Skip to main content
sharethis


ศราวุฒิ ประทุมราช


 


ผมไปจัดอบรมให้แก่แรงงานอพยพชาวพม่า และ คนไทยที่ทำงานกับแรงงานอพยพชาวพม่า ที่ อำเภอแม่สอด อยู่ 1 สัปดาห์ กลับมาถึงกรุงเทพฯก็วันที่ 17 พฤษภาคมไปแล้ว จนเลยลืมไปว่า วันที่ 17 พฤษภาคม เมื่อ 16 ปี ที่แล้ว บ้านเมืองของเราได้เกิดการฆาตกรรมกลางเมืองหลวง บนถนนราชดำเนิน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่หาทางออกไม่ได้ ระหว่างฝ่ายผู้รักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และ นายทหารนักรัฐประหารที่บอกกับประชาชนว่า ผมจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลากลับเข้ารับตำแหน่ง หน้าตาเฉย พร้อมกับวิวาทะ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

ความจริงจะว่าไปแล้ว การชุมนุมของประชาชนบนถนนราชดำเนิน เมื่อ 17-20 พฤษภาคม 2535 นั้น จุดเริ่มต้น มาจากปัญหาของรัฐธรรมนูญและการคัดค้านพลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันนี้ นำไปสู่การนำกองทหาร พร้อมอาวุธสงครามออกมาปราบปราม ผู้ชุมนุมโดยสงบ และสุดท้ายจบลงด้วยการ เข้าเฝ้า เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างพลตรี จำลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร กลายเป็นโอละพ่อ ที่หลายฝ่ายไม่เข้าใจว่า การคัดค้านรัฐประหารและคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคน 2 คน ไปได้อย่างไร และความจริง การชุมนุมบนถนนราชดำเนินในครั้งนั้น เริ่มต้นด้วยความบริสุทธ์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และองค์กรภาคประชาชน แต่ถูกเกม การเมืองของหลายพรรค หลายกลุ่ม ฉุดกระแสให้กลายเป็นการใช้ความรุนแรงเข้าหากัน โดยน่าเชื่อว่าน่าจะมีการเตรียมการโดยฝ่ายที่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า ด้วยความรุนแรง โดยที่ฝ่ายองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรประชาชน กลายเป็น "คนขี่หลังเสือ" ที่หาทางลงไม่ได้ จำต้องตกกระไดพลอยโจน ไปกับฝ่ายสร้างสถานการณ์จนควบคุมไม่ได้ ความรุนแรงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงเป็นสถานการณ์ที่สร้างวีรบุรุษ ให้แก่ใครหลายคน และ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสังเวยชีวิต เลือดเนื้อ ให้กับประชาธิปไตยไปอีก ไม่น้อยกว่า 100 ชีวิต ทั้งบาดเจ็บ พิการ สูญหายและเสียชีวิต


ผมไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บว่าใครต้องรับผิดชอบในการก่อเหตุการณ์ 17 พฤษภา 35 แต่อย่างน้อย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)ในขณะนั้น ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้จัดการชุมนุม ซึ่งผมก็เป็นส่วนหนึ่งของ ครป.ในอดีต ที่ต้องขอรับผิดชอบและ ขอสดุดีวีรกรรมของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายที่ได้สังเวยชีวิต เลือดเนื้อและอนาคตของตนไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ อย่างจริงใจ และขอไว้อาลัย หนึ่งอึดใจครับ


คำถามที่ผมเริ่มตั้งข้อสงสัย ว่า ฤาสังคมไทยจะไม่สามารถก้าวพ้น ทางออกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง กระนั้นหรือ


เพราะขณะนี้ ปัญหาทางการเมืองเริ่มกลับมามีความขัดแย้งกันอีกครั้ง หลังจากที่มีความขัดแย้งกันเมื่อคราวต้นปี 2549 ที่ต้องการขับไล่ รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และพวกพรรคไทยรักไทย จนกลายเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งด้วยการรัฐประหาร ซึ่ง แน่นอนว่า ไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุ แต่เป็นเพียงการชลอเวลา ของการปะทุรอบใหม่ ไปได้อีก 1 ปี และก็เป็นจริงที่ภายหลังการลงประชามติ รับรองรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร และภายหลังการเลือกตั้งที่เราได้รัฐบาล ที่"คนชั้นกลาง" ชิงชัง ความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กำลังเขม็งเกลียวขึ้นอีกคำรบหนึ่งซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวไว้ในการอภิปรายในโอกาสครบรอบ 16 ปี พฤษภาประชาธรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า  ทางออกของการแก้ไขความขัดแย้งนั้นมีแน่แต่จะเป็นทางออกของใครและจะออกแบบไหน ซึ่งอาจจะลงเอยด้วยความสูญเสีย นอกจากนี้กระบวนการแสวงหาทางออกก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นกระบวนการที่มุ่งแตกหัก หักหาญ และหักด้ามพร้าด้วยเข่า และเป็นการต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงกติกา รวมไปถึงใส่ร้ายป้ายสี เช่น ฝ่ายหนึ่งก็ใช้ข้อหาคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่อีกฝ่ายก็ใช้ข้อหาคุกคามประชาธิปไตย ตอนนี้กำลังแข่งกันว่าใครเล่นแรงกว่า ใครด่าแรงกว่า


ผมเห็นด้วยกับที่ พระไพศาลกล่าว และผมก็จะขอเป็นฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย ที่กำลังขัดแย้งกันอยู่และผมก็กล้าพอที่จะออกมาวิจารณ์ทั้ง 2 ฝ่าย  ไม่ว่าจะถูกใส่ร้ายและตีตราจากทั้งสองฝ่าย ผมไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน หรือ ได้รับบรรยากาศแห่งความกลัว ผมไม่กลัวว่าประชาธิปไตยจะถูกคุกคาม ไม่กลัวว่าสถาบันกษัตริย์จะถูกโค่นล้ม และที่สำคัญคือ ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ต้องสูญเสีย   เพราะพระไพศาลเสนอว่า  "ทางออกที่จะมีคือ ต้องตั้งสติ อย่ากลัว อย่าโกรธ และอย่าเกลียด อีกทั้งต้องไม่สนับสนุนความรุนแรง และการทำนอกกติกา และสนับสนุนการแก้ไขโดยสันติวิธี" เอาพระนำขนาดนี้ ไม่มีทางออกก็ให้มันรู้ไป


ใครจะเข้ามาเป็นพวกเดียวกับผม  ก็เชิญเข้ามาร่วมวงได้เลยนะครับ ขอท้าทาย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net