Skip to main content
sharethis

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและพรุบาเจาะ - ไม้แก่น หรือโครงการเขื่อนสายบุรีเดิม เป็นหนึ่งในหลายโครงการรัฐที่ถูกประชาชนคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกไว้ก่อน


วันนี้โครงการดังกล่าว กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ ที่บ้านกะดูตง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา


แน่นอน "รามัน" เป็นส่วนหนึ่งของชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ขณะนี้ แต่ภาครัฐก็ยังจะรื้อฟื้นขึ้นมา โดยเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำ ตามที่ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการ


โดยการดำเนินการขณะนี้คือ สำนักงานก่อสร้าง 11 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมชี้แจงให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ,นักการเมือง,ผู้นำศาสนาและราษฎร โดยจะทำความเข้าใจ ชี้แจงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ


"หากผู้นำท้องถิ่นและราษฎร เห็นชอบประโยชน์ของโครงการโดยไม่คัดค้าน กรมชลประทานจะทำเรื่องทบทวนขออนุมัติเปิดโครงการฯดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป"


ในเอกสารสรุปโครงการระบุรายละเอียดและความเป็นมาฉบับล่าสุด ระบุว่า เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดยะลา, ปัตตานีและนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2528 ความว่า


"ควรพิจารณาสร้างเขื่อนทดน้ำในลำน้ำสายบุรีตอนล่าง บริเวณอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อจัดหาส่งน้ำในพื้นที่ เพาะปลูก สองฝั่งแม่น้ำสายบุรีตอนล่าง ในเขต อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และในเขต อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรในเขตโครงการสามารถ ทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี นอกจากนี้ยังช่วยให้ราษฎรในเขตโครงการจนจรดชายทะเล มีน้ำจืดไว้ใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปีอีกด้วย"


ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2530 กรมชลประทาน ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างเป็นประธาน เพื่อจัดทำรายงานความเหมาะสมและศึกษารายละเอียดโครงการ ให้สอดคล้องกับพระราชดำริดังกล่าว โดยวิเคราะห์อัตราตอบแทนต่อทุนร้อยละ 13.8 สมควรได้รับการพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง


ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2535 ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานเพิ่มเติมดังนี้


"ควรเร่งรัดงานก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เสร็จโดยเร็ว และควรพิจารณาความเป็นไปได้  ได้ในการขยายระบบส่งน้ำทางฝั่งซ้ายไปช่วยเสริมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองน้ำจืด - คลองแฆแฆ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ด้วย"


ปี พ.ศ.2535 - 2536 ได้มีกลุ่มราษฎรร่วมกับสมัชชาคนจนรวมตัวกันประท้วง และต่อต้านโครงการฯ เป็นเหตุให้โครงการต้องชะลอการดำเนินการไว้ก่อน


คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 ให้ยกเลิกการดำเนินการโครงการเขื่อนสายบุรี จังหวัดยะลาไว้ก่อน


วันที่ 31 ตุลาคม 2540 กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พอล คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วเสร็จ เมื่อเดือนมกราคม 2542 พบว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง และโครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น ควรดำเนินการด้วยกัน น่าจะได้ประโยชน์คุ้มค่าและควรก่อสร้างโดยเร็ว


เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) มีนโยบายจะพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส) เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร และลดปัญหา ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของราษฎรดียิ่งขึ้น เห็นควรทบทวนการดำเนินการสองโครงการนี้อีกครั้ง โดยให้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประกอบกับดำเนินการโครงการใหม่อีกครั้ง เพื่อยังประโยชน์ให้กับราษฎรในพื้นที่ที่เสียโอกาสมาระยะหนึ่งแล้วได้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในชีวิตให้ดียิ่งขึ้น



ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล รัตนดากุล ประธานโครงการพิพิธพันธ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี


นอกจากนี้ข้อมูลโครงการเพิ่มเติมที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักโครงการขนาดใหญ่ http://web.rid.go.th/lproject/lsp13/con_s/prawat_s.htm ระบุเหตุผลการคัดค้านโครงการของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า เนื่องจากเกรงว่า พื้นที่โครงการบางส่วนอาจซ้อนทับกับสุสานอิสลาม และเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน และจัดทดแผนการจัดการทรัพยากรน้ำบริเวณลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างอย่างเป็นระบบเสียก่อน


สำหรับลักษณะการดำเนินการ เป็นโครงการประตูระบายน้ำและทดน้ำ ทำหน้าที่ทดน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ ฝั่งขวา เข้าสู่คลองซอยและคลองแยกซอยไปยังพื้นที่เพาะปลูก พร้อมอาคารประกอบ ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำเป็นบานโค้งขนาดช่องกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.00 เมตร จำนวน 8 ช่องโดยจะสร้างในช่องลัดขุดขึ้นแทนลำน้ำเดิม ร่องน้ำในช่องลัดมีความยาวประมาณ 1,100 เมตร


งบประมาณโดยรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท


ส่วนวัตถุประสงค์โครงการ คือ เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการฯ พัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุนและสภาพสิ่งแวดล้อม ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่


นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง ป้องกันไฟไหม้พรุในพื้นที่โครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น ลดปัญหาดินเปรี้ยวและน้ำเปรียว เพิ่มผลผลิตการเกษตรให้ราษฎรและป้องกันผลกระทบของน้ำเปรี้ยวต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ให้แก่ราษฎรให้ดีขึ้น


ในส่วนผลกระทบโดยทั่วไป คือ ลักษณะการเก็บกักน้ำที่ +12.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง น้ำท่วมในฤดูฝนอยู่ที่+16.40เมตร จากการศึกษาการก่อสร้างบริเวณบ้านกะดูนงในฤดูฝน พบว่าน้ำจะท่วมขังเมื่อก่อสร้างเสร็จฤดูแล้งน้ำที่เก็บกักไว้ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ในฤดูฝนจะบรรเทาการท่วมให้น้อยลงหรือไม่ท่วมเลย ถ้ามีน้ำท่วมขังจะระบายน้ำออกโดยเร็ว ซึ่งสภาพจะดีกว่าปัจจุบัน


ส่วนด้านป่าไม้ไม่มีผลกระทบ กลับเป็นผลดีเมื่อทดน้ำไว้ จะทำให้ป่าบริเวณตลิ่งมีน้ำไว้ซึมซับตลอดปี การประมงไม่กระทบ เมื่อเทียบกับการทดน้ำไว้จะทำให้ปลาชนิดต่างๆ ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตเร็ว เป็นการรักษาความสมดุลของระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรี เพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำสายบุรี และสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี


สภาพลำน้ำต้นน้ำอยู่ในเขตนราธิวาสไหลผ่านจังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานี มีปริมาณการไหลของน้ำตลอดปีสูง ความยาวลำน้ำรวม 186 กิโลเมตร


ผู้รับผิดชอบโครงการ สำนักงานก่อสร้าง 11 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน สถานที่ทำการ ปณ 11 ปณท.หาดใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90114 โทร 0-7455-6356 แฟ็กซ์ 0-7455-6357


นอกจากนี้ ในเว็บไซด์ http://web.rid.go.th/lproject/const/project/13lumruyai/saiburi.html ของสำนักโครงการขนาดใหญ่ ระบุด้วยระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2553 - 2560


ในส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล รัตนดากุล ประธานโครงการพิพิธพันธ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งคัดค้านโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น


เขามองว่า ที่ผ่านมาระบบชลประทานของรัฐไม่ได้ทำประโยชน์ให้ชาวบ้านเลย กลับยังส่งผลกระทบต่อการเกษตรของชาวบ้านด้วย เช่น ทำให้ที่นาที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับไม่ได้ผล เพราะการไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งคนในพื้นที่มีคำเปรียบเทียบโครงการชลประทานว่า รื้อหลังคาบ้านนี้ เพื่อเอาไปสร้างบ้านโน้น


เขาอธิบายว่า นั่นก็คือ ต้องการดึงน้ำจากแม่น้ำสายบุรี เพื่อไปหล่อเลี้ยงพรุบาเจาะ - ไม้แก่น เนื่องจากที่ผ่านมา มีการขุดคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่ป่าพรุ แต่กลับส่งผลกระทบทำให้เกิดเป็นพิษ ทำให้ดินเปรี้ยว ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องดึงน้ำจากที่อื่นมาล้างพิษออกไป


นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล ยังเสนอให้กรรมชลประทานจัดทำวิจัยกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจังด้วย เพราะกรมชลประทานมีศักยภาพอยู่แล้ว บางทีอาจจะพบคำตอบว่า ชาวบ้านอาจเห็นด้วยก็ได้ แต่อาจต้องใช้เวลามากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ตังโจทย์ลอยๆว่า ต้องการน้ำหรือไม่ เพราะใครๆก็ต้องการน้ำอยู่แล้ว


"อันที่จริงไม่จำเป็นต้องสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ก็ได้ แต่ต้องให้เป็นไปตามที่ชาวบ้านต้องการ จึงจะได้ผล เช่น การสร้างคลองส่งน้ำขนาดเล็กไหลไปตามแนวที่ชาวบ้านชี้ ซึ่งมีตัวอย่างแล้วว่าได้ผล แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนั้น"


ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล กล่าวอีกว่า อีกอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาการที่กรมชลประทานส่งคนไปประกบตัวต่อตัวกับแกนนำกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับการขอความเห็นโครงการ ส่งผลให้คนในพื้นที่มีความหวาดระแวงกันด้วย ไม่น่าจะใช้วิธีการเช่นนี้ แต่ต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด อย่างที่เสนอไปแล้ว


นับเป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่จะท้าทายไฟใต้อย่างน่าดู หากสถานการณ์ไม่สงบลงเสียก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net