Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม Stiglitz Plan: ข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา


เอกสารข่าวฉบับที่ 10      พฤษภาคม  2551
วิโรจน์  สุขพิศาล
           


            การเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกรอบโดฮา เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2544 จุดประสงค์สำคัญภายใต้การเจรจา "รอบแห่งการพัฒนา" คือ ลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน และสร้างกฎระเบียบการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากในการเจรจาการค้ารอบที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วมักเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเจรจามากกว่าประเทศกำลังพัฒนา


            เนื่องจากการการเจรจารอบโดฮาเริ่มมีแนวโน้มออกจากความตั้งใจที่ให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาเป็นรอบแห่งการพัฒนา  โจเซฟ สติกลิตส์ อดีตรองประธานธนาคารโลก และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2544 ได้เสนอแนวทางสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาให้ดำเนินไปสู่ความตั้งใจเดิมที่ให้การเจรจาในครั้งนี้เป็นเวทีของประเทศกำลังพัฒนา


            สติกลิตส์เสนอหลักการสำคัญสำหรับการเจรจารอบแห่งการพัฒนานี้ โดยเสนอว่า ความตกลงใดๆ ต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาและไม่มีผลกระทบทางลบต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งควรกำหนดรูปแบบการเจรจาเป็นไปในแนวทาง Blue Sky Analysis คือความตกลงต้องไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์หรือประเด็นในอดีตมาเกี่ยวข้อง


            สติกลิตส์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมทั้งกระบวนการสร้างข้อตกลงและตัวความตกลงเอง การเจรจาการค้ารอบที่ผ่านมามิได้ใช้หลักความเป็นธรรมในการกำหนดความตกลงใดๆ เนื่องจากประเทศต่างๆ มักยึดถือผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ซึ่งการเจรจาการค้าที่นำพาไปสู่การพัฒนาได้นั้น จักต้องเป็นการเจรจาที่ยึดถือความเป็นธรรมเป็นที่ตั้ง โดยความเป็นธรรมในความหมายของสติกลิตส์มิใช่การแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกัน แต่หมายถึงประเทศกำลังพัฒนาควรได้ประโยชน์หรือส่วนแบ่งสูงสุดจากการเจรจา หากความตกลงใดที่ประเทศพัฒนาได้รับประโยชน์ แต่ประเทศกำลังพัฒนามิได้รับประโยชน์ ความตกลงนั้นย่อมมิได้มีความเป็นธรรมตามความหมายของสติกลิตส์


            ในปัจจุบันการเจรจาการค้าได้ขยายขอบเขตไปไกลกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือทรัพย์สินทางปัญญา สติกลิตส์เห็นว่า หากขอบข่ายนโยบายครอบคลุมประเด็นนอกเหนือจากการค้า การกำหนดประเด็นและกรอบการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลกจะเป็นไปด้วยความลำบาก อีกทั้งการขยายขอบเขตการเจรจาที่กว้างขึ้นจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนในการเจรจาเพิ่มขึ้น ดังนั้นขอบเขตการเจรจาจึงควรครอบคลุมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเท่านั้น


            สติกลิตส์เห็นว่า ประเด็นที่ควรพูดถึงในการเจรจาการค้ารอบโดฮา ควรเป็นประเด็นที่สร้างประโยชน์และเอื้อต่อการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วมักผลักดันประเด็นการเจรจาที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มของตน เช่นประเด็นการเปิดเสรีการซื้อขายและส่งมอบบริการ (Mode of Supply) ประเทศพัฒนาแล้วจะผลักดันการเปิดเสรีในรูปแบบการบริการที่ประเทศตนได้ประโยชน์ ในขณะที่รูปแบบการบริการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้ประโยชน์สูงสุด คือ การเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ กลับมิได้เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา


            ประเด็นการค้าสินค้าเกษตร สติกลิตส์เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก ดังนั้นควรผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร ยกเลิกการจำกัดการนำเข้า และลดภาษีการนำเข้าซึ่งเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดของประเทศกำลังพัฒนา เช่นเดียวกับประเด็นการค้าสินค้าอุตสาหกรรม สติกลิตส์เสนอประเทศพัฒนาแล้วควรลดการปกป้องสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา


            นอกจากมาตรการกีดกันการค้าทางด้านภาษีจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาดของประเทศกำลังพัฒนาแล้ว มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษีนับเป็นปัญหาหนึ่งต่อการเข้าถึงตลาดซึ่งประเทศพัฒนาแล้วมักใช้กีดกันสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาควรเรียกร้องให้มีการหยิบยกปัญหาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีความเป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งมีกระบวนการพิจารณาและระงับข้อพิพาทที่เป็นกลางอย่างแท้จริง


            ในการเจรจารอบโดฮามีหลายประเด็นที่ไม่ควรอยู่ในการเจรจารอบนี้ เนื่องจากมิได้สร้างผลประโยชน์และมิได้เอื้อต่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มต่อประเทศกำลังพัฒนา ประเด็นดังกล่าวคือ


1) ความตกลงด้านการลงทุน ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้เพิ่มสิทธิของนักลงทุนและให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ในขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีกลับถูกละเลยจากการเจรจา


2) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นการให้อำนาจผูกขาดแก่เจ้าของสิทธิ อันเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา


3) มาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น Green tariff (มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหวั่นเกรงว่าจะเป็นมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าของประเทศกำลังพัฒนา


4) การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงิน ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วไม่ควรแทรกแซงในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศกำลังพัฒนา ควรเป็นนโยบายที่กำหนดภายในประเทศนั้นๆ       


            นอกจากนั้น สติกลิตส์เห็นว่ายังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อยกระดับการพัฒนาในประเทศ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา


            ประเด็นนโยบายการแข่งขัน สติกลิตส์มองว่า การที่ประเทศกำลังพัฒนาผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดตลาดภายในประเทศให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนในการปฏิบัติตามและการตรวจสอบสูงขึ้น อันเนื่องมาจากตลาดภายในประเทศกำลังพัฒนามิได้มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ประโยชน์ของการเปิดการแข่งขันเสรีจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นองค์การการค้าโลกควรให้อิสระแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเลือกนโยบายที่เหมาะสมต่อการพัฒนาในประเทศของตน นอกจากนั้น องค์การการค้าโลกควรให้ความสำคัญกับการต่อต้านการผูกขาดข้ามชาติ ซึ่งการผูกขาดข้ามชาติทำให้สวัสดิการโดยรวมของประเทศลดลง


ประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีและภูมิภาคีกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเนื่องจากความล้าช้าของการเจรจารอบโดฮา ซึ่งสติกลิตส์มองว่า การเจรจาดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อประเทศกำลังพัฒนาและระบบการค้าโลก เนื่องจากระบบการค้าโลกตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ (non-discrimination) แต่การเจรจาการค้าแบบทวิภาคีและภูมิภาคีกลับมีการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มที่ตกลงการค้าทวิภาคีต่อกัน ซึ่งสามารถค้าขายกันได้อย่างเสรี กับกลุ่มประเทศที่มิได้ตกลงการค้าทวิภาคีแก่กัน ซึ่งถูกกีดกันการค้าจากกำแพงภาษี 


            การเจรจาการค้าที่ประสบความล้มเหลวที่ผ่านมา สติกลิตส์เห็นว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกเอง ทั้งความไม่โปร่งใสของกระบวนการเจรจาที่จัดให้มีการประชุมลับ  หรือกระบวนการพิจารณาทางกฏหมายที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปเชิงสถาบันภายในองค์การการค้าโลก เพื่อให้กระบวนการเจรจาการค้ามีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น อีกทั้งองค์การการค้าโลกควรสร้างค่านิยมภายในองค์กรว่า การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญขององค์การการค้าโลก


 


………………………


หมายเหตุ            1. เอกสารนี้เป็นผลผลิตของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก) ซึ่งได้รับการสนันสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย


                        2. Stiglitz Plan ปรากฏใน Joseph Stiglitz and Andrew Charlton. Fair Trade For All: How Trade Can Promote Development. Oxford University Press, 2005


                        3. ฉบับภาษาไทยโดยย่อ โปรดอ่าน


                        ชมเพลิน สุวรรณภาณุ
                        Stiglitz Plan: ข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา
                        เอกสารข้อมูลหมายเลข 9 โครงการ WTO Watch        กรกฎาคม 2548


                        http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/Stiglitz.pdf


  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net