รู้เรียน "ไฟใต้" บนเงื่อนไขเก่า/ กลาง/ ใหม่ แล้ว "แลไปข้างหน้า"

ตอนนี้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ล่วงมาถึงปีที่ 4 แล้ว แม้ว่ากระแสข่าวจะดูเงียบหายไปหรือน่าหวั่นวิตกน้อยลงในการรับรู้ เปรียบกับปีแรกของเหตุการณ์แล้วสังคมค่อนข้างตื่นตัวกว่ามากจนแทบกลายเป็นเงื่อนไขล้มรัฐบาลในขณะนั้นได้เลยทีเดียว

 

แต่สิ่งที่ซ่อนลึกๆอยู่ในความเงียบบางครั้งกลับน่ากลัวกว่า การฆ่ารายวันยังคงมีต่อเนื่องบนการรับรู้ที่ชินชาสลับไปกับเหตุการณ์ใหญ่ๆที่สามารถยึดหน้าสื่อได้ในบางครั้งตามมาด้วยเสียงก่นด่าสาปแช่งไม่กี่วัน แล้วก็ต้องกลับไปหวั่นในทรวงกับการเมืองในส่วนกลางที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน

 

อย่างไรก็ตาม การทบทวนความรู้ความเข้าใจในเรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ทหารกลายเป็นเรื่องปัจจัยใหม่ในบรรยากาศปัจจุบันบนพื้นที่ นำมาสู่เงื่อนไขใหม่ท่ามกลางความบอบบางทางอารมณความรู้สึก หรือหากมองจากปัจจุบันขณะไปสู่ มีเด็กจำนวนมากกำลังเติบโตขึ้น แต่บรรยากาศแบบนี้จำทำให้เด็กๆโตขึ้นไปเป็นแบบใด ในขณะที่เงื่อนไขมาจากอดีตอย่างเรื่องวัฒนธรรมก็ยังคงส่งผลมากมายในปัจจุบันเช่นกัน เหล่านี้ยังไม่หยุดนิ่ง เกี่ยวข้องและดำเนินไปกับสถานการณ์อย่างซับซ้อน หากขาดองค์ความรู้แล้ว การมองหาจุดสิ้นสุดของปัญหาหรออแม้แต่การอยู่ร่วมกับปัญหาคงเป็นเรื่องยาก

 

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา ได้จัดสัมมนาโครงการวิจัย "อนาคตไฟใต้ สื่อ ทหาร เด็กและทักษะวัฒนธรรม" ขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับประเด็นที่สำคัญต่อปัญหาภาคใต้ในหลากมิติ "ประชาไท" เก็บความนำเสนอ

 

ไฟใต้ในสายตา"สื่อเทศ" 

จากสถานการณ์ภาคใต้ระลอกใหม่ที่เริ่มต้นด้วยเหตุการปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส วันที่ 4 ม.ค. 2547 อันนำไปสู่การดำเนินนโยบายของรัฐมากมาย แต่สุดท้ายคล้ายยึดอยู่เพียงแนวทางมาตรการด้านความมั่นคงที่เน้นการทหารหรือการควบคุมเป็นหลัก ความขาดความเข้าใจของที่มาของปรากฏการณ์รุนแรงจึงทำให้สถานการณ์บิดเกลียวเขม็ง ตึงเปรี๊ยะอย่างแข็งตัวและพร้อมสวิงกลับอย่างรุนแรงเฉียบขาด เพียงปีเดียวภาพลักษณ์สถานการณ์คล้ายถูกยกให้เทียบเท่ากับพื้นที่สงครามในประเทศอื่นๆ และ "สื่อ" ไม่ว่าจะไทยหรือเทศนั่นเองที่มีส่วนสำคัญในการตอกย้ำภาพลักษณ์เหล่านี้ การรายงานสถานการณ์สภาวะความรุนแรงควบคู่กับการตอบสนองของรัฐอย่างแข็งกร้าวถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่องและดูมืดมนอนธกาล..

 

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นดุจประกายไฟ มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มาแปรเปลี่ยนสภาพอันร้อนแรงให้อุ่นตัว ทำให้ ปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระที่พำพักอยู่ในมาเลเซีย มีความสนใจปรากฏการณ์นี้และเริ่มสำรวจทัศนะต่างประเทศต่อข้อเสนอแนะของ กอส. โดยรวบรวมจากสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษและมลายูในประเทศไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย

 

ปรางทิพย์ บอกว่า สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนับว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะแม้ว่า กอส. จะยุติการทำงานไปแล้ว แต่ข้อเสนอแนะยังคงอิทธิพลทางความคิดต่อสื่อและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ติดตามปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง

 

"สิ่งสำคัญคือจะโน้มน้าวสังคมไทยให้ยอมรับแนวทาง กอส. ได้แค่ไหน ซึ่งสำคัญกว่าการสื่อจาก ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถตัดบริบทของนานาชาติได้ เพราะในอนาคตสำหรับสถานการณ์อาจจะมีแรงดันมาจากข้างนอก ดังนั้นการศึกษาเสียงของข้างนอกควรเริ่มได้แล้ว" ปรางทิพย์ กล่าวในช่วงสรุป

 

ก่อนหน้านั้น ปรางทิพย์ อธิบายผลการศึกษาว่า สื่อในมาเลเซียค่อนข้างให้ความสนใจกับสถานการณ์ภาคใต้มากกว่าสื่อในดินโดนีเซีย เป็นไปในท่าทีที่ค่อนข้างเห็นอกเห็นใจ และให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นและการทำงานของ กอส.ในขณะที่การนำเสนอข่าวนโยบายของรัฐไทยจะได้รับความสนใจน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะสามารถใกล้ชิดและเข้าถึงแหล่งข่าวได้มากกว่า

 

กอส. ตั้งขึ้นมาในช่วงที่สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเลวร้าย ก่อนหน้านั้นเหตุการณ์ตากใบส่งผลสะเทือนถึงนโยบายพรรคการเมืองในมาเลเซียเลยทีเดียว ถึงขั้นที่มีการตั้งกลุ่มร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อแก้ปัญหาและ นายบาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังเคยเรียกร้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น อธิบายต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างอื้อฉาวในที่ประชุมครั้งหนึ่งภูมิภาคโดยระบุว่ากระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงสวนกลับอย่างแข็งกร้าวด้วยการขู่วอร์คเอาท์ ทิศทางการแก้ปัญหาจึงยังไม่มีแนวทางสันติ

 

การตั้ง กอส. จึงมีสื่อสนับสนุนจำนวนมากเพราะมีนัยยะที่ยอมรับทางเลือกที่ไม่ใช่การใช้อาวุธและการทหารเพียงอย่างเดียว เป็นครั้งแรก และสร้างความหวังขึ้น ในสื่อต่างประเทศ สายตาที่มีต่อกอส. คือทางเลือกในแนวทางสันติและได้รับการยอมรับในทางสากล แต่ถูกมองว่ามีข้อด้อยคือ การขาดอำนาจในทางปฏิบัติ และความแตกต่างทางความคิดของบุคคลใน กอส. เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจในบางเรื่อง นอกจากนี้รัฐเองก็ขาดความจริงใจในการสนับสนุน กอส. และรัฐสามารถเลือกหรือไม่เลือกใช้ก็ได้

 

สำหรับสื่อมาเลเซียซึ่งมีความใกล้ชิดกับสถานการณ์มาก ปรางทิพย์ตั้งข้อสังเกตุที่สะท้อนมาจากการนำเสนอข่าวใน  New Straits Times ว่า สื่อมาเลเซียสนับสนุนแนวทางของ กอส. และเน้นไปที่การเจรจาซึ่งเธอวิเคราะห์ต่อไปว่าอาจเป็นเพราะมาเลเซียต้องการเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่มันก็สะท้อนไปถึงความต้องการแนวทางการใช้ความสันติในการแก้ปัญหา การเสนอแนวคิด "คนกลาง" การต้องให้เข้าใจวัฒนธรรมและให้ยืนบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่สำคัญคือไม่มีการมองปัญหาภาคใต้ไปที่เรื่องการก่อการร้ายสากลซึ่งรัฐไทยนำเสนอค่อนข้างมากในระยะแรก และสถานะของปัญหายังไม่นับเป็นการคุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคเมื่อเทียบกับความขัดแย้งอื่นๆในเอเชียตะวันออกฉียงใต้

 

ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องสนใจสื่อต่างชาติในการนำเสนอข่าวภาคใต้เป็นเพราะ ข้อเรียกร้องของ กอส. ได้กลายเป็นแนวทางมาตรฐานและถูกอ้างอิงในการนำเสนอของสื่อต่างประเทศแล้ว ข้อเสนอบางประการของ กอส. ไม่ตายไปพร้อมกับ กอส. เพียงแต่ถูกจำกัดอยู่ในสื่อเล็กๆ ส่วนสื่อกระแสหลักไม่ได้สนใจข้อเสนอของ กอส. เท่าไรนัก เช่น การเสนอให้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการแรงผลักจากรัฐ แต่พอถูกบล็อกด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์และมีผู้ใหญ่ในสังคมไทยออกมาพูด สื่อก็เงียบ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สังคมไทยเรียนรู้ในการยอมรับความแตกต่างได้

 

การที่สื่อไทยเองก็ไม่ให้ความสำคัญและสังคมไทยก็ไม่เคลื่อนไหว แม้สื่อต่างประเทศจะนำเสนอก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีแรงผลักให้กับข้อเสนอ กอส. เป็นจริง

 

"สื่อไทยกับสื่อต่างประเทศต่างกัน สื่อต่างประเทศจะเข้าสู่ปัญหาด้วยกรอบสิทธิมนุษยชน แต่สื่อไทยเมื่อนำเสนอเรื่อง 3 จังหวัดจะให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เพราะแนวคิดความมั่นคงแบบรัฐไทยถูกปลูกฝังมานานจึงทำให้การนำเสนอข่าวต่างกันด้วย" ดร.พวงทอง กล่าว

 

นักรบกลับบ้าน : ประสบการณ์จากสมรภูมิ

พ.อ.หญิง พิมลพรรณ อุโฆษกิจ อาจารย์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทำงานวิจัยเรื่อง "แนวทางการแก้ปัญหาการก่อความม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทัศนะของทหารผู้ปฏิบัติการในพื้นที่" ภายใต้แนวคิดว่าทัศนะของทหารที่ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่น่าจะเป็นความรู้อีกชุดหนึ่งที่น่าจะช่วยเสริมให้เห็นทัศนะของผู้ปฏิบัติต่อปัญหาต่างๆที่ดำรงอยู่ในช่วงของการปฏิบัติได้ เช่น ช่องว่างระหว่างนโยบายและการปฏิบัติ หรือข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ เป็นต้น

 

พ.อ.หญิงพิมลพรรณ ทำการศึกษาด้วยการศึกษาแนวคิดของหน่วยทหารกองทัพบกที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วงเดือนตุลาคม 2548-2550 โดยการเก็บข้อมูลจากทั้งตัวแทนระดับสัญญาบัตรและประทวน สิ่งที่ได้จากการวิจัยคือ ทหารจะต้องทำหน้าที่ทั้งการทหารและการเมืองไปพร้อมกัน และยังมีอุปสรรคทั้งในเชิงปฏิบัติและการประสานงานในองค์กร แต่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ก็มีความเห็นว่า แนวทางสมานฉันท์ที่รัฐบาลดำเนินอยู่ผสานกับยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" เป็นหนทางแห่งความสำเร็จ

 

ทั้งนี้ พ.อ.หญิงพิมลพรรณ ได้เล่าลักษณะการทำงานของทหารว่าหากสถานการณ์ยังไม่สงบ แม้ทหารชุดหนึ่งจะได้ออกจากพื้นที่ไปแล้วตามระยะเวลาประจำการ สุดท้ายทหารก็จะถูกวนเวียนกลับมาในพื้นที่อีก ส่วนความรู้ความเข้าใจของทหารต่อสถานการณ์นั้น จะมีการอบรมก่อนการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

 

ทหารเชื่อว่า กลุ่มสำคัญที่เป็นผู้ก่อการคือแนวร่วม BRN ซึ่งจะทำงานทั้งทางด้านมวลชนและด้านกองกำลังติดอาวุธ องค์กรระดับมวลชนจะมีการชักจูงลงไปถึงระดับหมู่บ้านแต่ถ้าชักจูงไม่สำเร็จจะใช้การทำให้กลัว ส่วนกองกำลัติดอาวุธก็จะมีการจัดชุดกำลัง (RKK) หมู่บ้านละ 6 คน ใหญ่ขึ้นมาจะมีชุดคอมมานโด และผู้บัญชาการทหาร

 

สำหรับแนวทางการทำงานคือการทำตามนโยบาย แต่มีทหารลงไปในพื้นที่เยอะอาจจะใช้คำว่ายกทัพก็ได้ พ.อ.หญิง พิมลพรรณ ยืนยันว่าทหารใช้แนวทาง กอส. อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสมานฉันท์และสันติวิธี

 

"แต่ถามว่าสมานฉันท์กับใคร สมานฉันท์กับคนดี และปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบและถืออาวุธ ซึ่งกลุ่มนี้สมานฉันท์ไม่ได้" พ.อ.หญิง พิมลพรรณ กล่าว

 

เธอยังพูดถึงแนวทางการทำงานของทหารในพื้นที่ว่า ใช้วิธีการแยกปลาออกจากน้ำคือ เปิดทางให้ผู้หลงผิดมารายงานตัว ส่วนเด็กและเยาวชนใช้การเปิดโลกทัศน์ด้วยการให้ไปเรียนรู้สังคมใหม่ๆ พาไปทัศนศึกษาท้องถิ่นที่แตกต่างจากตัวเอง การพัฒนาความสัมพันธ์และช่วยเหลือประชาชน มีการตั้งกองพลทหารราบที่ 15 เพื่อประจำในพื้นที่แก้ปัญหาการหมุนเวียนกองกำลัง และคัดเลือกเยาวชนใน 3 จังหวัดมาเป็นกำลังพลในกองทัพเพื่อให้เข้าใจบทบาทของกองทัพเมื่อกลับไปคุยกับที่บ้าน และกลุ่มนี้ยังเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ทหารมีแนวทางเจรจา แต่ปัญหาที่สำคัญคือผู้ที่เจรจาอยู่ด้วยนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่

 

"จุดแตกหักไม่ได้อยู่ที่รัฐ แต่อยู่ที่หมู่บ้าน ทำอย่างไรจึงจะได้รับการยอมรับและไว้ใจ ไม่อย่างนั้นจะร่วมมือกับทหารไม่ได้ เขาถามทหารว่าทหารอยู่กับเขาทุกวันหรือไม่ แต่เขาอยู่กับโจรทุกวัน จึงต้องรู้จักพื้นที่ "

 

ด้าน พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า แม้ว่า BRN จะเป็นปัญหาและมีตัวตน แต่ปัญหาเรื่องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นเรื่องรอง การปฏิบัติการของ BRN ที่รุนแรงและแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาหรือทำไมต้องลงมือโหดเหี้ยมผิดมนุษย์เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา แต่กรณี "ตากใบ" ที่มีการตายจำนวนมากในขณะที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด

 

นอกจากนี้ นโยบายสมานฉันท์และสันติวิธีแม้เป็นแผนที่ปรากฏชัดในทางทหาร แต่ในระดับปฏิบัติอาจยังไม่เข้าใจ คิดว่าควรต้องมีทหาร ตำรวจ และพลเรือนในระดับหมู่บ้านด้วย และทหารต้องเป็นพลเรือนในตัวเอง ปัญหายาเสพติดอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะทุกมัสยิดหรือปอเนาะล้วนขานรับในเรื่องการทำนโยบายต่อต้านยาเสพติดร่วมกับเจ้าหน้าที่ ประเด็นนี้จะเป็นทางเชื่อมประสานได้

 

"เมล็ดพันธุ์เลือด ?" เด็กใต้ในฐานเหยื่อความรุนแรง

ในขณะที่ ดร.เพชรดาว โต๊ะมีนา อดีต กอส. ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็กและการเยียวยา อภิปรายว่า ประเด็นเรื่องเด็กมักเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรง แต่จะได้รับความสนใจน้อยที่สุด เด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับความสูญเสียไม่ว่าพ่อแม่ เพื่อน หรือญาติพี่น้อง มีสิ่งที่สะท้อนออกมาคือความเกลียดชังและความแค้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กกลุ่มอยู่นอกระบบการศึกษา

 

แต่สำหรับงานวิจัย "ความรุนแรงในภาคใต้กับความคิดของเด็ก:ศึกษากรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ" โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล มีมุมมองที่แตกต่างออกไป

 

ซากีย์ ทำการศึกษาเด็กในพื้นที่ที่ถูกนิยามว่า "สีแดง" โดยเลือกพื้นที่ที่มีสถิติของความรุนแรงมากที่สุดคือใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และโดยข้อจำกัดหลายด้านจึงใช้วิธีในการศึกษาการให้เด็กเขียนบทความ 3 เรื่อง คือ หมู่บ้านของฉัน โรงเรียนของฉัน และสิ่งที่ฉันอยากเป็นในอนาคต พร้อมกับให้วาดภาพประกอบ นอกจากนี้ยังมีแบบสอบถามและการพูดคุย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลึกขึ้น

 

ซากีย์ พบว่า เมื่อ 5 ปี ก่อนเหตุการณ์ เด็กๆมีความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันคือ พื้นที่หรือหมู่บ้านที่อยู่มีความปลอดภัย เพราะไม่มีเหตุการณ์อะไร แต่เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เด็กๆมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในบางครั้ง เช่น เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน หรือเมื่อต้องแต่งชุดนักศึกษาวิชาทหารจะยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยเลย

 

"ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมาก แต่เด็กจะรู้สึกว่าตนเองไปไหนมาไหนได้ตามปกติ คือรู้สึกไม่ปลอดภัยแต่วิถีชีวิตในการไปไหนมาไหนยังเหมือนดิม กลัวแต่ยังอยากไปเล่นอยู่ เพียงแต่ช่วงเวลาในการออกไปจะน้อยลง ในช่วงเวลาหนึ่งความรุนแรงไม่สามารถขโมยตัวตนของเขาไปได้อย่างสิ้นเชิง" ซากีย์ ตั้งข้อสังเกต

 

สำหรับคำถามเรื่องโรงเรียนของฉัน ซึ่งเป็นการประเมินเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน เด็กบางคนตอบคำถามด้วยการเล่าเรื่องราวระหว่างเพื่อนที่มีทั้งพุทธและมุสลิม แต่เรื่องที่น่าสนใจมากเมื่อลงไปคุยกับเด็กบางคนที่พ่อเสียชีวิตจากความรุนแรง หลังสร้างความคุ้นเคยกันมากขึ้นระดับหนึ่งแล้ว เมื่อซากีย์ถามว่า ถ้ามีโอกาสแก้แค้นจะทำหรือไม่ เด็กบางคนตอบว่า "ไม่.. ผมเชื่อกฎแห่งกรรม" ส่วนเด็กมุสลิมมักจะตอบว่า "ให้เป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า" หรือ "ไม่แก้แค้น เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหา"

 

เมื่อถามต่อไปว่าถ้ามีโอกาสได้คุยกับเขา อยากถามอะไร เด็กคนหลายคนมักจะขอถามว่า "ยิงพ่อหนูทำไม" แต่เด็กคนหนึ่งถามว่า..

 

"ยิงพ่อหนูแล้ว ชีวิตมีอะไรดีขึ้นบ้าง "

 

ซากีย์ บอกว่า คำถามนี้คงสามารถไปกระตุกต่อมความคิดของผู้กำลังก่อเหตุได้บ้าง เพราะเหมือนการตั้งคำถามกลับไปว่า มีอะไรที่จะได้จากความรุนแรงนอกจากความสูญเสีย

 

"สิ่งที่เห็นจากการศึกษา เชื่อว่าสายใยความสัมพันธ์ของชุมชนในอดีตที่เคยโอบอุ้มพื้นที่ยังไม่ขาดสิ้นไป ยังมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กที่ทำให้เหตุการณ์ไม่เลวร้ายไปเสียทีเดียว แต่ต่อไปไม่แน่ใจ ถ้ารัฐยังไม่สามารถยุติเงื่อนไขของความรุนแรงในพื้นที่ได้ และปล่อยให้เหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆก็อาจทำให้สายใยเหล่านี้ถูกกระทบได้"

 

"...การปฏิสัมพันธ์ของคนจะดีขึ้นหรือเลวลงจะต้องมีพื้นที่ เช่นเดียวกับเด็กสามารถแยกแยะได้ว่ามุสลิมไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด เพราะการมีเด็กพุทธอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน" ซากีย์ กล่าวในช่วงท้าย

 

ขัดกันฉันท์มิตร : คู่มือทักษะวัฒนธรรมชายแดนใต้

ในช่วงท้ายของการเสวนาพูดถึงหนังสือ "คู่มือทักษะวัฒนธรรมชายแดนใต้" โดย แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง นักวิชาการคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือเล่มนี้ใช้ภาษาง่ายไม่ซับซ้อน สะท้อนภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความหลากหลายและมีวิถีชีวิตที่ประสานต่อรองกันในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปให้เป็นที่รับรู้ของผู้คนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และส่วนอื่นๆของสังคมไทย และเพื่อให้เข้าใจแง่มุมของวิถีชีวิตซึ่งต่างไปจาภาพความรุนแรงที่ถูกนำเสนอรายวัน

 

แพร กล่าวว่า เป็นคนในพื้นที่และเคยคิดว่ารู้จักบ้านของตัวเองดี แต่เมื่อทำหนังสือเล่มนี้ทำให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วไม่รู้เรื่องบ้านตัวเองเลย

 

"นึกว่ารู้จักกันแต่ไม่รู้จักกันอย่างแท้จริง ไม่รู้ว่า พุทธ มุสลิม หรือคนจีนในพื้นที่เป็นอย่างไร และคนมุสลิมในพื้นที่เองก็ไม่ได้เข้าใจคนในคนต่างศาสนาเหมือนกัน"

 

แพร อธิบายว่า ตู่มือทักษะทางวัฒนธรรมมีตัวละครเป็นเด็กในโรงเรียน ซึ่งมีทั้งเด็กไทยพุทธ เด็กลูกจีน และเด็กมลายูมุสลิม และโรงเรียนเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ใช้เรียนรู้กัน แต่ในความเป็นจริงโรงเรียนยังไม่ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเลย ในหนังสือยังพูดถึงเรื่องภาษาในพื้นที่ที่ในพื้นที่เองไม่ได้มีแค่ภาษามลายูท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในภาษามลายูมุสลิมก็ยังแยกย่อยลงไปอีก เช่น ภาษาเจะห์เห ที่ใช้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น

 

หนังสือยังได้รวบรวมประเพณีในรอบ 12 เดือนของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดเอาไว้ บางประเพณีแยกออกจากกันและสามารถบอกได้ว่าใครเป็นใคร ชาติพันธุ์อะไร ในขณะที่ประเพณีหลายอย่างเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ เช่น ประเพณีมาแกแต (เลี้ยงน้ำชา) ซึ่งเป็นประเพณีการระดมเงินร่วมกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา

 

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือคู่มือทักษะทางวัฒนธรรมของแพรอีกเรื่องหนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่สามารถเล่าได้ถึง 5 แบบ สะท้อนว่าในพื้นที่เดียวกันประวัติศาสตร์สามารถถูกสร้างและถูกเล่าได้หลายแบบ

 

แบบแรกคือ ประวัติศาสตร์ชาติที่พูดถึงการปราบปรามและการแข็งข้อของปัตตานี หรือปัตตานีเท่ากับกบฎในขณะที่ประวัติศาสตร์แบบที่สองคือประวัติศาสตร์รายาแห่งปัตตานีดารุสซาลามที่เล่าถึงการต่อสู้เพื่อต่อต้านการครอบครองของสยาม

 

แพรตั้งข้อสังเกตว่าประวัติศาสตร์ทั้ง 2 แบบมีนัยยะทางการเมืองที่ต่อรองอำนาจกัน

 

ส่วนประวัติศาสตร์แบบที่สามคือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เช่น ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือประวัติความเป็นมา เรื่องเล่าการตั้งเมืองต่างๆ

 

แบบที่สี่ คือประวัติศาสตร์ของกำปงหรือหมู่บ้าน เช่น บ้านพิเทน ที่มีเรื่องเล่าว่ามีพี่น้องทหารจาม 7 คน ซึ่งลงมากับกองทัพอยุธยาแต่ไม่ได้กลับไปจึงมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่หมู่บ้านนั้น โดยมีพี่ชายคนโตชื่อ "พี่เณร" และเสียงเพี้ยนกลายมาเป็น "พิเทน" เป็นต้น ประวัติศาสตร์แบบนี้อาจสามารถบอกได้ว่า ใคร คนกลุ่มไหนมาตั้งถิ่นฐาน และสามารถบอกได้ว่าคนเป็นเครือญาติแต่สามารถข้ามรัฐข้ามชาติกันได้อย่างไร

 

แบบสุดท้าย คือ ประวัติศาสตร์บาดแผล เช่น ประวัติศาสตร์อันมีผลมาจากรัฐนิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำให้ยุ่งไปทั่วทั้งประเทศ เช่นการห้ามแต่งกายฮิญาบ คนจึงเล่าต่อๆกันมาว่าเวลานั้นมีทั้งการถลกฮิญาบผู้หญิง การเอากาปิเยาะห์(หมวกทรงกระบวกของผู้ชายมุสลิม) มาเตะเล่น ปัจจุบันเรื่องเล่าอย่างนี้ยังไม่หายไป

 

อีกบาดแผลอาจมาจากการพัฒนา เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้มีการสร้างนิคมพัฒนาตนเองโดยย้ายเอาคนอีสานมาตั้งถิ่นฐาน กลายเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของคนในพื้นที่ หรือการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ร่วมสมัย เช่น เหตุการณ์สะพานกอตอในปี 2518 (ทหารนาวิกโยธินอุ้มคนมุสลิมไปสังหารและนำศพไปทิ้งที่สะพานกอตอ แต่มีผู้รอดชีวิตมาเป็นพยานเล่าเหตุการณ์) กรือเซะ ปี 2530-2533 และ 2547 เหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 เป็นต้น ซึ่งบาดแผลเหล่านี้อาจทำให้ความเป็นมิตรทั้งไทยพุทธ จีน มลายู ที่เคยมีมาหายไป

 

แพร กล่าวสรุปตอนท้ายว่า หนังสือเล่มนี้คงไม่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ แต่ได้ให้ภาพทั้งสวยงามทั้งบาดแผลว่าที่ภาคใต้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เพราะอะไร และอาจใช้กำหนดอนาคต หรือเป็นความรู้เบื้องต้นก่อนลงไปทำงานหรือไปทำความรู้จักคนในพื้นที่ เพราะปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาของคนไทยที่ไม่รู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมอื่นอย่างแท้จริง

 

สรุป

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าโครงการวิจัยอนาคตไฟใต้ กล่าวสรุปสุดท้ายว่า สิ่งที่ต้องเข้าใจเรื่องภาคใต้คือความหลากหลาย สังคมไทยไม่ยอมรู้จักตัวเอง และหวาดกลัวตัวเอง หวาดกลัวประวัติศาสตร์บางอย่าง กลัวความหลากหลาย ทั้งที่ความหลากหลายอาจเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไม่ใช่ภัยคุกคาม

 

"อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงความหลากหลายและค้นพบหนทางแก้ไข เวลานี้อาจยังพอมีเวลาแก้ไข และทางแก้ไขต้องใช้ความรู้เท่านั้น "

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท