาทำงานก็มาไม่รู้อะไรมากกว่านั้น


 


นายตี๋กล่าวต่อไปว่า ชาวบ้านไม่พอใจกันมากว่าบริษัทและอบต.หนองกบไม่แจ้งให้ชาวบ้านรู้ไม่ปรึกษาชาวบ้านว่าจะมีการดำเนินการเตรียมการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าซึ่งชาวบ้านจะไม่ยินยอมให้ดำเนินการ ดังนั้นชาวบ้านได้นัดรวมตัวกันไปสอบถามคนงานที่มาขุดเจาะดิน และชวนให้นายตี๋ไปด้วย


 


เมื่อชาวบ้านไปถึงบริเวณที่กำลังขุดเจาะก็สอบถามดูว่าบริษัทที่มาดำเนินการคือบริษัทเอส.ที.เอส เอนจิเนียริ่ง จำกัด มีสำนักงานอยู่ที่จ.ระยอง มีผู้ควบคุมงานชื่อนายอดิศักดิ์ ได้มาถึง ต.หนองกบตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 เมย. และเริ่มติดตั้งเครื่องจักร และเริ่มทำงานเช้าวันจันทร์ที่ 28 เมย. (วานนี้) แต่ยังไม่ทันได้ตัวอย่างดิน ก็ถูกชาวบ้านไล่ให้ออกจากพื้นที่เสียก่อนโดยนายอดิศักดิ์กล่าวว่า ได้รับคำสั่งสั่งให้เก็บตัวอย่างดินทั้งหมด 32 จุด เป็นเวลา 15 วัน แต่ในเมื่อชาวบ้านมาไล่แบบนี้ก็ต้องเก็บข้าวของออกจากพื้นที่ไป


 


นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ปรานกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม กล่าวว่า ชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้จัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมขึ้นเพราะพื้นที่สองอำเภอทั้งอ.หนองแซง สระบุรี และอ.ภาชี อยุธยานี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำนา 5 ครั้ง ในเวลา 2 ปี โดยใช้น้ำจากคลองระพีพัฒน์ ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สำหรับทำนาปรังหรือฝนทิ้งช่วง ถ้าโรงไฟฟ้าสร้างได้จะมาแย่งน้ำจากชาวนา วันละ 50,000 - 60,000 ลูกบาศก์เมตร (คิว) น้ำจำนวนนี้เท่ากับน้ำที่ชาวนาใช้ทำนาได้ 54 ไร่ โรงไฟฟ้าใช้น้ำทุกวัน เท่ากับนาชาวบ้านจะหายไปวันละ 54 ไร่ ภายในเวลา 1 ปี นาจะหายไปประมาณ 6200 ไร่ นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ชาวนายอมไม่ได้ ปัจจุบันการทำนาปรังในพื้นที่ไกลจากคลองส่งน้ำก็มีน้ำไม่พออยู่แล้วชาวนาที่นี้ถูกหนังสือเวียนให้ลดพื้นที่ทำนาปรังทุกปีเพราะชลประทานส่งน้ำมาไม่พออยู่แล้วถ้าโรงไฟฟ้าสร้างได้ชาวนาก็ยิ่งลำบากเรื่องน้ำทำนาปรัง ชาวบ้านจึงไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน







ข้อมูลพื้นฐาน ปัญหาโรงไฟฟ้าเอกชน ที่จ.สระบุรี


 


โรงไฟฟ้าที่มีโครงการจะก่อสร้างที่ พื้นที่คาบเกี่ยวอ.หนองแซง สระบุรีและอ.ภาชี อยุธยา


พื้นที่ที่ บ.เพาเวอร์เจเนอรัลซัพพลายวางมัดจำไว้ 50% มีจำนวน 300 ไร่ ที่ดินนี้อยู่ใน หมู่ 4 บ้านห้วยบ่า ต.หนองกบ อ.หนองแซง สระบุรี และ หมู่ 7 บ้านธรรมสิน ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จงอยุธยา


เป็นโครงการชื่อ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง เจ้าของคือ บ.เพาเวอร์เจเนอรัลซัพพลาย จำกัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ.กัลฟ์ ฯ เจ้าของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 บ.เพาเวอร์เจเนอรัลซัพพลายประมูลโรงไฟฟ้าหนองแซงได้เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2551 แม้ว่าจะประมูลได้ก็ต้องผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ 


และผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปี 2550


 


ขณะนี้ บ.เพาเวอร์เจเนอรัลซัพพลายได้จ้าง บ.อีอาร์เอ็มสยาม มาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ โดยบ.อีอาร์เอ็มสยามได้จ้างบ.มาเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ชื่อ บ.เอสทีเอส


เอ็นจิเนียริ่ง และคนงานเจาะดินถูกชาวบ้านขับไล่ออกไปตามข่าว


 


ชาวบ้านที่คัดค้านได้รวมกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่ อ.หนองแซง และ อ.ภาชี


ชาวบ้าน ทำนา 5 ครั้งใน 2 ปี ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นปัญหาใหญ่


รวมทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซมีไนโตรเจนไดออกไซด์ปล่อยออกสูง


และมีมวลอากาศร้อนที่ระบายออกตลอด 24 ชั่วโมงจากการเดินเครื่อง


ชาวสวนในจ.ราชบุรีที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าราชบุรี ได้รับผลเสียแบบสะสมทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย


เช่น องุ่น, ลิ้นจี่, มะเขือ,แตงกวา, ข้าวก็ให้ผลผลิตต่ำลง แต่เจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ยอมรับและทางราชการ


ก็ไม่ยอมรับ ประสบการณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากปากต่อปาก มาตลอด 2-3ปีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net