Skip to main content
sharethis


"ผมว่ารัฐมักแก้ไขปัญหายาเสพติดเหมือนกับแก้ปัญหาทางภาคใต้ คือผู้ใช้ยากำลังถูกกระทำเหมือนกับคนกลุ่มน้อย รัฐใช้วิธีจัดการแบบง่ายๆ โดยไม่ได้เคารพเรื่องของสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิของความเป็นคน"


 


องอาจ เดชา


ตามที่เมื่อ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มรณรงค์ด้านสุขภาพจาก เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีภาคเหนือตอนบน ร่วมกับกลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ และ Health Gap global access project ราว 200 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอดส์ สมัยที่ 22 (22nd Meeting of UNAIDS Programme Coordinating Board :PCB) ในระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2551 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ตัวแทนผู้ติดเชื้อ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ และนักวิชาการจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 400 คน เข้าร่วมประชุม นั้น


โดยในวันนั้น ตัวแทนกลุ่มภาคประชาสังคม ได้เข้ายื่นข้อเสนอต่อยูเอ็นเอดส์ ให้เพิ่มความสำคัญต่อนโยบายรองรับการดูแลสุขภาพประเด็นเอชไอวี/เอดส์ ให้กับกลุ่มคนเข้าถึงยาก เช่น กลุ่มชาติพันธ์ แรงงานข้ามชาติ ชายรักชาย พนักงานบริการ ผู้ต้องขัง และคนงานพลัดถิ่น เพื่อให้เข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกันคัดค้านนโยบายการประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลไทย โดยระบุว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด และได้บั่นทอนการแก้ปัญหาระดับชาติด้านเอดส์และละเมิดสิทธิอย่างหนัก


 


ซึ่ง "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ "ไพศาล สุวรรณวงษ์" ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย ว่า "ทำไมกลุ่มผู้ใช้ยา-ผู้ติดเชื้อฯ ต้องไปคัดค้านนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลไทย"


 


0 0 0 0


 


 


 


 ไพศาล สุวรรณวงษ์


ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย


 


 


อยากให้ช่วยอธิบายว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ผู้ใช้ยาฯ เกี่ยวข้องอย่างไรกับนโยบายปราบกรามยาเสพติด ?


คือนโยบายสงครามยาเสพติด มันเป็นการตอกย้ำว่า คนใช้ยาเสพติดนี่ไม่ดี ทำอย่างไรก็ได้ต้องมีการกำจัด จัดการ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ มันยิ่งไปตอกย้ำวิธีการเดิมที่เราทำกันอยู่ คือ การลงโทษ แต่รัฐพยายามบอกว่ามันเป็นการบำบัดรักษาโดยเป็นผู้ป่วย ซึ่งมันไม่จริง ต้องบอกว่าไม่จริง


 


ซึ่งจริงๆ แล้ว การรักษาของกลุ่มผู้ใช้ยาฯ ที่ผ่านมา จะเป็นลักษณะของการลงโทษ มีการนำเข้าแคมป์เป็นเวลาสิบวัน สิบห้าวัน ยี่สิบวัน ซึ่งมันไม่ง่ายแบบนั้นสำหรับคนที่ติดยามาตลอดชีวิต ที่เขาไม่เคยมีโอกาสในชีวิต ทำอะไรประสบความสำเร็จ แล้วอยู่มาวันหนึ่งต้องมาหยุดยา โดยไม่มีการสนับสนุนทางสังคม หยุดยาไม่เท่าไหร่ แต่ไม่มีการสนับสนุน ในที่สุดเขาก็ต้องหวนกลับไปใช้ พอยิ่งมีเรื่องสงครามยาเสพติด ก็ยิ่งทำให้คนเหล่านี้ยิ่งเข้าถึงบริการยากมากขึ้น เพราะปกติเขาก็ไม่ค่อยเข้าถึงอยู่แล้วกับบริการบำบัดรักษาหรือบริการก็ไม่ได้ตอบสนองเขาอยู่แล้ว


 


พอมีสงครามปราบปรามยาเสพติด เขาก็ยิ่งถูกกระทำมากขึ้น เพราะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถือกฎหมายก็จะได้โอกาสที่จะฉกฉวยหาประโยชน์จากเขา จากไปหาผู้ค้า ก็ไปหาผู้ใช้ยาก่อน แล้วจริงๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักมุ่งไปหาผู้ค้ารายย่อย ไม่ได้ไปจับผู้ค้ารายใหญ่อะไรหรอก บางทีผู้ค้ารายย่อยก็อาจเป็นผู้เสพที่ต้องขายยาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อตัวเองมีเสพ แต่ถ้าเราให้สารทดแทนหรือมาตรการการลดอันตรายที่เราเรียกร้อง คือ ยอมรับการใช้ยาของเขา แล้วก็ให้บริการเขาด้วยความเป็นคนเหมือนกัน มันก็จะช่วยค่อยๆ ให้เขาอยู่ในสังคมได้ และลดอันตรายในสังคม ลดความรุนแรงได้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศ เขาได้พิสูจน์แล้วว่า การเข้าถึงบริการของคนกลุ่มนี้ มันทำให้คดีอาชญากรรมลดลง เพราะคนกลุ่มนี้จะเข้าสู่ระบบ เราก็ยอมรับให้เขาอยู่ในระบบดูแลให้บริการเขาให้เขาเหมือนคนๆ หนึ่ง


 


หมายความว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบายแบบนี้เลย ?


ต้องบอกว่าไม่มีเลย แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ออกมา ที่บอกว่าจะปฏิบัติกับผู้ใช้ยาในฐานะเป็นผู้ป่วย แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ มันไม่ใช่ คือยังเป็นลักษณะของการลงโทษ และการไปบำบัดก็ยังต้องเสียเงิน เสียค่าใช้จ่าย ไม่ได้อยู่ในบัตรทอง ที่ผมพูดถึงคนที่ติดเฮโรอีนหรือติดสารตระกูลฝิ่น ที่ควรจะใช้ สารเมทาโดน ((methadone สารสังเคราะห์ที่นำมาใช้รักษาผู้ติดเฮโรอีนและมอร์ฟีน) เข้าช่วย ทำให้เขาไม่ต้องฉีดยา เขากินแล้วมีอาการเสี้ยนยา ไม่ต้องไปดิ้นรนหรือไปก่ออาชญากรรมที่อื่น


 


ซึ่งตอนนี้ในต่างประเทศเขาเอามาตรการพวกนี้มาใช้ แล้วมันได้ประโยชน์ แต่บ้านเรายังไม่ยอมรับเรื่องตรงนี้ หรือที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ผู้ป่วยก็ต้องไปที่คลินิกบำบัด โดยเสียค่ายาเมทาโดน จำนวน 600 บาทต่อคอร์ส หรือทุกระยะเวลา 45 วัน ซึ่งหากรัฐมองว่าพวกเขาเป็นผู้ป่วยจริง ก็น่าจะให้เขาได้รับเมทาโดนฟรี เพราะจะทำให้พวกเขาลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทางกระแสเลือดได้อีกทางหนึ่งด้วย


 


นอกจากกลุ่มผู้ใช้ยาแล้ว กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หรือกลุ่มอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ?


ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของนโยบายปราบปรามยาเสพติด มันเกี่ยวกับเรื่องเอดส์ด้วย คือผมว่าเราถึงจุดสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้ยา เพราะว่ามันเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงบริการ ตราบใดที่ยังมองคนพวกนี้เป็นคนผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยไม่มีสัญชาติ แรงงานอพยพ ดังนั้น จะเป็นไปได้ยังไงที่เขาจะเข้าถึงบริการ แต่ถ้ายอมรับเขาว่าเขาเป็นคนๆ หนึ่งว่าเขาอยู่ในเมืองไทย เราหาประโยชน์จากเขา เราก็ควรจะให้การดูแลเขาด้วย


 


เพราะฉะนั้น จึงคิดว่าประเด็นสำคัญของพวกเรา เสนอต่อยูเอ็นฯ ก็คือ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมาย คือเลิกที่จะทำให้คนเป็นคนผิดกฎหมาย ถ้าเอาหลักการของสิทธิมนุษยชนมา ไม่มีใครที่เป็นคนผิดกฎหมาย กฎหมายควรมีไว้เพื่อปกป้องมากกว่าที่จะเอามาลงโทษใครที่ไม่ได้ทำผิด


 


หลังยื่นข้อเสนอไปถึงยูเอ็นเอดส์ เขาตอบรับมาว่าอย่างไรบ้าง ?


เขาบอกว่าเขาเห็นด้วย ว่าจะต้องเอาหลักการเรื่องของสิทธิมนุษยชนเข้ามาจัดการด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องติดตาม ภาคประชาสังคมเราก็ต้องติดตามกันต่อไป


 


เมื่อพูดถึงประเด็นการเข้าถึงบริการ จุดสำคัญมันอยู่การบำบัดเยียวยา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยใช่ไหม ?


ใช่ครับ แล้วเราอยากเห็นความเป็นผู้นำของกระทรวงสาธารณสุข เพราะที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขไม่พูดให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้คืออะไร ซึ่งผู้ป่วยในที่นี้ตามความเข้าเข้าใจของผม คือ ถ้าคนใช้ยาทั่วไป ผมถือว่าเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง เพียงแต่ยามันถูกกำหนดให้ผิดกฎหมาย ทีนี้ถ้าคนที่ติดต้องพึ่งพิงยาแล้ว ผมก็มองว่าเหมือนติดบุหรี่ ติดเหล้า ต้องให้การบำบัด ไม่ควรจะไปลงโทษ ก็ควรได้รับการบริการดูแล ถือว่าเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง


 


อันนี้ทาง ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขไม่พูดให้ชัดว่าป่วยนี่ป่วยอะไร เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพ ติดเชื้อฯ ก็จะไม่ได้รับทัศนะความเห็นบวกจากผู้ให้บริการ และเมื่อมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดเข้ามาอีก มันก็ยิ่งตอกย้ำให้สังคมมีความรังเกียจคนที่ใช้ยามากขึ้น และทำให้สังคมแตกแยก ขาดความเข้าใจเรื่องยาอีก


 


หมายความว่าที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขกับ กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ร่วมมือกัน ?


ไม่เลยครับ ซึ่งจริงๆ แล้วบทบาทของ กระทรวงสาธารณสุขนั้นมีเยอะ ในกฎหมายก็ระบุไว้ว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ที่จะกำหนดว่ายาตัวไหนควบคุมหรือไม่ควบคุม มีโทษหรือเท่าไหร่อย่างไร ใครใช้ได้หรือไม่ได้ แต่ดูเหมือนสาธารณสุขยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ในเรื่องความเป็นผู้ป่วย แล้วยิ่งมีเรื่องของการระบาดของเชื้อเอชไอวี เข้ามา รวมไปถึงเรื่องสุขภาพโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น ทีบี ตับอักเสบซี ซึ่ง 50% ของผู้ใช้ยาติดเชื้อเอชไอวี นั้น 90 เปอร์เซ็นต์ล้วนติดเชื้อตับอักเสบซี แต่ดูเหมือนยังไม่ถูกให้ความสำคัญตรงนี้


 


แล้วต่อจากนี้ภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนยังไงต่อไป?


คงต้องติดตามต่อไป เราคงต้องพยายามที่จะทำงานกับทางภาครัฐ กระทรวงสาธารสุข ในส่วนตัวมองว่าเรื่องเอดส์เป็นโอกาสที่จะทำให้เรื่องต่าง ๆ ดีขึ้น ที่จะทำให้กลุ่มคนต่าง ๆ ยอมรับเขา ไม่ใช่ฉวยประโยชน์จากเขาอย่างเดียว


 


ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทยมีท่าทีอย่างไรบ้างต่อเรื่องนี้ ?


มีท่าทีไม่ดีมากๆ


 


มองปัญหายาเสพติดในเมืองไทยตอนนี้อย่างไรบ้าง ?


ความจริงต้องยอมรับว่ายาเสพติดมันไม่เคยหมดไป แต่เราจะอยู่ร่วมกับมันยังไง ทำยังไงถึงจะให้เยาวชนรู้เท่าทันมัน เพราะยาเสพติดก็เหมือนเรื่องเพศ ยิ่งยุ ยิ่งห้าม เด็กยิ่งไปลอง เสี่ยงอันตราย แต่ถ้าเราลองให้ข้อมูลเด็กจริงๆ แล้วให้เขามีข้อมูล มีสิทธิ์เลือก ผมคิดว่าเขาจะจัดการตัวเองได้ และสังคมเราจะปลอดภัยมากขึ้น ผมคิดว่า สังคมไทยที่ผ่านมาถูกตอกย้ำเรื่องยาเสพติดมานานมาก ซึ่งเราต้องช่วยกันนอกจากนั้นมันก็จะมีเรื่องของกฎหมาย เรื่องของรัฐที่อยู่เหนือกฎหมาย ที่นึกจะทำอะไรกับคนก็ทำ


 


ผมว่ารัฐมักแก้ไขปัญหายาเสพติดเหมือนกับแก้ปัญหาทางภาคใต้ คือผู้ใช้ยากำลังถูกกระทำเหมือนกับคนกลุ่มน้อย รัฐใช้วิธีจัดการแบบง่ายๆ โดยไม่ได้เคารพเรื่องของสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิของความเป็นคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net