Skip to main content
sharethis


 

 


ปัญหาข้าวแพงส่งผลกระทบไปทุกอย่อมหญ้า คนกินข้าวต้องเพิ่มเงินเพื่อให้ได้ข้าวมาหนึ่งจาน หรือจ่ายเท่าเดิมแต่ปริมาณลดลง ในทางกลับกันเรื่องของราคาข้าวก็ส่งผลให้ อดีตชาวนาส่วนหนึ่งมีแนวคิดจะรื้อฟื้นนาร้างขึ้นมาอีกครั้งในภาคใต้ ซึ่งถือได้ว่ามีที่นาที่ถูกทิ้งร้างจำนวนมาก


 


อดีตชาวนาในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่เห็นที่นาร้างภายใต้กรรมสิทธิ์ของนายทุนที่


กว้านซื้อที่ดินแล้วปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย รวมตัวเพื่อหาทางรื้อฟื้นนาร้าง ด้วยวิธีการที่ท้าทายอย่างยิ่ง!!!


 


นายอนันต์ กาญจนสุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังเกษตรกร ซึ่งมีที่ทำการพรรคอยู่ที่เลขที่ 89 หมู่ 9 ตำบลคู่เต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่าถึงแนวคิดนี้ว่า พรรคฯได้ประสานให้กลุ่มชาวนาในพื้นที่ตำบลคูเต่า รวมกลุ่มกันเพื่อจะทำนาในที่นาร้างกว่า 5,000 ไร่ในที่ราบครอบคลุมพื้นที่ตำบลคู่เต่า คลองแหและน้ำน้อย ซึ่งส่วนเป็นใหญ่เป็นที่ดินของนายทุนต่างถิ่น ที่ปล่อยรกร้างโดยไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ


 


สาเหตุที่จะฟื้นนาร้างนี้ขึ้นมา เนื่องจากพรรคฯ มีที่ตังสำนักงานอยู่ในพื้นที่ตำบลคูเต่า จึงมีสมาชิกพรรคเป็นคนในพื้นที่ตำบลคูเต่าจำนวนมาก และในภาวะที่ข้าวมีราคาแพง คนที่เสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คนคือระดับล่างของสังคม ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา


 


"เราจึงมองว่า เนื่องจากพื้นที่นาร้างดังกล่าวถูกทิ้งให้รกร้างมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะส่วนใหญ่ถูกขายให้กับนายทุน"


 


ดังนั้นสมาชิกพรรคกว่า 200 คนในพื้นที่จึงได้รวมตัวกัน โดยส่งตัวแทนมาพูดคุยกันภายในพรรคพลังเกษตรกร และได้ประชุมหารือกันในเรื่องที่สมาชิกอยากทำนา แต่ติดปัญหาคือ ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง จะทำอย่างไรที่จะนำพื้นที่นาร้างดังกล่าวมาฟื้นพื้นที่ทำนาอีกครั้ง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของพื้นที่ แต่ปัจจุบันไม่มีการทำนาแล้ว พื้นที่ดังกล่าวจึงถูกทิ้งไว้โดยไม่เกิดประโยชน์ แม้จะตกเป็นของนายทุนแล้วก็ตาม


 


จึงมีการเสนอว่า ให้ชาวบ้านแจ้งความจำนงมาว่าใครบ้างที่ต้องการทำนา ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงมากว่า 400 คน จึงจัดประชุมชาวบ้านโดยเชิญนายอำเภอหาดใหญ่ เกษตรอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา


 


ผลการประชุมได้ข้อสรุปว่า พรรคพลังเกษตรกรจะสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยจะจัดหาเงินทุนให้ยืมเพื่อดำเนินการทำนาในลักษณะกลุ่ม ๆ ละ 25 คน จากทั้งหมด 325 คน แบ่งกลุ่มได้ทั้งหมด 13 กลุ่ม โดยต้องรับผิดชอบในที่นาคนละ 5 ไร่ รวม 125 ไร่ ต่อหนึ่งกลุ่ม ดังนั้นที่นาที่ต้องใช้ทั้งหมด 1,625 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของกลุ่ม โดยจะมีการตั้งหัวหน้ากลุ่ม กรรมการและเลขานุการ


 


นอกจากนี้ยังกำหนดให้ทำทำเนียบผู้ทำนาของแต่ละกลุ่มด้วย รวมทั้งคนใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ให้ชัดเจนก่อน โดยให้แต่ละกลุ่มเลือกว่าจะใช้ที่นาแปลงไหน คำนวณค่าใช้จ่ายในการปรับที่สำหรับทำนาขึ้นมาใหม่ได้เท่าไหร่


 


จากนั้นจึงไปพบกับเจ้าของที่ดิน เพื่อขอใช้พื้นที่และชี้แจงความต้องการใช้พื้นที่นาร้างเพื่อปลูกข้าวอีกครั้ง คาดว่าเจ้าของที่ดินจะอนุญาต โดยอาจจะให้ใช้ฟรี ให้เช่าหรือแบ่งผลผลิตที่ได้ก็ได้


 


"ขณะนี้สืบหาเจ้าของที่ดินได้แล้ว 2 ราย อยู่ในเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยได้ไปพบและขออนุญาตแล้ว ส่วนรายอื่นก็ต้องตามหาต่อไป เพราะชาวบ้านไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นของใคร แต่เท่าที่ทราบก็เป็นนายทุนนอกพื้นที่และชาวต่างชาติ ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินไว้เมื่อประมาณ 20 มาแล้ว"


 


"มีแปลงหนึ่งที่ทราบมาว่า ถูกขายไปให้นายทุนรายเดียว 2,000 ไร่ ในราคา 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของที่แท้จริง"


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ยังตามหาเจ้าของไม่เจอ ... "ก็ต้องเข้าใจพื้นที่ เพราะปล่อยไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เป็นการทำลายโอกาสให้กับเกษตรกรที่ต้องการใช้พื้นที่ทำนา ใช้ประโยชน์จากที่ดิน เมื่อเจอเจ้าของแล้วจึงค่อยอธิบาย ถ้าเขาไม่พอใจหรือยึดเอาผลผลิตไปก็ไม่เป็นไร เพราะแน่นอนวิธีการนี้ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการเข้าไปบุกรุกที่ดินของคนอื่น"


 


"แน่นอนผิดกฎหมาย เราไม่ปฏิเสธ แต่ถามว่าในจำนวนนายทุน 10 คน ก็คงไม่โหดเหี้ยมกันทั้งหมด"


 


"ที่สำคัญเราไม่ได้เข้าไปใช้ที่เพื่อจะยึดพื้นที่ แล้วจะเอาไปออกเอกสารสิทธิ์ หรือเอามาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ส่วนเมื่อทำไปแล้วเจ้าของที่ดินจะมาเอาคืนก็ไม่อยากจะไปทุกข์ร้อนก่อน ถ้ามาจริงซึ่งก็คงเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องพูดคุยกัน เพราะตอนนี้ที่ทำอย่างนั้น เพราะเรายังตามหาเจ้าของไม่เจอ"


 


แนวทางนี้ถ้าสามารถทำได้จริง ก็จะมีเกษตรกรจากจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 100 คน จะมาขอทำด้วย เพราะประธานสาขาพรรคที่นั่นแจ้งมาแล้ว ส่วนจะได้หรือไม่ได้นั้น ต้องให้การเริ่มต้นที่นี่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยก่อน


 


ส่วนที่อาจถูกครหาว่าเอาพรรคพวกของตัวเองมาหาประโยชน์ด้วยนั้น ก็ต้องดูว่า เขาคือคนที่เสียประโยชน์ในสังคมด้วยหรือไม่ ถ้าเขาคือคนที่เสียประโยชน์ก็ควรต้องให้โอกาส


 


ด้านนายเจียร ไชยวรรณ หัวหน้ากลุ่มทำนา หมู่ที่ 1 บ้านบางโหนด และเป็นกรรมการฝ่ายติดตามหาผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน บอกว่าที่นาร้างส่วนหนึ่งได้สืบทราบเจ้าของมาแล้ว เช่น คุณสมมุ่ง ณ สงขลา คุณบุญเลิศ ลาภาโรจชกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นคหบดีในหาดใหญ่ เท่าที่คุยกันแล้ว เขาน่าจะไม่ขัดข้องในการเอาที่นาร้างของเขามาทำนาอีกครั้ง เพราะพวกเขาก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีชื่อเสียง


 


อีกทางหนึ่งที่จะตามหาเจ้าของได้ คือที่ดินตามแนวคลองระบายน้ำท่วม ร.3 ที่ขุดโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะมีข้อมูลรายชื่อเจ้าของที่ดินริมคลองด้วย เพื่อใช้สำหรับจ่ายค่าเวนคืนที่ดินบางส่วนที่ติดแนวขุดคลอง


 


"ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าไปหาข้อมูลที่กรมชลประทาน เพราะต้องทำทำเนียบคนทำนาก่อน จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกพื้นที่ทำนา รวมทั้งคำนวณค่าใช้จ่ายด้วย แล้วจึงไปอธิบายกับเจ้าของได้ง่าย ไม่ใช่แค่ไปพูดปากเปล่าลอยๆ"


 


ที่ผ่านมานายทุนที่มากว้านซื้อที่ดินเองก็ไม่รู้ว่าที่ดินแปลงที่เขาซื้ออยู่ตรงไหน เพียงแต่ชี้ได้ว่าอยู่บริเวณนั้นบริเวณนี้ แต่ชี้จุดตรงๆ ไม่ได้ นอกจากต้องไปดูพิกันในระวางแผนที่ ถึงกระนั้นก็ยังดูไม่ออก เช่นที่ดินบางแปลง เจ้าของเป็นคนจังหวัดนครราชสีมา เข้ามากว้านซื้อที่ดินโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มาดูว่าอยู่ตรงไหน


 


ดังนั้นถ้าเราสามารถฟื้นแปลงนาขึ้นมาได้ เจ้าของที่ดินก็จะได้ประโยชน์ เพราะสามารถทราบแนวเขตที่ดินที่แท้จริงของตนเองได้ เพราะก่อนทำนาต้องให้เจ้าหน้าที่ที่ดินมาชี้แนวเขตที่ดินด้วย ก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย


 


นายเจียร บอกด้วยว่า สำหรับสาเหตุที่ที่ดินแถบนั้นถูกนายทุนกว้านซื้อไปมีหลายสาเหตุและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถทำนาได้อีกแล้ว เพราะเมื่อประมาณปี 2532 เริ่มมีการทำนากุ้งในแถบริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งคันนากุ้งบางแห่งสูงถึง 4 เมตร ซึ่งสูงกว่าคันนาข้าว เมื่อมีการสูบน้ำเค็มเข้ามาในนากุ้ง น้ำเค็มก็ซึมเข้าไปในนาข้าว ทำให้ทำนาไม่ได้


 


เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าของที่นาเห็นว่าที่นาทำนาไม่ได้ จึงเสนอขายที่นาให้เจ้าของนากุ้ง เจ้าของนากุ้งก็กดราคาที่ดิน โดยให้เหตุผลว่าที่นาทำประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว ทำนากุ้งได้อย่างเดียว จึงซื้อไปในราคาถูก เป็นอย่างนี้หลายแปลง รวมทั้งที่ดินของตนด้วย


 


สาเหตุต่อมา ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อประมาณปี 2542 เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำเสียในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ซึ่งอยู่เหนือน้ำ ไหลลงพื้นที่ราบที่เป็นที่นาของชาวบ้าน ทำให้นาข้าวเสียหาย ต้นข้าวเน่าเปื่อยเพราะน้ำเสียขังแช่อยู่หลายวัน เป็นอย่างนั้นอยู่ 2 - 3 ปีชาวบ้านก็เลิกทำนา เพราะเห็นว่าทำแล้วก็ไม่ผล


 


ส่วนกรณีที่นายทุนมากว้านซื้อที่ดินก็เพราะ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย นายทุนซึ่งรู้ข่าวก่อนชาวบ้านก็มากว้าซื้อที่ดินไว้ก่อน เพื่อเก็งกำไร


 


ต่อมาเมื่อจะมีโครงการก่อสร้างถนนลพบุรีรามเมศวร์ ซึ่งเป็นถนนสายใหม่สายหาดใหญ่ - อำเภอเมืองสงขลา ตัดผ่านที่ราบซึ่งเป็นที่นากว่า 5,000 ไร่ดังกล่าว นายทุนที่ทราบข่าวก่อนก็เข้ามากว้านซื้อที่ดินอีกครั้ง


 


ถนนสายนี้ก่อสร้างเมื่อปี 2535 แม้จะมาที่หลังบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ก็สร้างเสร็จก่อนบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว ในที่สุดที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ก็ตกเป็นของนายทุนไปเกือบทั้งหมด และทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า


 


ในเมื่อเห็นสาเหตุที่ทำให้นาร้างแล้ว การจะรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ก็คงไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะในที่ดินที่ยังไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของ


 


อีกทั้งหากฟื้นนาร้างขึ้นมาก็คงจะได้ผลมากกว่า เพราะปัญหาเรื่องน้ำท่วมหมดไปแล้ว เพราะกรมชลประทานได้ขุดคลองระบายน้ำไว้หลายสาย น้ำจืดที่จะใช้ทำนาก็น่าจะเพียงพอ ส่วนปัญหาน้ำเสียก็ไม่มี เพราะเทศบาลนครหาดใหญ่สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียไว้แล้ว น้ำเสียตัวเมืองหาดใหญ่คงจะไม่ถูกปล่อยลงแห่งน้ำธรรมชาติ


 


ขณะที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในระหว่างเดินทางมาเปิดการสัมมนา "พัฒนาการเกษตรแนวใหม่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผาสุกร่มเย็น และมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการในพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2551 ที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ ถึงเรื่องนี้ด้วย


 


นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่นาร้างในภาคใต้ส่วนหนึ่งมาจากการที่บางแห่งเป็นพื้นห่างไกลจากชุมชน ชาวบ้านไม่กล้าไปทำนา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกส่วนหนึ่งเป็นที่นาตกเป็นของนายทุน ซึ่งปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ


 


"ดังนั้น การที่จะให้เกษตรกรเข้าไปใช้ที่ดินนานทุนเพื่อทำนา ต้องผลักดันให้อยู่ในรูปของการเช่า ซึ่งเมื่อเข้าไปอยู่ในรูปของการเช่าแล้ว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าไปช่วยเหลือโดยการคุ้มครองชาวนาให้ทันที แต่ไม่ใช่การเข้าไปยึดที่เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น"


 


นายอนันต์ ได้ย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้ต้องพยายามต่อไป เพราะเรื่องนี้จะว่าเป็นการบุกรุกก็ใช่ แต่เป็นเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมากกว่า เพราะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 เรื่องสิทธิชุมชน มาตรา 66 ที่ว่า


 


"บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน"


 


และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่การทำนาบนหลังคนด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องการเอารัดเอาเปรียบ แต่เป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทุกคนได้ประโยชน์ และตนเองก็ไม่ได้หวังผลทางการเมือง เพราะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว


 


"เรากล้าประกาศว่าเราเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในสภา ถึงมีก็ไม่มีประโยชน์ เพราะทำอะไรมากไม่ได้ แต่ที่เราตั้งพรรคขึ้นมาและสงคนลงสมัครก็เพื่อต้องการแสดงตัวตนของเกษตรกรขึ้นมา ซึ่งต่อไปต้องสร้างพลังให้กับเกษตรกรและชนชั้นแรงงานในสังคมให้มีอำนาจต่อรองมาขึ้นด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net