Skip to main content
sharethis

เผยแพร่วันที่ 27 เมษายน 2551


 


แถลงการณ์


 


ขอให้รัฐบาล และสำนักงานอัยการสูงสุด เร่งดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยความจริงกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 108 ศพ วันที่ 28 เมษายน 2547


 


กรณีเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานีและที่อื่นๆ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 108 ศพในวันเดียวกัน โดยการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในหมู่ประชนทั่วไปถึงความถูกต้องชอบธรรมต่อการกระทำดังกล่าว  โดยเฉพาะการสังหารประชาชน 28 คนในมัสยิดกรือเซะ  และเยาวชนอีก 19 คนที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เพราะการ "วิสามัญฆาตกรรม" จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการที่เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันชีวิตของตนเอง หรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตราย จากการต่อสู้ของคนร้ายและจะต้องเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเท่านั้น  กรณีการเสียชีวิตของประชาชน 108 ศพจึงเป็นการตายโดยผู้อื่นทำให้ตายโดยเฉพาะเป็นความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่


 


ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้ร่วมสังเกตการณ์คดีไต่สวนการตาย(วิสามัญฆาตรกรรม) กรณีดังกล่าวมาโดยตลอด โดยได้ร่วมฟังการสืบพยานหลักฐานของทางอัยการซึ่งเป็นผู้ร้อง และญาติของผู้ตายที่เป็นผู้คัดค้าน ในเหตุการณ์ที่สะบ้าย้อยนั้นอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2547 ขณะนี้พยานฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตได้ร้องขอต่อศาลให้เรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุมาให้การเป็นพยาน ซึ่งจากหนังสือรับรองการตายระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 คนจากจำนวน 19 คนถูกยิงบริเวณศรีษะ หรือใบหน้า และส่วนใหญ่เป็นการยิงจากข้างหลัง ซึ่งการไต่สวนการตายสะบ้าย้อยครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 นี้


 


ส่วนกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 32 ศพที่มัสยิดกรือเซะอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547ในคดีหมายเลขดำที่ ช. 4 / 2547  และหมายเลขแดงที่ ช. 3/2549 โดยศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549  ว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมด 32 คนถูกเจ้าหน้าที่กระทำให้เสียชีวิต โดยมีการปะทะกัน ผู้เสียชีวิตบางคนมีมีด และปืนเป็นอาวุธ  ในจำนวนนี้มี 4 คนเสียชีวิตในเวลา 05.00 บริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ  ส่วนอีก 28 คนเสียชีวิตเมื่อเวลา 14.00 น.ในมัสยิด  ซึ่งเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการถูกกระสุนปืนและระเบิดที่อวัยวะสำคัญ ภายใต้คำสั่งการของ พลเอกพัลลภ  ปิ่นมณี  พันเอกมนัส  คงแป้น และพันตรีธนภัทร  นาคชัยยะ  ซี่งศาลปัตตานีได้ส่งคำสั่งศาลให้อัยการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติต่อไป


 


แต่จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน นับแต่ศาลปัตตานีได้มีคำสั่งดังกล่าวแล้วส่งสำนวนการไต่สวนการตายไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ แต่จนบัดนี้ ยังไม่ปรากฎว่าได้มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามจากประชาชนทั่วไปมาโดยตลอดถึงความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม และปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม   รวมถึงความโปร่งใสที่ปลอดพ้นจากการแทรกแซงในระบบยุติธรรมของประเทศไทย


 


คณะทำงานฯ  รู้สึกห่วงใยต่อปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ที่เพิ่มมากขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น  ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากความไม่เป็นธรรมที่ยังคงปรากฏอยู่  ทั้งนี้คณะทำงานฯหวังที่จะเห็นกระบวนการยุติธรรมไทยได้ทำหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรม และสามารถเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง  จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


1.ขอให้รัฐบาลยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีอย่างจริงจัง  เคารพในสิทธิมนุษยชน โดยต้องยุติการส่งสัญญาณใดๆที่จะเป็นเสมือนหนึ่งในการสนับสนุนความรุนแรง เพราะความสูญเสียในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือทรัพย์สินของฝ่ายใด คือ ความเจ็บปวดของคนร่วมแผ่นดินจึงไม่ควรนำมากล่าวเปรียบเทียบให้เกิดความแตกแยกในสังคม


 


2. ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน  ในเหตุการณ์การเสียชีวิตของประชาชนเมื่อวันที่  28 เมษายน 2547 โดยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บนพื้นฐานของความเป็นอิสระ โปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงไม่ว่าจะจากฝ่ายใดๆ  โดยต้องระลึกเสมอว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า  คือความอยุติธรรม"


 


3.ขอให้รัฐพิจารณาทบทวนการใช้กฏอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ในการควบคุมตัวประชาชน  รวมทั้งการไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมทันทีหลังการถูกควบคุมตัว อีกทั้งสถานที่ควบคุมตัวหลายแห่งมิได้เป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติ  ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมาก และบางคนต้องเสียชีวิตจากการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่


 


ทั้งนี้เพื่อให้ความยุติธรรมเป็นไปโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการยุติธรรม  เพราะคดีไต่สวนการตายนี้ นอกจากเป็นที่สนใจของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาคมโลกแล้ว ยังเป็นปมเงื่อนสำคัญของการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net