Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย ภู เชียงดาว


 


เป็นที่รับรู้กันดีว่า ประชาชนพม่าได้ประสบกับภัยพิบัติจากไซโคลนนาร์กีสอย่างหนักหน่วง ซึ่งล่าสุด สถานีโทรทัศน์ของทางการพม่า ได้ออกมาเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 78,000 คน และสูญหายอีก 56,000 คน แต่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกลับมีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นจำนวนมากกว่าแสนคนแล้ว


ในขณะที่โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ เปิดเผยว่า เหยื่อพายุไซโคลนในพม่าจำนวนถึงร้อยละ 70 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร ทั้งนี้ เป็นผลมาจากรัฐบาลทหารพม่ายังไม่ยอมอนุญาตให้เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งจากนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศเข้าไปแจกจ่ายอาหาร  รวมทั้งอาหารที่ได้รับจากนานาชาติทางการพม่าก็ยังไม่ได้แจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย



ทางด้านหน่วยแพทย์บรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เหยื่อผู้รอดชีวิตในลุ่มน้ำอิรวดีเป็นจำนวนมาก กำลังล้มป่วยด้วยโรคท้องร่วง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำสะอาด นอกจากนี้ เหยื่อหลายคนเริ่มมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจด้วย



กระนั้น รัฐบาลทหารพม่า ก็ยังคงมีความพยายามปิดกั้นการช่วยเหลือจากนานาชาติต่อไป


 


ล่าสุด "ประชาไท" มีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้หญิงที่ชื่อ "จ๋ามตอง" จากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ และ "แสงน้อง" ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า ต่อกรณีโศกนาฎกรรมจากไซโคลนนาร์กีส และการปฏิเสธการช่วยเหลือจากนานาชาติของรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่ายังคงเดินหน้าให้ประชาชนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วยความจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ซึ่งทำให้เรารับรู้ได้ว่า นาร์กีสกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน และว่ากันว่า นี่เป็นการกระทำที่เลือดเย็นของรัฐบาลทหารพม่า และเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำสองของประชาชนชาวพม่า


 


 


000


 


รู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้                                                                       


 


แสงน้อง: รู้สึกเสียใจที่พี่น้องชาวพม่าได้รับผลกระทบจากไซโคลนนาร์กีสอย่างหนักหน่วงรุนแรง และรู้สึกเสียใจต่อท่าทีของรัฐบาลทหารพม่าหลังเกิดเหตุการณ์แล้วออกมาตอบโต้ไม่ให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พี่น้องชาวพม่าอย่างจริงจัง แต่พยายามจะยึดอำนาจ คว้าอำนาจเอาไว้ตลอดเลย กลับมัวแต่ไปสนใจเรื่องการลงประชามติที่มีขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาแทน


 


จ๋ามตอง: คือในวันที่รัฐบาลทหารพม่าเรียกร้องให้ไปลงประชามตินั้น ดิฉันแล้วก็อีกหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มที่เป็นองค์กรช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายใน และอีกหลายกลุ่มจากพม่า ก็ได้ออกมาเรียกร้องว่า ถ้าหากกว่าทหารพม่ายังคงไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปช่วยเหลือ และไม่อนุญาตเรื่องความช่วยเหลือที่เป็นยาหรือว่าที่เป็นอะไรที่เร่งด่วนมาก ซึ่งในวันนั้นพวกเราก็เรียกร้องให้มีการเข้าไปโดยที่ไม่ต้องขออนุญาตแล้ว เพราะนี่ผ่านไปสิบกว่าวันแล้วก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ยอมให้ใครเข้าไปช่วยเหลือเลย


 


เราเห็นว่า มาถึงตอนนี้ รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ได้รับการยอมรับจากใครแล้ว เพราะว่าเขาไม่ได้ฟัง ซึ่งคนที่ต้องการความช่วยเหลือก็อยู่ตรงนั้น ความช่วยเหลือก็มาแล้ว แต่ทหารพม่าก็เป็นคนขัดขวาง ทำให้การช่วยเหลือทุกอย่างมันช้าลง แล้วก็ไม่อยากให้เข้าไปช่วยเหลือ แล้วกลุ่มข้างในที่เป็นพระ องค์กรชาวบ้านที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือ เขาก็ถูกข่มขู่ แม้แต่ชาวบ้านที่จะช่วยกันเองหรือพระภิกษุในประเทศที่จะช่วยกันเองก็ยังถูกข่มขู่ ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน นี่มันเกิดอะไรขึ้น


 


เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกร้องไปว่า ถ้าหากว่ายังเป็นอย่างนี้อยู่ ทุกๆ ชั่วโมงที่ความช่วยเหลือนั้นเข้าไปไม่ถึงชาวบ้าน ตอนนี้เขาไม่มีน้ำ ไม่มีข้าว ไม่มีไฟ ไม่มีอะไรสักอย่าง แล้วศพลอยอยู่ต่อหน้าเขาทุกวัน แล้วในเรื่องของความรู้สึก ของเด็กที่เสียพ่อแม่ เด็กกำพร้าใครจะดูแลเขา แล้วมีผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูกก็มี เพิ่งคลอดก็มีในวันนั้น แล้วหลายคนที่รอ ต้องการอย่างเร่งด่วน มันไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลทหารพม่าจะมาหยุดไม่ให้เขาเข้ามาให้ความช่วยเหลือ หลังจากนั้น คือวันจันทร์-อังคารที่ผ่านมา (12-13 พ.ค.) ถึงเพิ่งอนุญาตให้องค์กรสหประชาชาติ และเครื่องบินของสหรัฐฯเข้าไปส่งของไว้ แต่ก็ยังไม่ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอีก


 


แสงน้อง : รัฐบาลทหารพม่าเขาไม่อยากให้นานาชาติเข้าไปเห็น ซึ่งเขาก็จะมีวิธีการของเขาที่อยากทำ ก็ให้ช่วยเหลือผู้นำทหารก่อน เพราะเขามาก่อนประชาชน ประชาชนมาทีหลัง


 


 


มีความเห็นอย่างไรที่ทางสหประชาชาติขู่จะใช้มาตรการใช้สิทธิ R2P เข้าไปในพม่า หากไม่ยอมให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือ


 


แสงน้อง: คือเมื่อปี 2500 สหประชาชาติมีมาตรการที่เป็นทางออกอันหนึ่งที่บอกว่า Responsibility to protect หรือ R2P คือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องปกป้อง ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เป็นเพื่อนสมาชิกโดยเฉพาะในสถานการณ์หรืออย่างเกิดวิกฤติที่พม่าในขณะนี้ คือไม่ต้องรอรับการอนุญาตจากเจ้าบ้านหรือว่าประเทศนั้น ซึ่งก็มีหลายกลุ่มหลายประเทศที่พยายามให้งัดเอามาตรการนี้ออกมาใช้ได้เลย เพราะชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนและลำบากกันมาก


 


แล้วตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวออกมาเรื่อยๆ อย่างเช่นในวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่ามีทหารพม่าที่เป็นคอมมานโดเข้าไปยึดรถบรรทุกสิบล้อ 20 คันขององค์กรชาวบ้านที่ชายแดนพม่ากับจีนในรัฐฉาน ซึ่งในรถก็จะเป็นข้าวของ หรืออาหาร ที่จะเอาไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กีส ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเขายินดีที่จะให้บริจาค หรือให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ว่าทหารพม่าจะไปยึดของเขาเฉยเลย ซึ่งการกระทำเช่นนี้มันก็เหมือนขโมย และไม่รู้ว่าจะเอาไปแจกจริงหรือเปล่า เขาอาจจะเอาไปติดชื่อทหารพม่าแล้วเอาไปแจกอีกทีหนึ่ง แล้วชาวบ้านหรือกลุ่มที่จะช่วยเหลือกันเองเขาก็ไม่อยากให้ช่วย องค์กรข้างนอกอยากจะเข้ามาช่วย เขาก็ไม่อยากให้ช่วย มันเกิดอะไรขึ้น


 


ล่าสุด ตอนนี้ก็มีรายงานออกมาเรื่อยๆ ว่า ทางทหารพม่าเข้าไปบังคับชาวบ้านให้ไปขนของ เป็นการใช้แรงงานโดยอ้างว่าจะเอาไปช่วยเหลือคนที่ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กีส ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเอาไปช่วยจริงหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นยังไง ซึ่งมันไม่มีใครเข้าไปดูแลได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่อนุญาตให้นักข่าว และคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้ แล้วยิ่งนับวันพอคนสามารถเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น เราก็จะเห็นภาพที่มันแย่ๆ ออกมาเรื่อยๆ


 


 


ดูเหมือนการปิดกั้นการช่วยเหลือ การปิดกั้นข่าวสาร ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลพม่าขาดความน่าเชื่อถือ และดูเหมือนว่าประชาชนพม่าจะรับรู้พฤติกรรมทหารพม่านี้ดี


 


แสงน้อง : ใช่ ประชาชนชาวพม่านี่จะรู้ดีว่าทหารพม่า รัฐบาลทหารพม่านี่มันเชื่อถือไม่ได้ไง เรื่องแบบนี้ไม่รู้เขาเอาไปทำยังไง นานาชาติก็เช่นกัน ผู้นำประเทศหลายคน ก็มีการแถลงออกมาว่า เขาไม่ไว้ใจ ถ้าส่งไป เขาจะเอาไปไว้ที่ไหน ของที่เขาจะส่งมาบรรเทาทุกข์จะไปไหน จะไปถึงพื้นที่ประสบภัยได้จริงหรือเปล่า ประชาชนจะได้รับจริงๆ หรือไม่ ก็เป็นความกังวลของผู้ที่จะไปให้ความช่วยเหลือ


 


แล้วยังมีรายงานออกมาว่า ในเขตของกรุงย่างกุ้ง วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม USDA (สมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา อันเป็นองค์กรที่รัฐบาลทหารพม่าก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนรัฐบาล) เขามีสังกะสีแทนที่เขาจะเอาไปให้ชาวบ้านฟรีๆ แต่เขากลับเอาไปตั้งขายให้กับประชาชน ซึ่งมันก็เห็นชัดเจนว่าเขาไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่อยากจะช่วยชาวบ้านเลย คือมันมีตัวอย่าง มีประสบการณ์เหล่านี้แล้ว


 


อย่างพวกเราก็พูดกันมาตลอดหลายปี ว่าเราเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะอย่างเมื่อก่อนที่จะเกิดไซโคลนนาร์กีส ในรัฐฉานแม้แต่กลุ่มยูเอ็น หรือ เอ็นจีโอ ต่างๆ ที่เข้าไปทำ เขาก็จะถูกจำกัดพื้นที่มาก เวลาจะลงพื้นที่ก็ลำบาก เพราะฉะนั้น ความช่วยเหลือเราก็ตั้งคำถามตลอด ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ต้องการความช่วยเหลือ คือ อดอาหาร ไม่มีข้าวเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนยารักษาโรคด้วย ทุกๆ อย่าง แต่ทหารพม่าไม่ยอมให้คนเข้าไปช่วย แล้วก็พยายามบล็อก ไม่ให้อิสระกับองค์กรที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้จริงๆ มันลำบาก


 


ตอนนี้ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า แม้แต่ก่อนหน้านั้น เลขาธิการของยูเอ็นต้องพยายามโทรศัพท์ไปหา พล.อ. ตานฉ่วย หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีคำตอบ ซึ่งมันเห็นชัดเจนเลยว่า เมื่อก่อนโดยเฉพาะในพื้นที่ ในเขตที่ไม่มีใครเห็นก็ยิ่งแล้วใหญ่ มันเป็นอย่างนี้มาตลอด มันไม่ได้สนใจเรื่องชาวบ้านหรือประชาชนในพม่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์ มันไม่ใช่แปลก ที่เขาทำอย่างนี้ และภาพที่เราเห็นมันก็เป็นเพียงการเข้าไปให้การช่วยเหลือในบางพื้นที่เพื่อให้นานาชาติรู้แค่นั้นเอง


 


 


ในสถานการณ์แบบนี้ จะเสนอเรียกร้องในด้านมนุษยธรรม ต่อรัฐบาลไทย หรือในอาเซียนอย่างไร


จ๋ามตอง : รัฐบาลไทยและอาเซียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองด้วย ต้องมีการรณรงค์ให้มีความอยากทำ อยากช่วยให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในพม่า ส่วนเรื่องการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์มันก็มีอยู่แล้ว ปัญหาตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องเงิน สิ่งของ หรือสินค้า แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลทหารเขาไม่ยอมรับ ไม่อนุญาตให้บุคลากรด้านบรรเทาทุกข์เหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือให้ทันเวลาและโอกาสต่างหาก


 


 


หากยังคงเป็นอย่างนี้ จะทำการคว่ำบาตรได้มั้ย


 


แสงน้อง : จะบอยคอต คว่ำบาตรนี่คงทำยาก เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มันก็ละเอียดอ่อน ก็ต้องหาทางที่จะต้องเจรจากัน ก็ต้องมีวิธีใช้การพูดไปเรื่อยๆ เตือนเขาบ้าง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เอาแต่คิดเรื่องธุรกิจอย่างเดียว เรื่องอย่างนี้มันน่าจะมีทูเวย์ตลอดระยะสั้น ระยะยาว มันน่าจะเป็นอย่างนี้ มันต้องคิดยาวๆ และคงต้องเปลี่ยนทัศนคติหลายๆ อย่าง อย่างกรณีประเทศจีน รัฐบาลจีน ก็ต้องเปลี่ยนความคิดของเขา รัฐบาลพม่าด้วย คนพม่า คนไทย รัฐบาลไทย มันต้องเข้าหากัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคิดต่างทำ แล้วปล่อยไว้อย่างนี้ เหมือนไม่มีความยุติธรรม หรือไม่มีความรับผิดชอบ


 


 


มีข่าวว่าทหารพม่าบางกลุ่มก็เริ่มไม่พอใจรัฐบาลทหารพม่า ที่ไม่ยอมให้เข้าไปช่วยเหลือญาติของตนเองที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนนาร์กีส


 


จ๋ามตอง : คิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบที่ลุ่มน้ำอิระวดี แล้วก็ในเขตย่างกุ้ง คนที่เป็นครอบครัวของทหารพม่าก็โดนด้วย ซึ่งครอบครัวของประชาชนเหล่านี้ก็ต้องการความช่วยเหลือ แทนที่เขาจะให้ความช่วยเหลือหรือว่าอนุญาตให้ได้รับความช่วยเหลือ เขาก็ไม่ทำ ซึ่งมันก็ทำให้ทหารภายใน ไม่มากก็น้อยไม่พอใจเหมือนกันที่ครอบครัวเขาโดนขนาดนี้ แต่ไม่ยอมให้การช่วยเหลือ


 


ก็ได้ยินข่าวนี้เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่รู้รายละเอียด แต่ได้ทราบว่าทหารบางคนที่อยู่ตามรัฐต่างๆ มีครอบครัวที่โดนไซโคลน ซึ่งเขาอยากเข้าไปช่วยบ้าง แต่คำสั่งข้างบนไม่ให้ไป และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ไปช่วยเหลือเต็มที่ ทำให้พวกเขาไม่พอใจ ทำให้ทหารจากข้างล่างถึงบนที่ไม่ใช่นายทหารระดับสูงเขาไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่กับการจัดการของรัฐบาลทหารพม่าครั้งนี้


 


 


ประชาชนพม่ารับรู้เรื่องมีผู้สูญเสียจากภัยพิบัติครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน


 


แสงน้อง : ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ มีการปิดบัง ไม่ให้ข้อมูลชาวบ้าน แต่พอหลังจากที่พวกเขาได้ยินข่าวจากสถานีวิทยุที่กระจายเสียงจากนอกประเทศถึงจะรู้ดีกว่าที่ดูโทรทัศน์ของรัฐบาลทหารพม่า ที่มีแต่ข่าวทหารยกของไปช่วยเหลือ แต่ส่วนมากประชาชนในประเทศพม่า เขาก็ฟังวิทยุ ฟังบีบีซี ฟังว๊อยซ์ ออฟ อเมริกา ซึ่งทำให้เขาได้ข้อมูลจริง เขาก็รู้อยู่


 


 


ล่าสุดทางการทหารพม่าออกมาเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิต 7 หมื่นกว่า แต่ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่าแสนคน


 


จ๋ามตอง : ตอนนี้คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนนับแสน กลุ่มช่วยเหลือตามพื้นที่ที่ประเมินว่าประมาณนั้น มันก็จะเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ทันแล้ว ซึ่งความจริงมันง่ายมากเลยนะ เพียงแค่รัฐบาลทหารพม่าอนุญาตให้คนเข้าไปช่วย รีบช่วยแล้วฟื้นฟู แต่เขาไม่อยากทำ ทหารพม่าสร้างเงื่อนไขเอง ไม่มีใครบังคับให้เขาทำอย่างนั้น เขาเลือกที่จะให้คนทำเงื่อนไขกับเขา มันเป็นวิธีการสุดท้ายที่ต้องทำอย่างนี้ ในเมื่ออะไรก็ไม่ยอม ไม่ยอมให้ไปช่วยเหลือก็ลำบาก


 


 


มีความคิดเห็นยังไงที่มีข่าวว่า พญ.พรทิพย์ บอกว่าพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเรื่องจัดการศพจากภัยพิบัติครั้งนี้


 


จ๋ามตอง : ทหารพม่าไม่สนใจศพอยู่แล้ว


 


 


จำเป็นหรือไม่ ว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องปรับบทบาท เปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลทหารพม่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียน


 


แสงน้อง : ความจริงนี่เป็นโอกาสดีของอาเซียนที่จะออกมามีบทบาทในเรื่องพม่า อาเซียนต้องมีมาตรการ หรือทำอะไรได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มันเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าอาเซียนไม่ออกมาแสดงท่าทีหรือพยายามทำอะไรสักอย่างให้ทหารพม่าให้ยอมรับในการช่วยเหลือจากภายนอกได้ มันก็เป็นเรื่องน่าอายสำหรับชุมชนของอาเซียนทั้งหมด


 


คือมันต้องมีการทบทวนกันแล้วว่า 10 กว่าปีที่ทหารพม่าเป็นสมาชิกของอาเซียนไปถึงไหน แล้วตอนนี้ประชาชนที่เสียชีวิตเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสมาชิกของอาเซียนเช่นกัน อาเซียนก็มีความรับผิดชอบเหมือนกันที่จะต้องออกมาดูแลคนเหล่านี้ ซึ่งถ้าอาเซียนไม่ออกมาทำอะไรตอนนี้ ยังเป็นอย่างนี้อยู่ ไม่พยายามทำให้ทหารพม่ารับความช่วยเหลือไป ซึ่งตอนนี้ก็มีบางประเทศในอาเซียนที่ส่งของไปช่วยเหลือ แล้วก็วางไว้ตรงนั้นแล้วก็กลับ คิดว่า จริงๆ แล้ว อาเซียนมันน่าจะทำได้มากกว่านั้นด้วย


 


 


อาเซียน ต้องทำอย่างไรบ้าง


 


แสงน้อง : ต้องหาวิธีทางที่จะต้องมาเจรจากัน แต่ว่าก็ยืดเวลากันอยู่ได้ ยังไม่ไปถึงไหนเลย แล้วก็เพื่อตัวเขาเองด้วยนะ ไม่ใช่เพื่อคนอื่น แต่โศกนาฏกรรมครั้งนี้มันทำให้ชาวโลกเห็นชัดเจนเลย เหมือนที่เราว่าภาพหลอน เหมือนที่พวกเราพูดมันเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เขาไม่สนใจกัน อันนี้เห็นชัดเจนเลยว่า ประชาชนชาวพม่าเจอกับภัยจากธรรมชาติ แล้วยังปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการช่วยเหลือ มันก็ถือว่าต้องเจอกับภัยที่เกิดจากมนุษย์ซ้ำลงไปอีก ที่จะทำให้คนป่วยต้องติดเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำ และนี่เชื้อโรคระบาดจะติดต่อไปเรื่อยๆ ถ้าประเทศพม่ายังเป็นอย่างนี้อยู่ มันไม่ปลอดภัยสำหรับคนรอบข้าง ประเทศรอบข้าง ดังนั้น มันต้องคิดและหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ว่าจะเอายังไง


 


แล้วอีกประเด็นหนึ่ง โอเค ช่วงนี้มันก็อาจจะยังไม่มีอะไร เพราะคนที่พยายามฟื้นฟูก่อน เพื่อให้อยู่รอดก่อน 1 อาทิตย์ 2 -3 อาทิตย์ แต่ คิดดูว่าในขณะนี้ มีคนพม่ามาอยู่เมืองไทยกี่แสนคนแล้ว มาทำไม แล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนนาร์กีสแถวนั้นจะไม่มาเหรอ เขาจะไปทำมาหากินกันได้ยังไง เพราะพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งแต่เดิมมันเป็นที่หากินที่มันเป็นชาวไร่ชาวนา ที่เขาปลูกข้าวกันมากที่สุดในพม่าด้วย แต่ได้รับความเสียหายหมด เมื่อเป็นอย่างนี้ สภาพจิตใจพวกเขาจะไหวไหมล่ะ เขาก็อยากหนีบ้าง และเมืองไทยก็ใกล้นิดเดียว ในที่สุดก็ต้องหนีข้ามพรมแดนเข้ามา มันก็เป็นปัญหาไง


 


ดังนั้น เราจะให้มันเป็นอย่างนั้นต่อไป หรือว่าจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ จะให้เป็นวงเวียนต่อไปอย่างนี้ หรือว่าจะหาวิธีแก้ไขระยะยาว นี่เป็นความคิดที่อาเซียนน่าจะคิดร่วมกันด้วย


 


 


ลองประเมินว่ารัฐบาลทหารพม่าจะยอมมั้ย หลังจากที่นานาชาติเริ่มเข้าไปกดดันมากขึ้น


 


แสงน้อง : ก็คงเอาตัวรอดกัน...แต่ว่าบางกลุ่มก็ยังหวังว่าทหารพม่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงสักอย่างภายในของเขา ถ้าเกิดมีความขัดแย้ง แตกกันขึ้นมา เชื่อว่าทหารพม่าบางคนก็อาจจะเอาตัวรอดกัน


 


อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของทหารพม่าที่ผูกไว้กับสังคมมันฝังลึก มันแกร่ง มันยาก ขนาดเขาอยากทำอะไร เขาก็ทำ เพราะว่าโครงสร้างมันมีไว้แล้ว ตั้งแต่ระดับสูงๆ ถึงรากหญ้า ชาวบ้านก็กลัวบ้าง บังคับบ้าง ยังไงชอบ ไม่ชอบก็ต้องเอาไว้ก่อน แต่ว่าต้องทำตามคำสั่ง แล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง ถ้ามันมั่นคงขนาดนี้


 


เพราะฉะนั้นโครงสร้างแบบนี้ เราก็ต้องทำให้มันสั่นคลอนบ้าง ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะยากเหมือนกัน ก็คาดหวังว่ามันจะเกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มทหารกันเอง เป็นความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง และมันต้องรวมกับหลายๆ อย่าง ยังไงพวกเราก็คงทำเท่าที่เราทำได้ เราก็คงจะทำไปเรื่อยๆ นั่นแหล่ะ เราจะทำยังไงได้ล่ะ เห็นสภาพคนในประเทศ หรือเด็กๆ ที่เราเคยรู้จัก เคยสัมภาษณ์เขาบ้าง เคยเห็นสภาพความเป็นอยู่ของเขา คงลืมไม่ได้ เราก็ทำไปเรื่อยๆ


 


 


วกมาเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญพม่า ซึ่งผลออกมาแล้วว่า 92.4% "เห็นชอบ" ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แล้วจะทำกันอย่างไรต่อไป


 


แสงน้อง : เรารู้ล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกแล้ว เราก็คงไม่เซอร์ไพรส์หรอก รัฐบาลทหารพม่ามีธงต้องทำให้การลงประชามติเป็นการรับรองรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ผลประชามติมันก็ต้องเป็นไปตามรูปแบบนั้นอยู่แล้ว


 


การลงประชามติครั้งนี้มีทั้งการบังคับ กลโกงสารพัดให้ชาวบ้านเห็นด้วย มีรายงานมาว่า ในขณะที่ประชากรพม่ามีมากกว่า 30 ล้านคน แต่รัฐบาลทหารพม่าได้พิมพ์หนังสือรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญเพียงหมื่นเล่ม หนำซ้ำมีข่าวยังเอาหนังสือนั้นไปขายให้กับชาวบ้านอีก นอกจากนั้นยังมีการบังคับให้ประชาชนไปลงประชามติ โดยสมาชิกในบ้านเพียงคนเดียว สามารถลงประชามติแทนคนทั้งครอบครัวได้อีกด้วย


 


กระทั่ง นายอิบราฮิม กัมบารี (Ibrahim Gambari) ทูตพิเศษสหประชาชาติกรณีพม่า ได้เดินทางไปพม่า และสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ซึ่งได้ประกาศออกมาว่าเรื่อง Responsibility to Protect (ความรับผิดชอบในการปกป้อง) ขอให้ยูเอ็นใช้สิทธิ์อันนั้นด้วย ซึ่งหลายๆ กลุ่มก็สนับสนุน แต่รัฐบาลทหารพม่าก็คงยังไม่รับอยู่ดี แล้วอีกอย่างหนึ่งทางประเทศจีนและรัสเซีย คงไม่ค่อยอยากยอมรับเท่าไหร่ เพราะคงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านหรือนานาชาติ ซึ่งทหารพม่าก็ยังยืนยันอยู่ตรงนั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป


 


จ๋ามตอง : ใช่ รัฐบาลทหารพม่าคงไม่ยอมหรอก ใครๆ บอกต้องเปลี่ยน แต่เขาไม่เปลี่ยนหรอก เพราะว่าเลือกตั้งครั้งหน้า เขาก็ได้จัดวางไว้แล้วไง จำนวนหนึ่งที่เขาคุมได้ ก็เลยไม่เปลี่ยนแน่นอน เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ เป็นแผนการของรัฐบาลทหารที่ต้องการกุมอำนาจทางการเมืองต่อไปนั่นเอง โดยเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็กำหนดโควตาให้กองทัพสามารถแต่งตั้งสมาชิกในสภาได้ร้อยละ 25


 


 


หากเป็นรูปการณ์แบบนี้ ประชาชนพม่าก็ต้องต่อสู้กับเรื่องนี้ต่อไป


 


แสงน้อง : ใช่ ถึงอย่างไรประชาชนพม่าก็คงต้องต่อสู้กันต่อไป และหากเป็นไปตามที่ทหารพม่าวางเอาไว้ ก็คือ อีก 2 ปีข้างหน้า ในปี 2010 ก็จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งก็คงมีอีกหลายวิธีที่จะต้องมานั่งวิเคราะห์กันดู เพราะฝ่ายรัฐบาลทหาร มันก็มีอยู่หลายๆ ฝ่าย มีทั้งฝ่ายที่ทำสัญญาหยุดยิงกับทหารพม่า แล้วก็มีพรรคการเมืองต่างๆ ที่เคยร่วมการเลือกตั้งมา เขาก็ต้องไปคิดกันเอาเองว่าจะเอาวิธีไหน หลังจากประชามติแล้ว จะวางยุทธศาสตร์กันต่อไปอย่างไร


 


 


อย่างนี้แล้ว พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ อองซาน ซูจี จะมีโอกาสไหม


 


แสงน้อง : ถ้าจะพูดกัน ก็คงจะยากเหมือนกันว่าจะเอายังไง คือพรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกอยู่แล้วในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่พรรค NLD ของอองซาน ซูจีเท่านั้น ยังมีพรรคเอสเอ็นแอลดี (Shan Nationalities League for Democracy - SNLD) ถูกกีดกันด้วย ทั้งสองพรรคคงต้องไปวางแผนว่าจะต่อสู้อย่างไร


 


 


เป็นไปได้มั้ยว่าเมื่อถึงช่วงนั้น อาจจะมีหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งประชาชนพม่าลุกฮือขึ้นมาประท้วงอีกครั้ง


 


จ๋ามตอง : ทุกคนก็ว่ากันอยู่ ว่าเรื่องนี้ประชาชนโมโหกันมาก จนถึงขั้นอาจจะลุกขึ้นมาก็เป็นไปได้ ก็เหมือนกับเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะลุกขึ้นมาเรียกร้องกันจำนวนมากขนาดนั้น แล้วรัฐบาลทหารจะยอมให้ทำถึงแค่ไหน อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเท่าที่เคยเรียกร้องกันมา เขาก็อยากให้มีการเจรจาสามฝ่าย การเจรจานี่ต้องมีมาก่อน ถ้าไม่มีก็จะยุ่งอย่างนี้ล่ะ จะไม่จบ


 


แสงน้อง : เพราะฉะนั้น ทางออกก็คือ เมื่อรัฐธรรมนูญจะออกมา จะต้องมีการนั่งประชุมคุยกัน ยังไงก็น่าจะต้องให้หลายๆ ฝ่ายมาคุยกัน เข้ามามีส่วนร่วมกัน ทั้งรัฐบาลทหาร กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แล้วก็กลุ่มที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ซึ่งพวกเขาก็มีส่วนมีสิทธิ์ มีความชอบธรรมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ หลังจากนั้นก็จะต้องให้มีอะไรสักอย่างออกมา อาจจะเป็นการตั้งรัฐบาลชั่วคราวหรือกลุ่มอะไรชั่วคราว ที่จะออกมาร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ดำเนินการตามกระบวนการไปเรื่อยๆ มันน่าจะรับ มันก็ดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีใครเสียหายอะไร แต่เรื่องนี้เราไม่รู้ว่ารัฐบาลทหารจะว่ายังไง


 


แต่ที่แน่ๆ วิธีกับโอกาสนั้นคงมีแน่นอน แต่ว่าในทางการเมือง เราไม่รู้ว่าทหารพม่าเขาจะมีจิตใจอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net