Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย องอาจ เดชา


 



 


ท่าทีที่แสดงออกต่อสาธารณะของหลายฝ่ายกลับกลายเป็นเรื่องคล้ายกับว่ากำลังแสดงละคร


มีความพยายามบิดเบือนความต้องการของตนหรือว่าสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหว


เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการของตัวเองลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องของกโลบายทางการเมือง



 


รัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความสงบร่มเย็นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง


แล้วในที่สุดแม้จะมีการแก้ได้หรือแก้ไม่ได้


รัฐธรรมนูญก็จะอยู่ในฐานะเครื่องมือที่มีความอัปลักษณ์หรือเป็นที่รังเกียจของทุกฝ่าย


 



 


มีสื่อในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินงานไปในฐานะของผู้ที่เป็นนักเคลื่อนไหวเสียเอง


 



 


ทุกฝ่ายพร้อมที่จะช่วงชิงสถานการณ์พร้อมที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน


เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่เท่าทันสถานการณ์ก็จะอยู่ในฐานะผู้รับชะตากรรมหรือตกเป็นเหยื่อ


 



 


ประชาชนเองไม่รู้จะพึ่งใคร ผู้นำโดยธรรมชาติหลายต่อหลายฝ่ายสงวนท่าทีไม่กล้าที่จะแสดงจุดยืน ปัญญาชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย


นักการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนเหล่านี้ก็มีความแตกแยกกันเป็นปกติอยู่แล้ว



 


บรรยากาศอย่างนี้เป็นบรรยากาศที่น่าจะนำไปสู่การสูญเสียมากกว่าจะนำไปสู่การสร้างสรรค์


และประชาชนก็คงเป็นเหยื่อยิ่งๆ ขึ้นไป


 


 


000


 


"ประชาไท" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ" ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กับประเด็นการเมืองที่กำลังร้อนๆ ในขณะนี้ โดยระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ต่างมีท่าทีเหมือนกับกำลังแสดงละคร มีการบิดเบือนความต้องการของตนหรือว่าสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการของตัวเอง และยังได้แสดงความวิตกกังวลว่าบรรยากาศอย่างนี้เป็นบรรยากาศที่น่าจะนำไปสู่การสูญเสียมากกว่าจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ และประชาชนก็คงเป็นเหยื่อยิ่งๆ ขึ้นไป 


 



 


พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ


ประธานมูลนิธิเมตตาธรรม


(ภาพจาก นิตยสารสารคดี)


 


มองสถานการณ์การเมืองในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง


ประเด็นใหญ่ก็คือว่า จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม  จะเห็นว่าหลายฝ่ายไม่ยอมเอาความจริงมาพูดกัน ไม่ได้พูดถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง และไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ตัวเองไม่ยอมรับ หรือว่าประเด็นที่ตัวเองยอมรับหรือไม่ยอมรับ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงโดยข้อเท็จจริง ท่าทีที่แสดงออกต่อสาธารณะของหลายฝ่ายกลับกลายเป็นเรื่องคล้ายกับว่ากำลังแสดงละคร มีความพยายามบิดเบือนความต้องการของตนหรือว่าสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องของกโลบายทางการเมือง


 


คือเป็นเรื่องกลวิธี เป็นเรื่องของอุบายที่จะเอาชนะ สุดท้ายความจริงก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูด มันจึงไม่มีข้อสรุป มันจึงไม่ได้เป็นเรื่องของหลักการ มันจึงกลายเป็นเรื่องของความขัดแย้งของบุคคล กลุ่มบุคคลโดยยุทธวิธีอันหลากหลาย คือเป็นเรื่องของการสู้รบไป เป็นเรื่องของการต่อสู้เป็นเรื่องของการเอาชนะแทนที่ว่าจะเป็นการดำเนินการต่างๆ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนส่วนใหญ่ หรือว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง


 


คำว่า "สงบเรียบร้อย" ตรงนี้ หมายถึง ความสงบร่มเย็น ไม่ได้หมายถึงความสงบเรียบร้อยเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่สยบยอม แต่หมายถึงว่าการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็นเป็นปกติสุข แล้วเหตุที่ว่ามานี้ ก็ทำให้มันเกิดบรรยากาศขัดแย้งแล้วทำให้ฝ่ายที่มีหน้าที่ที่จะดูแลทุกข์สุขของประชาชนก็มัวแต่ไปเสียเวลาของการเล่นเกมหรือการแก้เกมทางการเมือง ค่าครองชีพสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ข้าวยากหมากแพง คนที่เป็นคนระดับรากหญ้าก็ดูเหมือนกับว่าจะลำบากจะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น ถ้าหากเหตุการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ สุดท้ายก็จำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงหรือปะทุเป็นวิกฤตการณ์ที่แก้ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง


 


 


มีความเห็นอย่างไรที่ฝ่ายหนึ่งพยายามจะเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ กลับชุมนุมเพื่อยื้อไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ


ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำหรับการทำให้สังคมอยู่ร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี และนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด ก็คือการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุขและมีความวัฒนาถาวรไปตามลำดับ ตรงนี้นี่คือ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะยึดโยงองคาพยพต่างๆ ของสังคมให้สามารถบรรสารสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า สังคมอย่างที่ควรจะเป็นนั้น เป็นอย่างไร หมายถึงว่า การใช้กฎหมายสูงสุด กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือสร้างสังคมให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวม


 


 


แล้วถ้าหากรัฐธรรมนูญกลับถูกนำใช้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง เราจะทำอย่างไร


ถ้ารัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือโดยเนื้อหาสาระ หรือเครื่องมือในฐานะที่เป็นข้ออ้าง ฝ่ายที่ต้องการจะแก้ ก็ใช้เป็นข้ออ้าง ฝ่ายที่ไม่ต้องการจะแก้ก็ใช้เป็นข้ออ้าง แล้วก็เอาชนะกันโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ รัฐธรรมนูญก็แทนที่จะเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความสงบร่มเย็น รัฐธรรมนูญก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แล้วในที่สุดถึงแม้จะมีการแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็จะอยู่ในฐานะเครื่องมือที่มีความอัปลักษณ์หรือเป็นที่รังเกียจ ของทุกฝ่าย


 


ยกตัวอย่างว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีหลายต่อหลายเรื่องที่น่าสนใจ มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ แต่บังเอิญว่าที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้ที่มีความเชื่อมั่นของระบบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นความอัปยศ อัปลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหาร หรือว่าเป็นสัญลักษณ์หรือว่าเป็นผลผลิตของการรัฐประหาร เพราะฉะนั้น ตัวของเนื้อหาสาระก็จะที่มาที่ไม่ชอบธรรมบดบังไปเสีย ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้หรือไม่ถูกแก้ แต่เมื่ออยู่ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งอย่างนี้ รัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายเชื่อว่าอัปลักษณ์อยู่แล้วก็จะตกอยู่ในฐานะจำเลย ถ้ามีการแก้ไข ก็จะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือหลายฝ่ายก่นด่าประณามว่าการแก้ไขนี้ไม่ชอบธรรม


 


หรือในขณะเดียวกันถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ก็มีอีกหลายฝ่ายบอกว่า รัฐธรรมนูญนี้มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ก็ไม่ยอมแก้ไข เพราะฉะนั้นสุดท้าย รัฐธรรมนูญเองก็กลายเป็นความไม่ชอบธรรม แล้วถ้าหากประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ในบรรยากาศไม่เชื่อมั่นในกฎหมายสูงสุดซึ่งเป็นเหมือนกับบรรทัดฐานของสังคมประเทศนั้น ก็คงทำอะไรให้มันก้าวหน้าไปได้ยาก


 


ก็เหมือนกับว่า ในบ้านในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ข้อตกลงที่เป็นข้อยุติของบ้านไม่มีความชัดเจน หรือว่าไม่มีความชอบธรรม ก็ไม่สามารถที่จะยุติลงได้ โดยข้อตกลงนั้น หรือโดยหลักการนั้น ก็กลายเป็นว่าทุกฝ่ายก็ถือเอาความเชื่อส่วนตัวเป็นใหญ่ แต่ประเทศชาติมันใหญ่โตกว่าบ้าน ใหญ่โตกว่าเมืองมากมายนัก เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า รัฐธรรมนูญอยู่ในสภาพอย่างนี้ ก็คาดหวังได้ยาก ว่าจะทำให้เกิดความสงบร่มเย็นหรือเกิดประโยชน์สุขกับส่วนรวมได้


 


 


มีความเห็นอย่างไร กับสถานะของสื่อมวลชนในขณะนี้


เรื่องนี้มันมี สองสามเหตุปัจจัยที่น่าจะต้องพูดถึง อย่างแรกก็คือ "ความจริง" ถ้าสื่อตั้งตนอยู่ในฐานะของผู้ที่จะนำความจริงออกมาแสดงให้ปรากฏต่อสาธารณะ สื่อก็จะมีกระบวนการในการทำงานอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่พูดกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าจริงๆ แล้วสื่อจะต้องเป็นกลางหรือไม่ หรือว่าเป็นกลางอย่างไร บางคนก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะมีความเป็นกลาง ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ฝ่ายเสียเปรียบหรือฝ่ายที่ได้เปรียบ นี่ก็เป็นทัศนะที่พูดถึงกันมาก


 


นอกจากนั้น อีกเหตุปัจจัยหนึ่งคือ มีสื่อในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินงานไปในฐานะของผู้ที่เป็นนักเคลื่อนไหวเสียเอง คือแทนที่จะอยู่ในฐานะผู้นำข่าวสารนำความเป็นจริง นำข้อเท็จจริงมาเสนอต่อสาธารณะ เพื่อให้สาธารณชนหรือผู้รับข่าวสารได้ใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกำหนดท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อข่าวสารนั้น ก็กลายเป็นว่า สื่ออยู่ในฐานะเครื่องมือที่ในยุคหนึ่ง เรียกว่า เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ เสียเอง คือเมื่อตัวสื่อเอง หรือผู้เกี่ยวข้องมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีการโฆษณาความเชื่อนั้นออกมา


 


ซึ่งตรงนี้ ทั้งสามเหตุปัจจัยก็คือ ปัจจัยเรื่องสื่อจะต้องทำหน้าที่อย่างไร สื่อจะมีท่าทีอย่างไรต่อความจริง และสื่อจะต้องมีท่าทีอย่างไรกับความเป็นกลาง ทั้งสามประเด็นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสื่อนั้นๆ อยู่ในสถานะอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักหรือจะต้องสำเหนียก ก็คือว่า ไม่ว่าสื่อจะมีท่าทีอย่างไรก็ตาม สื่อก็จะได้รับการตอบรับจากสังคมอันเป็นผลมาจากท่าทีนั้นๆ 


 


กล่าวคือ ถ้าหากสื่อแสดงความไม่เป็นกลาง สื่อก็ต้องพร้อมที่จะรับผลของความไม่เป็นกลางนั้น ถ้าสื่ออยู่ในฐานะของนักโฆษณาชวนเชื่อ สื่อก็ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่บริโภคข่าวสารหรือผู้ที่รับข่าวสารก็ตาม ถ้าสื่อมีท่าทีที่บิดเบือนความเป็นจริง หรือมีท่าทีที่ไม่เคารพต่อข้อเท็จจริง สื่อก็ต้องยอมรับว่าสื่อสามารถที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ถูกตั้งข้อสังเกตได้เช่นเดียวกัน


 


 


แล้วสื่อควรวางตัวอย่างไร


ถ้าในทัศนะที่เป็นส่วนตัวของเราเอง ก็คือว่า ถ้าสื่อมีท่าทีที่ไม่เหมาะสมต่อความจริง หรือต่อสัจจะ สุดท้ายสื่อก็จะสูญเสียสถานะของความน่าเชื่อถือไป หรือถ้าหากจะนับกันว่าสื่อเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ถ้าหากสื่อลดตัวลงไปคลุกกับเทคนิควิธีต่างๆ ในทางการเคลื่อนไหว ในทางการเมืองหรือว่าในทางความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งในทางที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สื่อก็จะสูญเสียสถานะที่น่าเชื่อถือจากอีกฝ่ายหนึ่งทันที


 


เพราะฉะนั้น สิ่งที่สื่อ สื่อสารออกมา ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และก็จะถูกปฏิเสธจากใดหนึ่งฝ่ายใดอยู่ดี ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสื่อจะวางสถานะของตัวเองอย่างไร แต่ไม่ว่าสื่อจะวางสถานะของตัวเองอย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบก็คือว่า สื่อก็ยังอยู่ในฐานะผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ แล้วก็สามารถที่จะทำให้เกิดการสูญเสียต่อสังคมได้มากกว่าฝ่ายต่างๆ อยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ระวังไม่พึงสังวรกับเรื่องเหล่านี้ สุดท้ายแทนที่สื่อจะทำหน้าที่เกื้อกูลสังคมก็จะกลายเป็นตัวทำลายสังคมไปเสียเอง ก็คงจะพูดยากว่าสื่อในปัจจุบันแต่ละชนิด แต่ละประเภทเป็นอย่างไร ตรงนี้ก็เชื่อว่าผู้ที่รับข่าวสารจากสื่อต่างๆ ก็คงจะพอใช้วิจารณญาณได้ว่าจะต้องทำอย่างไร


 


 


สถานการณ์การเมืองแบบนี้ ประชาชนจะจัดการกันอย่างไร เพราะดูแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น


ประชาชนก็อยู่ในฐานะของผู้รับชะตากรรมจากเงื่อนไขต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ซึ่งตรงนี้ ถ้าประชาชนไม่ขวนขวายที่จะสรุปบทเรียน หรือประเมินสถานการณ์อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินสถานการณ์จากสถานะของตนเอง จะเรียกได้ว่าประเมินจากชนชั้น ประเมินจากสถานะทางเศรษฐกิจหรือว่าสถานะในทางการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ภาษาจะใช้กัน แต่สุดท้ายก็คือว่า ประชาชนไม่มีความชัดเจนที่จะสรุปบทเรียนที่จะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สุดท้ายตนเองหรือว่าผู้ร่วมสถานะของตนเองก็จะตกเป็นเหยื่อ 


 


คือในสถานะในสังคมที่มีความขัดแย้งสูง มีความตึงเครียดสูงแน่นอน ว่าทุกฝ่ายพร้อมที่จะช่วงชิงสถานการณ์พร้อมที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่เท่าทันสถานการณ์ก็จะอยู่ในฐานะผู้รับชะตากรรมหรือตกเป็นเหยื่อ


 


ปัญหาก็คือว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในฐานะของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในฐานะของผู้บริโภคหรือในฐานะอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นผู้ถูกกระทำ มันถูกกระทำซ้ำซ้อนซ้ำซากมาหลายต่อหลายครั้ง เพราะฉะนั้นมันไม่ง่ายที่จะมีการวิเคราะห์หรือมีการสรุปบทเรียนแล้วมันง่ายที่จะมีความสับสน ง่ายที่จะมีการตัดสินใจผิดพลาด เพราะว่าประชาชนเองไม่รู้จะพึ่งใคร ผู้นำโดยธรรมชาติหลายต่อหลายฝ่ายสงวนท่าทีไม่กล้าที่จะแสดงจุดยืน ปัญญาชนแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย นักการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนเหล่านี้ก็มีความแตกแยกกันเป็นปกติอยู่แล้ว ข้าราชการอยู่ในสภาพเกียร์ว่าง ยิ่งกว่ารัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งจากฝ่ายที่เป็นฝ่ายรัฐประหารด้วยซ้ำ เพราะว่าข้าราชการส่วนหนึ่งต้องเลือกข้างอย่างชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายไหนอีกส่วนหนึ่งต้องแสดงความเป็นกลางที่ไม่เอาฝ่ายไหน แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือต้องพร้อมที่จะเข้ากับทุกฝ่าย เพราะฉะนั้น ทั้งสามส่วน ไม่มีส่วนไหนที่จะมารับใช้ประชาชนเลย ประชาชนก็ถูกทอดทิ้ง


 


ดังนั้น ถ้าหากประชาชนไม่ตระหนักกับบรรยากาศอย่างนี้ แล้วไม่พยายามขวนขวายที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก็เหมือนที่ว่าเรากลายเป็นฝ่ายถูกกระทำ มันก็ต้องกลับมาคุยกันถึงเรื่องคาถาเดิมๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะเชื่อมโยงทำอย่างไรจะเป็นเครือข่าย ทำอย่างไรจะร่วมกันแก้ไขปัญหาซึ่งไม่สามารถแก้ได้โดยปัจเจกชนได้ แต่ทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่เรื่องง่าย บรรยากาศอย่างนี้เป็นบรรยากาศที่น่าจะนำไปสู่การสูญเสียมากกว่าจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ และประชาชนก็คงเป็นเหยื่อยิ่งๆ ขึ้นไป


 


ทางออกก็มีอยู่ แต่สำคัญที่ว่าทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะยอมรับทางออกร่วมกันหรือไม่ คือก่อนหน้านี้เราพูดกันบ่อยๆ ว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือเลือกตัวแทนประชาชนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามส่วน อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่ปัจจุบันต้องพูดว่าเราอยู่ในยุคประชาธิปไตยแบบตัวแทนจริงๆ เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ว่า เรามีฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของสามีบ้าง เป็นตัวแทนของภรรยาบ้าง เป็นตัวแทนของลูก เป็นตัวแทนของพ่อ เป็นตัวแทนของคนนั้นคนนี้ ยกเว้นประชาชน


 


เราอยู่ในยุคที่ฝ่ายบริหารก็เป็นอย่างนั้น คือเป็นตัวแทนของเครือญาติ เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ เป็นตัวแทนที่มีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง อย่างน้อยก็มีการกล่าวหาว่ามีการบงการอยู่เบื้องหลัง แล้วทั้งในส่วนของนิติบัญญัติก็มีการกล่าวหาอำนาจตุลาการว่าแม้กระทั่งอำนาจตุลาการก็เป็นเรื่องของตัวแท น เพราะฉะนั้น ในลักษณะอย่างนี้ การแก้ปัญหาก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย มันก็จะกลายเป็นเรื่องงูกินหาง แต่บังเอิญว่างูกินหางนี่ สุดท้ายมันเหลือหัว หางมันถูกกิน แล้วประชาชนก็มักจะเป็นหางมากกว่าเป็นหัว ดังนั้น มันเหลือส่วนหัวอยู่ หัวก็อยู่ไม่ได้ ถ้าหากหางมันอยู่ไม่ได้ ประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ส่วนหัวก็อยู่ไม่ได้


 


ฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมอย่างถูกต้อง สุดท้ายมันก็จะนำไปสู่วิกฤติ แล้วสุดท้ายไม่ว่าจะมีฝ่ายหนึ่งมาล้มกระดานหรือว่ากระดานมันพังโดยตัวของมันเองก็ตาม ทุกฝ่ายก็เจ็บปวด ทุกฝ่ายก็สูญเสียแล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หากประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการมาพอสมควร แต่สุดท้ายมามีเงื่อนไขมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายวันเวลาที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net