Skip to main content
sharethis

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร


 


 


 




เอกภาพของนักศึกษา อาจารย์ และผู้ใช้แรงงานในวันที่ 13 พฤษภาคม 1968


เคลื่อนขบวนจากบริเวณรีพับลิคไปยังบาสตีย์ ก่อนจะค่อยๆ ขมวดปมจนกลายเป็นการนัดหยุดงานใหญ่


 


 


ในขณะที่ De la misère en milieu étudiant* หนังสือเล่มแรกที่ได้กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว มีลักษณะคล้ายเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงของพวกเขาเพื่อตีแผ่ปัญหาและระบายความคับข้องใจไปสู่สังคมและผู้อยู่ในอำนาจ หนังสืออีกเล่ม คือ Traité de savoir-vivre à l"usage des jeunes générations หรือ "บทความว่าด้วยการรู้จักใช้ชีวิต เพื่อคนรุ่นหนุ่มสาว" ของ Raoul VANEIGEM นั้น กลับเป็นการสื่อสารจากกลุ่ม Internationale Situationniste (IS) ไปยังวัยรุ่น โดย Traité de savoir-vivre มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้วางรากฐานความคิดปัจเจกนิยมในสังคมแบบจารีตของฝรั่งเศสขณะนั้น


 


 


Traité de savoir-vivre à l"usage des jeunes générations (1967)


Raoul VANEIGEM


 


 


เนื้อหาต่อจากนี้ แปลและเรียบเรียงจากอีกตอนหนึ่งของบทความเรื่อง Les Livres qui ont enflammé les esprits หรือ "หนังสือที่จุดดวงวิญญาณให้ลุกโชน" โดย JÉRÔME GIUDICELLI ในนิตยสาร Le Magazine Littéraire, Hors-série No 13 Avril- Mai 2008


 


 


Traité de savoir-vivre (1967) คือผลจากการทำงานร่วมกันระหว่าง Raoul VANEIGEM กับวารสาร L"Internationale Situationniste เป็นระยะเวลาถึง 7 ปี ซึ่ง VANEIGEM นำบทความบางส่วนที่เคยลงในวารสารดังกล่าวมาปรับปรุงและตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือเล่มนี้


 


เนื้อหาส่วนใหญ่ของ Traité de savoir-vivre คือแนวความคิดของกลุ่ม situationniste เช่น การวิจารณ์ศาสตร์และวิธีการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ (modern urbanism), การวิจารณ์ศิลปะ Pop Art หรือกระทั่งความคิดใคร่ครวญต่อ "แทคติค" หรือยุทธวิธีการต่อสู้ของมวลชน ทั้งนี้ หัวใจแกนกลางของหนังสืออยู่ที่การวิจารณ์สังคมฝรั่งเศสซึ่งถูกกัดกร่อนหรือถูกทำให้เสื่อมโทรมจาก "อำนาจ" ซึ่งผู้แต่งหมายถึง ภาพหรือภาพลักษณ์ที่คนกำหนดให้กับสังคม


 


เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่เกิดอาการ "เบื่อหน่าย" สังคมช่วงก่อนปี 68 และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ VANEIGEM ที่ทำให้เขาต่างจากเพื่อนร่วมขบวนการคนอื่น คือการกล่าวถึง "ความปรารถนา" และ "การบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง"


 


 


 



      « Jouissez sans entraves » : รื่นรมย์อย่างไร้อุปสรรค


การปะทะของค่านิยมใหม่กับจารีตของสังคม


 


นอกจากนี้ เขาได้ประณามสังคมแห่งการบริโภคและสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากสังคมแบบนี้ทำให้ปัจเจกบุคคลที่เป็นสมาชิกต้องผิดหวัง ดังที่เขากล่าวว่า "ชัยชนะของสินค้าเหนือมนุษย์นั้น ทำให้คนกลายเป็นผีดิบที่ไร้ชีวิตจิตใจ" ในแง่นี้ Traité de savoir-vivre  คือคัมภีร์ที่แท้จริงของปัจเจกชนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งในมุมหนึ่ง สะท้อนความผิดหวังของมนุษย์ที่เคยฝากความหวังไว้กับอุดมการณ์ต่างๆ


 


อย่างไรก็ตาม VANEIGEM ไม่ได้ทอดทิ้งให้ปัจเจกชนต้องเผชิญกับโชคชะตาโดยลำพังหรือไม่ได้ปล่อยให้ต้องผจญกับความสงสัยเคลือบแคลงทั้งหลายด้วยตนเอง เพราะเมื่อมองลึกลงไปข้างหลังวาทกรรมต่างๆ เกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ตามปรัชญาของพวก situationniste ที่เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์พยายามเสนอแล้ว เราจะเห็นว่าเขายังได้ใช้วัตถุดิบจากแหล่งอื่น เช่น ปรัชญาโบราณและศาสนา นอกจากอิทธิพลความคิดตามแบบมาร์กซ์ เนื่องจากเขาได้จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของภาษาในยุคโรมัน (roman philology) ซึ่งข้อนี้เองคือความเป็นแบบฉบับของเขาอีกประการ


 


สำหรับ VANEIGEM แล้ว "ปัจเจกชนที่ได้รับการปลดปล่อย (จากพันธนาการของสังคม : ผู้แปล) ไม่สามารถละทิ้งสังคมได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแอบซ่อนอัตลักษณ์อย่างที่เคยเป็นมาเช่นเดิม"


 


 


*หมายเหตุ ผู้เขียนต้องขออภัยอย่างสูง ที่ในบทความตอนแรกได้สะกดคำศัพท์ milieu ในชื่อหนังสือผิดหลายแห่ง ที่ถูกต้องจะมี l เพียงตัวเดียว ไม่ใช่สองตัว


 


บทความที่เกี่ยวข้อง


คานนส์กับ May 68


 


บทความ: คัมภีร์ แห่งการปฏิวัติพฤษภา "68


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net