รายงาน : "การจ้างงานเหมาค่าแรง": ธุรกิจการค้าแรงงาน (ทาส) ยุคใหม่

หมายเหตุ   ชื่อรายงานเดิม "All contracted out" เขียนโดย ศุภรา  จันทร์ชิดฟ้า ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Perspective ของบางกอกโพสต์ วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2551  ถอดความโดย นีรนุช  เนียมทรัพย์

 

 

ผู้ประกอบการในไทยจำนวนมากใช้การจ้างแรงงานผ่านบริษัทนายหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อคนงานในฐานะที่เป็นนายจ้าง  และทำให้ลูกจ้างที่ทำงานมาเป็นระยะเวลานานกลายเป็นลูกจ้างชั่วคราว

 

ชัย(นามสมมติ) เข้าตาจน  เมื่อถูกไล่ออกจากงานขับรถบรรทุกแก็สของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก็ส (TIG)  เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

 

เขาถูกเลิกจ้างเมื่อปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาโอนย้ายการจ้างงานไปสู่บริษัทนายหน้าแห่งใหม่ที่ชื่อเอสตีมด์  เขาไม่เคยได้ยินชื่อบริษัทนี้มาก่อน  เขาเห็นสัญญาโอนการจ้างและทราบข่าวที่จะต้องย้ายบริษัทเอเจนซี่โดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า

 

"ทำไมเราต้องเซ็นสัญญาใหม่กับบริษัทใหม่ในเมื่อเราทำงานให้บริษัทเดียวกันมา 2 ปี แล้ว  และผมทำงานหนักมาโดยตลอด"  เขาตั้งคำถาม

 

ชัยและเพื่อนร่วมงานใน TIG  ได้รับการบอกกล่าวเหตุผลว่าการจ้างคนงานผ่านบริษัทนายหน้าอะเดคโค  ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นบริษัทนายหน้าที่ชัยเซ็นสัญญาด้วยมีค่าใช้จ่ายสูง

 

แทนที่จะเซ็นต์สัญญาโอนย้ายไปสู่บริษัทนายหน้าที่ชื่อเอสตีมด์  เขาและเพื่อนคนงานอีก 8 คน เสนอให้TIG ทำสัญญาจ้างพวกเขาโดยตรง TIG ปฏิเสธและยืนยันว่าพวกเขาต้องเซ็นสัญญากับบริษัทเอสตีมด์

 

คนงานสัญญาจ้างเหมาค่าแรงตกอยู่ในสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้เสมอ พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนที่คนงานประจำได้รับ เช่น การขึ้นค่าจ้าง และการคุ้มครองดูแลสุขภาพ

 

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมชัยและเพื่อนจึงต้องการเข้าเป็นคนงานประจำของ TIG

 

เขาทำงานกับ TIG มา 2 ปี ขับรถขนส่งแก็ส บางวันมากกว่า 12 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลา (OT)

 

"เราไม่เกี่ยงที่จะทำงานหนัก  แต่อยากให้นายจ้างเห็นความสำคัญของแรงงานของพวกเรา" ชัยชี้แจง

 

เช่นเดียวกับคนงานอีกหลายคนที่ TIG  ชัยเป็นลูกจ้างที่ TIG จ้างงานผ่านบริษัทอะเดคโค เป็นคนงานที่เรียกกันว่าซับคอนแทร็ค ทั้งๆ ที่ เขาทำงานในลักษณะเดียวกัน ปฏิบัติตามกฎระเบียบเดียวกัน และใส่เครื่องแบบเดียวกันกับคนงานขับรถที่เป็นลูกจ้างโดยตรงของ TIG  เขากลับไม่ได้รับการปฏิบัติ เช่นเดียวกับคนงานประจำ  แต่มีสถานภาพเป็น "คนงานเหมาค่าแรง"

 

เมื่อชัยถูกเลิกจ้างหลังจากขับรถให้ TIG มานาน 2 ปี เขาไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว

 

และเนื่องจาก TIG ไม่ให้ข้อมูลและเหตุผลของการโอนย้ายการจ้างงานที่ชัดเจน ชัยจึงตัดสินใจ

สืบเรื่องราวของบริษัทเอสตีมด์ ที่เขาปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาด้วย

 

ธุรกิจที่น่าแคลงใจ

 

ชัยเริ่มด้วยความพยายามตามหาสำนักงานของบริษัทเอสตีมด์ แต่หลังจากตระเวนหาถึง 3 รอบ เขาก็ยังหาสำนักงานของบริษัทนี้ไม่พบ

 

เขาเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจแล้วเมื่อตอนที่เข้าไปที่สำนักงานไปรษณีย์ แล้วถามหาที่ตั้งของเอสตีมด์  บุรุษไปรษณีย์เขียนแผนที่ให้  ซึ่งนำเขาไปยังอาคารที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  มันมีเพียงตู้ไปรษณีย์แขวนอยู่ที่มือของตุ๊กตาทหารเรือซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของบริเวณที่ก่อสร้าง

 

"ก่อนหน้านี้ผมมาถึงที่นี่แล้ว  แต่คิดไม่ถึงว่ามันจะเป็นบริษัทที่เขาให้ผมไปเซ็นสัญญาด้วย" ชัยเล่าให้ฟัง

 

ตามบันทึกของบริษัทเอสตีมด์ที่ยื่นต่อกระทรวงพานิชย์ บริษัทได้จัดประชุมที่นี่มาแล้วหลายครั้ง - สองครั้งในเดือนกันยายน และอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว

 

บรรดาคนงานประหลาดใจว่า  บริษัทจัดประชุมที่ไหนและอย่างไรในเมื่ออาคารสำนักงานยังก่อสร้างไม่เสร็จตอนที่พวกเขามาเจอที่ตั้งสำนักงานเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้

 

ชัยไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทำงานภายใต้สัญญาที่ทำกับบริษัทรับเหมาค่าแรง  บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งใช้การจ้างแรงงานผ่านบริษัทนายหน้าหรือบริษัทรับเหมาค่าแรงเพื่อหลีกเลี่ยงพันธะและความรับผิดชอบที่นายจ้างพึงมีต่อลูกจ้าง

 

ตัวอย่างที่มีให้เห็น  เช่น  โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  ได้จ้างคนงานเก็บหนังสือพิมพ์เก่าและขนไปไว้ในโกดัง  เทคนิคที่นายจ้างใช้คือ  คนงานต้องเซ็นสัญญาใหม่ทุก 119 วัน  พวกเขาต้องลาออกและสมัครกลับเข้ามาทำงานเดิม จนพวกเขาไม่มีสิทธิได้รับการขึ้นค่าจ้างหรือสวัสดิการอื่นๆ

 

คนงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างระดับเดียวกับค่าจ้างขั้นต่ำ และในฐานะที่เป็น "ลูกจ้างชั่วคราว"  พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ

 

แน่นอนว่าคนที่ต้องการงานหรือรายได้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวไม่มีทางเลือก  นอกจากยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดโดยบรรดาผู้ประกอบการ

 

การใช้เทคนิคการจ้างงานในระยะเวลา 119 วัน เกี่ยวเนื่องมาจากมาตรา 118 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กล่าวไว้ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง

 

เงินชดเชยเมื่อเลิกจ้างเป็นเหตุผลหนึ่งที่บรรดานายจ้างไม่ต้องการจ้างคนงานประจำ  กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับดังกล่าวยังกำหนดไว้ว่า  ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติเมื่อมีการเลิกจ้าง

 

ช่องโหว่ของกฎหมาย

 

ผู้ประกอบการยังได้อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแรงงานไทยในการพยายามที่จะจำกัดสิทธิของคนงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน "การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับรองอนุสัญญา 87 และ 98 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและการขยายการคุ้มครองของสหภาพแรงงานไปยังคนงานทุกคน"  นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานผู้หนึ่งกล่าว

 

เธอเชื่อว่ากรณี TIG เป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและเรื่องที่ท้าทายขบวนการสหภาพแรงงานมากที่สุด นั่นคือ การขยายตัวของบริษัทที่ใช้วิธีการเซ็นสัญญาการจ้างงานผ่านบริษัทนายหน้าหรือบริษัทเหมาค่าแรงแทนการจ้างคนงานโดยตรง

 

ผศ.มาลี พฤกษ์พงษ์-สวลี  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "เราต้องกลับมาดูว่าเรามีกฎหมายในการคุ้มครองคนงาน โดยเฉพาะคนงานเหมาค่าแรงที่ขาดความมั่นคงในการทำงานเหล่านี้หรือไม่"

 

เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการคุ้มครองการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องที่ขบวนการแรงงานไทยเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายปี และเป็นเรื่องที่พวกเขาจะต้องทำต่อไป

 

นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานหลายคนบอกว่า การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรงเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปที่การคุ้มครองคนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเหล่านี้  

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนงานเหมาค่าแรงถูกมองเป็นเช่นสินค้า

 

เขาให้ความเห็นว่า แรงงานของคนงานควรถูกให้ความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงการตระหนักถึงการดำรงชีวิตและความเป็นมนุษย์ของคนงานที่มีความจำเป็นพื้นฐานในด้านต่างๆ  "เราควรคิดถึงพวกเขาในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขามีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกันกับเราและนายจ้าง  พวกเขามีสิทธิได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกับคนงานที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน  พวกเขามีสิทธิในการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน   พวกเขาต้องการสวัสดิการสังคมที่ดีเช่นเดียวกับที่คุณและผมต้องการ"

 

ผดุงศักดิ์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  กล่าวว่า  คนงานจ้างเหมาค่าแรงได้รับการคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม ศกนี้

 

"ผมคิดว่าบรรดานายจ้างได้เห็นแล้วว่า กฎหมายใหม่ได้ให้โอกาสแก่คนงานเหมาค่าแรงเพิ่มมากขึ้น  นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงได้ออกมาแสดงความวิตกกังวล"

 

ในขณะที่อธิบดีเห็นว่ากฎหมายเป็นผลดีต่อคนงาน  นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและคนงานส่วนใหญ่กลับมีความเห็นต่างออกไป

 

บทบัญญัติว่าด้วยงานเหมาช่วงและการจ่ายค่าจ้างเหมาค่าแรงถูกบรรจุเพิ่มในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 11/1

 

ในมาตราดังกล่าวเขียนไว้ว่า  ผู้ประกอบกิจการถือเป็นนายจ้างของคนที่ได้จัดหามาเพื่อทำงานในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจ (คนงานเหมาค่าแรง)  ถึงแม้ผู้ประกอบกิจการนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงาน หรือจ่ายค่าจ้างโดยตรงก็ตาม

 

การตีความกฎหมายเป็นไปตามทัศนะของแต่ละฝ่าย

 

ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่แรงงานบางคนได้มีการตีความคำว่า "กระบวนการผลิต" อย่างแคบๆ  และอ้างเหตุผลว่า เพราะคนงานทำความสะอาดและคนงานรักษาความปลอดภัยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต  พวกเขาไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการนั้นๆ

 

แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าหากไม่มีคนงานทำความสะอาด สถานประกอบการก็ไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นคนงานทำความสะอาดก็ควรถูกจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต

 

และบริษัทนายหน้าหรือบริษัทรับเหมาค่าแรงมีปัญหาในตัวเอง ตามการตีความข้างต้น

 

ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดรัสเตรียลแก๊ส  เห็นว่า กฎหมายใหม่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนงานจ้างเหมาค่าแรงเป็นผลดีต่อนายจ้างมากกว่าลูกจ้าง

 

"ถ้าหากดูเผินๆ เราอาจรู้สึกว่ากฎหมายเป็นผลดีต่อลูกจ้าง  แต่ความจริงแล้วมันตรงกันข้าม" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า บทบัญญัติในเรื่องชั่วโมงการทำงาน  การสิ้นสุดสัญญาจ้าง และสภาพการจ้างมีความคลุมเครือ…

 

"เราอาจจะกลับไปสู่ยุคทาส ที่กรรมกรเป็นทาสของนายจ้าง" ฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย

เอกสารประกอบ

การจ้างเหมาค่าแรง ธุรกิจแรงงาน (ทาส) ยุคใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท