Skip to main content
sharethis

"สื่อมวลชนที่ไม่เป็นคุณกับประชาธิปไตย เครดิตจะตกต่ำ เช่นในอดีตอย่างกรมประชาสัมพันธ์ หรือสื่อรัฐเช่นวิทยุยานเกราะ พอหลังเหตุการณ์ เราจะพบว่าความทรงเกียรติ คุณค่าอันสำคัญของสื่อต่อสังคมมันจะตกในระยะยาว" บทสัมภาษณ์อาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่น่าสนใจ ใน "แทบลอยด์ ไทยโพสต์"

 

จดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เตือนอันตรายของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสื่อที่ไม่รับผิดชอบสร้างความโกรธแค้นเกลียดชัง ปลุกปั่นสถานการณ์ โฆษณาชวนเชื่อเป็นกระบอกเสียงของฝักฝ่ายทางการเมือง ให้ร้ายใส่ความคู่ต่อสู้

 

แม้จะลงชื่อนักวิชาการเพียง 2 คน แต่ก็สั่นสะเทือนไปทั้งวงการสื่อ เพราะชื่อของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้ยึดมั่นในสันติวิธี และ "อาจารย์ย่า" อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงสื่อ ในฐานะผู้พยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมาตลอด รวมทั้งในยุคทักษิณ

 

แต่วันนี้นักวิชาการทั้งสองระบุชัดเจนว่า "ขณะที่เสรีภาพสื่อต้องได้รับการปกป้อง สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้สื่อใช้อำนาจของตนอย่างฉ้อฉลจนอาจนำไปสู่ความรุนแรง"

 

อาจารย์สองท่านอาจเหมือนผู้นำร่อง เพราะต่อมาก็มีคำแถลงของนักวิชาการ เครือข่าย NGO ร้อยกว่าคน ประณามสื่อในเครือผู้จัดการที่ยุยงให้ทำร้ายผู้เข้าสัมมนาเรื่องสิทธิมนุษยชน  และบุคคลที่ไม่ยอมยืนในโรงภาพยนตร์ ซึ่งคล้ายกับการกระทำของฝ่ายขวาจัดก่อน 6 ตุลา

 

แต่ถามว่า "สื่อเป็นพิเศษ" จริงๆ แล้วหมายถึงเฉพาะสื่อเครือเดียวหรือไม่ เพราะ อ.ชัยวัฒน์ กับ อ.อุบลรัตน์ ก็ชี้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อกำลังเฉยเมยต่อการละเมิดจรรยาบรรณ

 

ไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตย

"ตั้งใจเรียนถึงสภาการหนังสือพิมพ์  เรียนถึงสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์  วันนี้ก็ออกมาว่ากำลังเอาเข้าที่ประชุม และแนบหนังสือนำไปอีก เรียนเสนอและเรียนฝากให้พิจารณา เพราะเหมือนจดหมายร้องทุกข์ของคนอ่านคนดู ว่าอยากให้ลองทำเป็นลักษณะตรวจสอบกันเอง เพราะถือเป็นสถาบันอันทรงเกียรติของสังคมเช่นเดียวกัน ถ้ามีอะไรก็อยากให้พูดจากันเองภายในก่อน และอาจจะเป็นเรื่องดีถ้ามีการหยิบยกขึ้นมาพูดกัน  ถามว่าปฏิกิริยาเท่าที่ทราบจากตรงนี้ก็เฉยๆ และก็รอฟังข่าวต่อ"

อาจารย์ย่าพูดถึงจดหมายเปิดผนึก และการตอบรับขององค์กรวิชาชีพ

 

เมื่อถามว่า "สื่อเป็นพิษ" ของอาจารย์ หมายความเฉพาะค่ายเดียวหรือ เพราะสภาพความเป็นจริงดูเหมือนจะไม่ใช่แค่ค่ายเดียว

 

"จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ตั้งใจระบุว่าเป็นใคร แต่ว่ามองเป็น 2 ซ้อน คือมีตัวอย่างให้เราเห็นเป็นรูปธรรมว่าไปสร้างอคติมากๆ เข้า สร้างความโกรธเกลียดกันมากๆ ไปเสริมความรุนแรง แต่เรามองในภาพรวมว่าถ้าสื่อส่วนใหญ่สามารถที่จะลดทอนอคติหรือความหมองหมางใจกันบ้าง  จากเหตุการณ์ 2 ปีกว่ามาแล้ว มันก็อาจจะค่อยๆ ลดทอนความรู้สึกที่วัดกันเป็นมิลลงไปได้บ้าง (หมายถึงการวัดว่าใครอยู่ขั้วไหน) เพราะมันเป็นช่วงการเรียนรู้ สื่อจำนวนหนึ่งก็พร้อมจะเปิดเวทีให้มีการคุยกัน มีการนำเสนอ แต่อาจจะมีสื่ออีกจำนวนหนึ่งในกระแสหลักที่คล้ายๆ ว่ายังเดินไปในเส้นที่การเมืองแบ่งขั้ว จะต้องชนะคะคานกันให้เด็ดขาดไปเลย"

 

"ถ้าเราย้อนกลับมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน มันอยู่ในสภาวะของการเมืองแบบเปิด เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นลักษณะนี้แล้ว  การแบ่งเป็นการเมืองหลายความเห็น การแพ้ชนะกันเป็นครั้งคราว  เลือกตั้งชนะ ได้รับการยอมรับ มันก็เป็นวัฏจักรของประชาธิปไตย แต่ถ้าการไต่ไปบนความยั่งยืนของประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นแกนกลางของระบบ มันเกิดต้องเหวี่ยงลง ต้องลุกขึ้นมาไต่ใหม่ หลัง 15 ปี ไต่ใหม่ 19 ก.ย.หล่นไปทีหนึ่งแล้ว กำลังเริ่มจะเดินใหม่ แต่ความรู้สึกของเก่าที่ค้างมันพยายามจะฉุดให้ตกลงไปอีก ก็เป็นปัญหาที่สื่อมวลชนซึ่งเป็นสถาบันคู่กับประชาธิปไตยต้องคิด"

 

"บทบาทที่สื่อมวลชนไม่เป็นคุณกับประชาธิปไตยมีตัวอย่างแล้ว เครดิตจะตกต่ำ เช่นในอดีตอย่างกรมประชาสัมพันธ์  หรือสื่อรัฐเช่นวิทยุยานเกราะ  พอหลังเหตุการณ์ในฐานะเราอยู่สายนิเทศศาสตร์  เราจะพบว่าความทรงเกียรติ  คุณค่าอันสำคัญของสื่อต่อสังคมมันจะตกในระยะยาวพักใหญ่ เหมือนหลังพฤษภาจำได้ว่าช่อง 9 นานเลย กว่าจะฟื้นสภาพความน่าเชื่อถือ หรือบุคคลที่อยู่ในภาวะที่ถูกประณามว่าเป็นตัวก่อเหตุทำให้เกิดความเกลียดชัง อย่างนี้เป็นต้น เรามีประสบการณ์บทเรียนมาแล้ว และสื่อมวลชนด้วยกันเองก็คงจะเห็นภาพอยู่ว่า ประชาธิปไตยหลายคนก็ช่วยกันรักษา  ไม่ว่าจะรักพรรคไหนไม่รักพรรคไหนก็เป็นรายละเอียดภายในหลักการประชาธิปไตย"

 

ตอนนี้เหมือนกับว่าผ่านมา 2 ปี สื่อเตลิดไปเกือบหมด ถอยกลับไม่ได้ เหมือนยังมีอารมณ์ค้าง

 

"และก็ไม่มีทางถอย เราต้องช่วยกันสร้างทางถอย จริงๆ ก็ต้องบอกว่ามันผ่านมาแล้ว สื่อเองต้องประเมินว่าหลัง 23 ธ.ค.มันเริ่มกันใหม่ เมื่อพรรคการเมืองเขาเริ่มกันใหม่ได้ สื่อมวลชนก็น่าจะเริ่มใหม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามันเป็นการเริ่มต้นกันใหม่ ทุกคนยอมรับว่ามีข้อตกลงที่จะเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าสื่อมวลชนยังรู้สึกว่าอันนั้นยังไม่แฟร์ ก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการมีปัญหา มีความคับข้องใจ แสดงออกทางการเมืองหรือการทำงานในฐานะเป็นสื่อมวลชนได้ไม่เต็มที่"

 

"ที่บอกว่ามีการแบ่งขั้วกันมากๆ  ตามจริงก็ไม่ได้เห็นว่ามันผิดตรงไหน  จุดยืนทางการเมือง การประกาศว่าอยู่ข้างไหนหรือเรียกว่า politic side ทุกคนมีความรู้สึกของการเลือกข้างทางการเมือง ถ้าจะว่าไปแล้วถ้าลองกลับมโนทัศน์ดูดีๆ มันก็เป็นประชาธิปไตยและมันก็เปิดเผย เพียงแต่เราไม่ชินกับการที่จะเจอหน้าเพื่อนเรา แล้วบอกว่ามีความเชื่อทางการเมืองหรือทิศทางการเมืองที่ต่าง เลือกพรรคที่ต่าง แล้วต้องนั่งโต๊ะคุยกัน แต่เดิม-หนึ่ง เราอาจจะไม่คุยเรื่องนี้มากนัก สอง-อาจจะเชื่อว่าเราคิดคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นแบบนี้ช่วงนี้จะเป็นเวลาที่ทำให้ทุกคนเรียนรู้ว่าเราต่างกันมากทางการเมือง เชื่อต่างกัน  แต่เราต้องยังคบหาเป็นมิตรกันต่อไปหรือเปล่า  สังคมไทยไม่คุ้นใช่ไหมเราจึงมีการประโคมเรื่องแบ่งขั้ว แบ่งขั้วแล้วมีปัญหาจัง ในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ ที่เขามีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรค 3-4 พรรคก็แบ่งขั้วตามพรรคทั้งนั้นแหละ ยิ่งถ้าใกล้เลือกตั้งจะยิ่งแบ่ง เพราะทุกคนก็แข่งขันกันเอาชนะ แต่ของเรามันมีแค่นั้นหรือว่ามีขั้วอื่นที่ไม่ได้เอามานับ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ มันยังมีหลายซ้อนหรือเปล่าที่ทำให้มันอารมณ์ค้างถอยกลับไม่ได้"

 

"การมีขั้วทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สังคมเราเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก หรือกลุ่มอำนาจที่อยู่นอกระบบการเมืองเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก  ถ้าถามว่าพรรคการเมือง 2 พรรค 3 พรรค หรือพรรคใหญ่-พรรคกลางเขาแข่งขันเป็นเรื่องแปลกไหม เขาต้องชัวร์ว่าไม่แปลกใช่ไหม เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าแม้แต่ในพื้นที่ก็ต้องแข่งเอาชนะกัน เขาต้องเข้าไปอยู่ในสภาฯ ก็ต้องนับว่ากลุ่มใครมากกว่าใคร มันเป็นธรรมดา แต่ขณะเดียวกันมันจะมีเสียงที่บอกว่า ขั้วทางเมืองเป็นเรื่องแปลกมากเลย อันนี้ต่างหากที่เป็นวาทกรรมที่ไม่ลงรอยลึกๆ ไม่ลงรอยมากๆ กับเรื่องของการมีพรรคการเมืองและมีการเลือกตั้ง มีสภาฯ เพราะการมีสภาฯ คือการแบ่งขั้วทางการเมืองแบ่งทิศทาง นโยบายที่จะเสนอต่อประชาชนเพื่อแก้ปัญหา"

 

เส้นแบ่งสื่อ

ในฐานะสื่อ เราไม่ต้องเป็นกลาง เราสามารถบอกว่าเราไม่เอาทักษิณ ไม่เอาพลังประชาชน ไม่ต้องการรัฐบาลนี้ ทำได้ใช่ไหม

 

"มีสิทธิ์เลย มีสิทธิ์นี่แปลว่าในคอลัมน์นะ ส่วนข่าวเป็นเวทีข่าวอยู่แล้ว ใครที่อยู่ในข่าวตามหลักการของข่าวก็จะตกเป็นข่าวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสื่อก็ประกอบไปด้วยข่าวและความคิดเห็นวันยังค่ำ และก็เล่นวาระข่าวที่อาจจะไม่เหมือนกันเป๊ะๆ ทุกฉบับหรือวิทยุทุกคลื่น โทรทัศน์ทุกช่อง"

 

แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่แสดงความคิดเห็นในคอลัมน์  เพราะหัวข่าว โปรยข่าว การสืบค้นเจาะข่าว ก็เอียงข้างและปลุกความเกลียดชัง

 

"ตอกย้ำอคติและสร้างให้แยกกันคนละฝ่าย จนรักกันไม่ได้ มีมิตรจิตมิตรใจต่อกันไม่ได้ ที่จริงไม่ใช่เลย  เพราะถ้าเราเชื่อต่างกันเราก็ยังมีมิตรจิตมิตรใจต่อกันได้  ปีใหม่เราก็เอาขนมมาแลกกันได้ ตรงนี้มันจะเริ่มหายไป เพราะสื่อมีอิทธิพลกว้างในสังคมและก็ใกล้ชิดด้วย เพราะฉะนั้นถ้าปลูกฝังความเกลียดชังเข้าไปหนักๆ เข้า แล้วมีชนวนบางชนวนจุดให้ติดก็ไม่ดี"

 

เรามักจะบอกว่าเป็นสิทธิ์ของคอลัมนิสต์ที่จะแสดงความเห็น แต่จะอธิบายอย่างไรกรณีที่คอลัมนิสต์ใช้ความเกลียดชังมาเขียนชี้นำโดยไม่มีเหตุผล เช่น สื่อช่วยกันเขียนสนับสนุนตุลาการรัฐธรรมนูญลงโทษย้อนหลัง หรือเขียนสนับสนุนมาตรา 237 ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายโดยละเมิดหลักความยุติธรรม ถ้าเป็นปกติสื่อจะไม่ทำอย่างนี้ แต่ตอนนี้ออกมาเป็นแผง จะเรียกปรากฏการณ์นี้อย่างไร

 

"มันเหมือนเป็นรูปธรรมของการเมือง ที่เราเอามาอยู่เหนือหลักการประชาธิปไตย เหมือนกับเราเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะวางหลักเกณฑ์ตุลาการภิวัตน์ ในลักษณะที่วิตกว่าคุณทักษิณจะกลับมาอีก  ก็เลยเขียนอะไรทุกอย่างไว้ จนลืมไปว่าถ้าเราเขียนหลักการไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนคนนี้ข้ามเส้นเข้ามา การเขียนหลักการแบบนั้นมันเป็นหลักการประชาธิปไตยที่เป็นธรรมหรือเปล่า  ตรงนี้สังคมเสียศูนย์ หลายสถาบันเสียศูนย์ ทางนิติศาสตร์ก็ถูกตั้งคำถาม สถาบันที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณะก็กำลังต้องทบทวนกันพอสมควรทีเดียว"

 

ก่อน 19 ก.ย.มีสื่อเขียนบทความเรียกร้องรัฐประหาร  แล้วก็สนับสนุนรัฐประหารให้สุดขั้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนไม่เคยมี

 

"ก็อาจจะสะท้อนไปช่วงก่อน 6 ตุลา ที่มีความตึงเครียด มีความรู้สึกว่าอำนาจหลักๆ ของสังคมเผชิญหน้ากัน ก็อาจะมีนัยในทำนองนั้นเกิดขึ้น ที่ทำให้เหมือนกับการเผชิญหน้ามันมีหลายชั้น แต่ช่วงนี้ก็มีคนที่มีการใคร่ครวญและรู้ว่าต้องถอดสลัก ไม่ใช่ไปช่วยกระพือ มีหลายสาย สื่อมวลชนที่พยายามก่อหวอดตรงนี้ก็หวังว่าจะจุดชนวนนี้ติด เพราะว่าหลายๆ ฝ่ายก็เห็นภาพชัดว่าอย่างนี้มันหย่อนไปในเรื่องความรับผิดชอบ"

 

"เราเขียนในคอลัมน์เรา แต่ปกติเป็นสื่อมวลชนเราก็จะคำนึงว่า คอลัมน์ที่เขียนจะมีคนอ่าน 1 คน หรือ 3 คนก็ตาม เราต้องแสดงความรับผิดชอบต่อคนที่เป็นสาธารณะ เราจะไม่ชอบใครเราก็เขียนได้ แต่ภาษา  การพูดจา การสร้างอคติ อันนี้แน่นอนท่านก็ต้องระวัง คือจะบอกว่าเรามีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เราจะท้วงติงคุณทักษิณ ท้วงติง กกต.ชุดนั้นชุดนี้ ท้วงติงได้อยู่แล้ว เป็นการวิจารณ์ วิจารณ์อย่างมีหลักการมีเหตุมีผล แต่ถ้าใช้ภาษา ใช้อาการ หรือใช้ลักษณะที่สร้างความเกลียดชัง ยุให้คนโกรธกัน อันนี้โดยปกติของสื่อมวลชน โดยจรรยาบรรณของวิชาชีพไม่ควรทำ"

 

มันเป็นความเคยชินในช่วงที่ผ่านมา

 

"ก็อาจจะมีที่พอสื่อมวลชนผูกพันกับกระแสการเมืองสูง และมีบทบาทแล้วได้เหมือนกับบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่าง มันก็มีความรู้สึกภาคภูมิในบทบาท ตรงนั้นก็เป็นได้ ที่ทำให้เข้าใจไปว่าอำนาจตรงนั้นจะเอาไปใช้เรียกร้องทำอะไรก็ได้ แต่จริงๆ มันก็ในนามของประชาชนและองค์กร มันไม่ใช่ว่าไม่ผูกพันกับใคร มันไม่ใช่ตัวเราคนเดียว พูดถึงสื่อมวลชนก็เป็นสถาบันหนึ่ง"

 

สื่อไทยไม่เหมือนสื่อฝรั่ง เขาไม่พาดหัวชี้นำ แต่เรามีบทบาทตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เบื่อป๋าเปรม 8 ปี หนุนน้าชาติ ไล่น้าชาติ ไล่ รสช. ไล่ชวนกรณี สปก.4-01 สื่อเป็นพลังสำคัญมาตลอด

 

"มันก็ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย แต่อำนาจของสื่อเกี่ยวโยงกับสถาบันการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในสังคม สื่อเป็นตัวเล่นที่ค่อนข้างชัดเจนและมีอิทธิพล ความที่เป็นรายวัน รายชั่วโมง มันก็ยิ่งมีพลังสูง เพราะฉะนั้นสื่อก็ไม่ได้อยู่ลอยๆ สื่อผูกพันกับกลุ่มการเมือง ทั้งภาคประชาชนกับสถาบันอำนาจต่างๆ ไม่ได้อยู่ลอยๆ"

 

"ความเป็นกลางคือเป็นเวทีกว้าง เมื่อมาถึงช่วงหนึ่งที่สังคมพัฒนาไปสู่การยอมรับระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบที่เราเข้าใจกัน อยู่ในสภาวะของระบบเศรษฐกิจที่อาจจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม ตามที่สังคมตกลงกัน พอเป็นอย่างนั้นแล้วองค์กรสื่อก็จะเป็นสถาบันที่เป็นเวทีเปิดกว้าง เพราะกติกาใหญ่ตกลงกันแล้ว"

 

"แต่ตอนนี้วิกฤติมันเหมือนกติกาใหญ่ของประชาธิปไตยกำลังไต่เส้นลวดแล้วมันอาจจะพลาด ประชาธิปไตยไทยไม่ยั่งยืนยกแล้วยกเล่า และยกนี้ก็เช่นกันมันก็ดูเหมือนกับจะไม่ยั่งยืน สื่อก็จะมีส่วนในการตัดสินใจว่ายังเชื่อมั่นในสปิริตของประชาธิปไตย  ที่สื่อเองเป็นคนก่อร่างสร้างมาด้วยในอดีตอย่างมากมาย สื่อยังจะเดินหน้าไปพร้อมกับสปิริตตรงนี้  หรือสื่อมองย้อนกลับไปแล้วคิดว่าไม่ใช่  อยากให้มีเผด็จการผสมกับอำนาจนิยมอะไรต่างๆ มันเหมาะกับสังคมไทยหรือเปล่า อย่างไรกันแน่หรือว่าในสื่อเองหลากหลายกลุ่ม อันไหนล่ะที่เป็นกระแสใหญ่ที่จะนำพาประชาธิปไตย ซึ่งก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เรียนรู้ประชาธิปไตยและรักมันแล้ว ทุกคนอย่างน้อยมีสิทธิพื้นฐานในการเลือกตั้ง  มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนทุก 4 ปี บ้านเราเปลี่ยนบ่อยหน่อย เลือกตั้งบ่อยหน่อย แต่ทุกคนก็หวงแหน ลึกๆ ประชาชนก็หวงแหนประชาธิปไตย แต่เหมือนมีใครมาแกล้งมารังแกให้ตกเส้นลวดอยู่เรื่อย"

 

สื่อตั้งตัวเป็นปัจจัยที่เคยเปลี่ยนแปลงสังคมจนสำเร็จ  ตอนนี้สื่อมีความรู้สึกว่าจะต้องกวาดล้างระบอบทักษิณ ในมุมมองของวิชานิเทศศาสตร์มันเป็นการก้าวเกินกรอบบทบาทตัวเองหรือเปล่า ต่างกับกรณี สปก.ไหม

 

"ตอน สปก.กดดันรัฐบาลจนต้องออก แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นรัฐประหาร มันเหมือนช่วงนั้นภูมิคุ้มกันบางอย่างยังมี แต่ช่วงนี้มันอ่อนแอลงไป อาจจะบอกได้ว่าจังหวะการเคลื่อนตัวของการเมืองแบบเลือกตั้งมันเคลื่อนตัวเร็ว  ตัวฉุดจังหวะ speed มันเร็ว ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มันก็อาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมต้องเปลี่ยนจังหวะด้วย กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอำนาจต่างๆ อาจจะรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ใหญ่หลวง ขณะที่ถ้าเรามองแบบกระบวนการประชาธิปไตย อาจจะมองว่า เออ-พรรคการเมืองพรรคนี้ speed เขาต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ มากันคนละ speed ทางประชาธิปัตย์อาจจะไปเนิบๆ ค่อนข้างระแวดระวัง เป็นการเมืองอนุรักษนิยม แต่พรรคนี้เอาประชานิยม-ต้องไปเร็ว เปลี่ยนจังหวะ มีหลายคนไม่ชอบจังหวะนี้ เสียผลประโยชน์เพราะจังหวะเปลี่ยนแปลงเร็วไป ปรับตัวไม่ทัน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปแล้วส่งผลให้คนตั้งรับไม่ทันก็เป็นได้  หรือเสียผลประโยชน์  ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้หรือผลประโยชน์ทางจิตใจ ในทางความเชื่อ ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเทียบกันแล้วต่างกันไหม เมื่อมันกระทบแรง การเรียกให้จังหวะเคลื่อนอันนี้หรือกระบวนนี้หยุด มันก็แรง สุดท้ายก็เลยนำไปสู่ 19 ก.ย."

 

แล้วก็ยังคงอารมณ์ค้าง

 

"แล้วก็เจอกำแพงว่าคนที่นิยมพรรคไทยรักไทย นิยมพลังประชาชน ก็แสดงความนิยมในกระบวนการเลือกตั้ง ก็เลยกลายเป็นปัญหาในกลุ่มที่เชื่อว่าจะยุติปัญหาได้ จาก 19 ก.ย.มันก็ยังไม่ยุติ อำนาจนอกระบบ อำนาจในระบบ มันอยู่คนละ mode กัน มันจะมาประสานยุติอย่างไรก็ตาม กระบวนการของมันเป็นคนละลักษณะ กระบวนการเผด็จการคือสั่งการ สิทธิเสรีภาพมีน้อย วิจารณ์ได้น้อย กระบวนการประชาธิปไตยเป็นแบบเปิด โปร่งใส มันไปด้วยกันไม่ได้"

 

"แล้วก็แก้ปัญหาในแบบที่จับขั้วผิด  คือขั้วที่มันต่อกันไม่ได้ เผด็จการอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยเลือกตั้ง เมื่อมันจูนกันไม่ได้แล้วเราพยายามจะบอกว่าสองอันนี้น่าจะอยู่ด้วยกันได้ดี-ได้ไหม เราก็พิสูจน์หลายครั้งว่ามันอยู่ด้วยกันไม่ได้ มันทำงานไม่ได้จริงๆ กระบวนการมันขัดกัน ตรงข้ามกัน ผลประโยชน์ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน กระบวนการทำงานก็คนละแบบ อยู่ด้วยกันไม่ได้ อันนี้หรือเปล่าที่ต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าความเชื่อตัวนั้นมีคุณค่าเหนือกว่าอีกความเชื่อหนึ่ง อยากให้ทั้งสังคมเป็นในทิศทางเดียวกัน จึงกดดัน"

 

ปลุกผีเพื่อรัฐประหาร

คุยกันหัวเราะๆ ในตอนหนึ่งว่าครั้งที่แล้วที่มาสัมภาษณ์ คือฉบับวันที่ 10 กันยายน 2549 คราวนี้อีก 10-20 วันจะมีอะไรเกิดขึ้นไหม

 

อาจารย์ย่ารับว่าสาเหตุสำคัญที่ต้องออกจดหมายเปิดผนึก เพราะมีการปลุกความเกลียดชังโดยเอาสถาบันมาอ้าง

"ทุกท่านที่สนใจข่าวสารก็เห็นชัดเจน  ว่าชนวนในการสร้างให้ขั้วแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ มันมีหลายครั้ง  ตั้งแต่ช่วงหลังเลือกตั้งเป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่สามรถปลุกกระแสได้ เมื่อเห็นภาพอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็สร้างอะไรที่เรากริ่งเกรงว่าจะเป็นอันตราย ถ้าดูรอบก่อนหน้านี้ สถาบันสำคัญถูกนำมาเป็นเหมือนกับตัวชูโรง ตั้งแต่เรื่องพุทธศาสนาในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช หรือในรอบนี้เราก็เห็นประสบการณ์เมื่อไม่นานมานี้ การดึงสถาบันที่ต่างก็รู้ว่าสังคมเทิดทูน สังคมให้ความเคารพ มายุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเอาแพ้เอาชนะกันทางการเมือง เราจะเห็นว่ามัน set กันมาทีละครั้งๆ แล้วลองดูว่าชนวนนี้จะชื้นหรือจะลุก สังคมอาจจะมีภูมิคุ้มกันไม่มากนัก หรืออาจจะมีมาก เราก็ตอบแทนสังคมไม่ได้ว่าภูมิคุ้มกันในเรื่องนี้มีแน่นหนาพอไหม ความอดกลั้นและเข้าใจ ความแตกต่างว่าแบ่งขั้วพอไหม ถ้าเรามีน้อยมันอาจจะลุกลามได้จริงๆ"

 

มันชัดเจนที่ปลุกกระแสเรื่องป๋าเปรม แล้วก็ยุยงให้ทำร้ายคนไม่ยืนในโรงหนัง

 

"มันเหมือนกับพยายามไปหาดูสิว่ามีตรงไหนบ้างที่จะแคะออกมาเพื่อชูขึ้นมาแล้วเอาแพ้เอาชนะได้ มันเหมือนหาหลักเหตุผลไม่ได้ เลยมาหาหลักความเชื่อ จิตวิทยา แต่ถ้าเราลองถอยกลับเข้ามาในที่ตั้งกันคนละหน่อยหนึ่ง  แล้วเอ้า-มาเอาแพ้ชนะกันด้วยเหตุผลมากขึ้นดีไหม รัฐธรรมนูญมีหลากหลายแนวความคิดที่ยังเถียงกันได้เยอะเลย อะไรต่างๆ พร้อมเมื่อไหร่ก็คลี่มาดู ก็น่าจะคุยกันได้ แต่นี่มันไม่ได้คุยในประเด็นเหตุผลอย่างนี้ เชื่อไม่เหมือนกันไม่เอาเลย-ไม่คุย มันก็ไม่ใช่การสื่อสาร"

 

"สำหรับสื่อมวลชน นอกจากพื้นที่ที่เราบอกว่าต้องเป็นพื้นที่รับผิดชอบสาธารณะอยู่แล้ว สื่อมวลชนไทยเป็นผู้นำความเห็นของสังคมอยู่แล้ว  เมื่อบางสื่อเขียนหรือว่าอ่านพูดด้วยความรู้สึกที่ความรับผิดชอบย่อหย่อนไปทีไร  ก็จะเจอคำถามจากสังคมเจอข้อสงสัย แต่อาจจะมีแฟนๆ ที่บอกว่าสะใจดีเพราะว่าได้อารมณ์ แต่แท้ที่จริงการสื่อสารมีปริมณฑลที่กว้าง เป็นทั้งเหตุผลและอารมณ์ผสมผสานกันอยู่"

 

"การทำหน้าที่เรื่องข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ย่อมไม่ใช่เรื่องของการส่งเสริมความรุนแรง เรื่องของการสื่อสารคือสื่อสารเพื่อจะฟังและเข้าใจซึ่งกันและกัน  ศัพท์วิชาการก็มีเยอะที่พูดถึงการสื่อสารสัมพันธ์กัน พูดถึงการสื่อสาร 2 ทาง พูดถึงไดอะล็อก ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนของสื่อมวลชนทั้งสิ้น ถ้าเรามองในเชิงวิชาการ การออกไปพูดเรื่องที่ยุให้โกรธเกลียดกันลึกๆ ไม่ใช่สาระของการสื่อสารอย่างแน่นอน ไม่ใช่เป้าหมายสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ สันติวิธีของสังคม พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าเราเถียงกันไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเอาเป็นเอาตายไม่ได้-ได้แน่นอน แต่มันมีขอบข่ายของมันว่าสิ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์ สื่อสารกันทั้งหลายต้องหาทางออกร่วมกัน"

 

โดยธรรมชาติสื่อและคนกรุงเทพฯ เห็นหน้าสมัคร, เฉลิม, ชัย ชิดชอบ ก็รังเกียจมีอารมณ์อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต่างกับในอดีตใช่ไหม

 

"เราวิจารณ์เขา มีการใส่ภาษา แต่ที่ไปไกลกว่านั้นก็คือ ส่วนที่อยู่ในกระดาษหรืออยู่ในจอเป็นอันหนึ่ง  แต่ถ้าบอกว่าไม่ชอบคุณเฉลิมแล้วชวนกันไปทำมิดีมิร้ายคุณเฉลิม อันนี้ไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์เลย ในฐานะที่เขาเป็นบุคคลสาธารณะเราจึงวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าคุณเฉลิมเขาลงมาเป็นประชาชนคนธรรมดา เราก็คงไม่เอาหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ไปวิจารณ์เขาคล้ายๆ กับที่เราเคยทำในฐานะที่เขาเป็นรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้ต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่ามันมีเส้น กรรมการเห็นอยู่ แต่ถ้าเลยไปสู่ขั้นนั้นมันแปลว่าสื่อไม่บันยะบันยังแล้ว สื่อไปปลูกฝังความโกรธเกลียดให้เกิดขึ้นในใจคน โดยอาจจะไม่มีเหตุผลรองรับ ถามว่าความเชื่อที่แตกต่างกันมีสังคมประชาธิปไตยรองรับใช่ไหม-ใช่เลย  ไม่ว่าจะเชื่อเรื่องการเมือง เชื่อเรื่องศาสนา นับถือศาสนาต่างกัน เชื่อเรื่องอื่นๆ ที่เป็นชีวิตวัฒนธรรม เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ทำไมเขาเชื่อไม่เหมือนกับเราต้องโกรธถึงขนาดเราอยู่ร่วมกันไม่ได้-ไม่ใช่ แต่มันก็คงเป็นด้วยทิฐิมานะบางอย่าง"

 

เรามีสิทธิ์บอกว่านักการเมืองเลว แต่ตอนนี้ไม่ใช่พูดเพื่อไล่รัฐบาลในระบบ เป็นการพูดเพื่อนำไปสู่รัฐประหารหรือวิธีการนอกระบบ

 

"ก็มีนัยตรงนั้น เหมือนกับเวทีรัฐธรรมนูญ จะแก้ไม่แก้มันก็มีนัยมากกว่าแค่ใครมีความเห็นแก้ไม่แก้ ถ้าเชื่อว่าน่าจะแก้ เอ้า-เป็นพวกพลังประชาชนไหม เชื่อว่าไม่แก้เป็นพวกพันธมิตรฯ ไหม แล้วแก้ไม่แก้มันนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างอื่น ข้างนอกของกลุ่มการเมืองมากกว่านั้นอีกหรือเปล่า คือมันเหมือนเป็นเวทีทดสอบ เป็นโจทย์ทดสอบ"

 

สื่อก็เป็นพันธมิตรของพันธมิตรฯ ยืนยันว่าต้องไม่แก้

 

"ซึ่งที่จริงมันจะมีคำถามว่าควรแก้ไหม แก้เมื่อไหร่ แก้อย่างไร หรือว่าแก้ข้อไหนบ้าง มันต้องค่อยๆ ถามกันออกมา แต่ปิดประตูปุ๊บไม่แก้เลย เพราะถ้าบอกว่าต้องแก้ แก้เมื่อไหร่ ก็มีความสำคัญว่าจะเริ่มลงมือตรงไหนดี จะมีกระบวนการทำอย่างไร แต่นี่เหมือนกับแยกฝ่ายว่าแก้และไม่แก้ เอาเข้าจริงฟังคุณถาวร เสนเนียม พูดออกวิทยุ ก็เห็นได้ชัดว่านักการเมืองทราบดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายจุดที่ควรแก้ คนที่สนใจการเมืองทั้งหลายก็อยากจะแก้ไขบางอย่างที่มันไม่เป็นธรรม  หรือว่ามันแคบเกินไป แต่พอถามว่าแก้ไม่แก้ปุ๊บ ต้องไม่แก้ไว้ก่อน ถ้าถามโดยสาระสำคัญทุกคนก็รู้ว่าน่าจะแก้ มีอยู่หลายประการน่าจะแก้ ไม่ว่าจะเกี่ยวพันกับที่มา มาจากรัฐประหาร แต่ว่าเงื่อนไขการแก้จะคลี่คลายได้อย่างไร"

 

คนที่ออกมาพูดก็มักมีวาระซ่อนเร้น เช่นให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ซึ่งก็คือถ่วงเวลาให้ยุบพรรคก่อน

 

"ความเชื่อที่ต่างกัน ซึ่งในระบบประชาธิปไตยถ้าเรายุบไปทีละพรรคสองพรรคสามพรรค จะเรียกว่าประชาธิปไตยตรงไหน พอไม่มีพรรคก็ไม่มีเลือกตั้ง จบแล้ว"

 

ยังมีคนคิดว่ายุบพรรคพลังประชาชนไปก่อนแล้วให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลสักปีสองปี  อาศัยช่วงเวลานี้ปรับอะไรต่างๆ

 

"ข้ออ่อนของรัฐบาลไทยรักไทย  ประเด็นปัญหาคอรัปชั่นที่ตรวจสอบกันอยู่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การมีรัฐบาลเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นวิถีประชาธิปไตย คนรอคอย คนที่ไม่ได้เลือกไทยรักไทยก็อึดอัดคับข้องใจ แต่เราจะพบว่าในหลายสังคมก็เป็นอย่างนี้ บางทีรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่งที่มีความเป็นอนุรักษนิยมเป็นรัฐบาลยาว 8 ปี 12 ปี อีกฝ่ายก็รอคอย คับข้องใจ ที่สหรัฐตอนนี้กำลังตื่นเต้นว่าเผื่อรีพับลิกันจะตกมั่ง-ดีแล้ว เผื่อจะพลิกประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ เพราะฉะนั้นมันมีคนรอคอย และเสียงเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ก็ใกล้เคียงแทบทุกประเทศ"

 

"ทุกประเทศใช้รูปแบบของประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ตอนนี้  มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตรวจสอบ สื่อตรวจสอบ พลังของสังคมตรวจสอบ คอยดึงอำนาจ เข้าไปมีส่วนร่วม แต่ของเราเหมือนคิดว่าประชาธิปไตยไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับสังคม ขอแวะเลี้ยวออกจากประชาธิปไตยบ้างได้ไหม ตรงนี้ต่างหากที่สังคมและสื่อมวลชนต้องช่วยกันตอบตัวเองเหมือนกัน"

 

"เรากำลังพูดถึงรูปธรรมของพรรคการเมือง ของนักการเมืองที่ชื่อว่าคุณทักษิณ-แค่นั้น หรือว่าเรากำลังพูดเรื่องหลักการประชาธิปไตยไปด้วยในตัว สองอย่างมันจะเดินไปด้วยกัน อาจจะไม่ราบรื่น ขัดแย้ง แต่ถ้าเราต้องเลือกจริงๆ เราจะเลือกหลักการประชาธิปไตย หรือเราจะเลือกหลักการอำนาจนิยม เผด็จการ หรือว่ามันไม่ขาวกับดำ ตอนนี้มันแบ่งขั้วขาวกับดำ"

 

"จะต้องมีการพูดคุย เอาประเด็นต่างๆ ออกมาคลี่ให้เห็นว่าเราจะช่วยกันได้อย่างไร ให้สังคมอยู่ได้ จะไม่เหวี่ยงตัวเราลงไปในแบบเก่าๆ ซ้ำๆ อีกได้อย่างไร อันนี้คือปัญหาของสังคม ว่าเราเหนื่อยอ่อนกับประชาธิปไตยที่ฟูมฟักแล้วมันไม่ค่อยโต  ฉะนั้นเราก็บอกว่าเก็บมันเลยมันไม่โตแล้ว อย่างนั้นหรือเปล่า"

 

มันเหมือนแรงมาแรงไป อีกฝ่ายก็ยั่วยุ ยุคทักษิณแทรกแซงสื่อ ก้าวร้าว ตอนนี้เป็นสมัครก็หนักเข้าไปอีก

 

"พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นักการเมืองเหล่านี้มีจุดให้วิจารณ์ได้เยอะในกระบวนประชาธิปไตย เขาต้องรับเงื่อนไขนี้ แต่ถ้าเป็นเงื่อนไขแบบในอดีต เผด็จการทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ การวิจารณ์แบบนี้ทำไม่ได้ ว่ากันซึ่งๆ หน้าทำไม่ได้ เรื่อยๆ มาก็จะเห็น กระทั่งหลังสุดนายกฯ คนอื่น สื่อเองก็เกรงอกเกรงใจ ไม่ค่อยกล้า มันเหมือมาใน mode สอง mode อำนาจนิยมมันเรียกร้องจารีตที่ไม่วิจารณ์ แล้วสังคมก็ยอมรับสถานภาพของคนที่เป็นแบบนั้นมากกว่า พอเป็นตัวแทนประชาชนที่เราเข้าถึงได้เราแตะต้องได้ เราก็วิพากษ์วิจารณ์เสียจน ถ้าเป็นพระพุทธรูปเราก็มองว่าเป็นพระพุทธรูปที่ไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์ วิจารณ์กร่อนไปหมดแล้ว ทั้งที่จริงเขาก็เป็นตัวแทนเรานั่นเอง สื่อสารมวลชนแตะต้องได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แล้วเขาก็เปลี่ยน มีนักปราชญ์หรือว่าปรัชญาการเมืองบอกว่า ที่จริงแล้วประชาชนคนธรรมดาเป็นผู้ปกครองได้  แต่เราก็อาจจะมองข้ามไปว่าเป็นสามัญชน เราก็เลยค่อนข้างจะวิจารณ์อย่างมากมาย  เราลืมไปว่าการวิจารณ์มันก็สะท้อนสภาพหนึ่งที่ว่าเป็นเสรีภาพของการวิจารณ์ และก็นำไปสู่ทางออก"

 

"แต่บางทีมันก็เหนื่อยกับการวิจารณ์ไปพักใหญ่ ใช้อารมณ์กัน สื่อเถียงกับนายกฯ ทุกวัน เหนื่อย-แต่การวิจารณ์นั้นสักพักหนึ่งก็นำไปสู่บางอย่าง  ถ้าเราสังเกต ก็ทำให้รู้สึกว่าต้องเคาะระฆังพักยกก่อน เถียงกันอย่างนี้ทุกวันก็ไม่ไหว สักพักลุกไปก่อน ดูสิว่ายกหน้าจะดีขึ้นไหม อะไรทำนองนี้ มีสตินิดหน่อย ใจเย็นลงหน่อยหนึ่ง อดกลั้นอีกนิดหนึ่ง มันก็มีทางออกของปัญหาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกครั้งจะเผชิญหน้าและไม่มีทางออก แต่การวิจารณ์นำไปสู่ทางออก หรือว่าตอนนี้ทางออกเล็กๆ ที่ทุกคนบอกว่าไม่ใช่ทางออก รัฐบาลประชุมกันยกให้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นของสภาฯ แล้วนะ  เรื่องการบ้านการเมืองที่เกี่ยวกับปากท้องรัฐบาลจะบริหาร ก็แปลว่าเสียงวิจารณ์เขารับฟัง หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นลูกเล่น ลูกเล่นก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีคนวิจารณ์ต่อ ถ้าลูกเล่นคอยตรวจสอบเป็นชั้นๆ"

 

"แต่ถ้าเป็นการบริหารในอีกแบบหนึ่งหรือสังคมค่อนข้างปิด เราจะไม่รู้เลย ทุกวันนี้ไปไหนอยู่ในสายตาหมด สื่อรายงาน ระบอบที่เป็นอำนาจนิยมสื่อตรวจสอบไม่ได้ แล้วมันก็ออกมาเป็นรูปของข่าวลือ เพราะว่าสื่อเข้าไม่ถึง  แต่การที่โปร่งใสตรวจสอบได้ มันดูขุ่นมัวเพราะว่ามันพูดพร้อมๆ กัน พูดสุ้มเสียงก็ไม่เท่ากัน มันดูยุ่งเหยิงไปหมด แต่มันก็เป็นความยุ่งเหยิงของกระบวนการประชาธิปไตยปกติ เราอยากให้มันราบเรียบ แล้วเกิดอะไรโครมมาเป็นลูกใหญ่ อย่างนั้นหรือ ยุ่งเหยิงแบบนี้เรายังพอจะรู้ว่าเขาจะมาไม้ไหนบ้าง จับตาการทำงานได้ ตอนนี้สื่อเองอาจจะยังรู้สึกว่ากลับมาสู่ 3 เดือนของรัฐบาลชุดนี้เหมือนไม่มีทิศทาง ยังไม่ตั้งหลักว่าจะไปข้างหน้า และก็ระแวงว่าจะมีอำนาจนอกระบบมากวนให้ไต่เส้นลวดแล้วลงจากเส้นลวด"

 

แล้วสื่อก็ไปปลุก

 

"มันมีความระแวงอยู่ในใจ  ในโอกาสที่มีการคุยกันหลายๆ เรื่อง เราควรเอาความระแวงวางลงบ้าง ค่อยๆ หันมาทำงานร่วมกัน พอทำงานแล้วมีผลขึ้นมามีผลตามมา เช่นถ้ามีทางออกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญระดับหนึ่ง  ก็จะรู้สึกว่าสังคมฟังกันและกันเหมือนกันนะ คืออยากเห็นความพยายามตั้งหลักที่จะแก้ปัญหาสังคมร่วมกัน"

 

 

หน่ออ่อนจะเกิดใหม่

อาจารย์อุบลรัตน์เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมกับอาจารย์โคทม อารียา, อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรียกร้องให้ใช้กระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแบบทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนว่าต่างจากฝ่ายพันธมิตรฯ

 

ถามว่าถึงวันนี้ท่าทีของพันธมิตรฯ กับนักวิชาการฝ่าย "2 ไม่เอา" ยิ่งแยกห่างหรือยังพอคุยกันได้

 

"ที่พันธมิตรฯ ประกาศล่าสุด (เตือนจะเกิดรัฐประหารถ้ายังแก้รัฐธรรมนูญ) ก็เหมือนเป็นวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่งก็ได้ว่าเขายังไม่เห็นด้วย ในขณะที่ฝ่ายที่อยากให้แก้ก็อาจจะมีวิธีพูดจาต่างๆ ถามว่าห่างกันไหม ณ จุดนี้ก็เห็นว่าห่าง ความเชื่อต่างกันในการที่จะแก้และไม่แก้"

 

ตอนนี้การปลุกความเกลียดชังเข้าใส่กัน ไม่ใช่แค่ฝ่ายพันธมิตรฯ กับฝ่ายทักษิณ แต่ลามมาถึงฝ่าย 2 ไม่เอาด้วย

 

"สมาคมฯ วิชาชีพเอง ถ้ามองเห็นบางอย่างก็ต้องช่วยกันดึงๆ กัน เพราะอย่างน้อยก็เป็นเพื่อนร่วมอาชีพน่าจะดึงๆ กันได้บ้าง เพื่อหาทางออกในทางที่ดี ถ้าความเกลียดชังนั้นไร้เหตุผล มันไม่นำไปสู่มรรคทางออก ไม่ว่าจะเชิญอำนาจนอกระบบเข้ามา การทำให้สถาบันต้องเข้ามาอยู่ท่ามกลางการเมืองเพื่อเอาแพ้-ชนะ สิ่งเหล่านี้ไม่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ถ้าไม่มีเสียงตอบรับในสังคม พลังตรงนี้อาจจะอ่อนลงไปบ้างก็ได้ ก็คิดว่าสังคมไทย ณ ขณะนี้ถึงแม้ต่างคนต่างเดิน แต่คนที่มีเหตุมีผลอยู่ก็ยังพอมี"

 

แปลว่าถ้าครั้งนี้ปลุกกระแสรัฐประหารไม่สำเร็จ เขาก็จะเสียเครดิตใช่ไหม

 

"เริ่มฝ่อลงไป ก็ธรรมดายกนี้ก็ต้องยุติไปก่อน เครดิตก็อาจจะลด แต่คนที่อยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่าต้องกำจัดคุณทักษิณ อะไรทำนองนี้ ก็ยังอาจจะเหนียวแน่น แต่อาจจะหามวลชนเข้ามาเพิ่มเติมไม่ได้"

 

คือถ้าระยะใกล้ๆ นี้ยังไม่สามารถจุดไฟให้เกิดรัฐประหาร เขาก็จะมีแต่ทรงกับทรุดใช่ไหม

"บทบาทการเมืองก็อาจจะไม่โดดเด่นเท่าในอดีต"

 

การเตือนสติของอาจารย์มีผลสะเทือนต่อสื่อ แต่มั่นใจได้อย่างไรว่าองค์กรวิชาชีพจะขานรับ เพราะองค์กรวิชาชีพก็เคยยอมรับมาตรา 7 เคยยอมรับการแต่งตั้งเป็น สนช. ทั้งที่ถูกคัดค้าน

 

"สักพักมีการเลือกตั้งสมาชิกก็ต้องโหวตว่าจะเอาแบบไหน มันก็จะเปลี่ยนแปลง แล้วกลับมาคุยกันได้ไหม รอบนี้มันยังรู้สึกร้าวลึกๆ การสรวลเสก็อาจจะน้อยลง แล้วก็จะค่อยๆ หายไป แต่ว่าก็ตัดกันไม่ขาด อย่างที่เรียนว่าประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เราเชื่อต่างกันแต่เราก็ยังต้องคุยกัน เราก็สู้กันในทางการเมืองนี่แหละ อย่างแตกต่างกัน"

 

แต่ในกระแสสื่อส่วนใหญ่ความเกลียดทักษิณรุนแรงมาก  ตั้งแต่เจ้าของสื่อ คอลัมนิสต์ ไปจนนักข่าวตัวเล็กๆ

 

"อาจจะเป็นว่าการวิจารณ์คุณทักษิณ ตอนแรกก็เหมือนการวิจารณ์รัฐบาลในอดีต โผงผางรุนแรง เอาจริง เพื่อที่จะกดดัน เผื่อว่าจะแพ้เลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง บังเอิญทางออกที่เกิดขึ้นก็คือเขาชนะเลือกตั้ง แต่เขาแพ้รัฐประหาร  ถ้าเราดูในอดีตการวิจารณ์รัฐบาลที่ผ่านมา  รัฐบาลจะเปลี่ยนด้วยการยุบสภาฯ นายกฯ ลาออก หรือว่าจัดองค์ประกอบรัฐบาลใหม่ แต่อันนี้ไม่ใช่ มันก็เลยไปฝังลึกในใจของบรรดานักข่าวใหญ่น้อย เพราะทางออกนี้มันกลายเป็นทางออกคนละแบบ และก็ฝังใจว่าคุณทักษิณผิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ความจริงอาจจะผิดมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละเรื่องที่กำลังรอการพิสูจน์  แต่บางคนบอกว่าพิสูจน์ไปแล้วแหละ ตรงนี้หรือเปล่าที่มาปลูกฝังความเข้าใจไปเลยว่าผิดเบ็ดเสร็จ ไปแล้วจบแล้ว ขณะที่ในอดีตมันเป็นการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการประชาธิปไตย ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ หรือนายกฯ ลาออกเดี๋ยวก็มีการเลือกนายกฯ ใหม่"

 

ที่ผ่านมาสื่อต่อสู้แล้วชนะ แต่ครั้งนี้ไม่สามารถเอาชนะในระบบ

 

"ไปใช้อำนาจอย่างอื่นมาช่วย  ก็เลยเชื่อมั่นว่าผิดเบ็ดเสร็จ  ถ้าเป็นอย่างนี้ใช่เลยเพราะว่าเห็นไหมฝ่ายอื่นที่อยู่นอกกระบวนการรัฐสภาฯ ยังเข้ามาช่วย เพราะว่าคนผิดเอาไว้ไม่ได้ กระบวนการประชาธิปไตยมีกระบวนการที่จะเอาผิด มีการลงมติไว้ไว้วางใจ มีกระบวนการยุติธรรมเป็นขั้นเป็นตอน ทีนี้มันลัดขั้นตอน ก็กลายเป็นอีนุงตุงนังและสร้างความรู้สึกฮึกเหิม หรือปลูกฝังความเชื่อว่านี่ผิดล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางฟื้นฟู"

 

ก็ต้องทำลายสถานเดียว

 

"อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการปลูกฝังความเกลียดชัง"

 

ในแวดวงสื่อมีแนวโน้มที่จะมีเหตุผลมากขึ้นไหม สื่อที่มีเหตุผลจะขึ้นมาเป็นกระแสหลักได้ไหม

 

"จะว่าไปในสื่อกระแสหลักมันก็ก้ำกึ่ง เพียงแต่เสียงที่ยุให้โกรธกันอาจจะเสียงดังโดดเด่นฟังชัด แต่ถ้าถามไหมว่ามีไหม มันมีส่วนของคนที่ยังรักเหตุรักผล ฟังซึ่งกันและกัน-ก็มี โทรทัศน์ตอนนี้ก็พยายามสร้างเครดิตกับประชาชน อาจจะไม่ค่อยมีในโทรทัศน์กระแสหลัก ไม่ค่อยกล้าหลุดออกไป แต่ก็มีเคเบิลบ้าง โทรทัศน์ดาวเทียมบ้าง ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง สามารถที่จะพูดเรื่องการเมืองได้มากๆ และวิทยุก็อาจจะมีสถานีที่มีความโดดเด่นด้านการเมือง ถ้าเราดูละเอียดๆ มันก็ไม่ถึงกับว่าไร้เหตุผลกันหมด 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็ยังทำหน้าที่อยู่ และถ้ามีจังหวะทบทวนจะทำให้เรารู้ว่า สังคมเรียกร้องความรับผิดชอบกับสื่ออยู่เสมอๆ กลุ่มที่อาจจะบอกว่าเสียงดังฟังชัด ก็อาจจะต้องหันมาฟังบ้างว่าเกินเลยไปขนาดไหนแล้ว"

 

มันจะมีผลอย่างไรต่อความเชื่อถือสื่อในอนาคต

 

"ก็ต้องปรึกษาหารือและฟื้นฟู เพราะเวลาตกต่ำถึงที่สุดแล้วมันก็จะมีตัวอื่นขึ้นมา อาจจะมีสื่อหน้าใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้เครดิตโดยรวมของสื่อดีขึ้น มารักษาประโยชน์ส่วนรวมของสาธารณะ ใช้สปิริตประชาธิปไตย ทำให้เห็นว่าเวลามีสื่อใหม่ๆ มีหน่ออ่อนเกิดขึ้น มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกดี มันเหมือนฟื้นไข้ พออย่างนี้ปั๊บสื่ออื่นก็รู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้นมาใหม่ เขียนให้เข้าท่าเข้าทาง มันก็ฟื้นขึ้นมาใหม่"

 

แต่ตอนนี้ยังไม่มี อาจจะมีสื่ออินเทอร์เน็ต เช่นเว็บประชาไท แต่ก็ยังไม่เข้าถึงวงกว้าง

 

"ประชาไทตกที่นั่งก้ำกึ่ง โดนทุบซ้ายถองขวาทุกวัน แต่ก็เป็นดุลยภาพ"

 

เราบอกว่าตัวอย่างหนึ่งน่าจะเป็นคุณปลื้ม  แม้ไม่ตรงนัก แต่อาศัยจังหวะที่สื่อเอียงข้าง ฉีกตัวเองออกไปเป็นคนดัง แม้จะค่อนข้างเชิงพาณิชย์

 

"ก็อาจจะเป็นวัฏจักรของอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย อย่างนี้การตอบรับสูง"

 

ที่อาจารย์ย่าเห็นด้วยคือ ช่วงที่ผ่านมาสื่อที่ไม่สุดขั้วกลับเป็นนักข่าวเศรษฐกิจ

 

"เขาอยู่กับทุนอยู่แล้ว ขณะนี้ในซีกแนวคิดเศรษฐกิจกับการเมือง การเมืองไม่ลงตัวว่าจะไปทางไหน สังคมยังไม่มีฉันทามติร่วม แต่เศรษฐกิจรู้อยู่แก่ใจว่ามันต้องไปทางนี้อยู่แล้ว การเมืองมันเป็นสีสัน เป็นเรื่องความเชื่อที่แตกต่างกันชัดเจน แนวการเมืองเป็นแนวใหญ่"

 

เหมือนเราไม่เคยถกกันให้ลงตัวว่าจะยึดอุดมการณ์พัฒนาประเทศอย่างไร เป็นทุนนิยมแค่ไหน สังคมนิยมแค่ไหน

 

"เราไม่เคยคุยกัน รัฐสวัสดิการก็เปิดประเด็นนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็หายไป เราไม่มีการไปออกแบบใหญ่ๆ กว้างๆ ให้มันเกิดเหตุไปวันต่อวัน".

 

 

 

 

----------------------

ที่มา : ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2551 http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&iDate=11/May/2551&news_id=158365&cat_id=220100

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net