Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข 


บรรณาธิการบริหาร


 


 


วันอันร้อนผ่าวปลายเดือนเมษายน ระหว่างที่เรารอลุ้นการเจรจาค่าจ้างขั้นต่ำของเหล่ากรรมกร สถานการณ์ทางการเมือง และเกมการเมืองอันน่าเบื่อก็ดึงเราให้คล้ายจะเข้าไปอยู่ในวังวน


 


"เว็บไซต์ประชาไท" และ "ฟ้าเดียวกัน" ตกเป็นข่าวพาดพิงในหนังสือพิมพ์ดาวสยามยุคใหม่ ในฐานะที่เสนอข่าวกรณี โชติศักดิ์ อ่อนสูง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง


 


และไม่กี่วันต่อมา ก็ปรากฏข่าวการฟ้องดำเนินคดีกับ "ประชาไท" และ "ฟ้าเดียวกัน"


 


บัดนี้ เราตระหนักดีว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเราในฐานะสื่อที่มุ่งมาดปรารถนาจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเป็นข่าวของคนตัวเล็กๆ  คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีโชติศักดิ์ กำลังถูกดึงเข้าไปในเกมการเมืองอันสามานย์เพื่อเป็นเครื่องมือเอาชนะทางการเมือง


 


น่าแปลก ขณะที่เราเปรียบพระเดชานุภาพประดุจร่มโพธิ์ร่มไทร ที่ไม่ว่าชนชาติใดเผ่าพันธุ์ไหน ไม่ว่าจะคิดเห็นต่างอย่างไร ล้วนแต่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร เรากลับจำกัดรูปแบบความจงรักภักดีไว้ไม่กี่แบบ หากไม่เป็นอย่างนั้นคือหมิ่นฯ หากไม่เป็นอย่างนี้คือไม่จงรักภักดี  


 


คู่ขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้พึงตระหนักเรื่องนี้ให้จงหนัก ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปั่นกระแสตั้งแต่สื่อทีวีเสนอข่าวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเนปาล ตามด้วยกรณีโชติศักดิ์ มาจนกระทั่งกรณีธงชาติไทยชื่อทักษิณ กระทั่งคนอย่าง สมัคร สุนทรเวช นายกฯ ต้องออกมาตอบคำถามเรื่องความจงรักภักดีหลายครั้ง ฝ่ายพันธมิตรเองก็พึงตระหนักว่า การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา อาจเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้ฝ่ายกุมอำนาจใช้เรื่องเดียวกันนี้สนองคืนได้


 


นักศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยต่างรู้ว่า ประวัติศาสตร์ของการหยิบเรื่องเบื้องสูงมาเล่น ล้วนแต่เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งสิ้น


 


อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางการเมืองแบบนี้ กลุ่มคนที่ "กลาง" หรือที่เราเรียกว่า "สองไม่เอา" นั่นเองที่จะตายก่อน เหมือนเมื่อสามสิบปีก่อน ที่ปัญญาชนจำนวนหนึ่งไม่มีที่ให้หนี ไม่ว่าจะเป็นป่า (เพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์) หรือเมือง (คืออยู่ร่วมกับเผด็จการทหาร)


 


สำหรับเรา เราไม่เอาทั้งทุนนิยมสามานย์ และชุมชนคุณธรรมสุดขั้ว


 


เราไม่เอาระบอบเลือกตั้งอำนาจนิยม และเราก็ไม่เอาประชาสังคมใต้อุปถัมภ์อำมาตย์


 


เราไม่เอาระบอบทักษิณที่แทรกแซงองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราก็ไม่เอาการรัฐประหารภายใต้เปลือกคุณธรรมประชาธิปไตย


 


เราไม่เชื่อการเลือกตั้งว่าคือทางเดียวอันชอบธรรม แต่เราก็ไม่เอาการเมืองท้องถนนที่ไม่เลือกวิธีใช้แบบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


ตลอด 4 ปีที่ประชาไทก่อตั้งขึ้น เราเผชิญกับสถานการณ์ที่พอจะทำให้เรารู้สึกได้ถึงการคุกคามน้อยครั้งมาก ไม่ว่าจะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) หรือกระทั่งในสมัยของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และในรัฐบาลนี้


 


แต่น้อยครั้งย่อมใช่ว่าไม่มี


 


เชื่อหรือไม่ ความรู้สึกถูกคุกคามครั้งแรกเกิดจากเพื่อนมิตรวงการสื่อ เมื่อเราทัดทานไม่ให้เข้าร่วมสังฆกรรมกับการรัฐประหาร


 


และอีกครั้งคือครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากสื่อบางฉบับและตามติดต่อเนื่องด้วยการปั่นกระแสในขบวนการการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เรียกตัวเองว่า "การเคลื่อนไหวภาคประชาชน" ในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"


 


เราไม่เคยลังเลที่จะปกป้องสิทธิของการชุมนุมเคลื่อนไหว และเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น และเราก็ไม่เคยลังเลที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ได้เลือกตัวแทนของเขาผ่านการเลือกตั้ง


 


ถ้าสิทธิและเสรีภาพคือดินน้ำปุ๋ยของชีวิต เพื่อการแสวงหาสัจจะและอุดมคติ


 


ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองของทุกฝ่าย กลางเดือนร้อนแต่เหน็บหนาว เราขอวิงวอนกับทุกฝ่าย


 


ขอที่เล็กๆ ให้เราได้ยืนและฝันบ้าง



 



 


……………………………


หมายเหตุ :  "ขอที่เล็กๆ ให้เราได้ยืนและฝันบ้าง" ประโยคนี้นำมาจากบทละครเรื่อง "ความฝันกลางเดือนหนาว"  โดย คำรณ คุณดิลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net