Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐบาลพม่าผลักดันการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ที่ไม่ได้รับกระทบจาก "นาร์กิส" ไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่นำพาต่อเสียงคัดค้านของฝ่ายต่างๆ ว่าวาระเร่งด่วนตอนนี้คือช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย คำถามสำคัญต่อรัฐไทยคือ ท่ามกลางการพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการลงทุนในอภิมหาโปรเจคทั้งหลาย ประชาชนผู้ทุกข์ยากเหล่านี้พวกเขาอยู่ตรงไหนของความสัมพันธ์อันชื่นมื่นนี้?

ข่าวคราวจากชายแดนเดินทางมาถึงเร็วกว่าที่คิด เสียงโทรศัพท์จากอีกฟากฝั่งสาละวินส่งผ่านมาบอกว่า

"......ชาวบ้านบางส่วนจากรัฐกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากพายุ เริ่มออกเดินทางมายังชายแดนไทยแล้ว ไม่มีความช่วยเหลือ ไม่มีใครรู้ว่ายิ่งอยู่ในพื้นที่ต่อไป จะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ ย่างกุ้งไกลเกินไปที่จะเดินทางไปร้องขอความช่วยเหลือ และการเดินทางไปถึงที่ก็อาจไม่มีความหมาย เพราะเราไม่ใช่คนของเขา แต่นั่นเองค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทยก็ไม่ได้เปิดรับผู้มาใหม่นานแล้ว พวกเขาจะอยู่อย่างไรกันต่อไป....."

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รู้ว่าผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีสที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา รุนแรงและท้าทายต่อการรับมือของรัฐบาลทหารพม่าที่จะจัดการและหาทางเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ คะเรนนี ก็อยู่คนละเส้นทางเดินอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ในครั้งนี้ที่ไม่ว่าใครก็ตามทั้งประชาชนพม่าโดยตรง ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือทหารพม่า ต่างก็ต้องเผชิญชะตากรรมอันมิได้ร้องขอนี้มิแตกต่าง

แต่นั่นเอง! ภายใต้ความไม่แตกต่างมีความแตกต่าง เหลื่อมล้ำซ้อนทับกระจัดกระจายไม่เป็นหนึ่งเดียว

10 พฤษภาคม 2551 ผ่านหนึ่งสัปดาห์ มีรายงานข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ทางการของพม่าว่า พม่ายังไม่พร้อมที่จะรับทีมกู้ภัยและทีมค้นหาจากนานาชาติ ในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส นอกจากนั้นยังมีข่าวเล็ดรอดออกมาให้ได้ยินว่าทีมหน่วยกู้ภัยและสื่อมวลชนจากต่างประเทศที่เดินทางถึงประเทศพม่าโดยเที่ยวบินจากกาตาร์ เมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม ได้ถูกส่งตัวกลับออกไปในวันเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลพม่าเข้าใจในตอนต้นว่าเที่ยวบินดังกล่าวเป็นเที่ยวบินบรรทุกสิ่งของจึงยอมอนุญาตให้เข้ามาในประเทศได้

ล่าสุดรัฐบาลพม่าได้ดำเนินการเร่งจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังพื้นที่ประสบภัยด้วยกำลังคนของพม่าเองแล้ว พม่ายังไม่พร้อมที่จะรับทีมกู้ภัยรวมทั้งสื่อมวลชนจากต่างประเทศ มีเพียงการยอมรับความช่วยเหลือด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลพม่ากลับใช้ความทุกข์ยากของประชาชนประสบภัย เป็นพื้นที่การโฆษณาชวนเชื่อความดีงามของตนเอง โดยการคาดแถบชื่อของเหล่านายพลในรัฐบาลบนกล่องบรรจุสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปด้วย

ตัวเลขจากทางการพม่ายืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลนกว่า 60,000 คน อนิจจา! แล้วตัวเลขที่ไม่ถูกนับ ตัวเลขจากประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เคยอยู่ในสารบบของรัฐบาลทหารพม่า ตัวเลขที่ไม่เคยมีความหมายมากกว่าการต้องปราบปรามให้ราบคาบหมดไป ตัวเลขเหล่านี้อยู่ที่ตรงไหนในการให้ความช่วยเหลือ? เพราะพายุไซโคลนไม่ได้เลือกถล่มเพียงเฉพาะประชาชนในย่างกุ้ง ซึ่งเป็นประชาชนที่อยู่ในสายตาของรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบปากน้ำอิระวดี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งประมาณ

160 กิโลเมตร ส่วนมาก 80 % เป็นชาวกะเหรี่ยงก็ถูกกวาดไปกับสายน้ำสู่อ่าวเบงกอลไม่แตกต่าง ไม่ใช่เพียงความตายที่พวกเขาต้องเผชิญ การไม่มีทั้งที่อยู่อาศัย การขาดแคลนอาหาร สิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยารักษาโรค อาจเลวร้ายกว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้ว

บางที บางที ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเลวร้ายไปกว่าเดิม พวกเขาอยู่อย่างคนที่ไร้ชีวิตมาเนิ่นนานแล้ว นานกว่าการช่วยเหลือจากนานาชาติจะเดินทางเข้ามาและมีความหมายเพียงชั่วขณะเพราะก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์พายุนาร์กิสไม่กี่วัน มีรายงานถึงความร้ายแรงจากพายุที่จะเกิดขึ้นในประเทศพม่า แต่รัฐบาลทหารพม่าก็เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ และปล่อยให้ผ่านเลยไป เพื่อนกะเหรี่ยงคนหนึ่งแอบสันนิษฐานเล่นๆ แต่แววตาจริงจังว่า

"หรือเป็นเพราะว่าทิศทางที่พายุพัดผ่านพาดมาคือ ร่างกายของประชาชนกะเหรี่ยง ประชาชนที่รัฐบาลพม่าไม่เคยรับรู้การมีอยู่ของพวกเขามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว การช่วยเหลือของนานาชาติไม่มีความหมายสำหรับรัฐบาลทหารพม่าหรอก เขาร้ายกว่าที่คนภายนอกจะรู้และเข้าใจ"

รายงานสนามขององค์กรที่ทำงานในพื้นที่กะเหรี่ยงตอกย้ำว่าตั้งแต่ปี 2549 จวบจนปัจจุบัน การโจมตีของทหารพม่าในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงไม่เคยหยุดหย่อนกลับเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ชีวิตเด็กๆ IDPs (Internally Displaced Persons) อย่างน้อย 15,000 คน ชีวิตที่ถูกเรียกว่า"ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ" ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกรัฐบาลพม่ากดดันให้ต้องอพยพออกจากหมู่บ้านและหลบซ่อนตามผืนป่าของประเทศตนเอง เติบโตขึ้นมาภายใต้ความตื่นตระหนกและหวาดกลัวทั้งยามหลับและยามตื่น ชีวิตที่รู้จักแต่สิ่งที่เรียกว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วย การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย การขาดการศึกษา

ไม่หรอก ไม่หรอก ใครบางคนแอบกระซิบให้ดีใจว่า เมื่อพายุผ่านไป ฟ้าหลังฝนครั้งใหม่จะงามตา

ในประเทศไทย พี่น้องของเราที่เดินทางมาทำงานที่นี่ทำให้รู้ว่า อย่างน้อยเราไม่เดียวดาย ความห่วงใยข้ามขอบฟ้าไม่เคยหยุดนิ่งเพียงเส้นพรมแดน แม้สิ่งของบรรเทาทุกข์จะยังเดินทางหรือจะไม่มีโอกาสเดินทางมาถึง แต่เราก็จะสู้ ก็จะอยู่ต่อไป

พวกเขาประกอบด้วยพระสงฆ์ แรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งหญิงและชายจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านพม่า ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจไทย-พม่าเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน -Thai Burmese committee for assistance to cyclone disaster victims (temporary) โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งผ่านความช่วยเหลือทั้งในรูปของเงิน ยา เสื้อผ้า อาหารแห้ง น้ำ และอื่นๆ จากประชาชนในประเทศไทยไปยังประชาชนที่ประสบภัยในประเทศพม่า โดยพระสงฆ์จากประเทศพม่าที่มาศึกษาเล่าเรียนที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจะเป็นผู้นำกลับไปด้วยตนเอง

นอกจากนั้นแล้วกระแสความห่วงใยและยอดเงินบริจาคจากประชาชนในประเทศไทยกลุ่มต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล บางพื้นที่แถบชายแดนสามารถระดมเงินช่วยเหลือได้ภายในวันเดียวนับล้านบาท ดูราวกับว่าในภาวะยากลำบากเช่นนี้คงมีแต่ประชาชนกับประชาชนเท่านั้นที่ห่วงใยกันและกัน คงมีแต่ประชาชนที่เป็นทุกข์ร้อนและช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน เหตุการณ์ความห่วงใยซึ่งกันและกันเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเหตุการณ์การปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนพม่า ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลในเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว

ในทิศทางตรงกันข้ามท่ามกลางสภาวะวิกฤติและความทุกข์ยากของประชาชนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ แต่ท่าทีของรัฐบาลพม่าต่อประเด็นดังกล่าวกลับค่อนข้างจะหวาดระแวงกับกระบวนการช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ และได้ผลักดันให้เกิดการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิสไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยไม่นำพาต่อเสียงคัดค้านของฝ่ายต่างๆ ที่เห็นว่าวาระเร่งด่วนตอนนี้ คือ ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วต่อประชาชนผู้ทุกข์ยากในพื้นที่ประสบภัย

พายุไซโคลนนาร์กีสได้กระพือพัดผ้าคลุมทางการเมืองที่ปกคลุมพม่าให้ปลิวหายและเปิดเผยให้เห็นภาวะการเมืองและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าค่อนข้างจะชัดเจน ว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าดูจะใส่ใจและกังวลใจกับความทุกข์ยากของประชาน้อยกว่าภาวะความมั่นคงทางการเมืองของตนเอง

คำถามสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและพม่าในยุคชื่นมื่นของรัฐบาลสมัยนี้ก็คือว่า ท่ามกลางการพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการลงทุนในอภิมหาโปรเจคทั้งหลาย ใครกันเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์? ประชาชนผู้ทุกข์ยากเหล่านี้พวกเขาอยู่ตรงไหนของความสัมพันธ์อันชื่นมื่นนี้? หลายครั้งที่อภิมหาโครงการของเพื่อนบ้านกลับกลายเป็นอาวุธทำร้ายประชาชนในพม่า บทเรียนจากภัยพิบัติครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นภาวะความเป็นจริงที่ซ่อนเร้น ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และความสงบสุขของประชาชนในภูมิภาคนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนโยบายความสัมพันธ์ไทย-พม่ามองไปที่ประชาชนมากขึ้น ผู้บริหารประเทศเงยหน้ามองไปที่ความเดือดร้อนของชาวบ้านมากกว่ามองเพียงสัญญาทางการลงทุนและแก้วไวน์ของตนเอง

หรือเอาเข้าจริงๆ แล้วคงมีแต่ประชาชนกับประชาชนเท่านั้นที่จะเข้าใจหัวอกที่ทุกข์ระทมเหมือนกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net