Skip to main content
sharethis





การเมือง


 


"อภิสิทธิ์-จำลอง" ค้านเปิดประชุมสมัยวิสามัญแก้รธน.


 


16 ปี พฤษภาทมิฬ คึกคัก! "พล.ต.จำลอง" ชี้หมิ่นเบื้องสูง-แก้รัฐธรรมนูญ เงื่อนไขสำคัญทำ ปฏิวัติซ้ำ ประสานเสียง "อภิสิทธิ์" ไม่เอาด้วยประชุมสภานอกรอบ แก้รัฐธรรมนูญ


 


วันนี้ ที่มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ได้จัดงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งปีนี้ เป็นปีที่ 16แล้ว โดย มี ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น มาร่วมงานกันอย่างคับคั่งกว่า 100 คน ขณะที่บุคคลสำคัญทางการเมืองมาร่วมงานด้วยหลายคน อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


 


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้นำประชาชนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สว.กทม. นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


 


พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะนำการแก้รัฐธรรมนูญมาบรรจุในวาระของการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณ ประจำปี 2552 โดยเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ขณะที่ปัญหาปากท้องของประชาชน ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น พร้อมยืนยันว่า หากมีการเสนอญัติแก้รัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มายื่นถอดถอน ส.ส. และออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทันที


 


ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ยังกล่าวถึงกระแสข่าวปฏิวัติว่า อย่าเชื่อว่าจะไม่มีการปฏิวัติ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ยังมีเงื่อนไขที่พร้อมจะทำให้เกิดการปฏิวัติได้ ทั้งการหมิ่นเบื้องสูง และการแก้รัฐธรรมนูญ


 


ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า มีการประสานเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ แต่โดยส่วนตัวไม่ทราบในรายละเอียดว่าเป็นเรื่องใด แต่หากเป็นการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ตามปกติ จะพิจารณาในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยืนยันว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้รับเอกสารจากรัฐบาล ซึ่งอาจยังทำไม่เรียบร้อย ส่วนหากจะมีการถือโอกาสพ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไว้ด้วย ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งหากเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ถือว่าไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสมัยสามัญหรือวิสามัญก็ตาม


 


ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ยืนยันว่า ส.ส. ในพรรคพลังประชาชน จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณประจำปี หรือไม่นั้น จะหารือกันก่อน ยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย และไม่ห่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะคัดค้านและล่ารายชื่อถอดถอน


 


ที่มา: http://www.posttoday.com


 






ความมั่นคง


"วันชัย"สั่งตัดเครือข่ายโทรทุกค่ายในเรือนจำป้องกันนักโทษสั่งขายยา


 


เมื่อวันที่ 17 พ.ค.51 นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ชี้แจงต่อร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำ ซึ่งเข้มงวดการตรวจค้นไม่ให้นักโทษลักลอบนำยาเสพติดหรือโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำ


 


นายวันชัย กล่าวต่อไปว่า ในเรือนจำขนาดใหญ่ที่ใช้คุมตัวนักโทษคดีอุกฉกรรจ์หรือนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ จะเสริมมาตรการตรวจสอบเข้มงวด โดยจะติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมพื้นที่ในบริเวณเรือนนอน หากนักโทษสามารถซุกซ่อนชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำ ก็ไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับบุคคลภายนอกได้


 


นายวันชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อตรวจสอบของเยี่ยมและพัสดุที่ส่งถึงนักโทษในเรือนจำ ซึ่งจะทำให้การตรวจค้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำให้พัสดุหรือของเยี่ยมชำรุดเสียหาย


 


ที่มา: http://www.siamrath.co.th


 


เตือนตาก-แม่ฮ่องสอนเสี่ยงดินถล่มเหตุดินภูเขาอุ้มน้ำมาก


รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เผยพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มรวม 2,371 หมู่บ้านจาก 51 จังหวัด ชี้สถานการณ์ทุกจังหวัดยังปกติ ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุตาก-แม่ฮ่องสอนเสี่ยงดินถล่มในช่วงนี้สูง เหตุมรสุมตะวันตก ส่งผลดินภูเขาอุ้มน้ำมากขึ้น


 


(17พค.) ที่ห้องประชุมอบจ.ลำพูน นายเสถียร สุคนธ์พงเผ่า รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดสัมนา"เครือข่ายแจ้งเหตุธรณีพิบัติภัย"ภายในงานมีการอภิปรายเรื่อง"การเฝ้าระวังแจ้งเหตุเตือนภัยดินถล่ม" จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในสังกัดกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและมีชาวบ้านอาสาสมัครของจังหวัดลำพูนเข้าร่วมกว่า 300 คน


 


นายเสถียร กล่าวว่า หลังจากกรมทรัพยากรธรณีสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ดินไหล และดินร่วง และจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศไทย พบว่ามีทั้งหมด 51 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด คลอบคลุม 2,371 หมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่ทั้งภาคเหนือตอนบน และตอนล่าง ยกเว้น จ.ชัยนาท และภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน


 


ทั้งนี้ จ.ลำพูน เป็นอีก 1 จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อภัยดินถล่ม เพราะอยู่ในเขตแนวเลื่อนแม่ทา โดยข้อมูลทางวิชาการระบุว่ามีโอกาสขยับตัวได้มากที่สุดของประเทศ จากรอยเลื่อนทั่วประเทศ 13 รอยเลื่อน โดยเฉพาะหากเกิดแผ่นดินไหวจะสามารถเกิดอัตราความรุนแรงและสร้างความเสียหายที่สังเกตได้ ขณะที่รอยเลื่อนอื่นในเขตภาคเหนือยังมีโอกาสเกิดเหตุภัยดินถล่ม เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน หรือ ในเขตรอยเลื่อนแม่จัน ของ จ.เชียงราย และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่อยู่ในเขตภาคตะวันตกของประเทศ


 


นอกจากนี้ พบว่าในช่วงนี้ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน มีโอกาสเกิดฝนตกหนักและเกิดพายุรุนแรง ตามการรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่สภาพอากาศอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามร่องความกดอากาศต่ำและทิศทางของลมมรสุมที่ไม่แน่นอน


 


นายเสถียร กล่าวอีกว่า หลังจากกรมทรัพยากรธรณีสำรวจและทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยธรณีพิบัติแล้ว จึงเร่งหามาตรการศึกษาแนวทางป้องกันให้ชาวบ้านผู้เสี่ยงประสบภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยยอมรับว่าปัญหาภัยธรณีพิบัติเป็นเรื่องที่แก้ปัญหายาก เพราะเป็นภัยทางธรรมชาติ ซึ่งประเทศใหญ่ เช่น ญี่ปุ่นและอเมริกา ยังไม่สามารถป้องกันได้เช่นกัน แต่ขณะนี้สถานการณ์ทุกจังหวัดยังคงเป็นปกติและไม่น่าวิตกกังวล


 


อย่างไรก็ดี ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทุกแห่งมีโอกาสประสบภัยพิบัติเท่ากัน และขณะนี้ไม่มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งหากพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดฝนตกหนักเกิดกว่า 100 มิลลิเมตร พื้นที่เสี่ยงภัยทุกจังหวัดย่อมประสบภัยดินถล่มเหมือนกัน ชาวบ้านต้องติดตามการรายงานสภาพอากาศและสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง


 


สำหรับการจัดสัมนาดังกล่าว กรมทรัพยากรธรณีจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 โดยตั้งเป้าจัดสัมนา 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดย จ.ลำพูน เป็นจังหวัดที่มีการจัดสัมนาอันดับที่ 23 และมีเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเหตุภัยดินถล่ม ซึ่งผ่านการอบรมมาแล้ว 8 ครั้ง รวมอาสมัครอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจาก 53 หมู่บ้าน จำนวน 450 คน จากพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 107 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2551 กรมทรัยากรธรณีตั้งเป้าจัดสัมนาเพียง 5 จังหวัด และยังไม่สามารถตั้งเป้าได้ว่าจะสามารถจัดสัมนาเครือข่ายเฝ้าระวังภัยดินถล่มครบ 51 หมู่บ้านในปีไหน เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ


 


ด้านนายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ในระยะนี้ชาวบ้านทุกพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มทั้ง 51 จังหวัด มีโอกาสประสบภัยดินถล่มเท่ากัน โดยเฉพาะเมื่อฝนตกหนักมิลลิเมตร แต่ จ.ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยมีโอกาสประสบปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะเขต จ.ตาก ได้แก่ อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด อ.ท่าสองยาง หรือ จ.แม่ฮ่องสอน ได้แก่ อ.สบเมย และ อ.สบเมย รวมถึง อ.อมก๋อย ของ จ.เชียงใหม่


 


เนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน โดยเป็นมรสุมที่มีกำลังค่อนข้างแรง เช่น พายุนาร์กีส เป็นต้น ทำให้ภูเขาตามแนวพื้นที่ดังกล่าวรับน้ำมากกว่าจังหวัดอื่น ซึ่งจะพบว่าเหตุการณ์ดินถล่มในเขต อ.แม่ละมาด จ.ตาก เมื่อปี 2545 เกิดจากมรสุมในช่วงเดือนพฤษภาคม


 


ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงกันยายน ประเทศไทยจะมีมรสุมจากฝั่งตะวันออก ทำให้ทั่วประเทศจะมีปริมาณน้ำฝนเท่ากัน ซึ่งในระยะนั้นพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มมากสุดจะอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ คือ น่าน แพร่ และเชียงราย ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีจะมีหมายเลขโทรศัพย์ของเครือข่ายอาสาสมัครตามหมู่บ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความเดือดร้อนจะได้รับรายงานความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว


 


ที่มา: http://www.komchadluek.net


 


 






การศึกษา


 


อจ.จุฬาฯโอด พิษแอดมิชชั่นส์ นิสิตคณะวิทย์ลาออก200 จาก700 คน


 


อจ.จุฬาฯโอด พิษแอดมิชชั่นส์ทำให้นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ลาออกถึง 200 จากทั้งสิ้น 700 คน เหตุพื้นฐานความรู้ไม่แน่น เรียนต่อไม่ไหว ร้อง ทปอ. แก้องค์ประกอบแอดฯปี53 ชี้หากไม่ปรับลั่นคณะวิทย์แห่รับตรงเหมือนคณะแพทย์ศาสตร์


 


จากการประชุมเสวนาผลกระทบของการสอบแอดมิชชั่นต่อการเรียนฟิสิกส์ ของนิสิต นักศึกษา เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีสมาคมฟิสิกส์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม 24 แห่ง รวมถึงอาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์จากร.ร.ต่าง ๆเข้าร่วมประชุม ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าวและหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)อีกครั้ง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ระบบแอดมิชชั่น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 1 ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคณะที่ต้องใช้บริการจากภาควิชาฟิสิกส์ ซึ่งก็หมายถึงสายวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมด เช่น แพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ ทันตแพตย์ เป็นต้น จะเห็นได้ชัดว่านักศึกษาที่ผ่านเข้ามาเรียนในคณะดังกล่าวมีคุณภาพลดลง ไม่สามารถรอดได้ในระบบการศึกษาปัจจุบัน


 


"คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เคยมีนักเรียนที่ต้องออกกลางคันจำนวน 200 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 700 คน คิดเป็น 3 เท่า ตั้งแต่ ปี 49 ซึ่งเปลี่ยนจากระบบเอ็นทรานซ์มาเป็นแอดมิชชั่น และจะนำขอสรุปที่ได้ในวันนี้(16 พ.ค.) เสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยเร็วที่สุด เพราะข้อสรุปทั้งหมดเป็นความห่วงใยจากอาจารณ์สายวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากทปอ.เห็นปัญหาก็น่าจะสามารถแก้ไของค์ประกอบการแอดมิชชั่นส์ปี 2553 ได้ทัน เพราะหากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยได้"ดร.สธน กล่าว


 


โดยที่ประชุมได้สรุปปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น ดังนี้ ปัญหาผลของการสอบแอดมิชชั่น ต่อการเรียนฟิสิกส์ของนิสิตและนักศึกษา มีผลทำให้เกรดเฉลี่ยมัธยมปลาย ไม่สะท้อนความรู้ความสามารถนักเรียน คะแนนโอเน็ตไม่สื่อถึงความสามารถในทักษะที่ต้องใช้ในการเรียนมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูงหรือเอเน็ตที่รวมชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์เข้าด้วยกันก่อให้เกิดปัญหา ทำให้ผลการเรียนฟิสิกส์ปี 1 ตกต่ำอย่างชัดเจน นักเรียนมีพื้นความรู้คณิตศาสตร์ต่ำมาก


 


ดร.สธน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงรุก 3 ข้อ คือ 1.เสนอให้ทปอ.แก้สัดส่วนคะแนน โดยมีแนวทางในการพิจารณา 2-3 แนวทาง แนวทางที่ 1 นำคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) และการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Onet) มาเฉลี่ยรวมกันตามสัดส่วนที่จะกำหนดต่อไปเพื่อถ่วงน้ำหนักของ GPAX ให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็กมากขึ้น โดยใช้คะแนนหลังจากที่เฉลี่ยแล้ว ในสัดส่วนร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 ให้มาจากการสอบความถนัดในสาขาอาชีพ โดยเป็นคะแนนความรู้ทั่วไป GAT ร้อยละ 20 และใช้คะแนนความถนัดทางวิชาชีพ PAT ร้อยละ 50 ส่วนแนวทางที่ 2 ใช้คะแนน GPAX และโอเน็ต ที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว เป็นเงื่อนไขในการรับสมัคร( คล้ายกับคณะแพทย์ ที่ต้องได้คะแนนโอเน็ตอย่างน้อยร้อยละ 60 จึงจะสามารถสมัครได้) แล้วพิจารณาการคัดเลือกจากคะแนนGAT และ PATในสัดส่วน GAT ร้อยละ 30 และ PAT ร้อยละ 70


 


แนวทางที่ 3 ไม่ใช้คะแนนโอเน็ต และ GPAX เลย คัดเลือกโดยใช้คะแนน GAT และ PAT อย่างเดียว ในสัดส่วน GAT ร้อยละ 30 และ PAT ร้อยละ 70 2.กำหนดเกณฑ์ต่ำสุดในแต่ละเนื้อหาว่าต้องได้คะแนนอย่างต่ำร้อยละ 30 แต่เนื่องจากอาจจะมีปัญหาจึงเสนอให้เลื่อนการนำมาใช้ไปชั่วคราวก่อน และค่อยนำมาใช้ในภายหลัง และ3.แยกสอบ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นรายวิชา วิชาละ 2 ชั่วโมง และประกาศคะแนนแยกรายวิชา นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เสนอแนวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไว้ด้วย คือ จัดให้มีการรับตรงเพื่อคัดเลือกนักศึกษาที่มีความพร้อมทางด้านวิทยาศาสตร์ หลายมหาวิทยาลัยมีการสอบโควต้าเพื่อรับนักศึกษาก่อนการสอบแอดมิชชั่น อย่างไรก็ตามขอสรุปทั้งหมดนี้คณะทำงานจะจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ ทปอ.โดยเร็วที่สุด


 


ที่มา: http://www.komchadluek.net


 


 


สลด!!!นร.เอนฯติด ม.ศิลปากร พ่อ-แม่ไม่มีเงินเรียนผูกคอตาย


นักเรียนสาวสอบติด ม.ศิลปากรเพชรบุรี คณะเทคโนโลยีการเกษตร น้อยใจพ่อ-แม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนตัดสินใจผูกคอตาย


 


 (17พค.) เวลา 17.00 น.พ.ต.ท.ศิโรจน์ อินทรสมบัติ พงส.(สบ.3) สภ.เมืองสิงห์บุรี ได้รับแจ้งมีเหตุนักเรียน สาวผูกคอตายที่บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่.7 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี จึงรุดไปสอบสวนชันสูตรพลิกศพ พร้อมแพทย์เวร รพ.สิงห์บุรี และเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยจังหวัดสิงห์ บุรี พบที่บ้านดังกล่าวเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงโล่ง ภายในใต้ถุนบ้านพบร่าง นส.สุขชายา แก้วสมชาติ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รร.สิงห์บุรี และได้สอบเอนฯติดที่มหาวิทยาลัยกรมศิลปากรเพชรบุรี คณะเทคโนโลยีการเกษตร ใช้เชือกไนล่อนสีเขียวผูกคอตัวเองโยงติดกับขื่อบ้านกลางตัวบ้านศพห้อยโตงเตง เจ้าหน้าจึงได้นำศพลงมาสภาพศพที่ลำคอมีรอยเขียวช้ำเป็นรอยเชือกแพทย์ลงความเห็นเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง


 


จากการสอบสวน นายสุรกิตต์ แก้วสมบัติ อายุ 49 ปี กับนางรุ่งสร่าง แก้วสมบัติ อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นพ่อกับแม่ของผู้ตาย มีอาชีพรับจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ ในวันเกิดเหตุตนทั้งสองได้ออกไปรับจ้างทำงานเฟอร์นิเจอร์ปกตินอกบ้าน จากนั้นได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้านว่า ลูกสาวได้ผูกคอตาย จึงได้รีบเดินทางกลับมาบ้าน พอเห็นสภาพลูกสาวผูกคอตาย ทำให้เป็นลมล้มทั้งยืน


 


นส.สุขชายา แก้วสมบัติ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วได้ไปสอบเอนทรานด์ติดมหาวิทยาลัยศิลปากรเพชรบุรี คณะเทคโนโลยี-การเกษตร แต่เนื่องจากฐานะทางบ้านของนส.สุขชายา พ่อแม่มีอาชีพรับทำเฟอร์นิเจอร์ รายได้แต่ละวันไม่แน่นอน ยิ่งมาเจอเศรษฐกิจในช่วงนี้ จึงทำให้มีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว และมีพี่ที่ศึกษาอยู่ถึง 3 คน มีพี่สาวและพี่ชาย ศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรีและอาชีวศึกษาสิงห์ บุรี


 


และวันนี้ นส.สุขชายาต้องนำเงินไปลงทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่ของที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพชรบุรี แต่เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถหาเงินให้ลูกไปลงทะเบียน เพื่อเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทาลัยใหม่ได้ ทำให้นส.สุขชายา เกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ จึงคิดสั้นใช้เชือกไนล่อนผูกคอตัวเองจนเสียชีวิตดังกล่าว


 


หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชันสูตรพลิกศพแล้ว จึงได้มอบศพ นส.สุขชายา แก้วสมบัติ ให้พ่อแม่ไปทำพิธีตามศาสนาต่อไป


 


ที่มา: http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net