Skip to main content
sharethis

แรงงานอังกฤษแท้ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ค่าแรงต่ำ และการขูดรีดจากนายจ้าง เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่โดนผลกระทบจากกฎหมายควบคุมแรงงานข้ามชาติใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจภาคอาหาร ที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับให้แรงงานข้ามชาตินอกสหภาพยุโรปเข้าทำงานได้ยากขึ้น


 


ถึงแม้ประเทศอังกฤษจะเป็นประเทศที่มีความเป็นอยู่ที่ดีเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในโลก แต่ปัญหาที่ซ่อนไว้ภายใต้ความงดงามนั้น ปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันก็ปรากฏอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านแรงงานที่แรงงานนับล้านในอังกฤษกำลังเผชิญกับภาวการณ์ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากภายใต้การทำงานที่ไม่มั่นคง


 


จากรายงานศึกษาเกี่ยวกับแรงงานชิ้นใหม่ 'Hard Work, Hidden Lives' ซึ่งเป็นรายงานการศึกษางานที่ไม่มั่นคง (Vulnerable Employment) ของสภาสหภาพแรงงานอังกฤษ (Trades Union Congress: TUC) พบว่าแรงงานในอังกฤษมากกว่า 2 ล้านคน ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตการทำงาน จากการกดขี่ขูดรีดของนายจ้าง การจ้างงานที่ไม่มั่นคง


 


 


 


จอห์น, พอลลา และแซม กับงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งมีการประมาณการกันว่าแรงงานในอังกฤษกว่าสองล้านคนกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่


 


ตัวอย่างกรณีศึกษาของรายงาน ที่ได้เข้าไปสำรวจแรงงานในอังกฤษพบว่าหลายกรณีพบกับปัญหาความไม่มั่งคงของงาน การทำสัญญาผ่านบริษัทจัดหางาน สวัสดิการที่ไม่ดีหรือไม่มีเลย ตามแบบฉบับการจ้างงานเหมาช่วง..


 


สองปีหลังจากได้เข้าไปรับใช้กองทัพ จอห์นปลดประจำการและได้งานเป็นพนักงานทำความสะอาดถนน เป็นลูกจากของเทศบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่งทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ


 


ทั้งนี้จอห์นทำงานภายใต้สัญญาจ้างของทั้งเทศบาลและบริษัทจัดหางาน เขาได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการสุขภาพและไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ไม่ได้รับเงินในวันหยุด


 


เขาไม่ได้รับการฝึกฝนใดๆ ก่อนเข้าทำงาน รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันในการทำงาน รองเท้าบูทราคา 20 ปอนด์ที่เขาใช้นั้น เขากลับต้องควักเงินส่วนตัวของเขาซื้อเอง


 


ค่าแรงที่เขาได้รับนั้นก็คงยังไม่เพียงพอ ทำให้เขายังต้องทำงานพาร์ทไทม์ทำความสะอาดในที่แห่งอื่นไปด้วย


 


พอลลา คุณแม่วัย 53 ปี เธอต้องเลี้ยงลูกสองคนตามลำพัง ทำงานบนเรือเฟอร์รีของบริษัทแชนเนล (Channel) มาเป็นระยะเวลา 9 ปี ซึ่ง 8 ปีแรกนั้นเธอทำงานภายใต้สัญญาของบริษัทจัดหางาน ซึ่งได้ค่าแรงที่น้อยมากและแทบที่จะไม่ได้สวัสดิการด้านความปลอดภัยในการทำงานบนเรือเฟอร์รี


 


"ก่อนหน้านั้นฉันได้เงิน 4.10 ปอนด์ต่อชั่วโมง หลังจากกฎหมายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มันขยับมาเป็น 5.10 ปอนด์" เธอกล่าว "พวกเขาไม่จัดวันหยุดหรือเบี้ยป่วยไข้ให้ ไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้ลูกๆ ของฉันด้วย"


 


พอลลาทำงานบนเรือเฟอร์รี 14 วัน หยุด 14 วัน และในช่วงที่เธอทำงานนั้นเธอจะต้องทำงานวันละ 12 ชม. ส่วนช่วงที่ไม่มีงานนั้นเธอก็เปรียบเหมือนคนตกงานไม่มีรายได้ ทำให้เธอดำรงชีวิตและจุนเจือครอบครัวด้วยรายได้เพียงสองอาทิตย์ต่อเดือนเท่านั้น


 


แซม ช่างทำผมวัย 17 ปี เธอได้รับค่าแรง 60 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในธุรกิจที่ช่างฝีมือจะได้รับคือ 80 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เธอเข้าทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น ซึ่งนอกจากทำผมให้ลูกค้าแล้ว เธอจะต้องทำความสะอาดเก็บกวาดร้านด้วย


 


 


 


 


 


การกดขี่แรงงานในอังกฤษโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ กำลังเป็นภัยที่น่ากลัว สำหรับแรงงานในอังกฤษ
ที่มาภาพ: image.guardian.co.uk


 


กฎหมายกีดกันแรงงานข้ามชาติ


 


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 เม.. ที่ผ่านมา มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายใหม่ ที่เกี่ยวกับการควบคุมแรงงานในภาคธุรกิจอาหาร โดยมีแรงงานข้ามชาติกว่า 19,000 คน จากชุมชนชาวบังคลาเทศ, อินเดีย, ปากีสถาน, จีน และตุรกี เข้าร่วมชุมนุมที่จัตุรัส Trafalgar ในกรุงลอนดอนเพื่อคัดค้านกฎหมายนี้


 


แต่ทางรัฐมนตรีแรงงานกล่าวว่า ภายใต้ระบบใหม่นี้จะสร้างความสมดุลในปริมาณงานระหว่างชาวอังกฤษและแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานอังกฤษเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ได้


 


ส่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของอังกฤษ (The UK Border Agency) กล่าวว่าภายใต้ระบบใหม่นี้จะพยายามสร้างความเป็นธรรมระหว่างสิทธิมนุษยชนกับการป้องกันอุตสาหกรรมด้านอาหารให้กับแรงงานอังกฤษ


 


ภายใต้ข้อบังคับใหม่นี้ แรงงานข้ามชาติที่จะสามารถทำงานในอังกฤษได้ จะต้องมีพื้นเพการศึกษาที่ดี และสามารถผ่านการทดสอบของหน่วยงานรัฐ และใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว


 


อับดุล ชาอิด (Abdul Shahid) เจ้าของร้านอาหารสามแห่งในเมืองดาร์บี (Derby) หนึ่งในผู้ประท้วง ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ "พวกเราต้องการแรงงานที่ถูกกฎหมายในอุตสาหกรรมนี้ แต่กฎข้อบังคับใหม่นี้กลับเป็นสิ่งกีดกัน" ชาอิดกล่าว "เราได้ช่วยกันเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศนี้ และเรากำลังเรียกร้องหาความเป็นธรรม"


 


ทั้งนี้แนวร่วมผู้ประกอบอาหารหลากชาติพันธุ์ (The Ethnic Catering Alliance) คาดการณ์ว่ากว่า 30% ของแรงงานข้ามชาติในร้านอาหารจะเผชิญกับปัญหา จากกฎหมายที่พยายามกีดกันแรงงานนอกที่มีสัญชาตินอกสหภาพยุโรปของรัฐบาลอังกฤษ


 


 


ข้อบังคับใหม่นี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยเฉพาะในร้านอาหาร ซึ่งแรงงานจำนวนมากจะมีปัญหาในการต่อใบอนุญาตทำงาน (work permits) เพื่อทำงานต่อไปในอังกฤษ


 


ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานแถบเอเซียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ) และแรงงานจีน


 


 


 


……..


ที่มา:


 


'Hard Work, Hidden Lives' (http://www.vulnerableworkers.org.uk - เข้าดูเมื่อ 7 .. 2551)


Working lives 'intolerable' for millions in UK (The Observer - 4 May 2008)


Restaurants in migrants protest  (BBC news - 20 April 2008)


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net