Skip to main content
sharethis



 


National Trade Estimate of Thailand: The USTR Reports, 2001-2007


รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์ บรรณาธิการ



เอกสารข้อมูลหมายเลข 20 โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก) เมษายน 2551, 234 หน้า


 

 


National Trade Estimate Report ซึ่งมีชื่อเต็มว่า National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (NTE) เป็นรายงานที่สำรวจอุปสรรคและทำนบที่กีดขวางสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาในประเทศต่างๆ ในสังคมเศรษฐกิจโลก สำนักผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative: USTR) เป็นผู้จัดทำรายงานนี้ตั้งแต่ปี 2529 โดยที่ต้องรายงานต่อประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคณะกรรมาธิการการเงินแห่งวุฒิสภา (The Senate Finance Committee) และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎร


 


ภาระหน้าที่ของ USTR ในการจัดทำ National Trade Estimate Report มีที่มาจากบทบัญญัติในกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ฉบับปี 2517 (The Trade Act of 1974) Section 181 กฎหมายฉบับนี้ ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายดังต่อไปนี้


(1)    The Trade and Tariff Act of 1984 (Section 303)


(2)    The Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 (Section 1304)


(3)    The Uruguay Round Trade Agreement Act of 1994 (Section 311)


(4)    The Internet Tax Freedom Act (Section 1202)


บทบัญญัติในกฎหมายเหล่านี้ทำให้ USTR มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลว่าด้วยอุปสรรคและทำนบกีดขวางการส่งสินค้าออกของสหรัฐอเมริกา การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของประชาชนชาวอเมริกัน และการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลเหล่านี้เกื้อกูลการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลอเมริกัน และเป็นประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ประโยชน์ในการทำให้การค้าระหว่างประเทศของสังคมเศรษฐกิจโลกขยายตัวอันเป็นประโยชน์ต่อทุกชนชาติ


รายงาน NTE ไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้เท่านั้น หากยังพยายามประมาณการผลกระทบเชิงปริมาณอันเกิดจากมาตรการและจารีตปฏิบัติในการกีดกันการส่งสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะในการขจัดอุปสรรคและทำนบกีดขวางการส่งสินค้าออกดังกล่าว


ในการจัดทำรายงาน NTE USTR รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร หน่วยรัฐการอื่นๆ สถานทูตอเมริกันในนานาประเทศ รวมตลอดจนองค์กรการค้าของภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน นอกจากนี้ USTR ยังประกาศใน Federal Register เปิดรับข้อมูลจากสาธารณชนโดยทั่วไปอีกด้วย


อุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศ หมายถึง มาตรการและนโยบายรัฐบาลที่ประกาศใช้เพื่อจำกัด ป้องกันหรือกีดขวางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ อุปสรรคและทำนบกีดขวางเหล่านี้ปรากฏในรูปกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ รวมตลอดจนจารีตปฏิบัติที่ใช้ในการปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมิให้ต้องแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และ/หรือเพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ


NTE จำแนกอุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่


1.   นโยบายการนำเข้า อาทิเช่น ภาษีศุลกากรค่าธรรมเนียมการนำเข้า มาตรการเชิงปริมาณในการจำกัดการนำเข้า (Quantitative Restriction) การออกใบอนุญาตการนำเข้า (Import Licensing) พิธีการทางศุลกากร ฯลฯ


2.   การกำหนดมาตรฐาน การติดฉลาก การออกใบรับรอง และการทดสอบคุณภาพสินค้า เช่น การกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การไม่ยอมรับหนังสือรับรองของสหรัฐอเมริกา ฯลฯ


3.   การจัดจ้างจัดซื้อโดยรัฐ (Government Procurement) เช่น การจัดซื้อเฉพาะสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ การเปิดประมูลในวงจำกัด ฯลฯ


4.   การอุดหนุนการส่งออก (Export Subsidy)


5.   การไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา


6.   การสร้างอุปสรรคการค้าบริการ (Services Barriers) เช่น การจำกัดประเภทบริการของสถาบันการเงินต่างชาติ ฯลฯ


7.   การสร้างอุปสรรคในการลงทุนระหว่างประเทศ (Investment Barriers) เช่น การกำหนดเงื่อนไข Local Content ในการผลิตเงื่อนไขการส่งออกสินค้าที่ผลิต การจำกัดการส่งออกเงินทุนและกำไรที่ได้จากการลงทุน ฯลฯ


8.   จารีตปฏิบัติทางธุรกิจที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน (Anticompetitive Practices)


9.   ข้อจำกัดทางการค้าที่มีผลต่อ E-Commerce


10.  อุปสรรคทางการค้าอื่นๆ


อุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้มีทั้งที่ขัดและไม่ขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก ส่วนที่ขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก USTR สามารถดำเนินการเอาผิดด้วยการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก และ/หรือด้วยการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง ส่วนที่ไม่ขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก USTR อาจเสนอให้รัฐบาลอเมริกันใช้แรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศคู่ค้าลดทอนหรือทำลายอุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่าง
ประเทศเหล่านั้น


อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า จำนวนประเทศที่ปรากฏใน National Trade Estimate Report เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาจาก 49 ประเทศในปี 2544 เพิ่มเป็น 58 ประเทศในปี 2550 (ดูตารางที่ 1) ซึ่งมีนัยว่า ประเทศที่มีการค้าอันไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาในสายตาของ USTR มีจำนวนเพิ่มขึ้น


ประเทศไทยมีรายงานปรากฏใน National Trade Estimate Report ด้วย รายงานเหล่านี้มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจว่า USTR มองนโยบายการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลไทยอย่างไร


โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) นำรายงานเหล่านี้มาตีพิมพ์เผยแพร่ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษานโยบายการค้าระหว่างประเทศ และในการทำความเข้าใจปัญหาข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย


 


รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์


                                       


           


หมายเหตุ           เอกสารข้อมูลชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch


(จับกระแสองค์การการค้าโลก)


หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก


http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/Datapaper_20.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net