Skip to main content
sharethis


 25 เมษายน 2551

 


 


-1-


..ภาพตัดไปที่ชายคนหนึ่ง-มือทั้ง 2 ข้างของเขาถูกรวบไว้เหนือหัว ข้อมือทั้ง 2 ถูกมัดเข้าด้วยกันด้วยเชือก(หรือโซ่) ที่ทิ้งตัวลงมาจากเพดาน เขาไว้หนวดและเครา อาจเพราะแขนที่ถูกขึงตึง ทำให้ความยาวของเครานั้นเกือบถึงบริเวณหน้าอก เขาไม่ได้สวมเสื้อ ภาพปล่อยให้เพียงว่าเขา (ถูกทำให้) เปลือยด้านบน เจ้าหน้าที่จ้องไปที่ตาของเขา-ถามคำถามซ้ำไปซ้ำมาว่า.. Where is Daniel Pearl? ..What do you know ..Tell me whatever you know


 


แต่คำตอบนั้นมีเพียง ..I don"t know..I don"t know anything


 


จู่ๆ-พร้อมกับเสียงร้องครวญขึ้นด้วยความเจ็บปวด  ภาพเลื่อนจากข้อมือไปสู่บริเวณลำตัวอย่างรวดเร็ว และไปหยุดที่บริเวณเอวด้านหลังของชายคนนี้ เจ้าหน้าที่คนเดิมยืนอยู่ด้านหน้าของเขา..คำถามเดิมๆ ยังถูกป้อนถามซ้ำๆๆ โดยคำตอบยังเป็นคำตอบเดิมๆ ..จากมุมกล้อง-สายตาของเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณโดยการพยักหน้าให้ใครสักคนในห้องนั้น ..แล้วเสียงร้องครวญด้วยความเจ็บปวดก็ดังขึ้นอีก ..ชายคนนี้ร้องไห้.. แล้วชื่อๆ หนึ่งก็ถูกเอ่ยออกมา


 


-2-


ร่วมหนึ่งนาทีของฉาก "การสอบปากคำ"-ส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหา Daniel Pearl นักดนตรี-นักข่าวหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ซึ่งถูกลักพาตัว (และต่อมาเขาถูกฆ่าตายโดยขบวนการก่อการร้าย) ในเมืองการาจี ปากีสถาน เมื่อ 23 มกราคม 2548 ใน A Mighty Heart นี้ ก็อาจทำให้บางคนอึ้งไปชั่วขณะ


 


-3-


ต้นปี 2551 ..คำบอกเล่าบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว-ผ่านสื่อ


 


·               นักศึกษาสถาบันราชภัฏจังหวัดยะลาจำนวน 5 คน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2551  ถูกเจ้าหน้าทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวไว้ ฉก.11 โดย "...ใช้กำลังทุบตี  ใช้ปืนจ่อศีรษะเป็นการข่มขู่ ให้ยืนตากแดดเป็นเวลานาน.." เป็นการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ [1]


·               นายอามีนูดิน ครูสอนศาสนาถูกจับกุมที่โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายทรมาน ในระหว่างถูกควบคุมตัวที่ค่ายฉก. 43 อ.นาทวี โดย "..ถูกรุมทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ 5 นาย ตั้งคำถามกลับไปกลับมา ทั้งซ้อม ทั้งเตะ เหยียบ ตบหู ครั้งที่ 1 ข้างซ้าย จนหูข้างซ้ายไม่ได้ยิน, เตะบริเวณเอวด้านหลังอย่างรุนแรงจนกระอัก หายใจไม่ออก เมื่อนายอามีนูดินบอกเจ้าหน้าที่ว่าตน "หายใจไม่ออก" เจ้าหน้าที่ก็ลงมือเหยียบคอซ้ำ และกระทำการอย่างนั้นเป็นจำนวน 3 ครั้ง ติดต่อกันตรงบริเวณเดิม ใช้ปืนจ่อหัว ใช้มีดจี้บริเวณต้นคอด้วย เจ้าหน้าที่ให้นายอามีนูดินเลือกระหว่าง 2 อย่าง "มึงจะตายที่นี่" หรือ "มึงจะตายข้างนอก" "ถ้ามึงจะตายข้างนอกกูจะให้ปืนแล้วมึงหนีให้พ้น" ..." , อาการเบื้องต้นพบบริเวณคิ้วด้านซ้ายบวมช้ำ กะโหลกศีรษะช้ำ เกิดรอยช้ำบริเวณต้นแขน แผ่นหลัง ปวดบริเวณกะโหลก หูอื้อทั้ง 2 ข้าง ฯลฯ  ทั้งนี้เพื่อข่มขู่ให้นายอามีนูดินรับสารภาพคดียิงครูที่ตำบลสะพานไม้แก่น และคดีวางระเบิดที่บ้านน้ำเค็ม หมู่ 9 ตำบลบ้านนา [2]


·               นายอนันต์ กาเซ็ง, นายอามิง กาเซ็ง,นายรายู ดอคอ, นายสุกรี สา, นายมะสะกรี ลายี และนายยาผา กาเซ็ง ชาวบ้านจากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกจับและถูกควบคุมตัว ภายใต้หมายฉฉ. (หมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม และถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายฉก. 39 อ.รือเสาะ ต่อมานายยาผา กาเซ็งถูกย้ายการควบคุมตัวมาที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานีในวันที่ 21 มี.ค. 2551 ซึ่งพบว่านายยาผาเสียชีวิตในวันดังกล่าว [3] แพทย์ได้ระบุสาเหตุการตายของนายยาผา กาเซ็ง ว่า ร่างกายถูกกระแทกกับของแข็งอย่างแรง ทำให้ซี่โครงหักและลมรั่วในช่องทรวงอกด้านขวา [4]


 


 


-4-


"บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย


                                    (ว.2)  การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้


(ว.5)  ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับ หรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้"


                                    มาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับประชามติ 2550


 


โดยไม่ต้องย้อนความไปไกลนัก-ถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง-การทำร้ายร่างกายซ้อมทรมาน "ผู้ถูกเชิญตัว" (ตามหมายตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) "ผู้ต้องสงสัย" "จำเลย" หรือผู้ถูกควบคุมตัวในระหว่างการควบคุมตัวโดยรัฐ เป็นเรื่องที่มีความชัดเจนในตัวเองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


เนื่องเพราะการดำเนินคดีอาญานั้นมีความจำเป็นต้องล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในบางเรื่องเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน อันจะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ..ความสงสัยว่าใครสักคนจะกระทำความผิดทางอาญา จึงจำเป็นต้องถูกกรองและอยู่ในกรอบคิดและปฏิบัติที่ว่า..จะต้องคำนึงถึงและเคารพในสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของแต่ละคนด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา" ตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


 


-5-


วันที่ 8 เมษายน 2551  ญาติของผู้ถูกควบคุมตัว (นายอนันต์ กาเซ็ง, นายอามิง กาเซ็ง,นายรายู ดอคอ, นายสุกรี สา และนายมะสะกรี ลายี) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ว่าในระหว่างการถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีนี้ ทั้ง 5 ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจ ถือเป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตลอดทั้งการปฏิเสธสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 4, 5, 6, 29 และมาตรา 32 และเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 อีกทั้งขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนพศ. 2550.. และขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกผู้ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ควบคุมตัวมาไต่สวน .. รวมทั้งขอให้ศาลกำหนดวิธีการอันสมควรเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลทั้ง 5 คนด้วย [5]


 


ในการไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องเบิกความถึงการทำร้าย และซ้อมทรมานญาติของเขาและเธอในระหว่างที่พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ


 


-6-


วันที่ 11 เมษายน 2551 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ ฉฉ 177-182/2551 ว่า



  • ผู้ถูกควบคุมตัว 2 รายซึ่งได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 สิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นญาติ จึงระงับไป

  • ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวที่เหลืออีก 3 คนนั้น ศาลเห็นว่าผู้ถูกควบคุมตัวถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 12 และมาตรา 11(1) (หรือเป็นการควบคุมตัวโดยมีหมายควบคุมตัว) จึงเป็นการคุมขังที่ชอบด้วยกฎหมาย

  • จึงไม่มีมูลที่จะต้องดำเนินต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ ม.90 ให้ยกคำร้อง

 


-7-


แม้หนังจะไม่เปิดเผยรูปแบบการทรมานที่ถูกใช้ในการสอบสวนชายคนดังกล่าว และแม้ว่าเสียงสะท้อนความเจ็บปวดของชายคนนี้จะไม่ได้ดังขึ้นอย่างรุนแรง-ซึ่งทำให้ฉากนี้ดูเบาลง แต่เสียงร้องด้วยความเจ็บปวดก็ทำให้คนดูเข้าใจได้-เช่นนั้น


 


ไม่น่าแปลกใจ-ที่จนฉากสุดท้ายของ A Mighty Heart ไม่มีภาพหรือความใดๆ สื่อให้เห็นถึงการตั้งคำถามต่อการทรมานที่ถูกใช้ในการสอบสวน-ว่า-เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ..อาการ ติดใจ ใน scene "หนึ่งนาทีของการสอบสวน" ในหนังเรื่องนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูก(แซว)ว่าเป็นการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นของหนัง-ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง เขาเป็นนักข่าวที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ต่อสู้เพื่อค้นหาความจริง-เขารักเสียงดนตรี-เป็นสามีและพ่อ(ที่น่ารัก)ของลูกที่ยังอยู่ในครรภ์ของ Mariane หญิงสาวคู่ชีวิต ("ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราจะหลงรักใครสักคนได้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เห็นหน้าเขา") ..ชีวิตของ Danial ถูกพรากจากไปด้วยเพราะ "ความเกลียดชัง"


 


-8-


แต่ก็เพราะว่าในความเป็นจริงของชีวิตที่เราต่างก็รู้กันดีว่า-การสอบสวนที่ใช้วิธีที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการการเคารพในชีวิตและร่างกายของมนุษย์คนอื่นๆ เช่น การทรมานนี้ ..ณ ขณะที่ร่างกายรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรง-อย่างถึงที่สุด คำถามใดๆ ก็อาจได้รับคำตอบ "ยอมรับ" หรือ "ชื่อที่ถูกเอ่ยขึ้นมา" อาจเป็น "ตัวจริง" หรือ "ชื่อใครก็ได้ใครจะรู้ ..ที่สำคัญ-อาจไม่มีชื่อใครเลยที่ถูกเอ่ยถึง และอาจไม่มีการยอมรับใดๆ ทั้งสิ้น ..ขณะที่ร่างกายนั้นบอบช้ำไปแล้ว หรืออาจถูกพรากชีวิตไป


 


..การติดใจ-สงสัย-มีคำถามต่อการสอบสวนว่าจะมีการซ้อมทรมานจริงหรือเปล่า จึงควรเป็น "อาการ" ที่ควรเกิดขึ้น-มิใช่หรือ?


 


-9-


บทบาทของศาล(หรืออาจเป็นการไต่สวน) ปรากฎตัวในหนังเรื่องนี้เพียงฉากเดียว เป็นฉากที่ Omar Saeed Sheikh ให้การว่า Daniel เสียชีวิตแล้ว และในระหว่างการสอบสวน-โดยไม่มีการทรมาน เขายอมรับกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเขาลักพาตัว Daniel ไป ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า Daniel เป็นอเมริกัน ตอนท้ายของเรื่องมีการบอกเล่าว่า Omar Saeed ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และเขาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูง


 


-10-


บทบาทของศาลที่ปรากฎในคำพิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ ฉฉ 177-182/2551 มีเพียงการตรวจสอบว่าการควบคุมตัวนั้นชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ หรือ "มีหมายหรือไม่" ซึ่งคำตอบก็คือ "มี"


 


ส่วนความสงสัยต่อประเด็นที่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว มันมี "การซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวหรือเปล่า" หากพยานหลักฐานที่เปิดเผยตัวขึ้นในระหว่างการไต่สวนของศาลชี้ชัดว่า "ไม่มี"  ก็คือ "ไม่มี" แต่ถ้าหาก "มี" แล้วอะไรและอย่างไรคือ "วิธีการอันสมควรเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น" เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีการลงโทษคนกระทำความผิดหรือควรดำเนินการอย่างไรต่อ—ไม่ได้ถูกทำให้เกิดความกระจ่างชัด ..มาตรา 32 ที่อ้างอิงถึงในคำร้อง ไม่ถูกแตะ ไม่ถูกกล่าวถึงในคำพิพากษา ..ความคลุมเครือสงสัยในทุกประเด็น จึงยังคงดำรงอยู่ต่อไป


 


 


 


---------------------------------------------------------


 


 


 


[1]http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=11031&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 


[2] http://www.prachatai.com/05web/th/home/11138


 


[3] http://www.prachatai.com/05web/th/home/11807


 


[4] หนังสือรับรองการตายของโรงพยาบาลรือเสาะ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2551 และมรณบัตร คำร้องที่ 12/2551 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2551


 


[5] คำร้องคดีหมายเลขดำที่ ฉฉ 177-182/2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net