Skip to main content
sharethis


 


ความเคลื่อนไหวกดดันให้ภาครัฐแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่การแก้ปัญหาจากภาครัฐยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน และครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีปัญหา


 


แต่ดูเหมือนว่า การแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ถูกดำเนินการในบางครั้ง บางจุดเท่านั้น ที่อาจเพราะถูกเคลื่อนไหวกดดันจากกลุ่มชาวบ้าน ไม่ได้ถูกสั่งการมาจากรัฐบาล เหมือนอย่างการปราบปรามนายทุนบุกรุกป่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ยกเว้นกรณีการแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐต้องการให้เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ปัญหา ด้วยเหตุปัจจัยที่เป็นเงือนไขหนึ่งของปัญหาความมั่นคงในพื้นที่


 


กรณีล่าสุด คือ กลุ่มองค์กรชาวบ้านและพันธมิตร ได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดทับที่ดินทำกินชาวบ้านในเขตจังหวัดตรัง ในนามเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) กว่า 300 คน ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง มาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2551 และได้สลายตัวไปแล้ว เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา


 


โดยในการชุมนุมครั้งนี้ เป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมากจาก การที่เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดได้เคยจัดทำข้อตกลงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาแล้ว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินที่เกิดขึ้นกับสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด


 


อีกทั้งหลังจากนั้นเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดยังได้ทำข้อตกลงร่วมกับนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วด้วย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง และหลายครั้งที่ชาวบ้านอ้างว่า มีการละเมิดข้อตกลงด้วย


 


สำหรับสภาพปัญหาหรือข้อเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดในการชุมนุมครั้งนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่


 


ขอให้ยุติการดำนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด 4 รายที่กำลังถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติฯ ได้แก่ นายเรวัตร อินทร์ช่วย นายสมพร อินทร์ช่วย นายอัมมร บรรถะ และนายโสภณ ยอดราช ทั้งทางอาญาและแพ่ง และให้ยุติการดำเนินคดีกับสมาชิกรายอื่นๆ ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันทันที รวมทั้ง ให้ยกเลิกหนี้ที่เกิดจากการบังคับคดีด้วยโดยทันที


 


กรณีที่ยังไม่มีการจับกุมดำเนินคดี แต่แม้มีการปักป้ายตรวจยึดแล้ว หรืออุทยานแห่งชาติมีคำสั่งให้ทำลายผลอาสินในที่ดินเดิมของสมาชิกแล้วก็ตาม ก็ให้เจ้าหน้าที่ยุติการดำเนินการ และให้สมาชิกที่มีปัญหาทุกกรณีสามารถทำกินในที่ดินดังกล่าวได้ตามปกติต่อไป


 


ให้สมาชิกสามารถโค่นต้นยางพาราที่หมดสภาพจากการให้ผลผลิตน้ำยางแล้วได้ และสามารถปลูกใหม่ทดแทนได้ โดยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) ต้องให้การสนับสนุนงบประมาณตามปกติต่อไป


 


นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ราชการรับรองแผนการจัดการทรัพยากรโดยองค์กรชุมชนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดด้วย และหากเจ้าหน้าที่จะดำเนินการใดๆกับสมาชิกให้ประสานงานกับองค์กรสมาชิก สมัชชาคนจน ตามข้อตกลงเดิมที่ทำไว้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย


 


พร้อมกันนี้ สมาชิกเครือข่ายฯ ทุกคนยืนยันจะเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท. ๕) ด้วย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมีคำสั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตตำบลประเหลียน อำเภอปะเหลียน ตำบลช่อง และ ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง รับการเสียภาษีของสมาชิกดังกล่าวด้วย


 


ข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้มีการจัดทำเป็นจดหมายส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงนามโดยตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด อาทิ นางกันยา ปันกิติ นายทวี คงบัน นายเผชิญ ชูแสง และนายอำนวย ราชแก้ว


 


สำหรับผลการเจรจา ระหว่าง ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่นำมาสู่การสลายการชุมนุมนั้น ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งลงชื่อโดยนายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง 26 เมษายน 2551 สรุปได้ดังนี้


 





กรณีเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดขอให้แก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดิน และทำตามข้อตกลงฉบับวันที่ 24 เมษายน 2551 กรณีขอให้แก้ปัญหารวม 4 กลุ่มปัญหา ผู้เดือดร้อนจำนวน 13 ราย โดยที่ประชุมได้ตกลงดังนี้


 


1.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของสภาพพื้นที่โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดฝ่ายละ 10 คน เพื่อตรวจสอบพื้นที่ หากตรวจสอบแล้ว พบว่า มีสภาพใช้ประโยชน์ทำมาหากินมาก่อนปี 2541 ให้ดำเนินการดังนี้


 


รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อประสานดูแลการดำเนินการทางคดี กับพนักงานอัยการให้สมาชิกด้วย


 


รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อช่วยดูแล ประสานการดำเนินการทางการปกครองของส่วนราชการ เช่น ยกเลิกการปักป้าย ยกเลิกคำสั่งให้ทำลายผลอาสิน ยกเลิกการเรียกร้องค่าเสียหาย เป็นต้น


 


รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อประสานสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เพื่อให้ทุนแก่สมาชิกด้วย


 


2.ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน


 


3.หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ กับสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด(ครท.) ในพื้นที่ ต้องประสานงานกับศูนย์ประสานงานของเครือข่ายฯ ในพื้นที่ก่อนเข้าดำเนินการ



 


อย่างไรก็ตามแม้เครือข่ายฯ ค่อนข้างพอใจกับผลการเจรจาดังกล่าวมาก แต่พวกเขาก็เชื่อว่าสิ่งที่ได้มากกว่าการรับปากจากรัฐว่าจะแก้ปัญหาให้ เพราะระหว่างการชุมนุมนั้น พวกเขาได้เดินรณรงค์ทำความเข้าใจกับคนในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เข้าปัญหาของพวกเขา ถ้าไม่อย่างนั้น คนเมืองก็คงไม่ร่วมสมทบทุนได้กว่าหมื่นกว่าบาท


 



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net