Skip to main content
sharethis


ไกรศักดิ์ ศรีพนม


www.esaanvoice.net เสียงคนอีสาน : รายงาน


 


 



 


 


นับเป็นเวลาร่วมครึ่งเดือนแล้ว ที่ประตูเหล็กบานใหญ่ทางเข้าโรงงานกำจัดขยะเนื้อที่กว่า 42 ไร่ ของเทศบาลเมืองสุรินทร์ต้องถูกปิดตายลงอย่างไม่มีกำหนดเปิด หลังจากเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านกว่า 200 คน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษซึ่งเกิดจากโรงกำจัดขยะแห่งนี้ได้จัดการชุมนุมขึ้นบริเวณประตูทางเข้าโรงงาน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน


 


ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านที่เดินทางมาจาก 4 หมู่บ้านซึ่งประกอบด้วย บ้านใหม่ บ้านว่าน บ้านตะโกและบ้านรุ่งฤาษี ต.ตระแสง อ.เมือง จ.สุรินทร์ พวกเขายืนกรานให้มีการปิดโรงงานกำจัดขยะแห่งนี้โดยทันที พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รวมถึงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา หลังจากที่พวกเขาต้องเผชิญกับสภาพปัญหาดังกล่าวมายาวนานร่วม 10 ปี


 


การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตัวเองและชุมชนในครั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเลือกที่จะชุมนุมยืดเยื้อเพื่อรอคำตอบ เนื่องจากบทเรียนที่ผ่านมาบอกกับพวกเขาว่า คำสัญญาจากทางราชการเป็นเพียงลมลวงและมีแต่ความว่างเปล่า


 


ในครั้งนี้ พวกเขาเลือกที่จะใช้สิทธิดื้อแพ่งด้วยการตั้งเต็นท์ที่พักขนาดใหญ่และขึงป้ายผ้ารณรงค์ทั่วบริเวณ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนเข้าปักหลักชุมนุมรอคำตอบด้านหน้าประตูทางเข้า จนกระทั่งรถขนขยะของเทศบาลเมืองสุรินทร์ที่มีอยู่ราว 15 คัน ซึ่งใช้ลำเลียงเศษขยะสารพัดชนิดในปริมาณวันละ 50-60 ตัน ต้องเลี่ยงไปทิ้งยังบ่อกำจัดขยะของจังหวัดบุรีรัมย์ที่อยู่ไกลออกไปร่วม 5 กิโลเมตร


 


คำมูล เย็นประโคน แกนนำชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงขยะ บอกเล่าถึงเหตุผลและความจำเป็นในการออกมาชุมนุมของตัวเขาเองและชาวบ้านในครั้งนี้ให้ฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า


 


"ก่อนที่เราจะมาชุมนุมวันนี้ เราเดือดร้อนจากปัญหาที่เกิดจากโรงขยะแห่งนี้มานานแล้ว เคยยื่นหนังสือไปถึงหน่วยงานราชการหลายครั้งตั้งแต่ปี 2549 ทั้งที่ความเป็นจริงหากดูในข้อตกลงเมื่อปี 2541 ที่พวกเราเคยร้องเรียนไปแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นมีข้อตกลงร่วมกันชัดเจนว่า โรงงานแห่งนี้ต้องยุติการทิ้งขยะภายใน 5 ปี นั่นคือเริ่มตั้งแต่ปี 2541-2546 แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่หยุดดำเนินการ ดังนั้น ในวันนี้พวกเราจึงต้องมาเรียกร้องขั้นเด็ดขาด โดยเสนอให้มีการหยุดนำขยะมาทิ้งทันที และจะขอเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาเทศบาลเมืองสุรินทร์ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและผิดสัญญามาตั้งนานแล้ว"


 


จากคำบอกเล่าของคำมูล และจากการสอบถามชาวบ้านหลายคนที่เข้ามาร่วมชุมนุม ทำให้ทราบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในปัญหาที่กำลังประสบอยู่ เนื่องจากเหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2541 และการลุกขึ้นมาถามไถ่หาความเป็นธรรมในครั้งนั้นก็ถือเป็นการต่อสู้ระลอกแรกระหว่างชาวบ้านที่นี่กับโรงขยะเจ้าปัญหา ที่ยังคงยังตามมาหลอกหลอน พวกเขาตราบจนถึงวันนี้


 



 


ย้อนกลับไปในเหตุการณ์เมื่อปี 2541


 


ครั้งนั้นภายหลังการชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลาหลายวัน ในที่สุดปัญหาที่รุมเร้าอยู่ก็ถูกนำเข้าสู่โต๊ะเจรจา จากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่า นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานานและคาดว่าทุกคนคงมีบทสรุปที่น่าพอใจร่วมกัน


 


ในขณะเดียวกันทางด้านกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจสภาพโรงงานกำจัดขยะ และมีข้อเสนอให้เทศบาลเมืองสุรินทร์ออกมาตรการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและการปรับสภาพภูมิทัศน์รอบๆ บริเวณพื้นที่ รวมถึงข้อเสนอสำคัญที่ระบุว่าเทศบาลเมืองสุรินทร์จะต้องเร่งรีบดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับและกำจัดขยะแห่งใหม่ ภายใน 5 ปี นับแต่ปี 2541 เนื่องจากในพื้นที่เดิมไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่มีปริมาณสูงถึงวันละ 50 ตันต่อไปได้อีกแล้ว


 


ถ้าหากพิจารณาตามกรอบเงื่อนไขเวลา 5 ปี ดังกล่าว นั่นก็หมายความว่า ภายในปี 2546 เทศบาลเมืองสุรินทร์จะต้องดำเนินการจัดหาที่กำจัดขยะแห่งใหม่ และลงมือปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสียไปให้ฟื้นคืนมา


แต่อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วร่วม 10 ปี ก็ดูทีท่าว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ได้รับการตอบสนองและมีผลในทางปฏิบัติ  และประเด็นนี้เองที่กลายเป็นตัวจุดชนวนให้กลุ่มชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหาความเป็นธรรมกันอีกครั้งหนึ่ง



"ชาวบ้านเดือดร้อนมานานแล้วกับที่ทิ้งขยะตรงนี้ บางคนเจ็บป่วย เป็นทั้งไข้หวัดใหญ่ ท้องร่วง คันตามเนื้อตามตัว มีแผลพุพอง ผมเองก็เป็นโรคผิวหนังด้วยเหมือนกัน เกาจนเป็นแผล ทุกวันนี้ก็ยังไม่หาย พวกเราอยากให้เอาที่ทิ้งขยะนี้ออกไปจากหมู่บ้านเสียที  เราจะไม่ทนอยู่กับมันต่อไปอีกแล้ว" น้ำเสียงของคำมูล ที่พูดถึงปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดขยะเจ้าปัญหาแห่งนี้ฟังดูเข้มขลังจริงจัง ไม่ต่างเท่าใดนักกับน้ำเสียงของสมศักดิ์ บารมี ชาวบ้านใหม่อีกคนหนึ่งที่ต้องทนทุกข์อยู่กับปัญหาเช่นเดียวกันนี้มายาวนาน


 


สมศักดิ์ เล่าถึงปัญหาที่ตนเองกับครอบครัวต้องเผชิญมานานหลายสิบปีให้ฟังว่า "บ้านของผมอยู่ใกล้ ๆ โรงขยะได้กลิ่นเหม็นขยะทุกวัน น้ำก็เสีย ลงน้ำไปก็คันไม่เชื่อพิสูจน์ได้ ส่วนเศษขยะก็ปลิวไปทั่ว แมลงวันก็เยอะ ชาวบ้านเดือดร้อนมานาน คนที่นี่เป็นโรคผิวหนังกันเยอะ จำได้ว่าตามเดิมที่มีข้อตกลงกันไว้ก็คือเทศบาลจะออกมาพบปะเยี่ยมเยียนชาวบ้าน 3 ครั้งต่อเดือน แต่ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเห็นมาสักครั้ง เพิ่งมาเมื่อ 2 วันที่แล้วตอนที่มีเรื่องกัน มาแจกยาพารา คาลาไมล์ ยาแก้เครียด เล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ไป


 


ในตอนท้ายเขาพูดเชิงน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะชาวบ้านตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งว่า "คิดไปคิดมาก็รู้สึกว่าชีวิตคนบ้านใหม่มีค่าแค่นี้เองหรือ" และในการชุมนุมที่ยืดเยื้อจนถึงวันนี้เขาก็ยืนยันหนักแน่นว่า "การชุมนุมครั้งนี้เรายืนยันว่าถ้าไม่ย้ายโรงขยะ ชาวบ้านใหม่ก็ไม่ออกจากหน้าสถานที่ทิ้งขยะเหมือนกัน"


 


นอกจากปากคำของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ความเห็นในเชิงวิชาการของ นายฮาเร็ม เจะมาริกัน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 8ว. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสภาพวิกฤตปัญหาด้านขยะในเมืองสุรินทร์ก็พบว่า ปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอย กำลังเป็นปัญหาเข้าข่ายวิกฤติ เขาให้ความเห็นว่า


 


"ในขณะนี้ที่กำจัดขยะของเทศบาลเมืองสุรินทร์ อยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากมีปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการกำจัดขยะอย่างถูกหลักให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ส่วนของเสียอันตราย โดยเฉพาะขยะพิษ ก็พบว่ายังไม่มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่เป้าหมายกำหนดให้ต้องมีการจัดการของเสียอันตรายให้ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่งเป็นปัญหาส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะโลกร้อน ความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อมและปัญหาการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป" (ที่มา : www.teenewsonline.net วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551)


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 20 วัน ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนได้ลงไปสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียน แต่นั่นก็มิได้เป็นหลักประกันที่ทำให้มั่นใจแต่อย่างใดว่า ปัญหาที่พวกเขาเผชิญมายาวนานนับ 10 ปี จะถูกคลี่คลายและแก้ไขให้หมดไป ด้วยที่ผ่านๆ มาคำสัญญาที่ได้รับมักถูกลืมเลือนจนไร้ความหมายและกลายเป็นความขมขื่นตามมามิจบสิ้น ในครั้งนี้ชาวบ้านก็เลือกที่ไม่ไว้ใจคำสัญญาที่ได้รับจากทางการแม้ว่าจะมีการเจรจาตกลงกันอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วก็ตามที


 


จากกรณีดังกล่าว อ.ดำเกิง โถทอง นักวิชาการภาคประชาสังคมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ให้ความเห็นต่อประเด็นที่เกิดขึ้นว่า


 


"ประเด็นสำคัญที่สุดและไม่น่าเข้าใจกันคือความไว้วางใจ องค์กรที่รับผิดชอบจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เนื่องจากว่าหน่วยงานของรัฐได้ทำการศึกษาข้อมูลวิจัยเรียบร้อยแล้วในปี 2551และเทศบาลก็ได้รับทราบข้อมูลแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2541 แต่ 10 ปี แล้วที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือมีข้อเตือนว่าสถานที่ทิ้งขยะแห่งนี้ใช้ได้อีก 5 ปีเท่านั้น ทีนี้ถามว่าทำไมจึงเกิดความไม่ไว้วางใจกัน ผมคิดว่าสาเหตุก็เพราะว่าองค์กรของรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านที่นั่งอยู่ตรงนี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบ และเขาไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหาเลยแต่เขากลับได้รับผลกระทบ"


 


และในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นักวิชาการท่านนี้มีข้อเสนอว่า "ตอนนี้ข้อเสนอของชุมชนมี 2 ข้อคือ 1.ยุติการทิ้งขยะโดยทันทีและถาวร 2.การแก้ปัญหาก็ควรให้คนอื่นเขารับทราบบ้างข้อเสนอ 2 ข้อนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่สมควรพิจารณาและดำเนินการให้ชุมชน เทศบาลต้องทำให้ทุกฝ่ายรู้และเข้าใจในปัญหาที่เกิดมาตั้งแต่ปี 2541คนที่มารับตำแหน่งใหม่ก็ต้องช่วยกันเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนให้ชุมชน"


 


 


ถึงวันนี้ คงไม่อาจมีใครรู้ได้ว่าบทสรุปในเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะมีก็แต่จากแววตาที่เข้มขรึมจริงจังและการชุมนุมอย่างอดทนร่วมกันตลอดหลายสิบวันที่ผ่านมาเท่านั้น ที่พอจะทำให้ดวงตาของหลายคนดูมีแววหวังขึ้นมาบ้าง  อย่างน้อยการที่พวกเขายืนยันจะชุมนุมยืดเยื้อเพื่อเฝ้ารอคำตอบที่น่าพอใจ ก็คงเป็นคำประกาศอันศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างความอบอุ่นและปลุกเร้าพลังการต่อสู้ในหัวใจของทุกคนให้คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา


 


และในขณะเดียวกันก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปฏิบัติการปิดล้อมโรงงานกำจัดขยะของมวลชนผู้เดือดร้อนกลุ่มนี้ ไม่อาจเป็นอื่นไปได้นอกเสียจากเป็นปฏิบัติการเพื่อ "ฟื้นฟูชีวิตและปกป้องสิทธิชุมชน" ของตนเองให้กลับคืนมา


 


พร้อมกันนั้นก็ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าความอดทนของพวกเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net