Skip to main content
sharethis

ชาตรี ประกิตนนทการ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
8 ธันวาคม 2549 นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ได้เสนอโครงการรื้อกลุ่มอาคารศาลริมถนนราชดำเนินใน เพื่อก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ ต่อคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้โครงการก่อสร้างศาลฎีกาหลังใหม่เป็นหนึ่งใน โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสสำคัญนี้1>
 
23 กันยายน 2550 ประธานศาลฎีกาได้เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มดำเนินการโครงการนี้ และได้แถลงข่าวว่า กลุ่มอาคารศาลปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท เป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 2550-2556 เริ่มก่อสร้างในปี 25512>โดยรูปแบบศาลใหม่จะเป็นงาน "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" ที่ดึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทยในอดีต มาใช้เป็นแนวทางหลักในการออกแบบ เพื่อแทนที่รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิมที่เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (Modern Architecture) ในทศวรรษที่ 2480
 
ภาพเปรียบเทียบกลุ่มอาคารศาลในสภาพปัจจุบัน (ซ้าย) กับแบบใหม่ที่จะทำการก่อสร้าง (ขวา)
 
 
            สำคัญ ที่สุดคือ กลุ่มอาคารศาลนี้ เป็นกลุ่มอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ยิ่ง สมควรแค่ไหนที่จะทำการรื้อทิ้ง นอกจากนั้น ที่ตั้งของกลุ่มอาคารศาลยังเป็นพื้นที่สำคัญใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งรายล้อมไปด้วยประวัติศาสตร์และโบราณสถานสำคัญมากมาย ดังนั้นการคิดทำโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์เช่น นี้ เหมาะสมแล้วหรือที่จะดำเนินการไปโดยไม่คิดถามความเห็นของประชาชนที่เป็นเจ้า ของประเทศเลย
 
            บท ความนี้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะแสดงหลักฐานและเหตุผลในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมได้รับรู้ว่า โครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่นี้ มีประเด็นที่มีความซับซ้อนหลายประการ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ด้านวิชาการทางสถาปัตยกรรม ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ฯลฯ ซึ่งประเด็นทั้งหลายนี้มีความซับซ้อนจนเกินกว่าที่จะปล่อยให้มีการดำเนินการ ภายใต้เหตุผลง่ายๆ เรื่องความเสื่อมสภาพของอาคารเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นวิชาการจริงจังแต่อย่างใดด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษและความสามารถของผู้เขียนเอง ในบทความนี้จึงจะขีดวงในการพิจารณาเฉพาะในประเด็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางสถาปัตยกรรม และเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารศาลฎีกาใหม่เท่านั้น
 
ที่ระลึกเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล
กลุ่ม อาคารศาลในปัจจุบันประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่ที่มีความสำคัญมากที่สุดและไม่ควรถูกรื้อทิ้งอย่างเด็ดขาดในทัศนะผู้ เขียนคือ กลุ่มอาคารรูปตัววี (V) ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะ "ศิลปกรรมแบบทันสมัย"3> ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ และมีอายุเก่าแก่ที่สุด
 

ซ้าย: ผังกลุ่มอาคารศาล สภาพปัจจุบัน
ขวา: ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2489 แสดงให้เห็นอาคารกระทรวงยุติธรรม และ ปีกอาคารศาลฝั่งคลองคูเมืองเดิม ที่ทำการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ส่วนอาคารที่ติดถนนราชดำเนินในคือ อาคารศาลยุติธรรมหลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5

 
กลุ่ม อาคารศาลรูปตัววี ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ออกแบบขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้เป็นกลุ่มอาคารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ยุติธรรมอย่างครบวงจร สถาปนิกผู้ออกแบบคือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกกรมศิลปากรที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในยุค สมัยนั้น โดยมีสถาปนิกและวิศวกรที่สำคัญในยุคสมัยมาดูแลด้วยอีกหลายท่านคือ หมิว อภัยวงศ์ หลวงบุรกรรมโกวิท นายเอฟ ปิโตโน ส่วนผู้มีความรู้เกี่ยวกับศาลและกระบวนการยุติธรรมก็เช่น หลวงจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ เป็นต้น4>
 
แม้ ว่าจะออกแบบไว้พร้อมกัน แต่เมื่อถึงช่วงการก่อสร้างก็มิได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกันทั้งหมด โดยอาคารหลังแรกเริ่มสร้างในปี 2482 (อาคารปลายตัววี ด้านหลังอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 24845> (วัน ชาติ และ วันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย) อาคารหลังที่สองที่สร้างขึ้นคือ อาคารปีกตัววีฝั่งที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม สร้างในปี 2484 ทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน 2486 ส่วนปีกอาคารฝั่งถนนราชดำเนินในนั้น ไม่ได้ถูกก่อสร้างตามแบบเดิมที่ได้ออกแบบไว้ อันเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่จะมาเริ่มก่อสร้างใหม่ ภายใต้การออกแบบใหม่ในปี 2502 ก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในปี 25066>
 
กลุ่ม อาคารศาลกลุ่มนี้ ถูกสร้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์การ ยุติธรรมของไทย โดยมีที่มาที่สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ "เอกราชทางการศาล" คืนอย่างสมบูรณ์ (อธิปไตยโดยสมบูรณ์) หลังจากที่ต้องเสียไปนับตั้งแต่ได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4
 
เจ้า พระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2481 ได้บันทึกถึงเหตุผลในการก่อสร้างอาคารศาลนี้ไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 มีความตอนหนึ่งว่า
 
".....บัด นี้ประเทศสยามได้เอกราชในทางศาลคืนมาโดยสมบูรณ์แล้ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะมีศาลยุติธรรมให้เป็นสง่าผ่าเผยเยี่ยงประเทศที่เจริญ แล้วทั้งหลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้อำนาจศาลคืนมา....."7>
 
ความ คิดในการสร้างกลุ่มอาคารศาล เกิดจากดำริของหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ดังปรากฏหลักฐานในรายงานการเปิดตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม ความว่า
 
".....ภาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา กิจการในด้านศาลยุติธรรมได้รับการประคับประคองและเชิดชูขึ้นสู่มาตรฐานอัน สูงยิ่งๆ ขึ้น.....ครั้นต่อมาในสมัยรัฐบาลปัจจุบันนี้ บ้านเมืองได้รับการปรับปรุงและทนุบำรุงให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ประกอบด้วยประเทศไทยได้เอกราชทางศาลสมบูรณ์แล้ว ท่านนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ดำริเห็นสมควรที่จะให้มีที่ทำการกระทรวงและศาลใหม่ให้เป็นที่เทอดเกียรติ ประเทศชาติและสง่างามสมภาคภูมิกับที่เป็นที่สถิตแห่งความยุติธรรม....."8>
 
เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล: ความทรงจำที่ถูกลืมในประวัติศาสตร์การยุติธรรมไทย
"เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล" เป็นหมุดหมายสำคัญประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของการมีอธิปไตยสมบูรณ์อีกครั้งของไทย แต่ที่น่าสังเกตคือ สังคมไทย ณ ปัจจุบัน แม้กระทั่งในวงการศาลยุติธรรมเองก็ตาม กลับมีความทรงจำที่พร่าเลือนจนกระทั่งบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงจนน่าตกใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการได้มาซึ่งเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล
 
สนธิสัญญาเบาริ่ง ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ซึ่งหมายถึง สิทธิพิเศษที่ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย หากกระทำความผิดทางกฎหมาย ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลไทย แต่ไปพิจารณาคดีในศาลกงสุลของประเทศที่ชาวต่างชาติคนนั้นสังกัดแทน ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศไทยได้เสียอธิปไตยของชาติให้แก่ต่างชาติ ลักษณะดังกล่าว แม้จะไม่ถึงกับเรียกว่าตกเป็นอาณานิคมก็ตาม แต่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ ก็มีลักษณะของการเป็นอาณานิคมบางส่วนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
 
สนธิ สัญญาเบาริ่ง ได้เป็นแม่แบบหลักของสนธิสัญญาที่ไทยทำกับนานาประเทศต่อมาอีกหลายฉบับ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสียเอกราชทางการศาลให้แก่ประเทศเหล่านั้นทั้งหมด
 
นับ ตั้งแต่ประเทศไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ชนชั้นนำไทยทุกยุคก็ได้ต่อสู้ต่อรองเพื่อเรียกร้องเอกราชและอธิปไตยทางการ ศาลคืนมาโดยลำดับนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แต่จวบจนกระทั่งในรัชกาลที่ 7 เอกราชทางการศาลของไทยก็ยังไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้โดยสมบูรณ์9>เพราะ แม้ว่าแนวโน้มอำนาจของศาลไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากก็ตาม แต่ในขั้นสุดท้าย กงสุลต่างประเทศก็ยังคงมีอำนาจในการถอนคดีออกจากการพิจารณาของศาลไทยได้อยู่10>
 
คณะราษฎร ซึ่งทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยืนอ่านแถลงการณ์ปฏิวัติกลางลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันนั้น โดยความตอนหนึ่งได้ประกาศ "หลัก 6 ประการ" ไว้เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ โดยข้อแรกของหลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ "หลักเอกราช" ซึ่งเอกราชตามความหมายในประกาศนั้น มีนัยที่เน้นถึง การเรียกร้องเอกราชทางการศาลให้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์นั่นเอง จะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งของยุคสมัย
 
หลัง จากนั้นมา รัฐบาลคณะราษฎรก็ได้เร่งทำประมวลกฏหมายสมัยใหม่หลายฉบับ สานต่อมาจากรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาแล้วเสร็จเรียบร้อยครบทุกอย่างในปี 2477 และประกาศใช้ในปี 2478 และนับจากจุดนี้รัฐบาลก็ได้พยายามดำเนินนโยบายเพื่อให้มีการแก้ไขสนธิสัญญา ที่ไม่เสมอภาคอันเป็นเหตุให้ไทยเสียเอกราชทางการศาลลง ซึ่งก็ได้มีประเทศต่างๆ ทยอยแก้สนธิสัญญาใหม่มาโดยลำดับ จนในที่สุดประเทศไทยได้ลงสัตยาบันสนธิสัญญาใหม่กับประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศ สุดท้ายในปี 248111> ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์อย่างแท้จริง
 
ซ้าย: โรงเจิมสนธิสัญญาใหม่ ปี 2481 ด้านหน้าปักธงชาติของประเทศต่างๆ ที่แก้ไขสนธิสัญญากับไทย
ขวา: บรรยากาศภายในโรงเจิมสนธิสัญญา มีผู้นำรัฐบาลและทูตานุฑูตประเทศต่างๆ เข้าร่วมในพิธี
 
แต่ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ข้างต้น กลับไม่ได้เป็นที่จดจำเลยในปัจจุบัน ความทรงจำว่าด้วยการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลได้ถูกทำให้พร่าเลือนไป แม้แต่ผู้ที่อยู่ในวงการยุติธรรมโดยตรงเองก็ตาม ก็มิได้มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่กลับมีความทรงจำไปในลักษณะที่ว่า ไทยมีเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์แล้วมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยผูกโยงเรื่องราวเชื่อมไปกับ การสร้างความทรงจำว่าด้วย "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" ที่ได้ถวายให้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์12> ซึ่งการถวายพระเกียรตินี้ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคหลังปี 2500 เป็นต้นมาเท่านั้น13>
ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศทางการเมืองยุคหลัง 2490 ที่ "กระแสอนุรักษ์นิยม" และ "กระแสนิยมเจ้า" เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและทรงพลังอีกครั้ง บรรยากาศทางการเมืองนี้ได้ก่อรูปกระแสประวัติศาสตร์แบบ "ราชาชาตินิยม"14> ขึ้น ซึ่งเป็นการพยายามอธิบายประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ และเจ้านายเชื้อพระวงศ์พระองค์ต่างๆ ความเจริญก้าวหน้าของชาติในทุกๆ ด้านล้วนเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์พร้อมภายใต้ร่มพระบารมี
 
ซ้าย: สนธิสัญญาใหม่ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของการได้เอกราชสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง
ขวา: ขบวนเฉลิมฉลองภายในงานฉลองวันชาติและฉลองสนธิสัญญาใหม่ ในปี 2482
 
กระแส ประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีคู่กรณีที่ไม่อาจยอมความกันได้เลยคือ คณะราษฎร สิ่งใดก็ตามที่เป็นผลผลิตในช่วงสมัยที่คณะราษฎรมีบทบาทนำในสังคม มักจะได้รับการอธิบายในเชิงลบ และพยายามขจัดออกไปจากความทรงจำร่วมของสังคม ซึ่งกรณีการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาลก็เป็นหนึ่งในความทรงจำที่ต้อง ถูกลบออกจากสังคมไทยด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ได้ผ่านมาเพียงราว 70 ปีเท่านั้น และทั้งๆ ที่ในช่วงดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น โดยจัดเป็นงานใหญ่ควบคู่ไปกับงานฉลองวันชาติในปี 2482 มีการเดินสวนสนามเฉลิมฉลอง มีการจัดงานเป็นรัฐพิธีใหญ่ สร้างพลับพลาเจิมสนธิสัญญาที่ได้ทำกับนานาชาติอย่างใหญ่โต มีประชาชนออกมาร่วมงานอย่างมากมาย ฯลฯ15>
 
ผล ของการลบเลือนและบิดเบือนไปของความทรงจำดังกล่าวนี้เอง ที่ส่งผลกระทบทำให้สังคมไทย ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการสร้างกลุ่มอาคารศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกของการ ได้มาซึ่งเอกราชสมบูรณ์ดังกล่าวหลงเหลือตามไปด้วย และทำให้กลุ่มอาคารนี้ไม่มีค่าอะไรในทางประวัติศาสตร์ มีสถานะเป็นเพียงตึกเก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วเท่านั้น เมื่อผนวกเข้ากับเพดานความคิดที่ตื้นเขินของวงการอนุรักษ์มรดกทาง สถาปัตยกรรมในปัจจุบัน (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) ก็ยิ่งทำให้กลุ่มอาคารนี้ไม่มีที่ทางอะไรในสังคมไทยอีกต่อไป
 
ปัญหาเพดานความคิดในการประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคคณะราษฎร
กล่าวอย่างรวบรัด กลุ่มอาคารศาลรูปตัววีที่ได้กล่าวมานั้น ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยอิทธิพลทางรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (Modern Architecture) ซึ่งเป็นกระแสทางสถาปัตยกรรมกระแสหลักในโลก ณ ขณะนั้น
 
ลักษณะ สำคัญโดยสังเขปของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบริบทสังคมยุโรปคือ การปฏิเสธรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีต รูปทรงทางสถาปัตยกรรมพัฒนาขึ้นภายใต้จิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่หลังยุค ปฏิวัติอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับความเจริญทางเทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ รูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นตัดขาดจากอดีตเกือบโดยสิ้นเชิง ไม่นิยมประดับประดาตกแต่งลวดลายลงบนงานสถาปัตยกรรม รูปทรงทางสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นจากประโยชน์ใช้สอยอย่างซื่อสัตย์ ฯลฯ
 
อิทธิพล ของแนวคิดและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้ได้แพร่เข้ามาในสังคมไทยนับตั้งแต่ รัชกาลที่ 7 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเข้ามาพร้อมๆ กับกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ใน ยุโรป ตัวอย่างงานที่รู้จักกันดีคือ ศาลาเฉลิมกรุง อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวกลับแพร่หลายมากนับจากหลังปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นได้รับความนิยมในการก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่สำคัญของชาติ 
 
จาก การศึกษาของผู้เขียนที่ผ่านมาพบว่า คณะราษฎร ได้จงใจเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นไปในความหมายเฉพาะอีกแบบที่ไม่ เหมือนกับความหมายในสังคมยุโรปเสียทีเดียวนัก แต่เลือกใช้และสร้างความหมายเฉพาะในสังคมไทยขึ้นเพื่อสะท้อนแนวคิดทางการ เมืองของคณะราษฎร ที่มีลักษณะต่อต้าน แข่งขัน และ แย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเก่า (สถาบันกษัตริย์ และ กลุ่มนิยมเจ้า) อย่างชัดเจน รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นคือสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคประชาธิปไตยของ คณะราษฎร16> ซึ่งกลุ่มอาคารศาลคือหนึ่งในสถาปัตยกรรมในความหมายดังกล่าว
 
ซ้าย: อาคารศาลฝั่งคลองคูเมืองเดิม สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคคณะราษฎร เสร็จในปี 2486
ขวา: อาคารศาล จังหวัดสงขลา เสร็จในปี 2484 อีกหนึ่งอาคารศาลที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์น
 
ดัง นั้น ในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม กลุ่มอาคารในยุคสมัยนี้จึงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสูงในทัศนะ ผู้เขียน โดยมีคุณค่าอย่างน้อย 2 ประการคือ หนึ่ง คุณค่าในแง่ที่เป็นหนึ่งในกระแสของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในระดับสากล และสอง คุณค่าในบริบทเฉพาะทางการเมืองของไทย ซึ่งคุณค่าทั้งสองประการนี้ไม่ควรถูกรื้อถอนทำลายลงไปอย่างไม่ไยดีเช่นที่ กำลังจะเกิดขึ้นกับกลุ่มอาคารศาลเลย
 
ทั้งหมดเกิดขึ้นจากเพดานความคิดที่ตื้นเขินของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม ซึ่งยังคงขีดเส้นเพดานคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหยุดไว้เพียงแค่ตึกอาคารที่สร้าง ขึ้นก่อน 2475 เท่านั้น และประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรมด้วยลวดลายประดับประดาอาคาร อาคารใดสร้างขึ้นหลังจาก 2475 ไม่มีคุณค่าใดๆ ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ยิ่งไร้ซึ่งลวดลายประดาประดับ ยิ่งไม่ต้องคิดให้เสียเวลาในการประเมินคุณค่าแต่อย่างใด
 
กลุ่ม อาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่น่าตกใจว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มสถาปัตยกรรมดังกล่าวที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะต่อประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ยังไม่สามารถผลักดันจนทำให้เกิดการขึ้นทะเบียนกลุ่มอาคารดังกล่าวเป็นโบราณ สถานได้จวบจนปัจจุบัน ในอนาคตข้างหน้า กรณีแบบที่เกิดขึ้นกับศาลาเฉลิมไทยคงไม่ไกลเกินความเป็นจริงมากนัก เมื่อไรหนอที่เพดานความคิดอันคับแคบดังกล่าวจะพังทลายลงเสียที
 
ผู้ เขียนหวังว่า สัญญาณในทางบวกจากกรมศิลปากรทางสื่อเมื่อไม่นานมานี้ ต่อกรณีการรื้อศาลที่ดูแล้วมีแนวโน้มไปในทิศทางที่จะทำการอนุรักษ์กลุ่ม อาคารศาลนี้ไว้ จะไม่เป็นเพียงสายลมที่พัดผ่านไปเท่านั้น หวังว่าท่าทีของกรมศิลปากรต่อกรณีนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การทลายเพดานความคิดเรื่องคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ที่ถูกขีดเส้นแบ่งไว้ที่ปี 2475 ลงอย่างจริงจังเสียที
 
ข้อเท็จจริงว่าด้วยความเสื่อมสภาพของอาคาร
            จาก ที่กล่าวมา ผู้เขียนหวังว่าได้ให้ภาพที่ชัดเจนเพียงพอต่อคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและ ประวัติศาสตร์ของกลุ่มอาคารศาลแล้ว ดังนั้นในหัวข้อนี้จึงอยากจะย้อนกลับมาที่ประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนการรื้อได้ กล่าวไว้ว่า อาคารศาลอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพจนไม่อาจใช้การได้อีกต่อไป17> ว่า มีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
 
เมื่อราวปี 2546 ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ว่าจ้าง ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำวิจัยชื่อ "โครงการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาอาคารศาลฎีกาและอาคารบริเวณรอบศาลฎีกา" โดยแล้วเสร็จส่งให้กับทางสำนักงานศาลยุติธรรมไปเมื่อราวปี 2548 (ใช้เวลาทำการศึกษาประมาณ 2 ปี)
 
เนื้อหา ในงานวิจัยชิ้นนั้น ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์และประเมินสภาพกลุ่มอาคารศาลในปัจจุบันว่าอยู่ ในสภาพเช่นไร พร้อมทั้งทำการนำเสนอแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ศาลทั้งหมด
 
ใน บทที่ 3 การสำรวจและวิเคราะห์สภาพอาคารปัจจุบันงานวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นส่วนที่ว่าด้วยการประเมินสภาพความแข็งแรงของอาคารโดยเฉพาะนั้น ผลการศึกษาในส่วนของการทดสอบกำลังของคอนกรีตบริเวณส่วนล่างของเสาในแต่ละ อาคารสรุปได้ว่า ทุกอาคารไม่มีปัญหาในแง่การรับน้ำหนักแต่อย่างใดเลย18>
 
ใน ส่วนของความเสียหายที่ปรากฏในแต่ละอาคารพบว่า ในส่วนของอาคารกระทรวงยุติธรรมเดิม (อาคารปลายตัววี ด้านหลังอนุสาวรีย์) ไม่พบความเสียหายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร แต่อย่างใด อาคารฝั่งถนนราชดำเนินใน (ปัจจุบันคืออาคารศาลฎีกา) พบความเสียหายที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงแต่ไม่ได้เป็นความเสียหายที่มีนัย สำคัญ ส่วนปีกอาคารฝั่งที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม พบความเสียหายที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงอย่างมีนัยสำคัญ คือ รอยร้าวจากเหล็กยืนภายในเสาเป็นสนิม19>
 
จาก ผลการศึกษาข้างต้นจะพบว่า กลุ่มอาคารศาลแม้จะมีความเสียหายปรากฏให้เห็น แต่ก็มีเพียงเล็กน้อยที่ส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอาคารที่ใช้งานมานาน ที่สำคัญที่สุดคือ ผลสรุปไม่ได้แสดงว่า ความเสียหายนี้จะต้องนำมาสู่การเสื่อมสภาพการใช้งานจนต้องรื้อทิ้งแต่อย่าง ใด ทุกความเสียหายล้วนมีทางแก้ไขได้โดยไม่ได้ลำบาก
 
ผล สรุปข้างต้นที่ไม่ได้แสดงถึงความเสื่อมสภาพจนเกินเยี่ยวยาดังกล่าว น่าจะเป็นที่ทราบดีในหมู่ผู้ที่สนับสนุนการรื้อ เพราะสังเกตได้จาก บทความเรื่อง "ต้องทุบอาคารศาลฎีกาทิ้ง" ของ พฤตินัย (ลงในมติชน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2550) ผู้ที่อยากให้มีการรื้ออย่างเต็มที่และกล่าวว่าอาคารเสื่อมสภาพหมดแล้ว ก็ยังเขียนในเชิงขัดแย้งในตัวเองและยอมรับอยู่ในทีเกี่ยวกับเรื่องความแข็ง แรงว่า ".....ปัจจุบันความเห็นของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ไม่เป็นที่ยุติ....."
 
ส่วนข้ออ้างอื่นๆ อาทิ ".....สถาน ที่เก็บมูลถ่ายอุจจาระบริเวณห้องขังเดิมของศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลแขวง ดุสิตเต็มจนทำให้อุจจาระล้นขึ้นออกมาภายนอก เป็นที่น่ารังเกียจและอุจาดไปทั่ว
..... นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงสภาพรั่วไหลและรั่วซึมของน้ำบนหลังคาศาลและสภาพรั่ว ซึมของทุกชั้นทุกศาลภายในอาคารศาลฎีกาทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมให้หายขาดได้
....."20>
 
สิ่ง เหล่านี้ล้วนมิใช่ประเด็นหลักที่ต้องทำการรื้ออาคารทั้งหมดแต่อย่างใด (และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรั่วก็มิได้เกิดการรั่วมากมายในทุกจุดทุกชั้น ทุกทีตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด) เพราะ บ้านที่ฝนรั่วและส้วมเต็มคงไม่มีเจ้าของบ้านคนไหนแก้ไขด้วยวิธีการรื้อบ้าน แล้วสร้างใหม่อย่างแน่นอน
 
เหตุผล อีกประการที่ใช้อธิบายเหตุผลในการรื้อคือ ความต้องการในการใช้พื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากมาย ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นประเด็นสำคัญ และเห็นใจ หากไม่มีที่ทำงานเพียงพอ ซ่งจะพลอยทำให้เสียภาพลัการ์ของสถาบันศาลด้วย
 
แต่ จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กลุ่มอาคารศาลได้มีการย้ายหน่วยงานศาลอื่นออกไปแล้วไม่น้อย โดยเฉพาะล่าสุดคือ ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่า เพื่อความชัดเจน ควรมีการสำรวจพื้นที่และประเมินความต้องการในการใช้พื้นที่อย่างจริงจังเสีย ก่อน แล้วค่อยมาพิจารณากันในลำดับต่อไป มากกว่าที่จะเป็นการพูดลอยๆ บนการประเมินจากสายตาเท่านั้น
 
ที่ น่าสังเกตที่สุดคือ ถ้าดูจากแบบใหม่ในการก่อสร้าง ก็จะพบว่า ไม่ได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นมากแต่อย่างใดเลย การออกแบบผังอาคารใหม่ เหมือนกับแบบเดิมเกือบทั้งหมด ความสูงและจำนวนชั้นก็มิได้แตกต่างกัน ซึ่งน่าสงสัยต่อการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยว่า จะเพิ่มมากขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนยังมิได้เคยเห็นแบบตัวจริงทั้งหมด การประเมินนี้คงยังไม่อาจสรุปได้ง่ายนัก
 
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อประมวลจากทั้งหมดแล้ว ในทัศนะผู้เขียน (ซึ่งถกเถียงกันได้ และควรถกเถียงต่อไปมากๆ ด้วย โดยอย่าเพิ่งรีบรื้ออาคารลงเสียก่อน) ไม่พบเหตุผลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอแต่อย่างใดในการรื้อกลุ่มอาคารศาลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองอย่างเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวไปมากแล้วในหัวข้อที่ผ่าน มาประกอบด้วย
 
เมื่อ เป็นเช่นนี้ ผู้เขียนจึงได้พยายามวิเคราะห์ว่า อะไรคือสาเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังความต้องการในการรื้อ ซึ่งในที่สุดผู้เขียนพบว่า สาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจาก ความต้องการในรูปทรงภายนอกของอาคารมากกว่าสิ่งอื่นใด โดยมีความต้องการอยากได้อาคารศาลฎีกาที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปทรง ไทยเพียงเท่านั้น
 
3,700 ล้านบาทเพื่อหลังคาทรงไทย?
            หาก ย้อนทบทวนประวัติศาสตร์ จะพบว่า ความต้องการรื้อกลุ่มอาคารศาลครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกแต่อย่างใด แต่แนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่อาคารศาลด้านฝั่งถนนราชดำเนินในเปิดใช้ งานไปได้เพียง 23 ปี คือในปี 2529 โดยคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นอนุมัติให้มีการรื้ออาคารศาลฎีกาลงเพื่อสร้างใหม่ ในที่เดิม ต่อมาในปี 2535 ได้มีมติเห็นชอบในรูปแบบอาคารศาลฎีกาใหม่ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณราว 2,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้าง21>
           
ความ คิดในการรื้ออาคารหลังจากที่มีการใช้งานไปเพียง 23 ปี เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง ความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุผลย่อมไม่ใช่เรื่องความเสื่อมสภาพของอาคารอย่างแน่นอน เพราะ 23 ปีในอายุการใช้งานของอาคารนั้นถือว่ายังใหม่เกินกว่าจะทำการรื้อสร้างใหม่ ผู้เขียนคิดว่า เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันความคิดดังกล่าวคือ ความไม่พอใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของคณะราษฎร ที่ในสายตาคนทั่วไปแล้ว ไม่มีความเป็นไทยเท่าที่ควร
 
ซ้าย: หุ่นจำลองแสดงรูปทรงอาคารกลุ่มศาลฎีกาใหม่
ขวา: รูปด้านทางสถาปัตยกรรมทั้งสี่ด้านของกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่
 
รูปแบบอาคารศาลที่ออกแบบใหม่ ณ ช่วงนั้น ได้รับการออกแบบให้เป็น "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" ประกอบด้วย "ยอดปราสาท" เลียนแบบคล้ายยอดปราสาทในพระบรมมหาราชวัง แต่โครงการถูกระงับไปก่อน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ จวบจนมาถึงในปัจจุบัน โครงการนี้จึงได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปรับรายละเอียดในรูปแบบสถาปัตยกรรมไปบ้าง ยกเลิกการนำยอดปราสาทมาใช้ อันเนื่องมาจากกระแสในการตระหนักถึง"ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม"
 
อย่างไรก็ตามรูปแบบโดยรวมก็ยังเป็นงาน "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" ที่หยิบยืมรูปแบบหลังคาและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบจารีต ประเภทวัดและวัง (ที่เป็นภาพตัวแทนความเป็นไทยเพียงอย่างเดียวในแวดงวงสถาปัตยกรรม) มาปรับสวมลงในผังอาคารสมัยใหม่เช่นเดิม
 
            ดังจะเห็นได้จากแนวความคิดล่าสุดในการออกแบบรูปทรงของอาคารศาลฎีกาใหม่ที่ปรากฏทางสื่อคือ ".....อาคาร ศาลฎีกาเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในยุคปัจจุบัน พัฒนาแนวความคิดที่สืบสานต่อจากอดีต กล่าวคือเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมที่ประสานสนองประโยชน์ใช้สอยของปัจจุบัน ที่สมบูรณ์กับลักษณะไทยที่คงรักษาฉันทลักษณ์เดิมไว้ได้อย่างเหมาะสมในทุก ส่วนขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม....."22>
 
หรือในส่วนการออกแบบภายในก็จะพบแนวคิดนี้เช่นกันคือ ".....เอกลักษณ์ ของความสง่างามแบบไทยประเพณี ได้แก่ห้องโถง ทางเข้าใหญ่ของอาคารและห้องพิจารณาคดีใหญ่ ซึ่งเป็นห้องที่สำคัญที่จะต้องออกแบบให้มีความสง่างามและมีเอกลักษณ์ของไทย ตามแบบอย่างลักษณะโบราณประเพณี....." 23>
 
เมื่อแนวคิดเป็นเช่นนี้ รูปแบบจึงปรากฏออกมาอย่างน่าตกใจ กลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่ เป็น "งานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" ที่ดูหลงยุคหลงสมัยจนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน
 
เมื่อ พิจารณาดูผังโดยภาพรวมจะเห็นว่า มิได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเลยจากผังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนน่าสงสัยว่าแบบใหม่จะช่วยทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ต่างกันมีเพียงผืนหลังคาขนาดจั่วทรงไทยขนาดยาวมหึมาที่ครอบสวมลงไปบน ผังแบบเดิม และองค์ประกอบอื่นๆ ของงานสถาปัตยกรรมแบบประเพณีที่ประดับอยู่ตามหัวเสาและฐานอาคารเพียงเท่า นั้น
 
อีก สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ ได้มีการออกแบบอาคารขนาดใหญ่หลังหนึ่งรูปทรงคล้ายโบสถ์ มีความสูงประมาณ 4 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ว่างตรงกลางของผังรูปตัววีเดิม ด้วยรูปทรงและมวลอาคารที่ดูเสมือนว่าเป็นการขยายสัดส่วนมาจากโบสถ์แบบ ประเพณีเดิมหลายเท่าตัว ทำให้ หากมีการก่อสร้างจริงจะเป็นอาคารที่มีสัดส่วนใหญ่โตจนน่ากลัวและดูหลอกตา เป็นอย่างยิ่ง
 
            รูป แบบที่ดูผิดยุคสมัยนี้ ย่อมไม่อาจกล่าวโทษไปที่สถาปนิกคนใดคนหนึ่งได้ เพราะสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของปัจเจกคนใด คนหนึ่ง อันเป็นผลผลิตของมายาคติใหญ่ในสังคมไทยที่สั่งสมมายาวนานว่า เอกลักษณ์ไทยในทางสถาปัตยกรรมคือ อาคารที่มีหลังคาจั่วทรงสูง มายาคตินี้เริ่มถูกสั่งสมภายใต้นโยบาย "ชาตินิยมไทย" ในราวทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา โดยอาศัยอิงแอบสร้างความเป็นไทยอย่างง่ายๆ กับเปลือกนอกทางสถาปัตยกรรมแบบจารีตต่างๆ ในอดีต ซึ่งเป็นความเชื่อและวิธีการหาความเป็นไทยที่ฝังลึกและ "เอาง่ายเข้าว่า" มาอย่างยาวนานแล้วในสังคมไทย
 
อาคาร ราชการทั้งหมดในสมัยนั้นจะต้องสร้างขึ้นโดยมีหลังคาจั่วทรงสูง พร้อมกับมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายสถาปัตยกรรมแบบจารีตที่ถูกลดทอนลาย ละเอียดลงให้ดูเรียบง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้คือสูตรสำเร็จในการสร้างเอกลักษณ์ไทยในทางสถาปัตยกรรม ตัวอย่างที่สำคัญคือ อาคารราชการสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินนอก โรงละครแห่งชาติ หอประชุมธรรมศาสตร์ ฯลฯ
 
            มายาคตินี้ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในแวดวงสถาปัตยกรรมจะวิพากษ์วิจารณ์ "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" มากมายเพียงใดก็ตาม รูปแบบดังกล่าวก็ยังคงมีพลังในการเป็นตัวแทนของความเป็นไทยมาได้โดยตลอด หรือแม้แต่สถาปนิกที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ หลายคนก็ยังตกอยู่ใต้มายาคติของรูปทรงจั่วสามเหลี่ยมไม่แตกต่างกันแต่อย่าง ใด ดังจะเห็นได้จากงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่อ้างถึงความเป็นไทย ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นต้องใช้รูปทรงจั่วสามเหลี่ยมมาเป็นสื่อหลักในการอธิบาย ความเป็นไทยอยู่นั่นเอง
 
ด้วย มายาคติดังกล่าว ผสานกับกระแสประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ต้องการลบความทรงจำเกี่ยวกับ คณะราษฎรออกไปจากสังคมไทย (ดังที่กล่าวมาในตอนต้น) ได้ส่งผลผสมผสานทำให้ กลุ่มอาคารศาลฎีกา ที่เป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นซึ่งไม่มีหลังคาจั่วทรงไทย อีกทั้งยังถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้นำในคณะราษฎร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกจัดการรื้อทำลายลง และสร้างกลุ่มอาคารศาลหลังคาทรงไทยขึ้นแทน เพื่อเป้าหมายในการสร้างความเป็นไทย และรื้อความทรงจำที่เกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎรลงไปพร้อมๆ กัน
 
น่า สังเกตว่า สถาปัตยกรรมโมเดิร์น หากผสานเรื่องราวให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมได้ ก็จะไม่ประสบชะตากรรมที่น่าสงสารเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น "ศาลาเฉลิมกรุง" ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ไม่ต่างจากอาคารในยุคคณะราษฎรเลย แต่สังคมกลับให้คุณค่าทางสถาปัตยกรรมสูงมากจนไม่มีใครคิดว่าจะต้องรื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่า อาคารสร้างมานาน (นานกว่าศาลฎีกาด้วย) จนเสื่อมสภาพหมดแล้ว
 
กล่าว โดยสรุป เมื่อพิจารณาเหตุผลต่างๆ ตลอดจนรูปแบบใหม่ของอาคารที่จะสร้าง ทำให้ผู้เขียนไม่อาจเชื่อได้ว่า เป็นผลของความเสื่อมสภาพของอาคารจนเกินเยียวยา แต่น่าจะเกิดจากความต้องการในรูปทรงของหลังคาจั่วทรงไทยมากกว่าเหตุผลอื่น (แน่นอนเหตุผลของความเสื่อมสภาพ และความต้องการใช้พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมีอยู่จริง แต่นั่นมิใช่เหตุผลหลักในทัศนะผู้เขียน)
 
หาก เป็นดังที่ผู้เขียนวิเคราะห์จริง (ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่าอยากให้มีการถกเถียงในวงกว้างมากกว่านี้) ก็อยากจะตั้งคำถามต่อสังคมว่า สังคมควรยอมให้รัฐจ่ายเงินเป็นจำนวน 3,700 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินภาษีของทุกคน ไปใช้เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอาคารที่ครอบด้วยหลังคาจั่วทรงไทยขนาดมหึมานี้ หรือไม่? ที่สำคัญยังทำลายประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าลงไปอย่างน่าเสียดาย
 
คำถามถึงคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อปัญหา "สองมาตรฐาน" ของนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน
อีก ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญมาก และจะนำมาสู่ปัญหามากมายต่อไปในอนาคต หากมีการรื้อทิ้งและสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ตามรูปแบบดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ประเด็น "สองมาตรฐาน" ในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์
 
เป็น ที่ทราบดีว่า ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน เป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมประเภทการใช้งานและควบคุมความสูงในการก่อสร้างอาคาร ใหม่ ภายใต้นโยบายและแนวความคิดของ "คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์" ซึ่งมีข้อกำหนดสำคัญๆ คือ เน้นการเปิดมุมมองต่อโบราณสถานสำคัญระดับชาติ (ซึ่งส่วนใหญ่คือ วัด วัง สถานที่ราชการ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5) การเปิดพื้นที่สีเขียว (ทำสวนสาธารณะ) และลดความแออัดภายในพื้นที่ลงด้วยการย้ายสถานที่ราชการออกไปนอกพื้นที่24> โดยเฉพาะข้อกำหนดที่สำคัญมากที่สุดคือ ในกรณีที่มีการสร้างอาคารขึ้นใหม่ในพื้นที่จะต้องไม่มีความสูงเกิน 16 เมตร
 
นโยบาย ดังกล่าวถูกบังคับผ่านหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มงวด มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คน ชุมชน และกายภาพของเมืองอย่างมากมาย อาทิ โครงการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อทำสวนสาธารณะ โครงการรื้อโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยเพื่อสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โครงการจะย้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกพื้นที่ โครงการจะรื้ออาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเตียนเพื่อเปิดมุมมองมาสู่ วัดโพธิ์ โครงการจะรื้อโรงพิมพ์วัดสังเวช บริเวณป้อมพระสุเมรุ เพื่อทำสวนสาธารณะ โครงการรื้ออาคารกรมการค้าภายในเพื่อทำสวนสาธารณะ และ ล่าสุดคือการไม่อนุมัติให้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สร้างอาคารเพิ่มเติมในพื้นที่ (ทั้งๆ ที่ไม่ได้สูงเกิน 16 เมตรเสียด้วยซ้ำไป) และอื่นๆ อีกมากมาย
 
แนว คิดของคณะกรรมการกรุงฯ แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยในหลายๆ ประการ แต่ที่ผ่านมาอย่างน้อย ผู้เขียนก็ยังให้เกียรติว่า เป็นการกระทำที่ตั้งอยู่บนจุดยืน ซึ่งมีฐานความคิดทางวิชาการรองรับ (แม้ว่าจะล้าสมัยไปอย่างสิ้นเชิงแล้วก็ตาม) ที่สำคัญคือ ยึดมั่นในอุดมการณ์และความคิดทางวิชาการของตนเองอย่างชัดเจน
 
แต่ กรณีโครงการศาลฎีกาครั้งนี้ ทางคณะกรรมการกรุงฯ กลับแสดงท่าทีที่เงียบจนน่าแปลกใจ ไม่มีการแสดงความเห็นทางวิชาการออกสื่อสาธารณะเหมือนกรณีโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต และที่น่าตกใจมากคือ ไม่มีแม้แต่ความคิดเห็นทางวิชาการใดๆ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2530 ว่า ให้สามารถสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่โดยมีความสูงมากถึง 32 เมตร ทั้งๆ ที่มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไว้ไม่ให้สูงเกิน 16 เมตร ซึ่งเกินมาตรฐานที่ใช้บังคับทั่วไปถึงหนึ่งเท่าตัว (เกณฑ์เรื่องความสูงเป็นเสมือนกฎเหล็กที่คณะกรรมการกรุงฯ ยึดถือไว้อย่างแข็งขันยิ่งตลอดมา)
 
นอกจากนี้ อาคารศาลฎีกาใหม่ยังถูกออกแบบให้เป็นอาคารที่มีความยาวด้านที่ติดกับสนามหลวงมากถึงกว่า 170 เมตร ซึ่งหากได้สร้างจริง จะเป็นการเปลี่ยนรูปกายภาพของสนามหลวงไปอย่างสิ้นเชิง สนามหลวงจะไม่ได้มีจุดเด่นที่โบราณสถานเก่าแก่อีกต่อไป แต่จะมีจุดเด่นอยู่ที่อาคารรูปทรงไทยประยุกต์(ฝรั่งสวมชฎา) ที่มีความสูงมหาศาลและมีความยาวมโหฬารดังกล่าว
 
ซึ่งผลกระทบที่มีมากมายขนาดนี้ น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่า เหตุใด คณะกรรมการกรุงฯ จึงทำตัวเงียบเสมือนไม่มีตัวตนเช่นนี้
 
ภาพเปรียบเทียบทัศนียภาพท้องสนามหลวงในปัจจุบัน (ภาพบน)
กับทัศนียภาพที่จำลองขึ้นหากมีการสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ที่มีความสูงมากถึง 32 เมตร (ภาพล่าง) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางภูมิทัศน์อย่างมหาศาลในพื้นที
 
แน่ นอนว่า การอนุญาตเรื่องความสูงที่มากเกินมาตรฐานถึงสองเท่านี้จะได้รับการอนุมัติ อย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถามก็คือ ในฐานะที่คณะกรรมการกรุงฯ เป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับรัฐในเรื่องการอนุรักษ์ และพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด (ซึ่งผลงานที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายรัฐมากอย่าง ยิ่ง) จะไม่ออกมาแสดงบทบาททางวิชาการแบบที่เคยทำมาโดยตลอดหลายสิบปีกับกรณีโครงการ ก่อสร้างศาลฎีกาใหม่นี้เลยหรือ???
 
แล้ว มาตรฐานทางวิชาการที่คณะกรรมการกรุงฯ ยึดถือตลอดมา และบังคับใช้อย่างดุเดือดยิ่งต่อหน่วยงาน องค์กร และชุมชนต่างๆ ทั่วไปทั้งหมดในพื้นที่ จะยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์และมีความชอบธรรมในการบังคับใช้ต่อไปอีกหรือ??? ในเมื่อองค์กรที่ทำหน้าที่ทางวิชาการและคุมแนวนโยบายเองกลับปล่อยให้มีการปฏิบัติในลักษณะ "สองมาตรฐาน" เช่นนี้อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่มีแม้แต่การแสดงความเห็นคัดค้านใดๆ เลย
 
ขอ ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ยังทำตัวเงียบเชียบต่อกรณีนี้ต่อไป ผู้เขียนอยากจะถามคณะกรรมการกรุงฯ ว่า ตัวคณะกรรมการกรุงฯ ยังจะสามารถอ้างความชอบธรรมทางวิชาการใดๆ ได้อีกหรือ ยังกล้าที่จะทำหน้าที่คุมนโยบายและให้คำปรึกษารัฐในการอนุรักษ์และพัฒนา พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ต่อไปได้อีกหรือ และยังกล้าที่จะออกมาพูดเรื่องการไม่อนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตรเพราะจะทำลายทัศนียภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อไปในอนาคตได้อยู่อีกหรือ??? 
 
ความส่งท้าย
            อย่าง ไรก็ตาม ผู้เขียนขอยืนยันว่า ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า กลุ่มอาคารศาล ณ ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่สมเกียรติกับความเป็นสถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งในสังคมไทย และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ด้วยภารกิจที่เพิ่มขึ้นของศาลฎีกา ย่อมต้องการรูปแบบพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับกิจกรรมแบบใหม่ด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับได้
 
            ผู้ เขียนขอยืนยันว่า การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดในบทความนี้มิได้มุ่งหมายจะให้มีการเก็บรักษากลุ่ม อาคารศาลเดิมนี้ไว้ในสภาพเดิมทุกประการ หรือต้องการจะให้ทำการอนุรักษ์โดยแช่แข็งอาคารไว้ เหมือนเดิมทุกอย่างโดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลยก็หาไม่ เพียงแต่ในการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไปนั้น มิใช่จะต้องเลือกหนทาง "รื้อ-สร้าง" เพียงอย่างเดียว
 
ศาล ควรหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือไปจากการรื้อสร้างใหม่ทั้งหมดลง โดยหันมาลองพิจารณาเลือกใช้แนวทางการอนุรักษ์ในรูปแบบที่สามารถผสานกับความ ต้องการในการใช้สอยสมัยใหม่ได้ โดยการออกแบบปรับเปลี่ยนการใช้สอยพื้นที่ภายในอาคารใหม่ ในลักษณะที่ยังดำรงรักษาคุณค่าของตัวอาคารไว้ได้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบมาก ซึ่งแนวทางเช่นนี้ นอกจากจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้สอยแล้ว ยังสามารถใช้มูลค่าเพิ่มทางประวัติศาสตร์ของอาคารมาหนุนเสริมภาพลักษณ์ของ องค์กรได้เป็นอย่างดี
 
            ด้วย หลักฐานต่างๆ ที่ได้ศึกษามาภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ผู้เขียนเชื่อว่า สภาพของอาคารกลุ่มศาล ณ ปัจจุบัน ยังมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างสมเกียรติ สถาบันศาล โดยไม่ละเลยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ในตัวงานสถาปัตยกรรม
            สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่า กรณีความพยายาม "รื้อ-สร้าง" อาคารศาลฎีกาใหม่ในครั้งนี้ จะนำมาสู่ความตื่นตัวของสังคมในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งใช้งบประมาณขนาดนี้ และที่สำคัญคือ เป็นโครงการที่สร้างลงบนพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สูงเช่นนี้ สังคมควรจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามอย่างรอบด้านและจริงจังมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนมานั่ง ตัดสินนโยบายสาธารณะที่สำคัญเช่นนี้เพียงลำพังอีกต่อไป
 
..........................................................
 
1> ดูรายละเอียดใน ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 7 ฉบับพิเศษที่ 79 วันที่ 12 ธันวาคม 2549
2> จดหมายข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 22 วันที่ 30 กันยายน 2550
3> หจช., (2) สร 0201.87.3.1/4 รายงานการเปิดตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม 24 มิถุนายน 2484, หน้า 2.
4> หจช., (4) ศธ 2.3.6/11 รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการสร้างกระทรวงและศาลยุติธรรม วันที่ 3 มิถุนายน 2483, หน้า 1.
5> กระทรวงยุติธรรม, 100 ปีกระทรวงยุติธรรม (กรุงเทพฯ: กระทรวงยุติธรรม, 2535), หน้า 173-175.
6> เพิ่งอ้าง, หน้า 191.
7> บันทึกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 อ้างถึงใน ที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการศาลแพ่งและศาลฎีกา 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2506, หน้า 21.
8> หจช., (2) สร 0201.87.3.1/4 รายงานการเปิดตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม 24 มิถุนายน 2484, หน้า 1.
9> ดูรายละเอียดใน เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2544), หน้า 165-188.
10> เพิ่งอ้าง, หน้า 184.
11> วัธนธัมทางการสาล (พระนคร: บริษัทโสภณพิพัธนากร, 2486), หน้า 39.
12> ข้อมูลนี้เกิดขึ้นจากการพูดคุยกับหลายๆ คนเกี่ยวกับเหตุการณ์ "การได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล" ในช่วงเวลาราว 1 เดือนที่ผ่านมา โดยในหลายคนที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยนั้น เป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงของศาล และมีตำแหน่งระดับสูงหลายคน อย่างไรก็ตาม ในเชิงปริมาณแล้ว ก็ยังไม่อาจกล่าวสรุปได้ว่า นี่คือความทรงจำร่วมทั้งหมดของสังคมไทย ณ ปัจจุบัน
13> ดูรายละเอียดใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, "ความยอกย้อนในประวัติศาสตร์ของบิดาแห่งกฏหมายไทย," ศิลปวัฒนธรรม ปี 23 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2545): 70-86. และ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2545): 82-89.
14> ดู ธงชัย วินิจจะกูล, "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฏุมพีไทยในปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม ปี 23 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2544): 56-65.
15> ดูรายละเอียดงานเฉลิมฉลองใน ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 (ม.ป.ท.) (ม.ป.ป.)
16> ดูรายละเอียดใน ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547), หน้า 285-356.
17> ดูการให้เหตุผลเรื่องการเสื่อมสภาพของอาคารจาก พฤตินัย (นามแฝง), "ต้องทุบอาคารศาลฎีกาทิ้ง," มติชน วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550.
18> ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาอาคารศาลฎีกาและอาคารบริเวณรอบศาลฎีกา เสนอต่อสำนักงานศาลยุติธรรม (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์), หน้า 3_23.
19> เพิ่งอ้าง, หน้า 3_30-3_32.
20> พฤตินัย (นามแฝง), "ต้องทุบอาคารศาลฎีกาทิ้ง," มติชน วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550.
21> ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 7 ฉบับพิเศษที่ 79 วันที่ 12 ธันวาคม 2549.
22> "เปิดโมเดล"อาคารศาลฎีกา"ใหม่ ทุบหลังเก่าทิ้งท่ามกลางเสียงค้าน จับตา"ปธ.ฎีกา"ตัดสินใจหาทางออก" มติชน วันที่ 28 ตุลาคม 2550.
23> เพิ่งอ้าง
24> ดูรายละเอียดใน โครงการกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี่และการพลังงาน, ๒๕๓๙)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net