Skip to main content
sharethis

โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร


 






 


บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ "กรุงเทพธุรกิจ บิซวีค"


และ "ประชาไท" ได้รับอนุญาติให้นำมาเผยแพร่ต่อ


(ชื่อเดิม: รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ห่วงใยจาก ม.เที่ยงคืน กับ 3 แนวทางดับวิกฤติ!)


 


 



 


ไม่แปลกหากจะมีนักวิชาการสักคนออกมาบอกว่า เมืองไทยกำลังจะเกิดวิกฤติถึงขั้น "นองเลือด" ในเร็ววันนี้ เพราะใครๆ ก็ดูจะมองเห็นและคาดการณ์ไปในทิศทางนั้นทั้งสิ้น


 


แต่หากนักวิชาการคนหนึ่งชี้ว่าวิกฤตการณ์ของสยามประเทศครั้งนี้ยังพอมีทางออก...นั่นย่อมเป็นความเห็นที่น่าสนใจ และจะยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีกหากเขาคนนั้นวิเคราะห์ว่า วิกฤติที่ฝุ่นตลบอยู่ ณ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งคือการปั่นสถานการณ์!


 


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีและผู้ก่อตั้งเวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชำแหละปมน่าคิดดังว่านี้


 


"สถานการณ์ในช่วงนี้ค่อนข้างซับซ้อน ผมมองว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติไม่น่าจะมี เพราะมีการไกล่เกลี่ยเรื่องผลประโยชน์ของฝ่ายทุนทั้งสองฝ่ายค่อนข้างชัดเจน แต่ที่เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งผมอยากเรียกว่า "กลุ่มผู้จัดการ" มากกว่า คือกลุ่มนี้พยายามสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง"


 


รศ.สมเกียรติ วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ที่เป็นเงื่อนไขและจะนำไปสู่การปะทะกันจริงๆ คือการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ว่าเป็นกลุ่มจัดตั้ง ฉะนั้นแนวโน้มการปะทะจึงอาจเกิดขึ้นได้หากตำรวจซึ่งรับผิดชอบการรักษาความสงบเรียบร้อยยังเพิกเฉยที่จะทำหน้าที่


 


"คนที่มาชุมนุมกันมันไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ถ้าการชุมนุมเริ่มมีปฏิกิริยารุนแรงซึ่งเริ่มจะผิดกฎหมาย ตำรวจต้องอย่าเอามือไพล่หลัง กรณีแบบนี้ถ้าเราจัดการไปตามกฎหมาย และช่วยกันสืบหน่อยว่าใครอยู่เบื้องหลังการจัดตั้ง แล้วจัดการไปตามกฎหมาย ผมคิดว่าจะบรรเทาลงไปได้ในระดับหนึ่ง" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ระบุ


 


นอกจากบทบาทของตำรวจในฐานะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้ว องค์กรวิชาชีพสื่อก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่ รศ.สมเกียรติ เรียกร้องให้แสดงบทบาทเสียที            


 


"เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็ตรงกับที่หลายๆ คนขนานนามผู้จัดการว่าเป็นดาวสยามยุคใหม่ (หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ถูกระบุว่าเป็นผู้จุดประกายความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ผมเข้าใจว่าวิธีการทางกฎหมายค่อนข้างจะจัดการได้ยากกับการเขียนยั่วยุ ฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่สื่อหรือองค์กรวิชาชีพสื่อควรจะต้องออกมา อาจจะออกแถลงการณ์บางอย่างเพื่อปรามสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการปรามโดยกลุ่มสื่อด้วยกันเอง ไม่ใช่ปล่อยให้มีนักเลงโตจากค่ายใดค่ายหนึ่งใช้ช่องทางสื่อยั่วยุ แล้วทำให้สังคมเกิดความไม่แน่นอนที่จะก้าวไปสู่ความรุนแรงในอนาคต"


 


อีกด้านหนึ่งคือสถาบันอุดมศึกษาซึ่ง รศ.สมเกียรติ ก็ตั้งความหวังไว้ไม่น้อยเช่นกัน


 


"ผมอยากเน้นไปถึงสถาบันอุดมศึกษาที่สอนทางด้านสื่อสารมวลชน สถาบันเหล่านี้จะอยู่เฉยไม่ได้กับการที่สื่อกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อกระแสความรุนแรงในอนาคต เพราะผมมองว่านี่คือความขัดแย้งส่วนตัว อาจจะระหว่างคุณสนธิ (สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) กับคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือจะใครก็ตามแต่ ฉะนั้นสถานการณ์แบบนี้จึงสามารถคลี่คลายได้"


 


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สรุปว่า หนทางที่จะก้าวพ้นวิกฤติในความเห็นของเขามีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1.ตำรวจอย่าเอามือไพล่หลัง 2.องค์กรสื่อด้วยกันต้องมีแถลงการณ์ปรามบทบาทของกลุ่มผู้จัดการ และ 3.สถาบันอุดมศึกษาที่สอนทางด้านสื่อต้องขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้สื่อสารมวลชนถูกใช้ไปในทางที่จะสร้างความหวาดกลัวในอนาคต


 


กับเงื่อนไขความรุนแรงในอีกมิติหนึ่งว่าด้วยการดึงเอาสถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือในการป้ายสีกัน และถูกนำเสนออย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่จงรักภักดี, กรณีธงชาติปักชื่อ THAKSIN, คดีของ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง รวมถึงการนำเสนอสกู๊ปข่าวที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์) นั้น รศ.สมเกียรติ มองว่า ทั้งหมดเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)


 


"เขากำลังใช้เงื่อนไขที่เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน แต่นำมาถูกผูกโยงให้เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นทฤษฎีสมคบคิด ฉะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีวิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสาร ต้องวิพากษ์วิจารณ์ และต้องรู้เท่าทัน"


 


"ถ้าไปดูเวบไซต์บางเวบ เช่น พันทิป หรือประชาไท จะเห็นว่าเวลาพันธมิตรออกมาบนท้องถนน ธงชาติเป็นอย่างไร ตรงนั้นหายไปไหน เรื่องนี้จึงชัดเจนว่าเป็นการหยิบเอาปรากฏการณ์บางอย่างมาเสนอ แล้วเก็บปรากฏการณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ จริงๆ มันก็คือวิธีการสร้างเรื่องให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายที่สร้างเรื่องนั่นเอง" รศ.สมเกียรติ ย้ำ


 


อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิชาการผู้นี้ เห็นว่าเงื่อนไขที่แท้จริงซึ่งไม่ได้ถูกปลุกปั่นหรือสร้างขึ้นมา และน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในห้วงเวลานี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากปล่อยให้พรรคพลังประชาชนเป็นผู้ยกร่างแก้ไขทั้งฉบับ จะนำไปสู่ปัญหาแบบไม่รู้จบ


 


เขาเสนอว่า รัฐบาลควร "ถอดสลัก" รัฐธรรมนูญ ด้วยการเปิดใจกว้างให้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 ชุดเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะกรรมการอิสระที่ว่านี้จะต้องไม่ฝักใฝ่หรืออิงแอบผลประโยชน์ทั้งด้านการเมือง ธุรกิจ หรือเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมา


 


"สิ่งที่ผมคาดหวังก็คือว่า กลไกการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จภายใน 1 ปีครึ่งข้างหน้า จากนั้นก็นำมาลงประชามติ โดยก่อนลงประชามติต้องมีบรรยากาศของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน แล้วกลับไปแก้ไขอีกรอบหนึ่ง จากนั้นจึงส่งให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่าง"


 


แม้ข้อเสนอของ รศ.สมเกียรติ ดูจะเป็นไปได้ยากยิ่งในรัฐบาลที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้า แต่เขาก็ชี้ชวนให้มองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อสังคมกดดันให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปการเมืองขึ้นมา และนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ได้ในที่สุด


 


"จริงๆ คุณบรรหารก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเลย แต่เป็นเพราะกระแสธงเขียวเกิดขึ้นทั่วประเทศ ฉะนั้นเงื่อนไขจึงอยู่ที่กระแสของประชาชน ถ้าปล่อยให้พรรคพลังประชาชนแก้รัฐธรรมนูญไปฝ่ายเดียว ในอนาคตย่อมเกิดการแก้กันไปมาไม่รู้จบ กระทั่งรัฐธรรมนูญขาดโครงสร้างที่เป็นหนึ่งเดียว และจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับขาดวิ่น" 


 


"ผมอยากให้เกิดบรรยากาศแบบปี 2539 ที่ธงเขียวชูทั่วประเทศ ถ้าวันนี้จะมีกลุ่มที่รื้อฟื้นกรณีแบบธงเขียวขึ้นมา แล้วเริ่มโบกธงกัน ก็จะส่งสัญญาณให้รัฐบาลรู้ว่าคุณไปต่อไม่ได้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ฉะนั้นประชาชนต้องออกมาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้น ผมไม่เคยสิ้นหวังกับเรื่องเหล่านี้ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องระยะยาว เราต้องต่อสู้เพื่อให้เขยิบก้าวไปสู่ประชาธิปไตยทีละก้าว และเราก็ทนรอไหว"


 


ส่วนคำอธิบายของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ว่ารัฐบาลคือตัวแทนประชาชนคนไทย จึงมีสิทธิแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รศ.สมเกียรติ แย้งว่า ข้ออ้างนี้เป็นความจริงแค่ไหน รัฐบาลตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่ เช่น พรรคพลังประชาชนมีตัวแทนจากภาคใต้กี่คน ส.ส.คนไหนที่เป็นตัวแทนกลุ่มเกย์ เป็นตัวแทนคนชรา หรือเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิงในประเทศไทย ฉะนั้นความเป็นตัวแทนที่รัฐบาลอ้างเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง


 


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชี้ด้วยว่า เงื่อนไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขที่น่าห่วงใยที่สุด เพราะการผ่านรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่โดยรัฐสภาจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกกฎหมายไปเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อยากให้มีการลอดช่องกฎหมายเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยถูกกฎหมายซึ่งไม่ใช่ฉบับประชาชนที่แท้จริง


 


"หากมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะถอดสลักได้ทั้งความรุนแรงและความไม่ชอบธรรมได้ พลังที่จะมาเสี้ยมเขาให้ชนกันก็จะยุติลง เพราะหลังจากลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว ย่อมไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะมาอ้างเพื่อชุมนุมต่อ ผมคิดว่าเงื่อนไขมันจะจบ"


 


และนั่นจะเป็นตอนจบของวิกฤติที่น่าจะเป็นความคาดหวังของคนไทยส่วนใหญ่เช่นกัน!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net